INTERVIEW • CEO TALK

CEO Talk : กวิน พงษ์พันธ์เดชา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทาซซ่า จำกัด ปั้น Bitazza สู่คริปโทฯเมกะแอปฯ ประตูอิสรภาพแห่ง Digital World

กวิน พงษ์พันธ์เดชา

ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

บริษัท บิทาซซ่า จำกัด

 

ปั้น Bitazza สู่คริปโทฯเมกะแอปฯ

ประตูอิสรภาพแห่ง Digital World

 

“แนวคิดหลักในการสร้างธุรกิจของ Bitazza คืออิสรภาพ บางคนใช้บล็อกเชนเพราะต้องการอิสระในการโอนเงิน หรือบางคนเลือกทำธุรกรรมผ่าน Smart Contract เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างอิสระ หรือบางคนเลือกลงทุนในคริปโทฯหลากหลายสกุลที่กระจายอยู่ทั่วโลกมีอิสระด้านการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสุดท้าย ทุกคนจะค้นพบอิสรภาพของตนเองหลังจากที่เข้ามาสู่โลกคริปโทฯผ่านประตูบานแรกอย่าง Bitazza”


ภาพรวมตลาดคริปโทเคอร์เรนซี่ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา มีการปรับตัวลงค่อนข้างรุนแรง เป็นผลพวงจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นการดำเนินมาตรการ QT และการปรับเพิ่มดอกเบี้ยของ Fed ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงสุดในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ความกังวลต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือแม้กระทั่งปัจจัยด้านการเมืองในอเมริกาเองที่มีความเข้มข้น บวกกับวิกฤติจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้พลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภคมีราคาสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อตลาดคริปโทฯทั้งสิ้น

การเงินธนาคาร ได้สัมภาษณ์พิเศษ กวิน พงษ์พันธ์เดชา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทาซซ่า จำกัด (Bitazza) ถึงภาพของอุตสาหกรรมคริปโทฯในปัจจุบัน พร้อมฉายภาพการดำเนินธุรกิจ วิสัยทัศน์ และกลยุทธ์ของ Bitazza ท่ามกลางภาวะขาลงของตลาดคริปโทฯ ตลอดจนการมุ่งหน้าสู่การเป็น “เมกะแอปพลิเคชั่นคริปโทเคอร์เรนซี่”

 

คริปโทฯร่วงหนักแต่ยังมีแรงรับ

ตลาดระยะยาวน่าจับตามอง

กวิน เริ่มให้สัมภาษณ์พิเศษ ด้วยการประเมินภาพรวมของตลาดคริปโทฯ ว่า ปัจจัยระดับมหภาคทั่วโลก ชี้ให้เห็นว่าโลกกำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อที่รุนแรง ซึ่งประเด็นนี้มีส่วนส่งผลให้ตลาดคริปโทฯปรับตัวลงตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มว่าหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยในแต่ละรอบ ราคาของพันธบัตรระยะสั้นจะมีราคาสูงกว่าพันธบัตรระยะยาว ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสัญญาณของการเกิดวิกฤติทางการเงิน (Financial Crisis) ทำให้คนเริ่มหันมาถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น

แม้จะมีปัจจัยลบกระทบต่อตลาดหลายปัจจัย แต่ตลาดคริปโทฯในช่วงที่ผ่านมาก็มีปัจจัยหนุนด้วยเช่นกัน คือนักลงทุนสถาบันยังเข้ามาลงทุนในตลาดอย่างต่อเนื่อง มีการสนับสนุนขึ้นจากหลายฝ่าย ทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลถูกกฎหมายในหลายประเทศทั่วโลก มีการอัดฉีดเงินทุนจาก Venture Capital (VC) มากมายในสตาร์ตอัพที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้น ในภาพรวมที่แม้จะเห็นว่าตลาดคริปโทฯอยู่ในช่วงขาลงและมีความผันผวนสูง แต่ก็ยังมีความน่าสนใจ เพราะยังมีผู้สนใจในตลาดนี้อยู่ไม่น้อย และยังมีเงินไหลเข้าสู่ตลาดตลอดเวลา

“ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไม่น่าจะหายไปจากโลก ยังคงอยู่คู่กับสังคมมนุษย์ไปอีกหลายปี แต่ในเรื่องที่ทุกคนกังวลคือ ความผันผวนของตลาด ซึ่งที่ผ่านมาก็มีปัจจัยลบต่อตลาดเกิดขึ้นมากมาย แต่ก็มีปัจจัยบวกมาสนับสนุนอยู่เข้ามาเสริม เช่น กรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่สร้างปัจจัยลบต่อตลาด ในทางกลับกันคนรัสเซียไม่น้อยก็ย้ายเงินเข้าสู่ตลาดคริปโทฯเพราะใช้เป็นช่องทางป้องกันความเสี่ยงในช่วงที่เงินรูเบิลถูกโจมตี”

กวิน ประเมินว่า ในครึ่งหลังของปี 2022 นั้นตลาดยังไม่แสดงทิศทางที่ชัดเจนเพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาตลาดคริปโทฯยังไม่เคยประสบปัญหา Financial Crisis ที่รุนแรงมาก่อน ดังนั้น ในระยะสั้นแม้จะมีปัจจัยลบระดับมหภาคเข้ามากระทบต่อตลาด แต่ก็ยังชี้ชัดไม่ได้ว่าภาพรวมระยะสั้นตลาดจะเดินหน้าไปในทิศทางใด แต่คาดว่าจะไม่ร่วงอย่างรุนแรง เนื่องจากมีนักลงทุนสถาบันและรายใหญ่นำเงินเข้าสู่ตลาดมากพอสมควรในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนสามารถรับแรงกระแทกที่เกิดขึ้นได้มากกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมระยะยาวนั้น ก็ยังน่าจับตามองอยู่ เพราะได้รับแรงสนับสนุนจากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากประเทศมหาอำนาจสร้างหนี้สินไว้จำนวนมาก การคงอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรไว้สูงควบกับภาระหนี้สินที่สูงของประเทศนั้นไม่สามารถเป็นไปได้ในระยะยาว ซึ่งในสภาวะเช่นนี้จะทำให้เกิดการลดค่าเงินลง และคริปโทฯจะเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่เป็นเครื่องมือแก้ปัญหานี้ได้

กวิน ฉายภาพตลาดคริปโทฯในประเทศไทยด้วยว่า ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดคริปโทฯในประเทศไทยเติบโตสูงมาก ทั้งจำนวน User และ Fund Flow ที่ไหลเข้าตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในอนาคตอัตราการเติบโตของตลาดอาจไม่สูงเหมือนในอดีต แต่จะเติบโตในลักษณะของคนที่เข้าสู่ตลาดจะพยายามหาช่องทางการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลมากกว่าใช้เก็งกำไร และขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากภาครัฐว่าต้องการให้สินทรัพย์ดิจิทัลในไทยเดินหน้าอย่างไร

 

Bitazza เชื่อมนักลงทุน-สินทรัพย์ดิจิทัล

ชูแนวคิดอิสรภาพด้านการลงทุน

กวิน กล่าวว่า ตนเองตัดสินใจก่อตั้ง Bitazza ขึ้นเนื่องจากมองเห็นความแตกต่างด้านการลงทุนระหว่างคนทั่วไปกับคนที่มีเงินทุนมาก จึงเริ่มศึกษาว่าจะทำอย่างไรที่จะสามารถช่วยให้คนทั่วไปสามารถประสบความสำเร็จด้านการลงทุนได้ หรือมีโอกาสไม่น้อยไปกว่าคนที่มีเงินทุนมาก แต่ปัญหาสำคัญคือ ไม่มีใครสามารถเลือกเกิดเป็นคนรวยได้

อีกทั้งโอกาสในการลงทุนหรือการเติบโตในด้านต่างๆ ก็มีไม่เท่ากัน เช่น ถ้าอยากลงทุนด้านเทคโนโลยี ก็ต้องอยู่ Silicon Valley หรือถ้าอยากลงทุนในตลาดหุ้นก็ต้องอยู่ Wall Street หรือตามหัวเมืองใหญ่ๆ ที่เป็นศูนย์กลางด้านการเงิน ยิ่งถ้าเป็นคนไทยทั่วไป การจะโอนเงินไปเทรดเองที่ Wall Street ก็เป็นเรื่องยากจนแทบเป็นไปไม่ได้ หรือถ้าลงทุนผ่านคนกลางก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง

ด้วย Pain Point เหล่านี้ ประกอบกับการที่อุตสาหกรรมคริปโทฯเริ่มเปิดกว้างและได้รับการยอมรับมากขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางข้อกังวลจากการที่คริปโทฯไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐานที่จับต้องได้เพื่อให้คนเข้าใจง่าย ซึ่งเมื่อผสานปัจจัยต่างๆ เข้าด้วยกัน จึงตัดสินใจก่อตั้ง Bitazza ขึ้น เพื่อต้องการให้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างนักลงทุนกับสินทรัพย์ดิจิทัล ละเปิดโอกาสให้คนธรรมดาสามารถมีอิสระในการลงทุนมากขึ้น

“แนวคิดหลักในการสร้างธุรกิจของ Bitazza คืออิสรภาพ บางคนใช้บล็อกเชนเพราะต้องการอิสระในการโอนเงิน หรือบางคนเลือกทำธุรกรรมผ่าน Smart Contract เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างอิสระ หรือบางคนเลือกลงทุนในคริปโทฯหลากหลายสกุลที่กระจายอยู่ทั่วโลกมีอิสระด้านการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายทุกคนจะค้นพบอิสรภาพของตนเองหลังจากที่เข้ามาสู่โลกคริปโทฯผ่านประตูบานแรกอย่าง Bitazza”

กวิน กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน Bitazza เป็นกระดานเทรดคริปโทฯภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) โดยสาเหตุที่ Bitazza เลือกทำธุรกิจในลักษณะของโบรกเกอร์เพราะ ในประเทศไทยมีผู้ประกอบธุรกิจเป็นศูนย์ซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) หลายบริษัท อีกทั้งลักษณะการทำธุรกิจแบบ Exchange นั้นคือการซื้อ Token เข้ามาลิสต์ในกระดาน ดังนั้นสภาพคล่องจะขึ้นอยู่กับจำนวน Token ที่ Exchange นำเข้ามา

แต่ Bitazza มองว่าคริปโทฯ กระจายอยู่ทั่วโลก การทำธุรกิจในลักษณะของโบรกเกอร์จะช่วยให้เข้าถึงสภาพคล่องได้มากกว่า สามารถเฟ้นหาราคาและสภาพคล่องที่ดีที่สุดให้กับนักลงทุนได้ นักลงทุนก็ไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีหลายบัญชีก็สามารถเข้าถึงการลงทุนใน Token ที่หลากหลายได้ ช่วยลดความเสี่ยงให้นักลงทุนในเรื่องการหลอกลวงได้มากกว่าไปเทรดใน Exchange ที่ไม่ได้ถูกกำกับดูแลภายใต้กฎหมายไทย

“ตัวอย่างเช่น เหรียญ SHIBA ซึ่งเป็น Meme Token เคยได้รับความนิยมมากในอดีตและเป็นเป็นที่จับตามองของนักลงทุนทั่วโลก หน้าที่ของ Bitazza คือทำอย่างไรก็ได้ให้นักลงทุนในไทยสามารถเข้าถึงการลงทุนใน SHIBA ให้เร็วที่สุด ซึ่งจากกรณีของ SHIBA นั้นถือเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดในความเป็นโบรกเกอร์เพราะสามารถพานักลงทุนไปลงทุนได้ทันในช่วงที่กำลังมีกระแส สามารถสร้าง Community ของ SHIBA ในไทยที่แข็งแกร่งไม่แพ้ในต่างประเทศ”

ส่วนในอนาคตจะผันตัวไปเป็น Exchange หรือไม่ กวินให้คำตอบว่า ในประเทศไทยมีใบอนุญาตทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ไม่กี่รูปแบบ ดังนั้น ถ้าจะทำธุรกิจให้รอบด้านก็ต้องมีใบอนุญาต Exchange ซึ่งช่วยทำให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือในอนาคตหาก Bitazza มีวอลุ่มเทรดที่ค่อนข้างสูงแล้วจะผันตัวเป็น Exchange ก็สามารถทำได้ภายหลัง

 

ตั้งเป้าสู่คริปโทฯเมกะแอปฯ

เผยเซอร์วิสใหม่บนไวต์เปเปอร์ 2.0

กวินกล่าวถึงภาพรวมธุรกิจของ Bitazza ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาว่า ในปี 2021 ถือเป็นปีทองของวงการคริปโทฯ โดยปัจจุบัน Bitazza มี ผู้ใช้บริการมากกว่า 500,000 คน มีวอลุ่มเทรดประมาณ 100,000 ล้านบาทต่อวัน มีทีมงานประมาณ 80 คน ถือว่าเติบโตขึ้นหลายเท่านับตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจมา เป็นผลมาจากความร้อนแรงของตลาดที่ดึงดูดนักลงทุน ผสานกับการออกแบบแพลตฟอร์มที่เน้นการใช้งานที่เข้าใจง่าย สะดวกสบาย สามารถทำความเข้าใจได้ไม่ยาก โดยจุดแข็งของ Bitazza คือการมีจำนวนเหรียญคริปโทฯที่เลือกลงทุนมากกว่า 50 สกุล อีกทั้งกระบวนการลิสต์เหรียญของ Bitazza ก็ทำได้รวดเร็วโดยใช้เวลาเพียงแค่ 3 วันเท่านั้น

