THE GURU • BUSINESS LAW

เหลียวหลัง มองอดีต ธุรกิจการเงิน-การธนาคาร-ตลาดทุนไทย แลหน้าไปในอนาคต (ตอนที่ 8)

บทความโดย: ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

ในช่วงเวลา 10 ปีที่สุดท้าย ก่อนการเกษียณอายุการทำงาน เป็นช่วงที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานเพื่อส่วนรวมมากกว่าทุกช่วง ไม่ว่าจะเป็นงานด้านวิชาการ การบรรยาย การเขียนหนังสือ และการให้ความเห็นแก่สาธารณชนในประเด็นด้านกฎหมายหลายเรื่อง

 

ห้วงเวลา แห่งการทดสอบ (The Turbulent Time) พ.ศ.2554-2564 : อนาคตประเทศไทยไปทางไหน

            ช่วงต่อไปเป็นช่วงที่ห้า ซึ่งถือเป็นช่วงสุดท้าย ช่วงปี พ.ศ.2554 ถึง พ.ศ.2563 ที่ในหนังสือ 50 ปีแห่งประสบการณ์สร้างรากฐานสู่อนาคตของธนาคารเกียรตินาคินภัทร ที่เรียกว่า “เป็นช่วงเวลาแห่งการทดสอบ (The Turbulent Time)” และหนังสือการเงินธนาคารนับช่วงตั้งแต่ ปี พ.ศ.2555 ถึง พ.ศ.2564 เรียกว่า “ทศวรรษที่ 4 ยุคเศรษฐกิจการเงินการลงทุนยุคดิจิทัล”

            โดยตอนนี้จะเป็นตอนสุดท้ายที่ผมจะเขียนถึง เหลียวหลัง มองอดีต และแลหน้าไปในอนาคต ซึ่งในช่วงเวลา 10 ปีที่สุดท้ายก่อนการเกษียณอายุการทำงาน นอกเหนือจากทำงานลูกความ งานของผมยังคงเน้นเรื่องการเป็นที่ปรึกษาเรื่องภาษี โดยเน้นภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สิน การบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว มากขึ้น และลดงานด้านตลาดทุน ด้าน IPO และ M&A ที่ต้องทำงานด้วยตนเองลง แต่ยังเป็นผู้กำกับและแนะนำทีม ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานเพื่อส่วนรวมมากกว่าทุกช่วง ไม่ว่าจะเป็นงานด้านวิชาการ การบรรยาย การเขียนหนังสือ และการให้ความเห็นแก่สาธารณชนในประเด็นด้านกฎหมายหลายเรื่อง

            ส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทยในภาพรวม โดยการได้เข้าไปเป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในนามของตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์ติดต่อกันสองสมัยสี่ปี คือ (ช่วง พ.ศ.2557 ถึง พ.ศ.2561) และกลับมาเป็นกรรมการช่วงปี พ.ศ.2563 และ ปี พ.ศ.2565 จากการเสนอชื่อของ ก.ล.ต. และมีส่วนของเข้าไปร่วมงานด้านการเมืองได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี พ.ศ.2557 ช่วงสั้นๆ โดยสิ้นสุดตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2558 รวมถึงการเป็นกรรมการในคณะต่างๆ เกี่ยวกับปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายหลายคณะ

            ซึ่งในช่วง 10 ปีสุดท้ายนี้เป็นช่วงที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤติการเงินโลก ไม่ว่าจะเป็นการที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับเข้ามาเป็นประธานธิบดีและการตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือ Brexit รวมถึงสงครามทางการค้าและเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบ รวมถึงจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยในปี พ.ศ.2554

การปฏิวัติรัฐประหารในปี พ.ศ.2557 โดย คณะ คสช. นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, วิกฤติ โควิด-19 ในปี พ.ศ.2562 ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจไทยตกอยู่ในภาวะซบเซา มีแนวโน้มที่จะเจริญเติบโตช้าอย่างต่อเนื่อง ขาดการลงทุนใหม่ๆ และธุรกิจท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญ

            ไม่นับรวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การปรับสมดุลภูมิรัฐศาสตร์ โลกแห่งใหม่จึงถือได้ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญการทดสอบในการจะก้าวไปให้ไปถึงประเทศที่มีความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน ตามเจตจำนง ของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงไว้ตั้งแต่ตอนปฏิวัติ และกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากการเลือกตั้ง โดยในปัจจุบันนี้เป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำและความยั่งยืน ยังคงเป็นปัญหาของประเทศที่รอการแก้ไข

 

กฎหมายในระหว่างปี พ.ศ.2554 ถึง พ.ศ.2564

            ในช่วง 10 ปีดังกล่าวผมขอสรุปว่า แต่ละช่วงดังกล่าวบางช่วงมีการออกกฎหมายหลายฉบับ บางช่วงก็แทบไม่มีเลย โดยผมจะยกมาเฉพาะกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องกับ การคลัง การเงินและตลาดทุนและการธนาคารโดยกฎหมายเหล่านั้นที่จะมีผลต่อการทำงานของสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายที่ผมได้ทำงานในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประกอบไปด้วย

            ปี พ.ศ.2554 ซึ่งอยู่ในสมัยของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) 17 ฉบับ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการคลัง คือ พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การเกษตร, พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ

            ปี พ.ศ.2555 ซึ่งเป็นปีของรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์มีการออก พ.ร.บ. จำนวน 12 ฉบับ และพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) จำนวน 6 ฉบับ เป็น พ.ร.ก.เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ.2555 และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลัง และการบริหารจัดการน้ำและพลิกอนาคตประเทศ รวมถึงแก้ไขประมวลรัษฎากร เรื่องการแยกยื่นภาษีคู่สมรส

            ปี พ.ศ.2556 มีการออก พ.ร.บ. จำนวน 35 ฉบับ และ พ.ร.ก. 1 ฉบับ โดยมี พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ, พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน, พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 3, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฉบับที่ 4, พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผูบริโภค ฉบับที่ 2, พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

            ปี พ.ศ.2557 มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งก่อนจะมีการปฏิวัติรัฐประหารโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการตรากฎหมายเป็น พ.ร.บ. จำนวน 25 ฉบับ มี พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ 20 แก้ไขเรื่องการค้ำประกัน

            ปี พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ตรา พ.ร.บ. จำนวนถึง 107 ฉบับ และเป็นพระราชกำหนด จำนวน 4 ฉบับ

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคลังการเงินและการธนาคาร ในช่วงดังกล่าว เช่น พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ, พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฉบับที่ 4, พ.ร.บ.การจำนองเรือและบุริมสิทธิทางทะเล ฉบับที่ 2, พ.ร.บ.การทวงถามหนี้, พ.ร.บ.การบริหารทุนหมุนเวียน, พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ 21 เรื่องการค้ำประกัน, พ.ร.บ.การขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ, พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมให้กำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ.2540,

            พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินการปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฉบับที่ 2, พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน ฉบับที่ 2, พ.ร.บ.การรับภาษีมรดก, พ.ร.บ.ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น,             พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์, พ.ร.บ.ล้มละลาย, พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค และ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ

            ปี พ.ศ.2559 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับที่ 2 และ ฉบับที่ 3 มีการตรา พ.ร.บ. จำนวน 62 ฉบับ และ พ.ร.ก. จำนวน 2 ฉบับ เรื่องการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ โดย พ.ร.บ. ส่วนใหญ่มีการแก้ไขประมวลรัษฎากร ฉบับที่ 41-43, พ.ร.บ. แก้ไข พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต ฉบับที่ 4 และ 5 แก้ไขเรื่องการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา, พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับที่ 5

ปี พ.ศ.2560 มีการออก พ.ร.บ. จำนวน 67 ฉบับ และ พ.ร.ก. จำนวน 2 ฉบับ เกี่ยวกับการประมงและการบริหารจัดการคนต่างด้าว, มีการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับที่ 4, พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 6, พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดในทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคล (ซึ่งเป็นกฎหมายที่ดีมากฉบับหนึ่งของการปฏิรูป), พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม, พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย,

พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ, พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต, พ.ร.บ.ศุลกากร (โดยกฎหมายภาษี 2 ฉบับนี้มีผมและตัวแทนสภาหอการค้าได้มีส่วนร่วมในการแก้ไข) พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า, พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อกำหนดบริษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย, พ.ร.บ.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม, พ.ร.บ.ระบบการชำระเงิน, พ.ร.บ.การปฏิบัติการตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเพื่อความร่วมมือในการปรับปรุงการปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศ (FATCA) และ พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ฉบับที่ 2

            ปี พ.ศ.2561 มีการออก พ.ร.บ. รวมทั้งสิ้น 47 ฉบับ และ พ.ร.ก. จำนวน 6 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.แก้ไขล้มละลาย ฉบับที่ 10, พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ ฉบับที่ 4, พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ฉบับที่ 5, พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม ฉบับที่ 2, พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3, พ.ร.บ.สถาบันการเงิน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 47, พ.ร.ก.ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลและพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรในการเก็บภาษีดิจิทัล, พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กฎหมาย EEC), พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐ เอกชน (ที่ผมได้เข้าไปมีส่วนเป็นกรรมาธิการด้วย)

            ปี พ.ศ.2562 ก่อนมีการเลือกตั้ง ทำให้เป็นปีที่มีการออก พ.ร.บ. มากขึ้นจำนวน 127 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยทางธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับที่ 3, พ.ร.บ.การดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (Escrow Account), พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.ก.บริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ฉบับที่ 2, พ.ร.บ.หลักทรัพย์ตลาดหลักทรัพย์ ฉบับที่ 6, พ.ร.บ.สถาบันการเงิน, พ.ร.บ.สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย,

 พ.ร.บ.วิสาหกิจเพื่อสังคม (ที่ผมเข้าไปเป็นกรรมาธิการ), พ.ร.บ.การประเมินราคาทรัพย์สินและเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ, พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์, พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย

ภายหลังการเลือกตั้ง ปี พ.ศ.2563 มีการตราพระราชบัญญัติแค่ 2 ฉบับ พ.ร.บ.งบประมาณและมีการตรา พ.ร.ก. จำนวน 8 ฉบับ เป็นการแก้ไขเพื่อให้ความช่วยเหลือหรือการกู้เงินเนื่องจากผลกระทบจากการติดเชื้อไวรัสโควิด, พ.ร.บ.ยกเลิกบริษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย

            ปี พ.ศ.2564 มีการตรา พ.ร.บ. 17 ฉบับ และ พ.ร.ก. 5 ฉบับ มีการตรา พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และ การกู้เงิน และ พ.ร.บ. เข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยช่วงเวลานี้แทบไม่มีกฎหมายการเงิน การคลัง และตลาดทุนเลย

            ปี พ.ศ.2565 มีการตรา พ.ร.บ. จำนวน 16 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณา ฉบับที่ 3, พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด ฉบับที่ 4, พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต ฉบับที่ 6, พ.ร.บ.ยกเลิกกฎหมายบางฉบับที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น

การมีกฎหมายในช่วงระหว่าง ปี พ.ศ.2558 จำนวน 107 ฉบับ และ ปี พ.ศ.2562 จำนวน 127 ฉบับ แสดงให้เห็นว่าภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปการขับเคลื่อนในการออกกฎหมายของรัฐสภาที่รัฐบาลไม่มีเสียงข้างมากเด็ดขาดจึงไม่สามารถออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสังคมใดๆ ได้เลย

            ข้อสรุปจากการเหลียวหลัง ผมเห็นว่าช่วงใดที่เป็นช่วงไม่ปกติ หรือ การมีอำนาจพิเศษ กล่าวคือ ในช่วงที่เป็นการใช้อำนาจของการปฏิวัติรัฐประหาร ประเทศไทยจึงจะก็ขับเคลื่อนประเทศโดยการเสนอกฎหมายก็สามารถกระทำได้มากกว่ารัฐบาลเลือกตั้งซึ่งนี่คือปัญหาของประเทศไทยครับ ทำไมพรรคการเมืองต่างๆ จึงไม่มีการเสนอนโยบายการปฏิรูปกฎหมายให้เป็นรูปธรรม โดยผมจะได้นำการวิเคราะห์เรื่องการตรากฎหมายในแต่ละช่วงจังหวะ 50 ปีที่ผ่านมา ว่าเราจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งอันใกล้นี้ครับ

 

เหลียวหลังมองงานเพื่อส่วนรวม

            ผลจากการสอนหนังสือ การเขียนหนังสือมากว่า 20 ปี ทำให้ในปี พ.ศ.2554 เป็นปีที่ผมได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นศาสตราจารย์พิเศษของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนมีการปฏิวัติรัฐประหารผมก็ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเสนอมาตรการกฎหมายต่างๆ แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อ ในช่วงปี พ.ศ.2557 ผมได้เสนอกลไกในการที่จะปรับปรุงปฏิรูปประเทศผ่านกระบวนการทางกฎหมายอยู่หลายครั้งหลายคราวในสื่อต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองอยู่ในระดับสูงจนเกิดความรุนแรงและการปฏิวัติรัฐประหาร แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ภายหลังจากการปฏิวัติรัฐประหารในเดือนตุลาคม พ.ศ.2557 ผมก็ได้มีโอกาสได้รับแต่งตั้งให้ดำรงเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ จากการเสนอชื่อของสภาหอการค้าไทย นับได้ว่าเป็นการเข้าใกล้ถึงศูนย์กลางอำนาจภาครัฐมากที่สุดซึ่งผมยังมีความเชื่อว่าจะสามารถช่วยผลักดันปฏิรูปกฎหมายต่างๆ ได้มากที่สุดหลังจากที่ได้อยู่วงนอกมานาน ผมจึงได้ใช้ความพยายามเสนอปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจและกฎหมายภาษีไม่ว่าการเข้าเป็นประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปการจัดทำกฎหมายปรับปรุงยกร่างกฎหมายในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและการยุติธรรม, รองประธานอนุกรรมการการปฏิรูปการคลังและภาษีอากร, โดยได้รวบรวมเสนอปฏิรูประบบโครงสร้างภาษีไทย

            ทั้งนี้ ในช่วงดังกล่าวโดยรวบรวมเป็นหนังสือ ปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปภาษี : เราทำได้ จัดพิมพ์โดยสถาบันพระปกเกล้าเผยแพร่แก่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และประชาชน เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการยุบสภาปฏิรูปแห่งชาติ และแต่งตั้งสภาปฏิรูปประเทศขึ้นมาแทน ผมจึงไม่สามารถขับเคลื่อนและผลักดันการปฏิรูปกฎหมายได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ต่อมาภายหลังผมก็ได้รับการแต่งตั้งอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปภาษีของกระทรวงการคลังสมัยท่านสมหมาย ภาษี, คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายระยะเร่งด่วนและรองประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย ก็พยายามทำหน้าที่ในส่วนนี้ แต่ก็บรรลุเป้าหมายได้ไม่ได้ตามที่คาดหมาย

            นอกจากนี้ ส่วนในด้านตลาดทุนผมก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์ในช่วง ปี พ.ศ.2557 จากการเสนอชื่อของบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) โดยได้ดำรงตำแหน่งกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่สองสมัยเป็นจำนวนสี่ปี พ.ศ.2557-พ.ศ.2561 โดยตอนที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้องในวงการตลาดทุนก็พยายามเสนอให้ปฏิรูปกฎหมายด้านตลาดทุนรวมถึงภาษีด้านตลาดทุนด้วยแต่ก็ยังไม่สามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงกฎหมายให้เป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งจากการแต่งตั้งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้เป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรอบที่ 3 และได้แต่งตั้งอีกรอบที่ 4 เมื่อสิงหาคม 2565

            กฎหมายภาษี 2 ฉบับที่ผมได้มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ คือ กฎหมายภาษีมรดกและการให้ โดยผมเห็นว่ากฏหมายฉบับดังกล่าวไม่สามารถที่จะตอบโจทย์เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำได้แถมยังทำให้คนที่มีความมั่งคั่งของประเทศไทยได้ทำการโยกย้ายสินทรัพย์ไปอยู่ต่างประเทศเป็นจำนวนมากเพราะความกังวลในเรื่องภาษีมรดกแม้จะถือว่าอัตราไม่สูงนักแต่สามารถหยุดยั้งความตระหนกตกใจของคนรวมที่นำสินทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นเงินสดหรือหุ้นออกไปต่างประเทศโดยวิธีการที่ถูกต้องทางกฏหมาย ความจริงแล้วผมเห็นว่าการแก้ไขในประมวลกฎหมายภาษีเรื่องการเก็บภาษีการโอนมรดกของอสังหาริมทรัพย์น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าและคุ้มค่ากว่า

            ส่วนงานของลูกความในช่วงที่มีกฎหมายภาษีมรดกหรือภาษีทรัพย์สินนั้นหน้าที่การงานของผมก็จะมุ่งเน้นในเรื่องของการบริหารจัดการภาษีมรดกภาษีทรัพย์สินเป็นส่วนใหญ่และยังคงมุ่งทำงานด้านการที่ปรึกษาบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวเป็นหลักต่อมาจนเกษียณอายุจากการทำงาน

            ในตอนช่วงโควิด-19 ผมก็ได้เสนอมาตรการกฎหมายหลายเรื่องที่ตีพิมพ์ในการเงินธนาคารหลายตอนที่เมื่อมองย้อนไปข้างหลัง ผมค่อนข้างเสียดายที่ว่าไม่สามารถจะขับเคลื่อนการปรับปรุงหรือปฏิรูปกฎหมายต่างๆ ไม่ว่า ด้านภาษีอากร ด้านตลาดทุนและตลาดเงินให้ได้สมดังที่ตั้งเป้าหมายไว้ทั้งที่สามารถอยู่ใกล้ศูนย์อำนาจกับภาครัฐมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในชุดต่างๆ ที่ ในตอนหน้าจะมามองไปข้างหน้าเป็นตอนจบครับ

เกี่ยวกับนักเขียน

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ อดีตประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กูรูด้านภาษี และกฎหมายภาษี มีผลงานการออกหนังสือ พ๊อกเก็ตบุ๊คเกี่ยวกับภาษีต่างๆ การควบรวมกิจการ อาทิ 10 ข้อคิด รู้ภาษี ลดภาษี / 10 ข้อคิด ลดภาษีคนทำงานและนักลงทุน โดยวารสารการเงินธนาคาร และอีกหลากหลายทั้งเรื่องภาษีมรดก ภาษีที่ดิน การควบรวมกิจการ โอกาสของธุรกิจไทย เป็นต้น

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน