INTERVIEW • CEO TALK

CEO Talk : ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงิน ดาโอ (ประเทศไทย)

ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์

ประธานกรรมการบริหาร

กลุ่มธุรกิจการเงิน ดาโอ (ประเทศไทย)


“กลุ่มธุรกิจการเงิน ดาโอ (ประเทศไทย) มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจ “DAOL, your lifetime financial partner เพื่อนคู่คิดทางการเงินของคุณ” เพื่อสื่อถึงวิสัยทัศน์ที่ต้องการจะตอบโจทย์การลงทุนในทุกช่วงชีวิต ตั้งแต่วัยเริ่มต้นทำงาน วัยสร้างครอบครัว วัยกลางคน วัยเกษียณและส่งผ่านความมั่งคั่งสู่รุ่นต่อไป”

บริษัท เคทีบีเอสที โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (KTBST Group)ได้รีแบรนด์ครั้งใหญ่ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) หรือ กลุ่มธุรกิจการเงิน ดาโอ (ประเทศไทย) หรือ DAOL (THAILAND) และเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ใหม่มีผลวันที่ 15 สิงหาคม 2565 ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงตามผู้ถือหุ้นใหญ่ในประเทศเกาหลีใต้ นั่นก็คือ บริษัท KTB Investment & Securities ที่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทDAOL Investment & Securities มีผลเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565

 ที่มาที่ไปการเปลี่ยนชื่อของกลุ่มบริษัท เคทีบีเอสที หนึ่งในผู้นำในการให้บริการด้านการเงินมากว่า 20 ปี แนวโน้มการดำเนินธุรกิจของกลุ่มธุรกิจการเงิน ดาโอ จะเป็นอย่างไรภายหลังการรีแบรนด์ ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงิน ดาโอ (ประเทศไทย) ได้ให้สัมภาษณ์ “การเงินธนาคาร” ด้วยการตั้งเป้าหมายสินทรัพย์ภายใต้การดูแล 200,000-300,000 ล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 100,000 ล้านบาท ภายใต้การดำเนินธุรกิจในกลุ่มที่มี 6 บริษัท

ขณะที่การเปลี่ยนชื่อ ส่งผลให้บริษัทในเครือในประเทศไทย ภายใต้กลุ่มบริษัท เคทีบีเอสที เดิม เปลี่ยนชื่อ ดังนี้ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนเป็น บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วี จำกัด เปลี่ยนเป็น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ดาโอ จำกัด บริษัท เคทีบีเอสที รีท แมเนจเมนท์ จำกัด เปลี่ยนเป็น บริษัท ดาโอ รีท แมเนจเมนท์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เคทีบีเอสที เลนด์ จำกัด เปลี่ยนเป็น บริษัท ดาโอ เลนด์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท วี ดิจิทัล เทค จำกัด เปลี่ยนเป็น บริษัท ดาโอ ดิจิตัล พาร์ทเนอร์ จำกัด นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจการเงิน ดาโอ (ประเทศไทย) ยังมีอีก 1 บริษัทที่บริษัทร่วมลงทุน ได้แก่ บริษัท วี ดิจิทัล อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ จำกัด ที่ยังคงใช้ชื่อเดิม

 

ชูวิสัยทัศน์ DAOL, your lifetime financial partner เพื่อนคู่คิดทางการเงินของคุณ

ดร.วิน ได้อธิบายเหตุผลในการเปลี่ยนชื่อและรีแบรนด์ในครั้งนี้ของบริษัทแม่ที่เกาหลีใต้ว่าเพื่อให้สะท้อนตัวตนของบริษัทแม่ ซึ่งมีสัญชาติเกาหลีใต้ โดยคำว่า DAOL อ่านว่า “ดาโอ” (다올) เป็นภาษาเกาหลีโบราณ หมายถึง “ทุกสิ่งที่ดึงดูดความโชคดี” และ ในช่วงนี้ถือเป็นโคเรียนเทรนด์ที่แบรนด์ต่างๆ เปลี่ยนจากชื่อภาษาอังกฤษเป็นภาษาเกาหลีใต้

หลังจากการรีแบรนด์ กลุ่มธุรกิจการเงิน ดาโอ (ประเทศไทย ) ยังได้ปรับวิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจเป็น “DAOL, your lifetime financial partner เพื่อนคู่คิดทางการเงินของคุณ” ซึ่ง ดร.วินได้อธิบายว่า เพื่อสื่อถึงวิสัยทัศน์ที่ต้องการจะตอบโจทย์การลงทุนในทุกช่วงชีวิต ซึ่งมี 4 ช่วง เริ่มตั้งแต่วัยเริ่มต้นทำงาน ที่มีการจัดการเรื่องการออมเบื้องต้น การบริหารสภาพคล่องและหนี้ส่วนบุคคล ถัดมาเป็นวัยสร้างครอบครัว ซึ่งต้องมีการวางแผนสร้างความมั่นคง และความปลอดภัยให้ครอบครัว วัยกลางคน เป็นวัยเพิ่มพูนความมั่งคั่ง ใช้เงินทำงาน ขยายพอร์ตการลงทุน และใช้สินทรัพย์ให้เกิดประโยชน์เพิ่มเติม วัยเกษียณ สำหรับบริหารเงินไว้ใช้ยามเกษียณ และส่งผ่านความมั่งคั่งสู่รุ่นต่อไป

ปัจจุบัน กลุ่มการเงิน ดาโอ มีบริการครบเครื่องสำหรับตอบโจทย์ลูกค้าในการวางแผนทางการเงิน และการลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่ง โดยครอบคลุมทั้งหุ้นในประเทศและต่างประเทศ ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์กองทุนรวม กองทุนสวัสดิการและสินเชื่อบุคคล ทรัสต์ เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์(รีท) ประกันภัย ประกันชีวิต ตลอดจนบริการด้านสินเชื่อ สวัสดิการและสินเชื่อส่วนบุคคลนอกจากนี้อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตเพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เป้าหมายกลุ่มการเงิน ดาโอ

 

 ศูนย์รวมความหลากหลายของผลิตภัณฑ์

ธุรกิจหลักทรัพย์ที่ดำเนินการภายใต้บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ถือเป็นเรือธงสำคัญของกลุ่ม ดร.วิน กล่าวว่า มีเป้าหมายให้เป็นศูนย์รวมความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน และทีมผู้แนะนำการลงทุนที่มากด้วยประสบการณ์ สามารถแนะนำการลงทุนให้กับลูกค้าได้ครบวงจร ทั้งบริการด้านนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์วาณิชธนกิจ การบริหารความมั่งคั่ง บริการนายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม และการบริการกองทุนส่วนบุคคล ที่ครอบคลุมทั้งสินทรัพย์ในประเทศและต่างประเทศ แก่นักลงทุนบุคคลทั่วไป และนักลงทุนสถาบัน

ในส่วนของธุรกิจวาณิชธนกิจนั้น ค่อยๆ เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีทั้งที่ปรึกษาทางการเงินในการนำกิจการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือหุ้นที่ออกและเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) การเป็นที่ปรึกษาในการควบรวมกิจการ (Mergers & Acquisitions : M&A) และการเป็นที่ปรึกษาในการระดมทุน(Funding)ให้กับกิจการในรูปแบบต่างๆ จะเห็นได้ธุรกิจขยายตัวมาอย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับธุรกิจบริหารกองทุนส่วนบุคคล ที่ค่อยๆ เติบโต โดยเน้นการให้บริการนักลงทุนรายใหญ่และนักลงทุนสถาบัน นอกจากนี้ มีธุรกรรมให้คำปรึกษาทางด้านการลงทุนผ่านช่องทางการบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล (Private Wealth) และผ่านช่องทางที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor) หรือช่องทางอื่นๆ ภายใต้การให้บริการของกลุ่ม

ธุรกิจกองทุนรวม ดำเนินการภายใต้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ดาโอ ให้บริการด้านบริหารจัดการกองทุนรวม และกองทุนส่วนบุคคลที่ให้บริการเฉพาะบุคคลทั่วไป ครอบคลุมทั้งสินทรัพย์ในประเทศและต่างประเทศ มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร ( AUM) ประมาณ 6,000 ล้านบาท ( ณ มิ.ย.2565)

บริษัท ดาโอ รีท แมเนจเมนท์(ประเทศไทย) จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการด้านการจัดการกองทรัสต์ (รีท) โดยเน้นให้บริการในสินทรัพย์ประเภทโรงแรม พื้นที่ทางการค้า ศูนย์รับฝากข้อมูล (ดาต้า เซ็นเตอร์) โกดังสินค้าและโรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงและเติบโตต่อเนื่องเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหน่วยทรัสต์

 

ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เป้าปี 66 มี 3 ไลเซนส์

 ภายใต้โครงสร้างของกลุ่มธุรกิจการเงิน ดาโอ มีเป้าหมายประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถือเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่กลุ่มนี้จะไม่ยอมตกขบวน สำหรับกลุ่มการเงิน ดาโอ จะประกอบธุรกิจภายใต้ บริษัท ดาโอ ดิจิตัล พาร์ทเนอร์ จำกัด มีเป้าหมายดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล การะดมทุนแบบดิจิทัลด้วยการเสนอขายดิจิทัลโทเคน (ICO) และธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล และ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) ของกลุ่มธุรกิจการเงิน ดาโอ

ดร.วิน กล่าวว่า ในปี 2566 มีเป้าหมายว่าภายใต้ร่มกลุ่มธุรกิจการเงิน ดาโอ จะมีใบอนุญาตผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 3 ธุรกิจ ประกอบด้วย นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) ผู้จัดการเงินทุนสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Fund Manager) ขณะที่ล่าสุดอยู่ระหว่างการยื่นขอใบอนุญาต ICO จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

“เหตุผลที่เราต้องทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะต้องการเข้าไปอยู่ในระบบนิเวศ (Ecosystem) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่จะจัดตั้ง บริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด (TDX) ดังนั้นกลุ่มธุรกิจการเงิน ดาโอ ต้องมีทุกอย่างให้พร้อม”

 

โตแบบ Organic Growth

 รายได้ทุกกลุ่มธุรกิจต้องสมดุล

ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจการเงิน ดาโอ (ประเทศไทย) มีสินทรัพย์ภายใต้การดูแล(AUA) กว่า 100,000 ล้านบาท ดร.วิน คาดว่า สามารถเติบโตได้ถึง 200,000-300,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 5 ปีจากนี้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับภาวะการลงทุนและสถานการณ์เศรษฐกิจ แต่ไม่ได้เร่งการเติบโต โดยมีเป้าหมายให้ทุกธุรกิจภายใต้กลุ่มมีรายได้ที่สมดุลมีความแข็งแรงและเติบโตอย่างยั่งยืน

 นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจการเงิน ดาโอ มีกฎอยู่ว่า จะไม่ทำธุรกรรมแข่งกับลูกค้าดังนั้น บริษัทจึงไม่มีพอร์ตการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือพอร์ตเทรดหุ้น

 “เราพยายามให้ทุกธุรกิจภายใต้กลุ่มเติบโตเท่าๆ กันเพื่อความยั่งยืน และอยากเติบโตไปพร้อมกับลูกค้า สิ่งที่อยากเห็นคือ ลูกค้าใช้บริการนานแค่ไหน ซึ่งแน่นอนว่า อยากให้ลูกค้าอยู่กับกลุ่มธุรกิจการเงิน ดาโอ ไปนานๆ และสามารถเติบโตไปพร้อมๆ กันได้ เราอยากเติบโตแบบสมดุล เปรียบเหมือนกับร่างกายที่ต้องขยายไปพร้อมๆ กัน”

 กลุ่มธุรกิจการเงิน ดาโอ มีวัตถุประสงค์สร้างการเติบโตจากภายใน (Organic Growth) ด้วยการขยายจำนวนผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้าผู้ประกอบการ (Relationship Manager : RM ) มากขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อให้ลูกค้าได้รับรู้ว่า กลุ่มธุรกิจการเงิน ดาโอ มีศักยภาพ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้บริการ เชื่อว่าจะทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“แน่นอนว่า การเติบโตในรูปแบบของกลุ่มธุรกิจการเงิน ดาโอ แตกต่างกับรูปแบบการทำธุรกิจของกลุ่มการเงินอื่นค่อนข้างชัด และอาจมีความคล้ายกับธนาคารพาณิชย์ แต่โดยรวมสิ่งที่ต่างกันคือ กลุ่มของเรามีความเป็นอิสระ และมีบริการด้านคำแนะนำมากกว่า เป็นสิ่งที่สร้างความสัมพันธ์ ความชื่นชอบในคำแนะนำ เมื่อคำแนะนำเป็นประโยชน์ ทำให้ลูกค้าได้ประโยชน์ เช่น ผลตอบแทน ฯลฯ สิ่งที่ตามมาคือ ลูกค้าจะให้ความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมอื่นและได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น เป็นต้น”

สำหรับผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจการเงิน ดาโอ ปี 2564 มีรายได้รวม 2,500 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 230 ล้านบาท ส่วนปี 2565 ดร.วิน ยอมรับว่า ตัวเลขปรับลดลงเมื่อเทียบกับปี 2564ด้วยสถานการณ์การลงทุนทั่วโลกที่ผันผวน ทำให้ผลการดำเนินงานปรับตัวลงเช่นเดียวกับอุตสาหกรรม โดยครึ่งปีมีรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท กำไรสุทธิ 70 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คาดว่าทั้งปี 2565 มีกำไรสุทธิ 100 ล้านบาท

 

ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี บริการอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

หนึ่งในพันธกิจของกลุ่มธุรกิจการเงินดาโอ คือ Digital Driven Lifestyle หรือมีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้อย่างต่อเนื่องเพื่อบริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.วิน ได้อัปเดตว่า ในปัจจุบันกลุ่มบริษัทมีเทคโนโลยีและแพลตฟอร์ม เช่น แอปพลิเคชั่น DALO LIFE อยู่ใน App Store และ Google Play เป็นแอปฯที่รวมทุกอย่างไว้ โดยเริ่มจากธุรกิจหลักทรัพย์ที่ลูกค้าสามารถดูบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์และพอร์ตการลงทุน

“หากดูในแง่ของระบบเทรด บล.ดาโอน่าจะมีระบบเทรดเยอะมากเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าส่วนหลังบ้านมีการพัฒนาระบบ Enterprise Resource Program (ERP) ที่มีระบบช่วยในการตัดเงินเพื่อให้ลูกค้าทำงานได้อัตโนมัติมากขึ้น และสามารถบริหารพอร์ตได้ทันทีทำให้ลูกค้าลดเวลาในการฝากถอนเงินได้มากขึ้น”

 สำหรับบริการสินเชื่อสวัสดิการและสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ดำเนินงานโดย บริษัท ดาโอ เลนด์ (ประเทศไทย) มีแอปพลิเคชั่น LEND U ที่มีฟังก์ชั่นสมัครสินเชื่อสวัสดิการ เมนูบทเรียนในรูปแบบ e-learning พร้อมแบบทดสอบที่รวบรวมความรู้ ทั้งการบริหารจัดการหนี้การคำนวณอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกความรู้ด้านการลงทุนเพื่อสร้างวินัยการออมเงิน นอกจากนี้ มีฟังก์ชั่นการบันทึกรายรับรายจ่าย เป็นต้น

นอกจากนี้ ดร.วิน ยังย้ำอีกว่า กลุ่มธุรกิจการเงิน ดาโอ ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างมาก โดยในแต่ละปีได้ใช้งบประมาณค่อนข้างสูงเพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยี นอกจากนี้มีทีมงานในสายงานดังกล่าวจำนวนที่มากถึง 60 คน เพื่อซัพพอร์ตงานด้านต่างๆจากพนักงานของกลุ่มธุรกิจการเงิน ดาโอ (ประเทศไทย) ที่มีทั้งหมดกว่า 700 คน

 บททิ้งท้ายก่อนจาก ดร.วิน ได้ให้คำแนะนำการลงทุนภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ในภาวะหมี (ซบเซา) โดยใช้กลยุทธ์ “ลงซื้อ-ขึ้นขาย” เมื่อมีกำไรตามเป้าหมาย เช่น 5-10% ก็ขายออก และให้รีเซ็ตใหม่เปลี่ยนไปตลาดที่เป็น Sideway Down นอกจากนี้ แนะนำให้ทยอยสะสมหุ้นจีน และหุ้นสหรัฐฯ

 

ติดตามอ่านคอลัมน์ CEO Talk ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนพฤศจิกายน 2565 ฉบับที่ 487 ในรูปแบบดิจิทัล :  https://goo.gl/U6OnIi

รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt