INTERVIEW • CEO TALK

Special Interview : อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)


Powering Life with Future Energy and Beyond

ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต


เราต้องการก้าวออกไปนอกอุตสาหกรรมพลังงาน โดยธุรกิจใหม่ของ ปตท. นั้นจะสร้างขึ้นบนพื้นฐานของการเป็นตัวสนับสนุน New S-Curve ของประเทศ เช่น การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ศูนย์กลางด้านการขนส่ง รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล AI และ Robotic สิ่งเหล่านี้จะถูกนำมารวมอยู่ในกลยุทธ์การเติบโตของ ปตท. เพื่อให้มีส่วนในการสนับสนุนการสร้าง New S-Curve และเราจะลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อมั่นใจว่าจะสามารถสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศไทยได้


การระบาดของไวรัส COVID-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกับหลายอุตสาหกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ การขนส่งและการเดินทางทั่วโลกหยุดชะงัก ราคาน้ำมันดิบตกต่ำลงถึง 23 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงต้นปี 2563 ก่อนจะทยอยฟื้นกลับขึ้นมาในช่วงกลางปี หลังจากสถานการณ์การระบาดในหลายประเทศบรรเทาลงจากการเร่งฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์เหล่านี้ได้กลายเป็นตัวแปรสำคัญในโลกธุรกิจ เกิดพฤติกรรมการใช้ชีวิตในแบบวิถีใหม่ที่ผู้คนถาโถมเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว จนภาพแห่งอนาคตขยับเข้ามาใกล้ผู้คนเร็วขึ้นราว 5 ปี ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้กลายเป็นบททดสอบที่ 2 ต่อจากการระบาดของ COVID-19 ที่จะทำให้เกิดการปรับตัวครั้งสำคัญของทุกอุตสาหกรรมบนโลกนี้

การเงินธนาคาร ได้สัมภาษณ์พิเศษ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถึงการปรับตัวครั้งสำคัญที่จะพลิกโฉมองค์กรอย่าง ปตท. ให้พร้อมสำหรับโลกอนาคตอย่างเต็มตัว ด้วยวิสัยทัศน์สำคัญ Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต พร้อมกับกลยุทธ์ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มุ่งทลายกำแพงในธุรกิจพลังงานเดิม เพื่อขับเคลื่อน ปตท. ให้ก้าวไปสู่การสร้าง S-Curve ใหม่ให้แก่ประเทศไทย


ราคาน้ำมันฟื้น หลัง COVID-19 คลาย

หนุนผลประกอบการเข้าสู่ภาวะปกติ

อรรถพล เริ่มให้สัมภาษณ์พิเศษกับ การเงินธนาคารว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมพลังงานได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างมาก ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของโลกลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกลดลง 9% ด้านราคาน้ำมันดิบดูไบก็ปรับตัวลงถึง 34% ขยับราคาลงมาอยู่ที่ 42.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จาก 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2562 โดยปัจจัยสำคัญมาจากการระบาดของ COVID-19 และสงครามราคาน้ำมัน

ส่วนภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในปี 2564 ถือว่าอยู่ในช่วงฟื้นตัว โดยมีทิศทางที่ดีขึ้น มีการประมาณการอัตราการใช้น้ำมันของโลกที่ 97.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ในปีนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบดีดกลับขึ้นมาที่ 67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดี จนเกิดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ และมีแนวโน้มว่าจะกลับไปยืนในราคาเดิมก่อนการระบาด

ในส่วนของประเทศไทย สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ระลอก 1 จนถึงระลอก 3 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยานซึ่งลดลงถึง 51% จากมาตรการจำกัดการเดินทางของรัฐบาล ขณะที่น้ำมันเบนซินลดลง 6% น้ำมันดีเซลลดลง 2% ส่วนก๊าซธรรมชาติลดลง 8% แต่ในปี 2564 เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย โดยความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จากความต้องการใช้ของภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม

“แนวโน้มของประเทศไทยก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ความต้องการใช้น้ำมันปี 2563 มีการปรับตัวลดลง 8-10% แต่ปัจจุบันราคาขยับขึ้น 4-5% แม้ยังไม่ถึงจุดปกติแต่ก็ถือว่าดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องดูในระยะต่อไปว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะยืดเยื้อออกไปอีกหรือไม่ โดยที่ผ่านมา ปตท. มีการใช้กลยุทธ์ 4R เพื่อรับมือผลกระทบจาก COVID-19 อย่างใกล้ชิด และยังเตรียมพร้อมสำหรับการเดินหน้าธุรกิจทันทีที่สถานการณ์คลี่คลาย รวมถึงวางแผนระยะยาวเพื่อให้สามารถปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้อย่างทันท่วงที”

อรรถพล ฉายภาพกว้างของโลกพลังงานว่า การใช้น้ำมันของโลกเติบโตในอัตราชะลอตัว ซึ่งนักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ว่า จุดการผลิตน้ำมันดิบสูงสุด หรือ Peak Oil จะขยับเข้ามาเร็วขึ้น โดยอาจเกิดขึ้นในปี 2568 จากที่เคยประเมินว่าจะเกิดขึ้นในปี 2573-2578 ขณะที่นักวิเคราะห์บางสำนักมองว่า Peak Oil ได้เกิดขึ้นไปแล้วในปี 2562 ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19

ขณะเดียวกัน โลกได้มุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานใหม่ (Energy Transition) ความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นพลังงานฟอสซิลที่สะอาดที่สุด จะมีบทบาทสำคัญในการเป็น Transition Fuel อีกทั้งจากข้อตกลง Paris Agreement หลายประเทศยังมีการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero Carbon) ไว้ที่ปี 2593 ขณะที่ประเทศไทยวางเป้าหมายเบื้องต้นไว้ที่ปี 2608-2613 ด้านบริษัทพลังงานหลายแห่งในต่างประเทศก็กำหนดเป้าหมาย Net Zero Carbon ไว้ที่ปี 2573-2593 และยังเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดมากขึ้นด้วย สถานการณ์นี้สะท้อนภาพของแนวโน้มการใช้พลังงานในอนาคตได้อย่างชัดเจน

“ปตท. มองว่า แนวโน้มพลังงานในอนาคต จะมุ่งสู่ 2 แนวโน้มสำคัญคือ Go Green และ Go Electric ซึ่ง Go Green คือการที่โลกกำลังเดินหน้าไปสู่การใช้พลังงานสะอาดเพื่อป้องกันสภาวะโลกร้อน ขณะที่ Go Electric เป็นการบ่งชี้ว่าพลังงานไฟฟ้าจะเป็นรูปแบบการใช้พลังงานที่สำคัญในอนาคต”

อรรถพล กล่าวว่า ด้านผลประกอบการในครึ่งแรกของปี 2564 ปตท. สามารถสร้างกำไรได้ 57,000 ล้านบาท ซึ่งฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จนในปี 2563 ผลกำไรลดลงเหลือเพียง 37,000 ล้านบาท ขณะที่ก่อนการระบาดในปี 2562 ปตท. มีผลกำไรราว 93,000 ล้านบาท ซึ่งหากดูผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลัง จะเห็นว่าผลประกอบการของ ปตท. กำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย

“การฟื้นตัวที่รวดเร็วของเราเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากองค์ประกอบหลายด้าน ทั้งความต้องการใช้น้ำมันที่ฟื้นตัว ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น และที่สำคัญคือหน่วยการผลิตของ ปตท. ที่มุ่งเน้นเรื่องประสิทธิภาพการผลิต เห็นได้จากในช่วงของการระบาด ปตท. ไม่มีการปิดโรงงาน ทำให้สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ และเมื่อความต้องการใช้น้ำมันกลับมา โดยเฉพาะความต้องการใช้ของโลก เราก็สามารถสร้างผลงานเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เข้าสู่ภาวะปกติได้ทันที”

 

เปิดวิสัยทัศน์ใหม่ ลุยพลังงานอนาคต

Powering Life with Future Energy and Beyond

อรรถพล กล่าวว่า จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 และแนวโน้มอุตสาหกรรมพลังงานโลกที่มุ่งสู่ 2 แนวโน้มสำคัญคือ Go Green และ Go Electric ปตท. จึงทบทวนกลยุทธ์และปรับวิสัยทัศน์องค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มภาคพลังงาน เทคโนโลยี และสังคมที่เปลี่ยนไป โดยวิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท. คือ “Powering Life with Future Energy and Beyond : ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต” โดยวิสัยทัศน์ใหม่นี้จะสะท้อนถึงทิศทางกลยุทธ์และการเติบโตของ ปตท. ที่ต้องการเป็นองค์กรที่พร้อมขับเคลื่อนทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็นผู้คน ชุมชน สังคม ประเทศไทย รวมถึงสังคมโลก ด้วยพลังงานแห่งอนาคต ทั้งพลังงานไฟฟ้า พลังงานทดแทน

Powering Life เป็นจุดมุ่งหมายขององค์กร “ดำเนินธุรกิจเพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนทุกชีวิต” โดย Life ในบริบทนี้หมายถึง ชีวิตผู้คน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีแนวทางของการดำเนินงาน 3 ด้าน คือ

       1. Growth Along the Way of Life : สร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนและมีธรรมาภิบาล ลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการสร้างรูปแบบธุรกิจผ่านโมเดลพันธมิตรและการสร้างแพลตฟอร์ม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

       2. Positive Contribution to Society : การสร้างคุณค่าทางสังคมให้เกิดคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม ชุมชน ผ่านการดำเนินงานของ ปตท.

       3. Low Carbon Society : พัฒนาธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

With Future Energy and Beyond เป็นทิศทางการเติบโตที่มุ่งสู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต และมุ่งเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไม่ถูกจำกัดแค่ในอุตสาหกรรมพลังงาน โดยใน Future Energy นั้นจะประกอบด้วยพลังงานทดแทน (Renewable) แบตเตอรี่ (Energy Storage) และโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV Chain) รวมถึงการศึกษาโอกาสในพลังงานประเภท Hydrogen ควบคู่ไปด้วย

สำหรับ Beyond ปัจจุบัน ปตท. มุ่งเน้นไปที่ 5 กลุ่มธุรกิจ คือ 1. Life Science ประกอบด้วย Pharma, Nutrition & Medical Device 2. Mobility & Lifestyle 3. High Value Business 4. Logistics & Infrastructure 5. AI, Robotic & Digitalization ควบคู่ไปกับการมองหาโอกาสในธุรกิจใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูง และมีแนวโน้มเติบโต หรือมีศักยภาพในการแข่งขัน

“เราต้องการก้าวออกไปนอกอุตสาหกรรมพลังงาน โดยธุรกิจใหม่ของ ปตท. นั้นจะสร้างขึ้นบนพื้นฐานการเป็นตัวสนับสนุน New S-Curve ของประเทศ เช่น การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ ศูนย์กลางด้านการขนส่ง รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล AI และ Robotic สิ่งเหล่านี้จะถูกนำมารวมอยู่ในกลยุทธ์การเติบโตของ ปตท. และเราจะลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อมั่นใจว่าจะสามารถสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยได้”

อรรถพล กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าตามวิสัยทัศน์ใหม่ ปตท. จะใช้กลยุทธ์ PTT by PTT หรือ Powering Thailand’s Transformation by Partnership and Platform, Technology for All, Transparency and Sustainability

โดย Partnership and Platform คือการเน้นการดำเนินธุรกิจด้วยการสร้างพันธมิตรและพัฒนาธุรกิจของ ปตท. ให้มีลักษณะเป็นแพลตฟอร์มมากกว่าเป็นแค่ผู้ผลิตและจำหน่าย โดยจะมุ่งสร้างให้เกิด New Business Model และ New Ecosystem

Technology for All คือ เทคโนโลยีที่เกิดจากการ Know-How นวัตกรรมและดิจิทัล จากทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยจะใช้เทคโนโลยีในทุกมิติเพื่อสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ และใช้การบริหารจัดการองค์กร รวมทั้งขับเคลื่อนสู่ภายนอก สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคม

Transparency and Sustainability สร้างความโปร่งใสและความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ เน้นให้พนักงานผู้ปฏิบัติมีความเข้าใจ เรื่องระเบียบข้อบังคับต่างๆ (GRC) พร้อมกับพัฒนาการดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืนทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

“ผมอยากให้กลุ่ม ปตท. เป็นองค์กรด้านพลังงานของประเทศไทย ขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลง ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ทุกภาคส่วน มุ่งยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ช่วยพัฒนาสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย”


โฟกัส 6 กลุ่มธุรกิจ

มุ่งสร้าง New S-Curve ให้ประเทศไทย

อรรถพล กล่าวว่า ปตท. มีการปรับตัวในเรื่องของพอร์ตการลงทุน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับธุรกิจปัจจุบันและธุรกิจใหม่ มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย และผลักดันให้เกิด New S-Curve กับประเทศ นอกจากธุรกิจหลักของ ปตท. แล้ว ด้วยวิสัยทัศน์ใหม่และกลยุทธ์ PTT by PTT ปตท. จะมุ่งเน้นใน 6 ประเภทธุรกิจใหม่ ซึ่งอยู่ในส่วน Future Energy and Beyond โดยมีรายละเอียดและความคืบหน้า ดังนี้

1. ธุรกิจ New Energy

       - LNG ครบวงจร : ตั้งเป้าสร้างประเทศไทยให้เป็น Regional LNG Hub มุ่งลงทุนด้าน Facility ที่เกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติ เช่น จากเดิมใช้ก๊าซผ่านทางท่อส่งก๊าซ แต่ปัจจุบันสามารถทำให้ก๊าซอยู่ในรูปของเหลวและใช้ขนส่งผ่านเรือ สามารถนำเข้ามาจากทั่วโลกได้ ซึ่ง ปตท. มีการลงทุนสร้างท่าเรือเฉพาะในการรับการขนส่ง LNG จากทั่วโลก เพื่อนำเข้ามาใช้ในระบบของประเทศ และยังเป็นศูนย์กลางในการซื้อ-ขาย LNG ด้วย โดย ปตท. ตั้งเป้าการลงทุนใน LNG เป็น 9 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573

      - Renewables : ลงทุน 90% ในโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไต้หวัน 55.8 เมกะวัตต์ ผ่านบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด นอกจากนี้ ซื้อหุ้น 25% โรงไฟฟ้าพลังงานลมในไต้หวัน 595 เมกะวัตต์ และซื้อหุ้นเพิ่มทุน 41.6% บริษัทพลังงานหมุนเวียนในอินเดีย 4,560 เมกะวัตต์ ผ่านบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) โดย ปตท. ตั้งเป้าว่าจะมีการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนต่อเนื่อง และจะรวมกำลังการผลิตให้ได้ 12,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573 จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนอยู่ราว 2,000 เมกะวัตต์

       - Energy Storage : GPSC ได้เปิดตัวโรงงานแบตเตอรี่ Semi Solid แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มต้นที่ 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง และยังร่วมกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) เปิดตัว G-Box นำร่องในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station สาขาหนองแขม รองรับ EV Station

       - Energy Platform : เปิดตัวแพลตฟอร์ม ReACC ซึ่งเป็นธุรกิจให้บริการซื้อ-ขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน และยังได้ร่วมมือกับบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เซอร์ทิส จำกัด (SERTIS) พัฒนาระบบ Smart Energy Platform รองรับการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยในการทำธุรกรรมและอำนวยความสะดวกการซื้อขายพลังงานระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยกับผู้ใช้พลังงาน

       - EV Value Chain : จัดตั้งบริษัทใหม่ชื่อว่า “อรุณ พลัส” (ARUN PLUS) เพื่อทำธุรกิจรถไฟฟ้าครบวงจร และตั้งบริษัท อีวี มี พลัส จำกัด (EVME PLUS) เพื่อให้บริการ Digital Platform สำหรับธุรกิจ EV นอกจากนี้ยังร่วมกับบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีองค์ความรู้ในการสร้างโรงงานผลิตรถไฟฟ้า ตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อทำการศึกษาและเตรียมแผนตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้าในประเทศไทย ด้วยคอนเซปท์แบบ BOL หรือ Build Operate Localize โดยใช้แพลต์ฟอร์มของฟ็อกซ์คอนน์ MIH Platform ซึ่งจะสามารถลดระยะเวลาในการพัฒนารถไฟฟ้าจาก 4 ปี เหลือ 2 ปี และยังช่วยลดต้นทุนการผลิตรถไฟฟ้าลงได้ถึง 200,000 บาทต่อคัน

โดยบริษัทร่วมทุนนี้ อรุณ พลัส จะถือหุ้นในสัดส่วน 60% ส่วนฟ็อกคอนน์ถือหุ้น 40% ใช้เงินลงทุนระยะแรก 1-2 พันล้านดอลลาร์ คาดว่าจะใช้เวลาในการสร้างราว 1-2 ปี กำลังผลิต 30,000 คันต่อปี และจะเพิ่มเป็น 150,000 คันภายในปี 2573


2. ธุรกิจ Life Science

       -  จัดตั้งบริษัทอินโนบิก (เอเซีย) จำกัด และเข้าไปลงทุนในธุรกิจ Life Science เช่น การเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน 6.66% จากบริษัทยา Lotus Pharmaceutical ในประเทศไต้หวัน รวมถึงการร่วมมือกับ องค์การเภสัชกรรม และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทางยา เช่น ยาต้านไวรัส COVID-19 ฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการต่อยอดเป็นเชิงพาณิชย์

       - Nutrition : ปตท. ร่วมทุนในสัดส่วน 50:50 กับบริษัท โนฟ ฟู้ดส์ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจ Plant-Based Protein ตั้งโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช เพิ่มทางเลือกอาหารเพื่อสุขภาพซึ่งกำลังมีแนวโน้มเติบโตสูงในขณะนี้

       - Medical Device and Medical Tech : ปตท. ได้ร่วมทุนกับบริษัทในกลุ่มอย่างบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ตั้งบริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด สร้างโรงงานผลิตผ้าไม่ถักทอ (Non-Woven Fabric) สำหรับหน้ากากอนามัย


3. ธุรกิจ Mobility & Lifestyle

       - OR จะเป็นกำลังสำคัญในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมัน PTT Station รวมถึงการขยายธุรกิจค้าปลีกให้มากขึ้น พร้อมกับการเสริมสร้างธุรกิจ Lifestyle อย่างต่อเนื่อง เช่น การลงทุน 65% ในบริษัท พีเบอร์รี่ ไทย จำกัด พร้อมทั้งลงทุน 20% ในร้านสลัดชื่อดังโอ้กะจู๋


4. ธุรกิจ High Value Business

        - มุ่งเน้นด้านการต่อยอดธุรกิจปิโตรเคมีให้มีคุณสมบัติพิเศษ (Specialty) เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกที่มีคุณสมบัติพิเศษ และใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการผลิต โดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) ได้เข้าซื้อกิจการ Allnex เพื่อต่อยอดธุรกิจ Coating Resins เพื่อเตรียมขยายตลาดทั้งในภูมิภาคยุโรปและเอเชียแปซิฟิก


5. ธุรกิจ Logistics & Infrastructure

       - มุ่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การขนส่งทางบก ท่าเรือและระบบขนส่งทางรางซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศที่สำคัญ โดย ปตท. อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 นอกจากนี้ บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (EnCo) ยังได้ซื้ออาคารศูนย์ฝึกอบรมการบินไทย เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ


6. ธุรกิจ AI & Robotic, Digitalization

       - บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) จัดตั้งบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) โดยร่วมมือกับพันธมิตร พัฒนาโดรนในแอปพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อตรวจโครงสร้างสิ่งปลูกสร้าง วิศวกรรมทางทะเล รวมถึงการใช้ใน Smart Farming

       - ร่วมทุนกับบริษัท Mitsui ในการตั้งบริษัท พีทีที เรส จำกัด เพื่อให้บริการ One Stop Service ด้านดิจิทัลสำหรับลูกค้าในภาคอุตสาหกรรม

       - ร่วมมือกับ Microsoft จัดตั้งบริษัท เมฆาเทคโนโลยี จำกัด เพื่อให้บริการ Cloud Service ครอบคลุมทั้งการให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีและโซลูชั่น

       - ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรม BOI และสถาบันการเงิน ตั้งบริษัท T-ECOSYS ดำเนินธุรกิจ Digital Platform ด้านอุตสาหกรรม

“ทั้ง 6 ธุรกิจนี้จะเป็นสิ่งที่ ปตท. มุ่งเน้นจากนี้ไป ภาพการก้าวข้ามกำแพงเพื่อขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่นอกเหนือจากธุรกิจพลังงานจะเริ่มชัดเจนมากขึ้น เราตั้งเป้าว่าการลงทุนต่อจากนี้จนถึงปี 2573 พอร์ตการลงทุนจะเน้นไปที่ Future Energy และ Beyond โดยคิดเป็นสัดส่วนราว 30% และในปี 2573 คาดว่าผลกำไรที่มาจากธุรกิจ Future Energy และ Beyond จะมีสัดส่วน 30% จากผลกำไรรวมของ ปตท.”


พร้อมยืนหยัดเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม

ร่วมเป็นแรงขับเคลื่อนยุค COVID-19

อรรถพล กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. ให้ความสำคัญกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมเท่าๆ กับการทำธุรกิจจะเห็นว่าวิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท. ยังคงตระหนักถึงเรื่อง Powering Life ที่มุ่งเน้นผู้คน ชุมชน สังคม เพราะ ปตท. ต้องการตั้งอยู่เพื่อเป็นกำลังขับเคลื่อนให้กับทุกชีวิต จึงถือเป็นภาระหน้าที่ของ ปตท. ที่จะต้องดูแลสังคม ชุมชน ให้ดีที่สุด

ที่ผ่านมา ปตท. มีโปรแกรมดูแลสังคมชุมชมที่ดำเนินการมาโดยตลอด มีโครงการใหญ่ เช่น การปลูกป่า 1 ล้านไร่ ที่ใช้ระยะเวลาถึง 8 ปี ในการดำเนินการ หรือการเข้าไปดูแลชุมชนด้วยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาสร้างเป็นโครงการ 84 ตำบลวิถีพอเพียง ช่วยให้ชุมชนสามารถเรียนรู้และสามารถจัดการระบบพัฒนาด้านพลังงานชุมชน และพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง และ ปตท. จะทำหน้าที่เสริมส่วนที่ขาด ผลักดันให้ตำบลเหล่านั้นสามารถเดินต่อไปได้ด้วยตัวเอง

“นับตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ปี 2562 กลุ่ม ปตท. ได้จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นเร่งด่วน เช่น แอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย โดย ปตท. ได้บริจาคแอลกอฮอล์มากกว่า 1 ล้านลิตรให้กับโรงพยาบาลกว่า 5,000 แห่งรวมถึงการสนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาล การพัฒนาห้องความดันลบ และชุดป้องกันที่ทำมาจากวัสดุปิโตรเคมี และในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ที่ประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 และรัฐบาลต้องการกระตุ้นประเทศ ปตท. จึงมีโครงการ Restart Thailand ที่จ้างงานได้ราว 25,000 อัตรา”

ปตท. ยังตั้งโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” เพื่อเร่งจัดหาเครื่องช่วยหายใจกว่า 400 เครื่อง และออกซิเจนเหลว แก่หน่วยงานรัฐและโรงพยาบาลกว่า 300 แห่ง สนับสนุนโรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง สนับสนุนหน่วยบริการวัคซีนเคลื่อนที่ของ กทม. 4 แห่ง อีกทั้งยังจัดตั้งหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) ที่ให้บริการตรวจไปกว่า 48,000 ราย

องค์กรยักษ์ใหญ่อย่าง ปตท. ไม่เพียงแต่พยายามจะปรับตัวให้ทันต่อโลกที่ก้าวไปข้างหน้าเท่านั้น แต่พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวไกลด้วยกันอย่างยั่งยืน

 



ติดตามคอลัมน์ Special  Interview ได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2564 ฉบับที่ 475

ในรูปแบบดิจิทัล :  https://goo.gl/U6OnIi  

รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt