INTERVIEW • FAMILY BUSINESS

Family Business : ชัยวัฒน์ นันทิรุจ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เอกาโกลบอล จำกัด

ชัยวัฒน์ นันทิรุจ

ประธานกรรมการ

และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

กลุ่มบริษัท เอกาโกลบอล จำกัด 

สร้างฝันเป็นจริง

ก้าวสู่บรรจุภัณฑ์พลาสติกระดับโลก

 

จากทายาทรุ่นที่ 2 ของบริษัทแป้งมันสำปะหลังยักษ์ใหญ่ของประเทศ ที่ขอสร้างทางเดินของตนเองด้วยการก้าวออกจากธุรกิจของครอบครัวเพื่อไปตามความฝันกับธุรกิจผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งกว่าที่ฝันของ ชัยวัฒน์ นันทิรุจ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เอกาโกลบอล จำกัด จะสำเร็จอย่างทุกวันนี้นั้นไม่ได้ง่ายเลย ต้องล้มลุกคลุกคลานจนแทบถอดใจ

แต่ด้วยความเชื่อมั่นในธุรกิจที่ตัดสินใจเลือกแล้วว่าต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน ทำให้ฝ่าฝันอุปสรรคจนสามารถก้าวสู่บริษัทผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ชนิด Longevity Packing รายใหญ่ที่สุดของโลกอย่างในปัจจุบันได้

 

ออกจากกงสีตามล่าหาฝัน

ชัยวัฒน์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเริ่มต้นทำงานครั้งแรก ในฝายธนบดีธนกิจ ธนาคารไทยทนุ เป็นเวลา 2 ปี เพื่อหาประสบการณ์ จากนั้นได้ลาออกมาช่วยธุรกิจครอบครัว โดยรับผิดชอบดูแลโรงงานผลิตเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง เพื่อส่งขายให้แก่บริษัทต่างๆ ซึ่งในขณะนั้นตนเองไม่มีความรู้เรื่องของการผลิตเครื่องจักรเลย ก็ต้องค่อยเรียนรู้วิธีการผลิต ขั้นตอนการพัฒนาโปรดักต์ การบริหารต้นทุน ฯลฯ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนรู้ในฐานะผู้บริหารที่ต้องรู้ทุกเรื่องแต่ไม่ได้เชี่ยวชาญหรือลงไปทำเองทั้งหมด ซึ่งฐานลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนไทย และเวียดนาม สามารถสร้างยอดขายได้เป็นอันดับ 1 ของประเทศ เนื่องจากเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มและไม่มีคู่แข่ง

จังหวะนั้นได้รับการชักชวนจากนักลงทุนชาวออสเตรียเพื่อสร้างโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์จากพลาสติก ซึ่งมองว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ เพราะเมื่อได้ศึกษาข้อมูลแล้วเห็นว่าเป็นธุรกิจที่มีอนาคตที่ดี จึงตัดสินใจร่วมลงทุน และตั้ง บริษัท ไทยออสโตร โมลด์ จำกัด และกลายมาเป็น บริษัท เอกาโกลบอล จำกัด ในปัจจุบัน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ให้ชัยวัฒน์ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมผลิตบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกอย่างเต็มตัว ขณะเดียวกันก็ยังคงรับผิดชอบธุรกิจของครอบครัวควบคู่กันไปด้วย

ในช่วงเริ่มต้นสร้างธุรกิจใหม่เต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่เราต้องการที่พิสูจน์ให้ครอบครัวเห็นว่าเราทำได้แม้จะมีธุรกิจของครอบครัวอยู่แล้วก็ไม่ต้องการที่จะเข้าไปยุ่งกับกงสี เราอยากที่จะทำธุรกิจเป็นของเราเอง อยากทำอะไรที่ยาก และท้าทาย

ชัยวัฒน์เล่าว่า ในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจเต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะต้องใช้เงินลงทุนสร้างโรงงานมากถึง 300-400 ล้านบาท ขณะที่สินค้าของบริษัทต้องใช้เวลาถึง 2 ปีเพื่อพิสูจน์ให้กับลูกค้าเห็นว่าเป็นสินค้าที่มีมาตรฐาน สามารถลดต้นทุนและนำมาใช้บรรจุอาหารแทนกระป๋องได้ เนื่องจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่บริษัทผลิตขึ้นนั้น เป็นบรรจุภัณฑ์ชนิด Longevity Packing ซึ่งการันตีว่าสามารถเก็บรักษาอาหารไว้ได้นานถึง 2 ปีโดยไม่ต้องแช่เย็น

ดังนั้น การที่จะเสนอขายให้กับลูกค้าที่เคยใช้กระป๋องในการบรรจุอาหารเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์ใหม่นี้ จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก เพราะบริษัทต้องนำสินค้าไปใช้ลูกค้าได้ทดลองใช้ก่อนเป็นเวลา 2 ปี เพื่อแสดงให้เห็นว่าสินค้าของบริษัทได้มาตรฐานจริง ซึ่งหมายความว่าในช่วง 2 ปีแรกของการทำธุรกิจ บริษัทจะไม่มีรายได้เลย ทำให้บริษัทประสบกับภาวะขาดทุนกว่า 100 ล้านบาท

ช่วงนั้น ชัยวัฒน์ยังคงใช้เงินทุนจากกงสีมาลงทุนเพิ่มในบริษัทใหม่อยู่หลายปี จนในที่สุดก็มาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจว่า จะยังคงอยู่กับกงสี หรือจะออกไปสร้างธุรกิจของตนเอง ในที่สุด ชัยวัฒน์ก็ตัดสินใจก้าวไปข้างหน้าด้วยการหันหลังให้กงสี และก้าวสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างเต็มตัว เนื่องจากมั่นใจว่าธุรกิจที่กำลังทำมีโอกาสเติบโตในระยะยาว อีกทั้งยังสอดคล้องกับพฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

ชัยวัฒน์กล่าวว่า จากความเชื่อมั่นในธุรกิจและสินค้าของบริษัทที่ เป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่ออนาคตที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สินค้าของบริษัทมีคุณภาพ สามารถรักษาอายุของอาหารได้นานถึง 2 ปี ไม่มีสารปนเปื้อนไม่มีสารก่อมะเร็ง มีความปลอดภัย น้ำหนักเบา สามารถออกแบบแพคเกจได้หลายรูปแบบ เข้าไมโครเวฟได้ เปิดทานแล้วทิ้งได้เลย โดยไม่ต้องนำมาใช้ซ้ำ เป็นต้น

 

5 ปีที่รอคอย..โอกาสสร้างกำไร

ชัยวัฒน์กล่าวว่า แม้จะต้องเผชิญกับความยากลำบากแต่ภายใน 5 ปี ก็สามารถขับเคลื่อนธุรกิจให้มีกำไรได้ จากการที่มีโอกาสได้ติดต่อกับ บริษัท อินาบะ ซึ่งเป็นบริษัทขายอาหารสัตว์ อันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่น อายุกว่า 100 ปี ซึ่งขณะนั้นบริษัทอินาบะต้องการที่จะเปลี่ยนแพคเกจจิ้งสำหรับใส่อาหารสัตว์ใหม่         

ถือเป็นโอกาสดีที่ได้นำเสนอสินค้าของเราให้ อินาเบะ โดยเราได้ลงทุนทั้งในส่วนของการออกแบบแม่พิมพ์ ดีไซน์แบบบรรจุภัณฑ์ ทดสอบคุณภาพของสินค้าเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งในที่สุดผลิตภัณฑ์ของเราก็สามารถผ่านมาตรฐานทุกอย่างของอินาบะได้

จากจุดนี้เอง ทำให้ อินาบะ กลายเป็นลูกค้ารายแรกที่สั่งสินค้าของบริษัท และยังถือเป็นการเปลี่ยนเกมธุรกิจของบริษัทด้วย เนื่องจากมีบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นอีกหลายรายสนใจสั่งซื้อสินค้าโดยการเปลี่ยนจากแพคเกจจิ้งแบบกระป๋อง มาเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด ส่งผลให้บริษัทสามารถพลิกฟื้นผลประกอบการจากขาดทุนเป็น 100 ล้านบาท กลายเป็นสามารถสร้างผลกำไรได้ภายใน 5 ปี

การที่เราได้ทำธุรกิจอย่างทุกวันนี้ คือโอกาสที่ลูกค้าให้เรา เพื่อให้เราพิสูจน์ตัวเอง อาจจะเหมือนกับเป็นความโชคดี แต่ในความเป็นจริงคือโอกาสที่ลูกค้ามอบให้ ซึ่งเราจะสามารถพลิกโอกาสที่ได้รับให้ประสบความสำเร็จได้หรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความทุ่มเทและตั้งใจของเรา

ชัยวัฒน์กล่าวว่า เอกา โกลบอล ยังคงมองหาโอกาสทางการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2562 บริษัทได้ตัดสินใจซื้อกิจการของ พริ้นท์แพค เอเชีย จนทำให้กลายเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิด Longevity Packaging รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีโรงงานและสำนักงานในประเทศจีนและอินเดีย ซึ่งการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้จะผลักดันให้ บริษัทมีการเติบโตสูงถึง 30% ต่อปีด้วย

โดยบรรจุภัณฑ์ของ เอกา โกลบอล กำลังกลายเป็นสิ่งคุ้นชินในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค เห็นได้จากการที่มีสินค้าซึ่งใช้บรรจุภัณฑ์ของบริษัท วางอยู่ในทุกชั้นวางสินค้าของโมเดิร์นเทรด โดยบรรจุอาหารหลากชนิด หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ซุป อาหารเด็ก อาหารสำเร็จรูป อาหารทะเล ผักผลไม้ สลัด น้ำผลไม้ผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องดื่มสมุนไพรกาแฟชาและอาหารสัตว์

ชัยวัฒน์กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิด Longevity Packaging ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้แก่ลูกค้า จากแนวคิดที่ไม่ใช่แค่การขายบรรจุภัณฑ์ แต่ต้องการสร้างโซลูชั่น (Solution) และ Value ให้กับลูกค้า โดยพร้อมที่จะก้าวไปสู่ตำแหน่งผู้นำตลาดโดยเฉพาะในตลาดอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทาน (Ready-To-Eat)

ปัจจุบันได้ขยายการดำเนินธุรกิจไปในตลาดสำคัญทั่วภูมิภาค เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ และ สหรัฐอเมริกา โดยมีสัดส่วนยอดขายส่งออก 95% ในประเทศ 5% ตั้งเป้ายอดขายขั้นต่ำปีละ 1,000 ล้านบาท

 

เจาะตลาด SME ดันส่งออก

ชัยวัฒน์กล่าวว่า บริษัทมีความตั้งใจที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ก้าวสู่การทำธุรกิจระดับโลกด้วยการนำบรรจุภัณฑ์ของบริษัทไปใช้บรรจุอาหารเพื่อยืดระยะเวลาการจัดเก็บได้นานขึ้น สามารถขนส่งได้ระยะทางที่ไกลกว่าเดิม

โดยได้แรงบันดาลใจมาจากโมเดลของลูกค้า SME ในประเทศอินเดีย ที่เริ่มจากการเป็น SME ขนาดเล็กที่ขายขนมหวาน และซื้อบรรจุภัณฑ์ของบริษัทแค่หลักหมื่นใบต่อปี มาวันนี้ประสบความสำเร็จจากการทำธุรกิจ จนกิจการขยายตัวกลายเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่ทำสัญญาซื้อบรรจุภัณฑ์กับบริษัทปีละสิบล้านใบ เพื่อส่งออกสินค้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ รวมถึงประเทศที่มีคนอินเดียอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก    

เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งก็มีการทำขนมไทยส่งขายในลักษณะเดียวกับในประเทศอินเดียอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือสินค้าประเภทขนมหวานของไทยไม่สามารถส่งออกหรือส่งไปขายไกลๆ ได้ เพราะไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน

ชัยวัฒน์กล่าวว่า จุดนี้เองทำให้มองว่าบรรจุภัณฑ์ของบริษัทสามารถเข้ามา Disruption โลกของลูกค้ากลุ่ม SME ในแบบเดิม โดยช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับ SME ไทยให้สามารถส่งสินค้าออกไปขายยังประเทศต่างๆ ได้ทั่วโลก เพราะเก็บรักษาสินค้าไว้ได้นานขึ้นโดยไม่ต้องใช้สารกันบูด และยังช่วยลดต้นทุนได้อีกด้วย

โดยในช่วงแรกบริษัทจะเน้นไปที่กลุ่มลูกค้า SME ที่ขายขนมหวาน เพราะสินค้าในกลุ่มนี้ต้องการแพ็กเกจจิ้งที่ดี ที่สามารถกันน้ำกันอากาศได้ สามารถอยู่ได้นานถึง 3 เดือน ช่วยแก้ไขปัญหาของขนมไทยที่อยู่ได้ไม่เกิน 3 วัน ตอบโจทย์ผู้ประกอบการรายเล็กอย่าง SME ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ในปี 2563 บริษัทจะสร้าง Technical Center ใหม่คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในสิ้นปี พร้อมสร้างสำนักงานใหม่ ที่มีทั้งเครื่องฆ่าเชื้อ เครื่องซิล เครื่องตรวจโพลิเมอร์ การทดสอบเกี่ยวกับพลาสติกทุกขั้นตอน ซึ่งหากลูกค้าต้องการที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ของบริษัทเพื่อพัฒนาสินค้าก็สามารถติดต่อขอเข้ามาใช้บริการได้

โดยบริษัทยังคงเน้นการให้บริการแบบครบวงจรตั้งแต่การพัฒนา การออกแบบผลิตภัณฑ์ การทดสอบคุณภาพ ซึ่งลูกค้าสามารถเข้ามาสร้างสินค้าตัวอย่างเพื่อส่งมอบให้กับผู้ซื้อหรือผู้จัดจำหน่าย ที่ศูนย์ของบริษัทได้ รวมถึงเปิดให้นักศึกษาและผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมกระบวนการทำงาน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ของบริษัทด้วย


ติดตามอ่านเนื้อหาฉบับเต็มได้ในคอลัมน์ Family Business วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมีนาคม 2563 ฉบับที่ 455 บนแผงหนังสือชั้นนำทั้่วประเทศและในรูปแบบดิจิทัล : https://goo.gl/U6OnIi