“ปีที่ผ่านมาที่ DeFi ได้รับความนิยม Bitazza ก็เป็นที่แรกที่มี Token เกี่ยวกับ DeFi เปิดให้ลงทุน หรือช่วงที่มีกระแสของ GameFi เราก็มี Axie Infinity เปิดให้เทรดก่อนเช่นกัน ดังนั้น การดึง Token ที่ได้รับความนิยมเข้าสู่แพลตฟอร์มได้รวดเร็วก็เป็นส่วนช่วยให้ Bitazza ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอีกช่องทาง”

อีกด้านหนึ่งที่มีผลให้ธุรกิจของ Bitazza เติบโตคือ การสนับสนุนทั้งจากภาครัฐที่เข้ามากำกับดูแลจนทำให้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสินทรัพย์ที่ถูกกฎหมาย และภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ที่มีส่วนผลักดันและสนับสนุนให้วงการคริปโทฯไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาอันสั้น

“ในบางประเทศ แม้ภาครัฐจะประกาศให้สินทรัพย์ดิจิทัลถูกกฎหมาย แต่หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน วงการคริปโทฯในประเทศนั้นก็ไม่เกิด เช่น ในบางประเทศหากธนาคารรู้ว่าลูกค้าเปิดบัญชีคริปโทฯ ก็จะปิดบัญชีลูกค้ารายนั้นทิ้งไป เพราะไม่ต้องการให้ลูกค้าของธนาคารมีส่วนเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์เสี่ยงสูง การเข้าถึงสินทรัพย์ดิจิทัลในบางประเทศจึงกลายเป็นเรื่องยาก แต่ถือเป็นโชคดีของคนไทยที่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน”

กวินกล่าวต่อว่า เป้าหมายที่วางไว้สำหรับ Bitazza ในตอนนี้คือมุ่งสู่การเป็น “เมกะแอปพลิเคชั่นคริปโทเคอร์เรนซี่” ซึ่งจะเป็นศูนย์รวมกิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินคริปโทฯ เพราะเชื่อว่าคริปโทฯคือสิ่งที่จะอยู่คู่สังคมมนุษย์ไปอีกยาวนาน และประโยชน์ของคริปโทฯ ก็ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่การเก็งกำไรเพียงอย่างเดียว ในต่างประเทศก็มีการใช้คริปโทฯในด้านอื่นๆ ดังนั้น สิ่งที่ Bitazza ต้องทำในปัจจุบันคือหา Use Case ที่เกิดขึ้นจริงทั่วโลก นำมาปรับใช้กับแพลตฟอร์มของตัวเองเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงอรรถประโยชน์ด้านอื่นของคริปโทฯได้มากขึ้น

นอกจากการเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มโอกาสและช่องทางการเข้าถึงการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลให้กับคนไทยแล้ว Bitazza ยังมองถึงการขยายตลาดใหม่ในต่างประเทศด้วย แต่สิ่งที่ Bitazza ทำจะไม่ใช่การ Disrupt สถาบันการเงินของแต่ละประเทศ แต่จะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้คนในประเทศนั้นหากต้องการเข้าถึงโลกของสินทรัพย์ดิจิทัล

 “ไม่มีใครรู้ว่าแท้จริงแล้วคำว่าโลกคริปโทฯหน้าตาเป็นอย่างไร อาจจะอยู่ในรูปแบบของ Metaverse หรือไม่ก็ได้ แต่เราอนุมานว่าโลกคริปโทฯ คือประเทศหนึ่งที่ใครจะเลือกเดินทางไปก็ได้ ดังนั้น Bitazza คือประตูระหว่างโลกแห่งความจริงกับโลกดิจิทัล ทำให้คนมีโอกาสและทางเลือกในการเข้าถึงการลงทุนผ่านสินทรัพย์ดิจิทัลที่หลากหลาย และเชื่อว่าทั้ง 2 โลกจะอยู่ควบคู่กันไปโดยไม่ทำลายซึ่งกันและกันได้ในอนาคต”

กวินกล่าวต่อว่า ด้วยแนวคิดที่ต้องการเปิดรับทุกคนบนโลกให้เข้าถึงโลกของสินทรัพย์ดิจิทัล ทำให้ Bitazza พัฒนาแพลตฟอร์ม Global ขึ้น (Bitazza Global) เพื่อขยายให้สามารถรองรับการเข้าถึงจากทั่วโลก โดยกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจของ Bitazza จะเน้นการหาโปรดักส์ที่ดี ตอบรับกับความต้องการของนักลงทุนเข้ามาสู่แพลตฟอร์ม ซึ่งจะไม่ได้เร่งการขยายบริษัทให้โตเร็วเกินไป เนื่องจากเชื่อว่าการแข่งขันในตลาดนั้นมีหลายวิธี

สิ่งสำคัญที่สุดคือ การแข่งกับตนเองมากกว่าแข่งกับคนอื่น แม้ในช่วงต้น Bitazza จะไม่ใช่แพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลที่โตเร็วที่สุด แต่ถ้าสามารถรักษามาตรฐานและเติบโตคงที่ต่อไปเรื่อยๆ ก็เชื่อว่าในอนาคต Bitazza จะขึ้นไปสู่การเป็นเมกะแอปพลิเคชั่นคริปโทเคอร์เรนซี่ตามที่หวังได้

ปัจจุบัน Bitazza มีการประกาศทิศทางกลยุทธ์ ผ่านไวต์เปเปอร์ 2.0 ฉบับล่าสุด โดยระบุถึงนโยบายต่างๆ ของตัวเหรียญ BTZ ซึ่งเป็นยูทิลิตี้โทเคนบน Ecosystem ของ Bitazza รวมถึงการออกเหรียญ USD Freedom (USDF) ซึ่งเป็น Stablecoin ที่ตรึงมูลค่าแบบ 1:1 กับสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในระบบโซลูชั่นบล็อกเชนของ Bitazza หรือ Decentralized Ethereum Virtual Machine (EVM) ด้วยระบบ delegated Proof-of-Stake (dPOS) โดยในอนาคต Bitazza ยังมีเป้าหมายให้เหรียญ BTZ และ USDF สามารถใช้งานได้ผ่าน Cross-chain หรือ Multi-chain ด้วย

นอกจากนี้ ยังประกาศรายละเอียดของบริการใหม่ทั้ง Freedom Card และ Freedom Wallet หลังจากที่ก่อนหน้านี้เปิดให้ผู้ใช้บริการสามารถจองสิทธิรับบัตรไปแล้ว โดย Freedom Card จะเป็นหนึ่งในช่องทางการใช้จ่ายผ่านความร่วมมือกับ Visa ผู้ใช้สามารถเติมเงินเข้าบัตรด้วยการโอนเงินบาทเข้าแอปพลิเคชั่น Bitazza ได้ตลอดเวลา เงื่อนไขของผู้ถือบัตรคือจะต้องเป็นผู้ที่วาง Stake เหรียญ BTZ ตามจำนวนที่กำหนด เพื่อรับสิทธิในการได้เงินคืนเป็นเหรียญ BTZ สูงสุดที่ 10% โดยสิทธิพิเศษนี้จะมีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 เป็นอย่างน้อย

ขณะที่ Freedom Wallet จะเป็นโซลูชั่นการชําระเงินทางมือถือสำหรับฝั่งร้านค้า โดยจะเป็นการนําบล็อกเชนมาใช้งานผ่านระบบปฏิบัติการ iOS และ Android และการทําธุรกรรมจะถูกขับเคลื่อนโดยเหรียญ BTZ ด้านร้านค้าที่จะเข้ามาใช้บริการจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแรกเข้าเพื่อตั้งค่าโซลูชั่นการใช้งาน นอกจากนี้ จะมีการเก็บค่าบริการรายเดือนด้วย โดยร้านค้าสามารถจ่ายค่าบริการทั้ง 2 ส่วนนี้ได้ด้วยเหรียญ BTZ

  ติดตามคอลัมน์ People ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนกรกฎาคม 2565 ฉบับที่ 483 ในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt




ติดตามคอลัมน์ CEO Talk ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนกรกฎาคม 2565 ฉบับที่ 483 ในรูปแบบดิจิทัล :  https://goo.gl/U6OnIi   

รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt