INTERVIEW • FAMILY BUSINESS

Family Business : พ.ต.พญ.จัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ กรรมการบริษัท บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF)

พ.ต.พญ.จัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ

กรรมการบริษัท

บมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF)

 

RBFเจาะลึก R&D

จับเทรนด์อาหารโลก

 

ในปี 2562 RBF ได้เดินหน้าธุรกิจไปอีกขั้นด้วยการเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) เพื่อซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดทางให้ พ.ต.พญ.จัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ ลูกสาวคนโตทายาทรุ่นที่ 2 เข้ามาสานต่อธุรกิจที่ คุณพ่อ สมชาย รัตนภูมิภิญโญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เป็นผู้สร้างเอาไว้

พ.ต.พญ.จัณจิดา จบการศึกษา แพทย์ทหารเกียรตินิยมอันดับ 1 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวุฒิบัตร สาขาวิชาจิตวิทยา วิทยาลัยแพทยศาสตรพระมงกุฎเกล้า นอกจากงานของที่บ้านก็ยังเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน

 

ผิวหนังด้วยเมื่อคุณหมอสวมบทนักธุรกิจ

 

แม้ พ.ต.พญ.จัณจิดา จะเรียนด้านบริหารธุรกิจมาบ้าง แต่การข้ามจากสายงานด้านการแพทย์มาสู่ธุรกิจก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยโดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับเรื่องธุรกิจอาหาร เพราะไม่ใช่แค่ไม่เข้าใจพนักงานเท่านั้น แต่ก็ไม่เข้าใจความต้องการของลูกค้าด้วย

พ.ต.พญ.จัณจิดาเล่าอีกว่า แม้ประสบการณ์ด้านการแพทย์ที่มีมาพอจะนำมาปรับใช้ช่วยให้ทำธุรกิจได้ไหว แต่ก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะการเปลี่ยนผ่านย่อมมีกระแสต่อต้านตามมา พ.ต.พญ.จัณจิดาเข้าใจดีว่า เป็นเรื่องธรรมดาเมื่อธุรกิจเริ่มผลัดใบไปสู่เจเนอเรชั่นใหม่จะมีคนไม่ยินดีนัก แรกทีเมื่อเข้ามารับงานด้านการขาย เซลยกทีมลาออกหลายคน เป็นปัญหาที่ทำให้ต้องเลือกระหว่าง ”หัก” หรือ ”ประนีประนอม” ซึ่ง พ.ต.พญ.จัณจิดา เลือกวิธีหลังเพื่อที่จะรักษาบรรยากาศที่ดีเอาไว้

“หลักคิดที่ทำให้ผ่านแรงต้านตอนแรกมาได้คือ ต้องเริ่มจากการให้ก่อนที่จะขอ และค่อยๆ ปรับเข้าหาทีละเล็กทีละน้อย หลังจากนั้น 6-7 เดือนก็ผ่านไปได้ด้วยดี สงบศึกได้ บรรยากาศของทีมดีขึ้นเรื่อยๆ และพยายามส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในงานทำงานให้มากขึ้น จนตอนนี้ทีมขายที่อยู่ในความดูแลก็ไปได้ดี”

 

เน้นสร้าง R&D จับกระแสให้ทัน

 พ.ต.พญ.จัณจิดาบอกด้วยว่า ความท้าทายของ RBF ไม่ได้อยู่ที่ภาวะเศรษฐกิจ หรือการที่มองว่าประชากรไทยเกิดใหม่น้อยจะขยายธุรกิจได้ยาก แต่ความท้าทายของธุรกิจ Food Ingredients คือ กระแสหรือ เทรนด์ (Trend) ของอาหารเปลี่ยนผันไปเรื่อยๆ หากยังสามารถตามเทรนด์ได้ทัน Food Ingredients ก็ขายได้

“ธรรมชาติของคนไม่กินแพงขึ้น ก็กินยากขึ้น ซึ่งวันนี้อยู่ในกระแสกินยากขึ้น เน้นเฮลตี้ แล้วกระแสรักสุขภาพมาแรงแล้วแบบนี้ Food Ingredients จะขายได้หรือ ซึ่งจริงๆ แล้วอาหารเพื่อสุขภาพยังไงก็ต้องการ Food Ingredients อยู่ดีเพียงแต่เปลี่ยนไป เช่น ใช้สารสกัดจากธรรมชาติ หรือสารทดแทนความหวานธุรกิจอาหารต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น”

พ.ต.พญ.จัณจิดาบอกด้วยว่า ด้วยเทรนด์อาหารจะไหลจากบนลงล่าง เริ่มตั้งแต่เทรนด์ที่จากเชฟระดับมิชลินและค่อยๆ ไหลลงสู่อาหารในร้านสะดวกซื้อ จึงเป็นความท้าทายของธุรกิจ Food Ingredients ที่ต้องมี Research and Development (R&D) แข็งแกร่งเพียงพอจับกระแสได้เร็ว สามารถผลิตสินค้าตัวอย่างได้ก่อนใคร เพราะโลกธุรกิจวันนี้ความเร็วเป็นเรื่องสำคัญ ลูกค้าต้องการความเร็วมากกว่าราคา ในอดีตอาจจะเลือกของดีๆ ราคาถูกๆ แต่ตอนนี้กลายเป็นจะได้ของเมื่อไหร่แทน

“เทรนด์ที่มาเร็วถ้าจับไม่ทันก็แพ้ เช่น เห็ดทรัฟเฟิล เมื่อก่อนเป็นเรื่องที่จับต้องยาก มีแต่ร้านอาหารหรูๆ ที่ขูดใส่มาในจานแค่ผิวๆ แต่ปัจจุบันร้านอาหารเล็กๆ ก็มีเมนูทรัฟเฟิล จนวันนี้ทรัพเฟิลเข้าไปอยู่ในมันฝรั่ง ขนมขบเคี้ยวที่ขายทั่วไป ใครๆ ก็รู้จักทรัฟเฟิล ซึ่งเทรนด์อาหารเป็นสิ่งที่ RBF ต้องคาดการณ์ให้ได้ว่าจะเป็นอย่างไร”

ติดตามคอลัมน์ Family Business ฉบับเต็ม ได้ในวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนมกราคม 2563 ฉบับที่ 453 บนแผงหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ หรือในรูปแบบดิจิทัล https://goo.gl/U6OnIi