INTERVIEW • FAMILY BUSINESS

Family Business : เอกชัย สุขุมวิทยา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน)

เอกชัย สุขุมวิทยา

รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน)


เจเนอเรชั่น 2 ผู้สืบทอดอาณาจักร เจ มาร์ท

“ความขยันและทุ่มเท จะส่งผลให้สิ่งที่ทำออกมาดี”


“การเข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัว คุณพ่อให้เรียนรู้ด้วยตัวเองจากการลงมือทำ การเข้าประชุม การออกไปโรดโชว์ และสอนว่าต้องเชื่อในสิ่งที่ทำ ทำให้เร็ว หากทำแล้วไม่เข้าท่าก็ปิดโปรเจ็กต์นั้นไป แล้วหาสิ่งใหม่ทำ ส่วนผมจะมีหลักในการทำงานที่ว่าต้องขยัน ทุ่มเท และอยากให้สิ่งที่ทำนั้นออกมาดีที่สุด เพราะเชื่อว่า ความขยันและทุ่มเทจะส่งผลให้สิ่งที่ทำออกมาดี”

บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) (JMART) ดำเนินธุรกิจบริษัทโฮลดิ้ง ที่ลงทุนในบริษัทย่อยที่มีศักยภาพ 6 แห่ง และบริษัทร่วมทุน 1 แห่ง โดยมุ่งเน้นไปที่การเงินเพื่อการค้าปลีกและรายย่อย ด้วยความร่วมมือ (Synergy) และการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อผู้บริโภค

กลุ่มเจ มาร์ท มีอายุย่างเข้าสู่ 34 ปี ถือเป็นวัยหนุ่มเต็มตัว โดยมี อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ผู้ก่อตั้งดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม และเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เอกชัย สุขุมวิทยา บุตรชายคนเล็กและคนเดียว (คนโตเป็นผู้หญิง) ได้เข้ามาช่วยงานหลังจบการศึกษาระดับปริญญาโทจากต่างประเทศ ซึ่งในขณะนั้นเอกชัยมีอายุเพียง 24 ปี

ปัจจุบัน เอกชัย ดำรงตำแหน่ง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ กลุ่มเจ มาร์ท สายธุรกิจที่รับผิดชอบ คือ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) นอกจากนี้ ยังรั้งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ บริษัท บีนส์ แอนด์ บราวน์ จำกัด ที่ประกอบธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ร้านกาแฟ “คาซ่า ลาแปง” (Casa Lapin) และพร้อมจะส่งไม้ต่อให้ซีอีโอคนใหม่เนื่องจากมีภารกิจที่มากขึ้นกับการบริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส

“การเข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัว คุณพ่อให้เรียนรู้ด้วยตัวเองจากการลงมือทำ การเข้าประชุม การออกไปโรดโชว์ แต่คุณพ่อจะสอนว่า ต้องเชื่อในสิ่งที่ทำ ทำให้เร็ว อย่ารอช้า หากทำแล้วไม่เข้าท่าก็ปิดโปรเจ็กต์นั้นไป แล้วหาสิ่งใหม่ทำ ส่วนผมจะมีหลักในการทำงานที่ว่าต้องขยัน ทุ่มเท และอยากให้สิ่งที่ทำนั้นออกมาดีที่สุด เพราะเชื่อว่าความขยันและการทุ่มเทจะส่งผลให้สิ่งที่ทำออกมาดี”

 

วางระบบนิเวศแข็งแกร่ง

ก้าวสู่ผู้นำตลาดในอนาคต

เอกชัยกล่าวว่า สำหรับ บริษัท เจ เวนเจอร์ส ที่จะเข้าลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) และสตาร์ตอัพเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันดูแลในส่วนของ เจฟิน (JFIN) โดยแผนการทำงานยังคงเตรียมการพัฒนาออกสินค้าและผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงวางแผนการตลาด และยังคงพัฒนาโปรเจ็กต์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง หลังจากเปิดตัว J NFT และจะมี J Metaverse ตามมา อีกทั้งยังมีการนำ JFin Coin มาใช้เป็นประโยชน์ในระบบนิเวศของเครือ เจ มาร์ท และพันธมิตร เพื่อให้เกิดการใช้งานได้จริง

“เรามองหาโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ อยู่เสมอ คาดว่าจะมีสิ่งใหม่ทยอยประกาศออกมามากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตในแต่ละปีให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ พร้อมกับผสานความร่วมมือของธุรกิจในเครือให้มีการเติบโตไปพร้อมกัน และวางแผนระยะยาวไว้ 3-5 ปี เพื่อปูทางให้ JFIN เข้มแข็ง”

นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีและบล็อกเชนเข้ามาสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจด้วยการผลักดัน JFIN Adoption ให้ลูกค้านำเอา JFIN โทเคนมาใช้ในระบบนิเวศของกลุ่มบริษัทและพันธมิตรทางการค้าได้ อีกทั้งได้มีการหารือกับทั้งหน่วยงานกำกับและทีมที่ปรึกษาในการพิจารณาโครงการต่างๆ เพื่อให้บริษัทก้าวสู่การเป็นผู้นำในการใช้โทเคนดิจิทัลมาดำเนินธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม และยังคงผลักดัน JFIN โทเคนดิจิทัล ให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ทั้งกลุ่มค้าปลีก การเงิน ประกัน และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีฐานลูกค้าจำนวนมาก

นอกจากนี้ เอกชัยเชื่อว่า ในอนาคตโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้นกว่าเดิม ผู้คนจะหันมาสนใจการใช้โทเคนดิจิทัลมากขึ้น ซึ่ง กลุ่ม เจ มาร์ท พร้อมที่จะเป็นรายแรกในการปฏิวัติวงการคริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล นอกจากจะสามารถดำเนินธุรกิจในทุกรูปแบบได้แล้ว ยังสามารถผลักดันให้ยอดขายของกลุ่มบริษัทในเพิ่มขึ้นอีกด้วย

                 

เป้ากำไรโตปีละ 50% กดดันแต่ต้องทำให้ได้

การแถลงแผนงานของอดิศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม เจ มาร์ท เมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยการตั้งเป้าหมายในระยะ 3 ปี ( 2565-2567) กำไรเติบโตเฉลี่ย 50 % ต่อปีนั้น เอกชัย ยอมรับว่า โดยส่วนตัวมีความกดดันอยู่บ้าง เพราะเป็นเป้าที่สูง แต่เชื่อมั่นว่าจะทำได้

“การที่คุณพ่อตั้งเป้าไว้สูง เพื่อให้ทีมงานผลักดันตัวเอง และนำพาบริษัทก้าวไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ และเพื่อให้หาสิ่งใหม่ๆ ทำอยู่เสมอในการผลักดันให้บริษัทเติบโต แต่หากตั้งเป้าหมายไว้ต่ำ หากทำให้ถึงเป้าหมายได้แล้ว อาจจะทำให้ไม่พยายามหาสิ่งใหม่มาผลักดันให้บริษัทเติบโต จึงเชื่อว่าการที่ตั้งเป้าไว้สูงแล้วทำไม่ได้ตามเป้า ถือว่าดีกว่าการตั้งเป้าไว้ต่ำ แล้วพอทำได้ก็ไม่พยายามหาสิ่งใหม่ๆ มาพัฒนาบริษัท”

 

วิกฤติโควิด-19 บทพิสูจน์แรก

กล้าตัดอวัยวะรักษาชีวิต

เอกชัยเล่าว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นวิกฤติแรกที่ตัวเองต้องเผชิญตั้งแต่เข้ามาช่วยบริหารธุรกิจของครอบครัว โดยร้านกาแฟ “คาซ่า ลาแปง” ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก ยอดขายอาหารมีน้อยกว่า 10% ของยอดขายรวม จึงตัดสินใจปิดครัวทั้งหมด

ส่วนเรื่องที่ทำให้ลำบากใจมากที่สุด คือ การลดจำนวนพนักงานเพราะธุรกิจไปต่อไม่ไหว จึงจำเป็นต้องตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ในตอนนั้นทางร้านมีจำนวนสาขาอยู่ 8 สาขา และได้ทำการปิดสาขาในบางพื้นที่ เช่น สาขาพัทยา ที่เคยมียอดขายจากเดือนละประมาณ 1 ล้านบาท เหลือเพียง 1 แสนบาทต่อเดือนทำให้ทีมงานต้องปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจใหม่ทั้งหมด ทั้งการคุมต้นทุน และการจัดรายการส่งเสริมการขาย เป็นต้น

“ช่วงวิกฤติโควิด-19 การลดขนาดธุรกิจและการลดจำนวนพนักงานลงนั้นยอมรับว่าเครียด แต่ก็ต้องทำ และหากมองอีกด้านกับวิกฤติที่เผชิญรอบนี้ ทำให้ต้องวางแผนและจัดโครงสร้างธุรกิจใหม่ ว่าจากนี้ไปอีก 5-10 ปี จะทำธุรกิจอย่างไร”

 

ขยายพอร์ตธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม

ดันเข้าตลาดหุ้น-รุก ตปท.

 เมื่อพูดถึงธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ทายาท เจ มาร์ท เจเนอเรชั่นที่ 2 ซึ่งหมายถึงเอกชัยและพี่สาวมีเป้าหมายว่าจะปั้นพอร์ตให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และมีแผนผลักดัน บริษัท บีนส์ แอนด์ บราวน์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

“ก่อนหน้านี้ ผมตั้งเป้าไว้ว่าจะนำ บริษัท บีนส์ แอนด์ บราวน์ เข้าตลาดหุ้นภายในปี 2565 แต่ด้วยสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยจึงต้องชะลอออกไป แต่ยังคงคาดหวังว่าในปีนี้จะสามารถขยายสาขาให้ได้ถึง 30 สาขา เพื่อให้กำไรสวยกำลังดีสำหรับการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จากปัจจุบันที่มี 20 สาขา”

 เอกชัยยังบอกอีกว่า ในระยะยาวได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายสาขาธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มไปยังต่างประเทศโดยเริ่มที่กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และ เวียดนาม จากนั้นจะขยายต่อไปยังประเทศญี่ปุ่น และฮ่องกง โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาภายใน 2-3 ปี ในการขยายตลาด และหาพันธมิตรในต่างประเทศอีกด้วย

สุดท้ายนี้ เอกชัยยังมีเป้าหมายจะเพิ่มบุคลากรที่เป็นเจเนอเรชั่นใหม่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนองค์กร เนื่องจากบุคลากรของ กลุ่ม เจ มาร์ท ในปัจจุบันมีอายุเฉลี่ย 40-50 ปี ดังนั้น จึงต้องเตรียมบุคลากรรุ่นใหม่มารองรับรุ่นพี่ที่จะเกษียณในอนาคต นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจของ เจ มาร์ท เมื่อ 5 ปีที่แล้วกับปัจจุบัน เป็นคนละเกมกัน โดยบริษัทเติบโตขึ้นมาหลายเท่าตัว ดังนั้น จึงต้องมีบุคลากรที่เป็นคนรุ่นใหม่เข้ามาเสริมทีม

 

ติดตามคอลัมน์ Family Business ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนพฤษภาคม 2565 ฉบับที่ 481 ในรูปแบบดิจิทัล :  https://goo.gl/U6OnIi     

รวมช่องทางการสั่งซื้อวารสารการเงินธนาคาร ทั้งฉบับปัจจุบันและฉบับย้อนหลัง ครบจบที่นี้ที่เดียว : https://bit.ly/3bQdHgt