THE GURU • BUSINESS LAW

บทเรียนนักกฎหมายธุรกิจ จากประสบการณ์ 43 ปี (ตอนจบ)

บทความโดย: ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

ผมหวังว่าสูตรสำเร็จ 10 ข้อ จากประสบการณ์ของผมที่ได้นำมาแบ่งปัน อาจจะทำให้ท่านสามารถนำไปครุ่นคิด วางแผน หรือเป็นแรงบันดาลใจในการที่จะดำเนินชีวิตให้อยู่รอด แข็งแรง มั่นคง และประสบความสำเร็จต่อไป 

           บทเรียนนักกฎหมายคราวที่แล้วมี 5 ข้อ ฉบับนี้ผมขอนำบทเรียนอีก 5 บทเรียนมาเล่าให้ท่านผู้อ่านต่อครับ

            6. หัดเป็นผู้ให้ตั้งแต่วันนี้

            ผมคิดว่า การเป็นผู้ให้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเป็นประโยชน์กับส่วนรวม ผมเชื่อว่า คนที่ให้มากย่อมจะได้รับผลตอบแทนมากกว่าที่ให้ ไม่ต้องรอให้เรามีเงินถึงค่อยให้ แต่เราสามารถให้ได้ตามแต่ข้อจำกัดของเราเพื่อสร้างทัศนคติที่ที่ดีต่อครอบครัวและสังคม การเริ่มสะสมการให้ การทำความดี ทำได้โดยไม่มีข้อจำกัด ผมได้อ่านบทความ อาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ ให้ข้อคิดที่ว่า "การให้ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับความร่ำรวย ถึงมีไม่มาก ก็ให้ได้ในหลายลักษณะ ด้วยหัวใจและความจริงใจ"

            ขอให้เชื่อผมเถอะว่า ยิ่งเราให้มากเท่าไร ไม่ใช่ให้เงินแต่อย่างเดียว แต่การอุทิศเวลาทำงานเพื่อส่วนรวม เราจะได้ผลตอบแทนมากกว่าที่เราให้ แม้การให้นั้นเราไม่ควรคาดหวังว่าเราจะได้ผลตอบแทนจากการให้ สิ่งเหล่านั้นได้พิสูจน์ด้วยตัวผมเองที่ภายหลังการเกษียณอายุการทำงาน ผมได้รับเชิญให้ไปเป็นกรรมการของบริษัทที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือ สิ่งที่ได้อุทิศทำงานให้ส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นการสอนหนังสือ การทำงานให้หน่วยงานต่างๆ โดยไม่หวังผลตอบแทน

            7.ต้องเป็นคนยึดหลักการที่ถูกต้อง และแม้มีสถานการณ์พิเศษในการที่จะทำสิ่งไม่ถูกต้องหรือสิ่งที่ผิด ก็ต้องไม่มีข้อยกเว้น เพราะการยกเว้นแม้เพียงครั้งเดียว ด้วยคำกล่าวที่ว่า "แค่ตอนนี้ แค่ครั้งนี้ครั้งเดียว จะไม่เป็นไร" เพราะถ้าเกิดมีการกระทำเช่นว่านั้น ก็เป็นการยอมข้ามเส้นในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ชีวิตของเราผิดพลาดได้ในการดำเนินชีวิตถึงเข้าคุกได้

            ในชีวิตก็มิใช่ว่าจะต้องยึดถือตัวบทกฎหมายโดยลืมคำนึงถึงความยุติธรรม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ 9) ได้เคยพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่นักกฎหมายไว้ว่า

            "...โดยที่กฎหมายเป็นแต่เครื่องมือในการรักษาความยุติธรรมดังกล่าว จึงไม่จะถือว่ามีความสำคัญยิ่งไปกว่าความยุติธรรม หากควรจะต้องถือว่าความยุติธรรมมาก่อนกฎหมายและอยู่เหนือกฎหมาย การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใดๆ โดยคำนึงถึงแต่ความถูกผิดตามกฎหมายเท่านั้น ดูจะไม่เป็นการเพียงพอ จำต้องคำนึงถึงความยุติธรรมซึ่งเป็นจุดประสงค์ด้วยเสมอ..."

            นอกจากนี้ สำหรับนักกฎหมายหรือนักธุรกิจ ควรจะได้ไปดูข้อคิดของท่าน .สังเวียน อินทรวิชัย ที่ติดไว้ที่ห้องประชุมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่เขียนว่า "สิ่งที่ถูกต้องคือถูกต้องแม้ไม่มีใครทำสิ่งนั้น สิ่งที่ผิดคือผิดแม้ทุกคนทำสิ่งนั้น" ปัจจุบันข้อคิดนี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งของการเป็นคนดีและตัดสินใจในสิ่งที่ถูกต้อง โดยเฉพาะคนชอบอ้างว่าเรื่องนี้ใครๆ ก็ทำกัน ดังนั้น ทุกคนต้องยึดหลักการที่มั่นคงและถูกต้องเสมอ แม้ว่าเรื่องนั้นคนส่วนใหญ่จะไม่ทำกันหากเรายึดหลักนี้ไว้ ชีวิตเราย่อมจะก้าวหน้าและประสบความสำเร็จ

            8.เข้าใจถึงการเป็นคนดีที่ต้องมีคุณธรรม จริยธรรม ความกตัญญูรู้คุณ มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีสัมมาวาจา การเป็นคนมีความกตัญญูรู้คุณคน การกตัญญูรู้คุณเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของความดี ความสำเร็จใดๆ ในชีวิตการงานของท่าน ที่ท่านได้มาไม่ใช่เพราะจากตัวท่านคนเดียว แต่เกิดจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในชีวิตท่าน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ เจ้านาย และเพื่อนร่วมงานทุกท่าน ซึ่งทุกคนต่างมีส่วนในความสำเร็จของท่าน เขาเหล่านี้ต้องได้รับการทดแทนบุญคุณตามจังหวะโอกาสอันควร ย่อมเป็นผู้ที่เจริญและมีความสุข

            9.เข้าใจถึงศิลปะการมีความสุข ความสุขไม่ใช่เพียงแต่ร่ำรวย หรืออยากมีมากกว่าเดิม แต่พอใจกับสิ่งที่มีอยู่พอเพียงกับที่เกิดขึ้น และทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมที่สุด และถ้ามีเวลา การศึกษาปฏิบัติธรรมบ้าง การปฏิบัติธรรมในแนวที่เราชอบจะทำให้เราผ่านพ้นอุปสรรคและความทุกข์ไปได้ ผมใช้เวลาศึกษาปฏิบัติธรรมและเรียนรู้ธรรมจาก พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล พระอาจารย์ชยสาโร ซึ่งช่วยให้ผมทำงานได้อย่างมีความสุขด้วย

            ข้อสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องเงินทองก็สำคัญ แต่จะเป็นผลจากการทำตามข้อ 1-9 เสียก่อน จึงจะมีข้อที่ 10

            10.เข้าใจการวางแผนการเงินและการลงทุนเพื่อความมั่นคงของชีวิตและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการประหยัด คิดก่อนใช้ หาวิธีลงทุนอย่างเหมาะสม ทำให้ทรัพย์สินงอกเงยมีความพอเพียงกับการดำรงชีวิต

            สุดท้ายนี้ ท่านคงจำสูตรสำเร็จ 10 ข้อไม่ได้ ดังนั้น ผมขอให้เพียงแต่ให้ท่าน เปลี่ยน (Change) ทัศนคติและความคิด เมื่อเปลี่ยนแล้วก็ตกลงทำ "เดี๋ยวนี้" ไม่ใช่ "เดี๋ยวก่อน" ในเรื่องต่อไปนี้

            1.ความรู้ เรียนรู้ ความรู้ใหม่ พัฒนาตนเองกับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

            2.ความดี ทำสิ่งดีงามให้กับครอบครัว ส่วนรวม โดยเริ่มจากการให้แม้เล็กน้อย โดยไม่จำเป็นต้องรอ รอให้รวยก่อนจึงเป็นคนดี หรือให้คนมองเราว่า เราเป็นคนดีเพราะความรวย (จากภาพยนตร์เรื่อง Parasite)

            3.ความสุข ค้นหาความสุขที่เรียบง่าย เหมาะสม พอเพียง กับตัวตนและครอบครัวของเรา จากการทำงาน การศึกษา อย่าทะยานอยากเพื่อหาความสุขจนเกินพอ หาเวลาศึกษาปฏิบัติธรรมกับอาจารย์ที่เราชอบโดยเฉพาะจาก YouTube, Podcast ครับ

          ผมหวังว่า "แนวคิด และคำแนะนำ" หรือปัญญาเหล่านี้จะเป็นประโยชน์กับท่านไม่มากก็น้อย

          ท่านผู้อ่านครับ ชีวิต และอนาคต ของท่าน จะต้องได้เจอกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือการ Disruption ที่จะส่งผลกระทบทั้งดีและร้ายต่ออนาคต ชีวิต อาชีพ ธุรกิจ ในปัจจุบันอย่างรวดเร็วและท่านก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ประจวบกับยุคที่ภาวะเศรษฐกิจ การเมืองกำลังเป็นปัญหา ตลอดจนการเผชิญหน้ากับโรคภัยไข้เจ็บ Covid-19 ที่ร้ายแรงในรอบ 100 ปี

            จึงเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก การจะดำเนินชีวิตหลังจบการศึกษาเป็นบัณฑิต จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง ดังนั้น ผมหวังว่าสูตรสำเร็จ 10 ข้อ จากประสบการณ์ของผมที่ได้นำมาแบ่งบัน อาจจะทำให้ท่านสามารถนำไปครุ่นคิด วางแผน หรือเป็นแรงบันดาลใจในการที่จะดำเนินชีวิตให้อยู่รอด แข็งแรง มั่นคง และประสบความสำเร็จต่อไป อุปสรรคครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก อย่าท้อถอย อย่าเพิ่งหมดศรัทธากับชีวิตนะครับ เดี๋ยวมันก็จะผ่านไปเพราะหากวันนี้เรามีทุกข์ พรุ่งนี้เราก็จะมีความสุขได้ วันนี้มีความสุข พรุ่งนี้ก็อาจจะมีความทุกข์ได้เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจความไม่เที่ยงของชีวิต

         ขอให้ผู้อ่านทุกคนตั้งสติ รวบรวมปัญญาในการแก้ปัญหาส่วนตนและส่วนรวม ในวิกฤติมีโอกาสเสมอครับ


 

เกี่ยวกับนักเขียน

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ อดีตประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กูรูด้านภาษี และกฎหมายภาษี มีผลงานการออกหนังสือ พ๊อกเก็ตบุ๊คเกี่ยวกับภาษีต่างๆ การควบรวมกิจการ อาทิ 10 ข้อคิด รู้ภาษี ลดภาษี / 10 ข้อคิด ลดภาษีคนทำงานและนักลงทุน โดยวารสารการเงินธนาคาร และอีกหลากหลายทั้งเรื่องภาษีมรดก ภาษีที่ดิน การควบรวมกิจการ โอกาสของธุรกิจไทย เป็นต้น

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน