INTERVIEW • CEO TALK

CEO Talk : ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด

ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล

ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด

 

ซิปเม็กซ์ ตั้งเป้าขึ้นเบอร์ 1

ผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลระดับภูมิภาค

 

 “ในปี 2022 เราตั้งเป้าจะเป็นผู้ให้บริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหากมองในด้านของศักยภาพ การมีใบอนุญาตประกอบกิจการสินทรัพย์ดิจิทัลใน 4 ประเทศ ก็ถือว่ามีความพร้อมสูงมาก นอกจากนี้ ยังมองโอกาสในการขยายไปยังประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ด้วย”


ตลาดคริปโทเคอร์เรนซี่ในปี 2565 กำลังน่าจับตามองอย่างมาก แม้จะเข้าสู่ช่วงปลายของ Golden Period หลังการเกิด Bitcoin Halving แล้ว แต่ก็ยังมีประเด็นมากมายที่ได้รับทั้งความสนใจและสร้างความกังวลให้กับนักลงทุน โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2564 ราคาคริปโทฯ ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง จนในวันที่ 24 มกราคม 2565 ราคา Bitcoin ร่วงต่ำสุดในรอบ 6 เดือน โดยราคาลงมาอยู่ที่ 1,090,000 บาท ก่อนจะดีดขึ้นมาและวิ่งอยู่ในโซนราคา 1,200,000-1,250,000 บาท ขณะที่ราคา Ethereum ก็ร่วงแรงไปอยู่ที่ 72,000 บาทในวันเดียวกัน ก่อนจะกลับมายืนราคาที่ 83,000 บาท ได้ใน 2 วันถัดมา (ราคาจาก Coinmarketcap.com)

ราคาที่ร่วงแรงครั้งนี้มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะปัจจัยระดับมหภาค ทั้งความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ การประกาศแนวคิดแบนคริปโทฯของกระทรวงการคลังรัสเซีย และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ตลาดคริปโทฯในโลกเต็มไปด้วยความกังวล ขณะที่ในประเทศไทยก็มีความกังวลเรื่องภาษีคริปโทฯและการประกาศห้ามใช้คริปโทฯชำระสินค้าและบริการ จนเกิดเป็นกระแสร้อนบนโลกโซเชียลมีเดีย

การเงินธนาคาร ได้สัมภาษณ์พิเศษ ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ถึงแนวโน้มสำคัญในโลกกคริปโทฯที่นักลงทุนต้องจับตามองในปี 2565 การมาของสิ่งที่เรียกว่า Web 3.0 เป้าหมายและยุทธศาสตร์การเติบโตของซิปเม็กซ์ ความร่วมมือกับพันธมิตร ตลอดจนโอกาสในการ Exit ธุรกิจในอนาคต

         

โฟกัส 3 ปัจจัยหนุนตลาดคริปโทฯ

ทิศทางจะชัดเจนในเดือนเมษายน

ดร.เอกลาภ เริ่มให้สัมภาษณ์พิเศษว่า ตลาดคริปโทฯในปี 2022 จะไม่เติบโตหวือหวามากเหมือนปี 2021 ที่เป็นช่วง Golden Period จากการที่ Bitcoin ผ่านการ Halving ครั้งที่ 3 ซึ่งทำให้ตลาดคริปโทฯในปีที่ผ่านมาเติบโตอย่างมาก ก่อนจะทยอยเข้าสู่ขาลงในช่วงปลายปี และส่งผลมายังต้นปี 2022 ที่ราคาคริปโทฯยังทยอยร่วงลงต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดจะเข้าสู่เทรนด์ขาลง แต่ในปีนี้จะยังมีเหรียญคริปโทฯ ที่เติบโตเร็วและน่าลงทุนอีกค่อนข้างมากและยังมีโอกาสที่ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ราคาคริปโทฯจะดีดขึ้นอย่างรวดเร็ว หรืออาจจะลงอย่างหนักได้ น่าจะเห็นความชัดเจนได้ในช่วงเดือนเมษายนปีนี้ ว่าตลาดจะไปในทิศทางไหน

ซีอีโอซิปเม็กซ์ คาดการณ์เทรนด์สำคัญของโลกคริปโทฯปี 2022 โดยแบ่งเป็น 3 เรื่องสำคัญดังนี้

       1. Bitcoin : แม้ราคาในช่วงต้นปีจะลงค่อนข้างมาก แต่คาดว่าจะยังมีแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันต่อเนื่อง โดยเฉพาะการที่กองทุนต่างๆ เริ่มเข้ามาลงทุนใน Bitcoin มากขึ้น ซึ่งกองทุนเหล่านี้มีเงินมหาศาลหลักแสนล้านดอลลาร์ การแบ่งเงินบางส่วนมาลงทุนใน Bitcoin จะทำให้ Bitcoin ยังคงโตต่อ แต่จะไม่ใช่การเติบโตที่หวือหวาเหมือนปีที่ผ่านมา

ในอดีตหลังการ Halving ราคา Bitcoin มักพุ่งสูงในช่วงปลายปี แต่หลังเดือนธันวาคม 2021 ราคา Bitcoin ไม่ได้พุ่งทะยานเหมือนครั้งก่อน จึงมีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีการดีเลย์ effect ไปในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ ที่น่าสนใจต่อมาคือ จุดเข้าซื้อที่สำคัญ (Buying Area Attractive) ของ Bitcoin คือ 1 ล้านบาทต่อ 1 BTC ซึ่งเป็นราคาต้นทุนของนักลงทุนสถาบันอย่าง Tesla และ MicroStrategy ดังนั้นราคา 1 ล้านบาทต่อ 1 BTC จึงถือเป็นแนวรับสำคัญที่นักลงทุนทุกคนจับตามอง

Bitcoin จะยังคงโตต่อแต่ไม่ได้หวือหวามาก นักลงทุนสถาบันจะยังคงเก็บ Bitcoin ต่อ ด้านกองทุนก็จะเข้ามาถือมากขึ้น หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศเล็กๆ ก็จะใช้ประโยชน์จาก Bitcoin เหมือนกับเอลซัลวาดอร์”

       2. Blockchain Protocol Layer 1 : เช่น Ethereum, Binace Smart Chain, Solana, Near Protocol, Polkadot จะยังเติบโตต่อเนื่อง โดยจะไม่ใช่ตลาดที่มีผู้ชนะเพียงรายเดียว เพราะแต่ละเครือข่ายมีคุณสมบัติและเสน่ห์ที่แตกต่างกัน โดยที่น่าจับตาคือ Ethereum ที่หากสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องของ Scalability และค่า Gas Fee ได้ จะทำให้เครือข่าย Ethereum แข็งแกร่งมาก ทั้งด้านนักพัฒนาที่มีจำนวนมาก หลายแพลตฟอร์มก็เลือกใช้ และกำลังเข้าสู่ช่วงที่มี Network Effect ที่จะมีผู้เข้ามาใช้งานจำนวนมาก และมีความเป็น Decentralized สูงที่สุดเมื่อเทียบกับเครือข่ายอื่นๆ

“เหรียญที่เป็น Layer 1 จะเติบโตต่อไป และน่าจะหวือหวา ผันผวนกว่า Bitcoin แต่จะไม่ได้สูงมากเหมือนปีที่ผ่านมา”

       3. Blockchain Protocol Layer 2 : เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้การใช้งานเครือข่ายที่เป็น Layer 1 มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งธุรกรรมที่เกิดขึ้นใน Layer 2 จะเป็นแบบ Centralized มีการประมวลผลรวดเร็ว ก่อนจะเข้าสู่ Layer 1 เพื่อประมวลผลทีเดียว ทำให้ค่า Gas Fee ราคาถูกลง ส่งให้การใช้งานลักษณะที่เป็น retail เกิดขึ้นได้จริง โดยแอเรียที่น่าจะใช้ประโยชน์จาก Layer 2 มากที่สุดคือ สินทรัพย์ดิจิทัลประเภท NFT, GameFi และ DeFi โดยมองว่าเครือข่ายใน Layer 2 ที่จะโดดเด่นในปีนี้คือ Matic และ Algorand

“ทั้ง NFT, GameFi และ DeFi จะเติบโตต่อเพราะได้อานิสงส์จากโครงสร้างพื้นฐานใน Layer 1 และ Layer 2 ที่แข็งแกร่งมากขึ้น โดยมีมุมที่ต้องติดตาม 2 ด้านคือ 

       1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน Blockchain จะไปในทิศทางใด ตัวอย่างเช่น ETH 2.0 (Consensus Layer), Polkadot หรือ Near Protocol

        2. การพัฒนาของ Utility ในตลาดจะมีคนใช้งานมากแค่ไหน ซึ่งหากโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้แข็งแกร่ง จะเป็นการปูพรมเพื่อก้าวไปสู่โลก Metaverse ได้เลย”

 

ลุยยุทธศาสตร์ 4 ด้านยึดเบอร์ 1 ภูมิภาค

มุ่งสร้าง Best Experience ให้นักลงทุน

 ดร.เอกลาภกล่าวว่า ปัจจุบันซิปเม็กซ์คือแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลเพียงแห่งเดียวที่ดำเนินการและปฏิบัติตามกฎหมายใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย และยังเป็นกระดานเทรดคริปโทฯที่มีสภาพคล่องสูงเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค ด้านธุรกิจก็เติบโตอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นบริษัทที่นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติให้ความสนใจอย่างมาก โดยยุทธศาสตร์หลักของซิปเม็กซ์ จะเป็นการมุ่งเน้นใน 4 เรื่องสำคัญดังนี้

      1. การทำให้ผู้คนสามารถเข้าสู่โลกสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างปลอดภัย สะดวก เข้าใจง่ายแน่นอนว่าจะต้องมีการให้ความรู้ตลาด ซึ่งซิปเม็กซ์ทำเรื่องนี้มาตลอด ทั้งการเปิด Experience Center การจัดอีเวนท์ Crypto Arcade กิจกรรมเหล่านี้ไม่ใช่การหารายได้ แต่เป็นการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า โดยมีเรื่อง Marketing และ Branding เข้ามาผสมด้วย เพื่อให้คนเข้ามาในโลกสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย ซึ่งการสร้างประสบการณ์ที่ดี เป็นส่วนแรกที่สำคัญมากที่จะนำไปสู่การเปิดบัญชี และเริ่มการเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล

       2. การต่อยอดจากการถือครองสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การฝากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับโบนัส ผ่านบริการ ZipUp และ ZipLock เป็นการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนเพิ่มให้แก่ลูกค้า

       3. การเปิดให้นักลงทุนสามารถนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้จ่ายได้ ผ่าน ZipSpend และ ZipCard นอกจากนี้ ยังมีมาร์เก็ตเพลสที่ชื่อว่า ZipWorld รวบรวมสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟ และสิทธิพิเศษต่างๆสำหรับผู้ที่ถือ Zipmex Token (ZMT) ขณะที่ Zipmex Global ในสิงคโปร์ก็มีการออกบัตรวีซ่า ZipCard เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้สินทรัพย์ดิจิทัลสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น โดยทุกการใช้จ่ายจะได้ Cashback เป็น ZMT ด้วย

       4. การมุ่งเน้นในประสบการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องของเทรนด์ใหม่ในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล โดยจะมุ่งเน้นใน 3 เรื่องคือ

           GameFi :  ซิปเม็กซ์เริ่มพัฒนาเกมแคชชวล และออกอีเวนท์เกี่ยวกับเกมบ้างแล้ว นอกจากนี้ ยังจับมือเป็นพันธมิตรกับ GuildFi ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มด้าน GameFi หัวแถวของประเทศไทยด้วย

           NFT : ซิปเม็กซ์อยู่ระหว่างพัฒนาแพลตฟอร์ม NFT ในโลกคริปโทฯ ใช้การเชื่อมต่อผ่าน Blockchain Wallet อย่าง MetaMask โดยจะเป็นแพลตฟอร์ม Marketplace แบบ Decentralized คล้ายกับ Opensea นอกจากนี้ ยังมีการร่วมมือกับ Plan B จัดแสดงผลงาน NFT บนจอดิจิทัล เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงผลงานศิลปะต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

           Metaverse : ซิปเม็กซ์จะเข้าไปมีบทบาทกับโลก Metaverse มากขึ้น เช่น การซื้อที่ดินเพื่อสร้าง Experience Center ใน Metaverse

“สิ่งที่ซิปเม็กซ์จะมุ่งเน้นในปีนี้คือการสร้างประสบการณ์ โดยทำให้ผู้คนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับ 3 เรื่องนี้  เราจะมีแพลตฟอร์ม NFT มี GameFi ทั้งของตัวเองและพาร์ตเนอร์ ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้จะมีการออกเหรียญเพื่อมาลิสต์ในกระดานซิปเม็กซ์ ส่วน Metaverse หลักๆ คือ เราจะเข้าไปมีบทบาทแน่นอน ภาพจะชัดเจนในอีก 2-3 ปีจากนี้”

ดร.เอกลาภกล่าวว่า ทั้ง 4 เรื่องจะเป็นสิ่งที่ซิปเม็กซ์มุ่งเน้นอย่างมาก ส่วนในมุมของการให้บริการ เช่น การเทรด ก็จะยังคงพัฒนาให้ระบบซื้อขายดียิ่งขึ้น ลดความผิดพลาดให้น้อยที่สุด และมีเหรียญมาเทรดในกระดานมากขึ้น ตัวแอปฯก็จะมีการพัฒนาให้ดีขึ้น หนุนให้การเปิดบัญชีทำได้ง่าย ฝากเงินได้ทันที มีสภาพคล่องรองรับความต้องการของผู้ใช้ ช่องว่างระหว่างราคาซื้อและราคาขายต่ำเพื่อให้นักลงทุนสามารถเทรดได้

ในมุมของรายได้นั้น ปัจจุบันซิปเม็กซ์มีรายได้เติบโตขึ้นอย่างมาก และยังแข็งแกร่งในด้านของสภาพคล่องในตลาดด้วย ซึ่งภายในปีนี้ซิปเม็กซ์ตั้งเป้าว่าจะไต่ระดับเข้าสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้

“ในปี 2022 เราตั้งเป้าจะเป็นผู้ให้บริการด้านสินทรัพย์ดิจิทัลอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหากมองในด้านของศักยภาพ การมีใบอนุญาตประกอบกิจการสินทรัพย์ดิจิทัลใน 4 ประเทศ ก็ถือว่ามีความพร้อมสูงมาก นอกจากนี้ ยังมองโอกาสในการขยายไปยังประเทศอื่นๆเพิ่มเติม เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ด้วย”

 

มุ่งเติบโตในยุค WEB 3.0

พัฒนา ZMT เป็น Multichain

ดร.เอกลาภกล่าวว่า ในปี 2022 จะเป็นปีที่โครงสร้างพื้นฐานด้าน Blockchain มีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น แต่โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรเพื่อให้คนสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานนี้ได้ทั่วโลก และต้องใช้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ซึ่งแนวโน้มนี้จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Web 3.0 ที่กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในโลกสินทรัพย์ดิจิทัลขณะนี้

ซีอีโอซิปเม็กซ์ อธิบายและยกตัวอย่างการใช้งาน Web 3.0 ว่า

       Web 1.0 เป็นการใช้ประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตในการแชร์ข้อมูล เช่น การส่งอีเมลล์ การส่งต่อไฟล์เอกสาร เพลง คลิปวิดีโอต่างๆ

       Web 2.0 เป็นการเข้าถึงบริการโซเชียลมีเดียต่างๆ มีการสร้างบัญชีบุคคล เช่น Facebook หรือ Google และสามารถนำบัญชีนี้ไปใช้บริการในแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้การใช้งานง่ายมากขึ้น แต่โดยรวมยังนับเป็นการแชร์ข้อมูลระหว่างกันอยู่

       Web 3.0 เป็นการเปลี่ยนรูปแบบใหม่ทั้งหมด ไม่ใช่การใช้บัญชี Facebook หรือ Google เพื่อเข้าถึงบริการต่างๆ แต่จะเป็นสร้าง Blockchain Wallet เพื่อเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มได้ทั่วโลก การใช้งานจะไม่ใช่แค่การแชร์ข้อมูลระหว่างกัน แต่สามารถส่งต่อมูลค่าระหว่างกันได้ เนื่องจากตัวเทคโนโลยี Blockchain แก้ปัญหาเรื่อง Double Spending Problem ทำให้สามารถโอนสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทต่างๆ ได้ เช่น คริปโทเคอร์เรนซี่ หรือ NFT

Web 3.0 เป็น Internet of Value ที่ทุกคนบนโลกสามารถโอนสิ่งที่มีมูลค่าหากันได้ ในอนาคตผู้คนอาจไม่ต้องมีบัญชีธนาคาร แต่มีแค่ Blockchain Wallet ก็พอแล้ว เป็นโลกที่ไร้พรมแดนอย่างแท้จริง เรามองว่าในที่สุดแล้วตลาดจะไปถึงจุดนี้ เพราะ Spirit ของ Bitcoin และคริปโทเคอร์เรนซี่นั้นมุ่งไปที่ Web 3.0 แล้ว ซึ่งซิปเม็กซ์ก็มีวิสัยทัศน์ในทิศทางนี้เช่นกัน แม้เราจะเป็นบริษัทที่ให้บริการเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล แต่โดยธรรมชาติของสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเพื่อความเป็น Decentralized ซึ่งคาดว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้าภาพนี้จะชัดเจนยิ่งขึ้น”

ดร.เอกลาภกล่าวต่อว่า ซิปเม็กซ์ยังอยู่ระหว่างศึกษาเรื่องการพัฒนา Zipmex Token (ZMT) ซึ่งเป็นเหรียญประจำแพลตฟอร์มของซิปเม็กซ์ ให้เป็น Multichain มากขึ้น เพื่อให้ ZMT อยู่ในหลายเชน ถูกลิสต์ในกระดานเทรดชั้นนำของโลกอย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องการพัฒนาเครือข่าย Blockchain ของตัวเอง ให้เป็น Zipmex Chain นั้น ยังไม่มีแผนในขณะนี้แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

โดยปัจจุบัน ZMT มีราคาอยู่ที่ 94 บาท (ราคา ณ วันที่ 28 มกราคม 2565) เป็นเหรียญที่อยู่บนเครือข่าย ERC-20 ของ Ethereum และใช้งานภายในอีโคซิสเต็มส์ของซิปเม็กซ์ โดยจะผูกกับทุกบริการ เช่น การใช้ ZMT เพื่อลดค่าธรรมเนียมการเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล การล็อค ZMT เพื่อรับโบนัสเพิ่มขึ้นในฟังก์ชั่น Zipup, ZipLock และ ZLaunch และถ้าใช้จ่ายใน ZipSpend ก็สามารถรับ Cashback เป็น ZMT หรือการถือ ZMT เพื่อให้ได้สิทธิพิเศษในการซื้อ NFT บน NFT Marketplace ของซิปเม็กซ์

 

ผนึกกรุงศรี คืนดอกเบี้ยลูกค้า

ไม่รีบ Exit แม้โดนบริษัทยักษ์รุมจีบ

ดร.เอกลาภกล่าวว่า สำหรับความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ของซิปเม็กซ์ในปีนี้ จะยังมีออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การโชว์ผลงาน NFT บนป้ายโฆษณาดิจิทัลของ Plan B มีการทำโฆษณาแบรนด์ซิปเม็กซ์บนป้ายโฆษณาต่างๆ มากขึ้น ขณะที่ความร่วมมือกับธนาคารกรุงศรี ฟินโนเวต ก็จะมีบริการเพิ่มในเรื่องของคะแนนสะสมต่างๆ และจะมีเรื่องของการฝากเงินบาทเพื่อรับดอกเบี้ยจากธนาคารกรุงศรีด้วย

“เรากำลังทำงานร่วมกับธนาคารกรุงศรี เพื่อให้ในอนาคตลูกค้าที่ฝากและเก็บเงินบาทเข้ากระเป๋า ซิปเม็กซ์สามารถรับดอกเบี้ยเงินฝากจากธนาคารกรุงศรีได้ด้วย เพราะในความเป็นจริงแล้วบัญชีที่ลูกค้าฝากเข้ามานั้นเป็นบัญชีธนาคารกรุงศรี ซึ่งมีดอกเบี้ย เราจึงนำดอกเบี้ยที่เป็นของลูกค้าอยู่แล้วมาคืนให้ลูกค้าทั้งหมด เพราะเราไม่ได้จะทำธุรกิจบนดอกเบี้ยอยู่แล้ว การเป็นพาร์ทเนอร์กับกรุงศรี ฟินโนเวตช่วยทำให้กระบวนการเหล่านี้เกิดได้ง่ายขึ้น และเรายังคิดต่อไปถึงความร่วมมือรูปแบบอื่นๆ ในอนาคตด้วย”

ดร.เอกลาภกล่าวต่อว่า ปัจจุบันซิปเม็กซ์เติบโตขึ้นอย่างมาก การจะระดมทุนเพื่อสร้างการเติบโตต่อก็สามารถทำได้ แต่ก็มีความคิดที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเช่นกัน แต่ยังไม่ใช่ช่วงเวลานี้ หากดูถึงนักลงทุนที่สนใจจะเข้ามาลงทุนกับซิปเม็กซ์ก็มีจำนวนเยอะมาก มีบริษัทใหญ่หลายแห่งแสดงความต้องการจะเข้ามาซื้อกิจการ แต่ซิปเม็กซ์ยังไม่ได้คิดเรื่องนี้ และยังเลือกทำธุรกิจเช่นเดิมต่อไป

“เรื่องของการ Exit เราจะดูเป็น case by case แต่มีโอกาสน้อยที่เราจะขายธุรกิจให้กับธนาคาร เพราะวิธีการคิดของธนาคารนั้นไม่เหมาะกับสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีทั้ง NFT หรือ Metaverse เรามองว่าการเป็นสตาร์ตอัพยูนิคอร์นไม่ใช่สิ่งจำเป็น เพราะเราไม่ได้ต้องการสร้างมูลค่าบริษัท แต่เราอยากสร้างมูลค่าให้กับโลกคริปโทเคอร์เรนซี่ สร้างให้เกิดใช้งานที่แพร่หลาย ผู้คนเชื่อมั่นใน Decentralized และ Consensus Model เชื่อมั่นว่า NFT สามารถเปลี่ยนโลกได้

ซึ่งคือสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากกว่าการสร้างมูลค่าที่เป็นตัวเลข แน่นอนว่าเวลาที่ระดมทุน เราก็ต้องการมูลค่าการลงทุนที่สูงที่สุด นี่คือสิ่งที่ต้องทำเพื่อดูแลผู้ถือหุ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องใช้ทั้งชีวิตทุกลมหายใจเพื่อให้เป็นยูนิคอร์น เพราะในที่สุดถ้ามีการระดมทุนหรือขายกิจการออกไปก็ได้มูลค่าอยู่แล้ว แต่เราอยากสร้างธุรกิจที่มีอิมแพ็ก อยากสร้างมูลค่าให้อุตสาหกรรมคริปโทฯมากกว่า ซึ่งถ้าทำหน้าที่ได้ดี ก็สามารถถึงเส้นชัยได้เช่นกัน”

ดร.เอกลาภเผยว่า ความเป็นไปได้มากที่สุดสำหรับการ Exit คือการขายกิจการให้กับบริษัทที่มุ่งเน้นด้านคริปโทเคอร์เรนซี่เหมือนกัน เน้นบริษัทที่สามารถเสริมวิสัยทัศน์ของซิปเม็กซ์เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าสู่โลกคริปโทฯได้มากขึ้น และหาก Exit แล้วธุรกิจยังไปต่อได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด เพราะมีพาร์ตเนอร์ที่เข้ามาช่วยให้วงการสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยและกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปต่อได้ เหมือนกับการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหม่ แต่ยังสามารถทำสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันต่อไปได้ พร้อมขับเคลื่อนบริษัทไปข้างหน้าได้อีกไกล

สาเหตุที่ซิปเม็กซ์ได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมาก เพราะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูง และประเทศไทยเป็นประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตดีมาก ซึ่งการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายก็หมายถึงการเข้า Web 3.0 ได้ง่ายตามไปด้วย นักลงทุนต่างชาติจึงมองว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเติบโตสูง และซิปเม็กซ์เป็นรายเดียวที่มีใบอนุญาตมากถึง 4 ประเทศ อีกทั้งนักลงทุนต่างชาติก็ไม่ได้เข้าใจวัฒนธรรมของชาวเอเชีย แต่ซิปเม็กซ์รู้จักวัฒนธรรมและตลาดฝั่งเอเชียเป็นอย่างดี

“เราคือ Local Player ที่มี Global Mindset เพราะเราไม่ได้อยู่แค่ประเทศเดียว ตัวอย่างเช่น อินโดนีเซียนั้น การทำตลาดก็ไม่เหมือนประเทศไทย หรือจะทำการตลาดเหมือนสิงคโปร์หรือออสเตรเลียก็ไม่ได้ เพราะ 2 ประเทศนี้จะเน้นเรื่องบริการที่ต้องใช้คน ส่วนประเทศไทยจะเน้นการโฆษณาและออกอีเวนต์ สะท้อนให้เห็นว่าเราเข้าใจตลาดเราดี ภายใต้ Global Vision เดียว คือทำให้ผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าสู่โลกของสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย และง่ายที่สุด”

 

ติดตามคอลัมน์ CEO Talk ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนกุมภาพันธ์  2565 ฉบับที่ 478

ในรูปแบบดิจิทัล :  https://goo.gl/U6OnIi 

รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt