INTERVIEW • CEO TALK

CEO Talk : ประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx)

 ประพันธ์ เจริญประวัติ

ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx)

 

ตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้าง LiVE Platform

ปูทางเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ สู่ตลาดทุน

“LiVE Platform ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมองค์ความรู้ และเครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยเตรียมความพร้อม พัฒนาศักยภาพ และสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและเติบโตได้ ถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ทำมาในรอบ 40 ปี เพื่อพัฒนาตลาดทุนไทย”

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้พัฒนาตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกในการระดมทุนในตลาดทุนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ตอัพไทยในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมให้สามารถระดมทุนเพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัท โดยหวังให้บริษัทเหล่านี้พัฒนาและเติบโตต่อไปได้เป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ต่อไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุน คือการเสริมสร้างขีดความสามารถผู้ประกอบการให้มีองค์ความรู้และความสามารถในการทำธุรกิจ ตลท. จึงได้ริเริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มที่รวบรวมองค์ความรู้ และเครื่องมือต่างๆ เพื่อช่วยเตรียมความพร้อม พัฒนาศักยภาพ และสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและเติบโตได้ผ่านแพลตฟอร์มแห่งการเรียนรู้ที่ชื่อว่า “LiVE Platform”

ประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ให้สัมภาษณ์ การเงินธนาคาร ถึงบทบาทของและความเชื่อมโยงของ LiVEx และ LiVE Platform ว่า ทั้งสองส่วนจะเสริมพลังและสนับสนุนการเติบโตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และสตาร์ตอัพ เรียกได้ว่าเป็นการปูเส้นทาง หรือเป็นสะพานเพื่อทอดไปสู่การระดมทุนและเป็นบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai ในวันข้างหน้า

 

LiVE Exchange

กระดานหุ้นที่ 3 เพื่อเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ

ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ หรือ LiVEx จัดตั้งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยมี บริษัท แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส (AWS) ผู้ให้บริการออกแบบพัฒนา Digital Technology เป็นหุ้นตัวแรกที่เข้าทำการซื้อขายบนกระดาน LiVEx เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565 โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า ‘AWS22’

ประพันธ์อธิบายว่า ที่มาของตัวเลข 22 คือ ปีที่เข้ามาระดมทุน หลังจากนี้ 2-3 ปี คาดว่าจะสามารถระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)

 สำหรับ LiVEx นับเป็นอีกช่องทางการระดมทุนไม่ต่างจาก SET และ mai ที่จะเปิดโอกาสให้ธุรกิจได้เข้ามาระดมทุนเพื่อสร้างการเติบโต แต่ด้วย LiVEx มุ่งตอบโจทย์ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพจึงทำให้แนวคิดการพัฒนา LiVEx นั้นมีความแตกต่างจาก SET และ mai ใน 3 ด้านหลักๆ ได้แก่

Supervision มีการกำหนดการกำกับดูแลให้เหมาะสมกับลักษณะของเอสเอ็มอี และสตาร์ตอัพ เช่น คุณสมบัติบริษัท หน้าที่หลังเข้าจดทะเบียน เป็นต้น

Investor Protection มีการคุ้มครองผู้ลงทุน โดยจำกัดประเภทผู้ลงทุนและวิธีการซื้อขายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลแบบ Light Touch Supervision และระดับความเสี่ยงในการลงทุน

Information Based มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญของบริษัท และการเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถติดตามและสอบถามข้อมูลจากบริษัทได้โดยตรงผ่านเว็บไซต์ของ LiVE Platform

โดยผู้ประกอบการที่สนใจระดมทุนและจดทะเบียนใน LiVEx เบื้องต้น ต้องเป็นเอสเอ็มอีขนาดกลางขึ้นไป หรือกรณีสตาร์ตอัพมีนิติบุคคลร่วมลงทุน (VC) หรือ กิจการเงินร่วมลงทุน (PE) ร่วมลงทุนในบริษัทแล้ว ไม่กำหนดให้ต้องมีที่ปรึกษาทางการเงิน และต้องจัดทำงบการเงินตามมาตรฐาน PAEs ย้อนหลัง 1 ปี

ในส่วนของผู้ลงทุนที่สามารถลงทุนใน LiVEx ได้นั้น สำนักงาน ก.ล.ต. ได้กำหนดประเภทผู้ลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยง โดยต้องเป็นผู้ลงทุนที่มีความรู้ ประสบการณ์ และฐานะการเงินในระดับที่สามารถรับความเสี่ยงได้ ตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด เช่น ผู้ลงทุนสถาบัน นิติบุคคลร่วมลงทุน (VC) กิจการเงินร่วมลงทุน (PE) ผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) เป็นต้น

 

ธุรกิจไอที อาหาร โลจิสติกส์

ทยอยระดมทุน LiveX

ประพันธ์ คาดว่า ภายในปีนี้ จะมีบริษัทเข้ามาซื้อขายบนกระดาน LiveX อีก 2 บริษัท ขณะที่ภายใน 2-3 ปีนี้ คาดว่าจะมีกว่า 60 บริษัท ที่เคยผ่านโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ LIVE Acceleration Program เข้ามาระดมทุนเพิ่ม

“จะเห็นได้ว่า LiveX เป็นบันไดที่เข้ามารองรับผู้ประกอบก่อนเข้า SET และ mai เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินก้อนในการทำธุรกิจ ขณะที่ปัจจุบันการระดมทุนใน SET และ mai มีขั้นตอนค่อนข้างมาก บางบริษัทอาจต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมตัวนานถึง 4 ปี แต่หากเริ่มต้นด้วยการเข้ามาจดทะเบียนใน LiveX คาดว่าภายใน 1-2 ปี ก็สามารถระดมทุนและจดทะเบียนใน SET และ mai ได้แล้ว”

 สำหรับปี 2566 คาดว่าจะมีผู้ประกอบการ 5-6 บริษัทที่จะทยอยเข้ามาระดมทุนใน LiveX โดยจะเป็นธุรกิจที่เติบโตสูง อาทิ ธุรกิจไอที อาหาร และโลจิสติกส์ เป็นต้น อีกทั้งในปี 2566-2568 ยังคงมีบริษัทที่จะทยอยเข้ามาระดมทุนอีกกว่า 200 บริษัท ซึ่งในแต่ละปีสามารถเข้ามาเทรดใน LiveX ได้เพียง 15-20 บริษัท

 

LiVE Platform

เตรียมความพร้อมก่อนก้าวสู่ตลาดทุน

 ประพันธ์กล่าวว่าในอดีตที่ผ่านมา การเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งบุคลากรในตลาดทุนมีจำนวนน้อย ทั้งที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้ตรวจสอบบัญชี นอกจากนี้ ตลาดทุนเป็นเรื่องไกลตัว และเป็นเรื่องยาก ดังนั้น จึงเกิดระบบ LiVE Platform ขึ้น เพื่อเข้ามาช่วยตั้งแต่ฐานราก โดยมีขั้นตอนในการปูพื้นฐานไล่ไปตามลำดับขั้น ประกอบด้วย Education Platform และ Scaling Up Platform

ทั้งนี้ Education Platform สร้างขึ้นมาเพื่อให้ความรู้พื้นฐานที่จำเป็นแก่ประชาชนในวงกว้าง ตั้งแต่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ปัจจุบันมีประมาณ 3.1 ล้านราย นอกจากนี้ มีสตาร์ตอัพ นักศึกษา และประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันมีคอนเทนต์กว่า 650 คอนเทนต์ ครอบคลุมความรู้สำหรับผู้ประกอบการ 5 หมวดวิชา ทั้งการบริหารจัดการ การตลาด การบัญชี การเงินและการระดมทุน และผู้ประกอบการอย่างยั่งยืนและนวัตกรรม โดยปี 2565 มียอดผู้เข้าใช้งานแล้วกว่า 9 หมื่นครั้ง

ส่วน Scaling Up Platform เป็นเครื่องมือและบริการต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ผู้ประกอบการ อาทิ หลักสูตร e-learning ความรู้เชิงลึก เครื่องมือประเมินความพร้อม (Online Assessment Tools) บริการเอกสารสัญญามาตรฐาน โดยบริษัทกฎหมายชั้นนำ บริการคำแนะนำทางธุรกิจ (LiVE Guru) จากผู้บริหารชั้นนำในด้านต่างๆ และ บริการ Business Matching เพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

 

เป้าหมายปี 2566

ผู้ประกอบการใช้บริการ 1,000 ราย

ประพันธ์กล่าวว่า ปี 2565 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ LiVE Platform แล้วกว่า 700 ราย สำหรับปี 2566 ตั้งเป้าให้มีผู้ประกอบเข้าใช้ถึง 1,000 ราย และหาพันธมิตรใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนการใช้งานระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวก และช่วยบริหารจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานให้ผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ LiVE Platform ยังได้จัดทำโครงการพัฒนาผู้ประกอบการ หรือ LiVE Academy ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนการพัฒนาโครงการจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) กว่า 100 ล้านบาท อาทิ Mini Incubation Program, Incubation Program และ Acceleration Program

 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยพัฒนาผู้ประกอบการที่มีขนาดธุรกิจ ระดับความรู้และความพร้อมที่แตกต่างกัน ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และความพร้อมในการสร้างการเติบโตให้ธุรกิจและการระดมทุนผ่านกลไกตลาดทุน ในรูปแบบการจัดกิจกรรมให้ความรู้ Workshop เชิงปฏิบัติการ การให้คำแนะนำทางธุรกิจ รวมถึงการให้เงินทุนสนับสนุน (Grant) แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ โดย บมจ.แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส (AWS22) หนึ่งในบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ LiVE Acceleration Program รุ่นที่ 1 ก็สามารถระดมทุนและเข้าจดทะเบียนใน LiVEx ได้เป็นรายแรก นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทในโครงการ LiVE Academy ที่มีแผนในการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

สำหรับปี 2566 คาดว่าจะมีพันธมิตรเพิ่มมาเป็น 40 ราย และมีแผนจะขยายเพิ่มเพื่อให้ครอบคลุมทั้งระบบ โดยกลุ่มพันธมิตรที่ต้องการให้เข้ามาช่วยดูแลจะเป็นผู้ประกอบการด้านซอฟต์แวร์ ที่เข้ามาช่วยดูแลระบบ อีกทั้งมีธนาคารพาณิชย์เอกชน และกลุ่มที่ทำระบบควบคุมภายใน เป็นต้น อีกทั้งในปี 2566 วางแผนเรื่องการแบ่งกลุ่มให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น ในเรื่องธุรกิจครอบครัว ธุรกิจเพื่อสังคม และสตาร์ตอัพ

“LiVE Platform ก่อตั้งขึ้นมาให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง โดยเป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจ รวมถึงการบริการ จัดหาหลักสูตรเพื่อให้ความรู้ และเป็นพัฒนาการที่สำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯที่ทำมาในรอบ 40 ปี ในการพัฒนาตลาดทุนไทย เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจในการระดมทุนของผู้ประกอบ