THE GURU • BUSINESS LAW

ประสบการณ์การควบรวมกิจการ : เลือกนักกฎหมายแบบไหน

บทความโดย: ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

จากประสบการณ์ 43 ปีของผมที่ผ่านมา เชื่อว่านักกฎหมายที่มีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษในธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจควบรวมกิจการ ยังมีความต้องการอยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก ผมจึงหวังว่าประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ ของผมที่ผ่านมาจะเป็นประโยชน์ คราวหน้าผมจะนำบทความเรื่องการควบรวมกิจการมาแชร์อีก 

            ตลอดเวลาทำงานด้านกฎหมายของผมมากว่า 43 ปี ผมมีโอกาสในการเป็นที่ปรึกษากฎหมายในการควบรวมกิจการให้กับลูกความทั้งในและต่างประเทศ ที่เป็นธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต การซื้อขาย และสถาบันการเงินมากกว่า 35 ปี จากประสบการณ์ที่ผ่านมาดังกล่าว ผมได้เรียนรู้วิธีการทำงาน การวางแผนในการควบรวมกิจการให้กับลูกความที่หลากหลาย

            นอกเหนือจากการทำงานแล้วผมยังได้ไปบรรยายให้กับสถาบันการศึกษาและสถาบันการเงินต่างๆ ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจำนวนนับครั้งไม่ถ้วน 

            จึงเป็นที่มาของการเขียนหนังสือร่วมกับทนายความที่สำนักงาน ชุดควบรวมกิจการ ที่จัดพิมพ์โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึง 3 ครั้ง โดยได้จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2549 และครั้งที่สองเมื่อปี 2553 ครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 โดยครั้งล่าสุดได้แบ่งหนังสือออกเป็นสองเล่ม คือ 

            • หนังสือการควบรวมกิจการโอกาสของธุรกิจไทย

            • การควบรวมกิจการอย่างมืออาชีพ 

            หนังสือชุดดังกล่าวมีการพิมพ์เผยแพร่ไปมากกว่า 10,000 เล่ม จนปัจจุบันได้มีผู้เรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขหลังจากปี 2557 เพื่อให้ทันสมัย แต่ยังไม่มีโอกาสปรับปรุงแก้ไขเพิ่มได้ และบทความนี้เป็นการเริ่มต้นการที่จะเริ่มปรับปรุงหนังสือชุดนี้ ผมคิดว่าหนังสือชุดนี้เป็นหนังสือที่ให้ความรู้อย่างดีที่สุดกับผู้สนใจในการหาความรู้เรื่องการควบรวมกิจการ

            สำหรับประสบการณ์การทำงานของผมที่ผ่านมานั้น ผมก็ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำงานเรื่องกฎหมายการควบรวมกิจการ การวางแผนภาษี และธุรกิจครอบครัว และการทำงานดังกล่าว ผมต้องใช้ความรู้ทางกฎหมายธุรกิจทั้งสามเรื่องมาประกอบกัน 

            ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสเป็นที่ปรึกษากฎหมายในการทำธุรกรรมการควบรวมกิจการใน Deal สำคัญของประเทศหลายๆ Deal คนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 และหลังเกิดวิกฤติการเงินที่มีการปิดสถาบันการเงินไป 58 แห่ง และมีสถาบันการเงินอยู่รอดมา 2 แห่ง รวมทั้งช่วงที่มีการควบรวมกิจการของสถาบันการเงินเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 

            โดยก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 งานที่ปรึกษากฎหมายของผมนั้นมักจะเกี่ยวข้องกับกิจการร่วมค้า หรือ กิจการร่วมลงทุน ของบริษัทไทยกับบริษัทต่างประเทศ เป็นเรื่องสำคัญและต่อมาจึงมากลายเป็นงานกฎหมายด้านควบรวมกิจการทั้งในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์

            ในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 การปิดสถาบันการเงินกว่า 58 แห่ง ทำให้ผมได้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องทางกฎหมายกับการซื้อควบรวมกิจการของสถาบันการเงินเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปตรวจสอบสถานะทางการเงินและการให้คำแนะนำทางกฎหมายของแต่ละสถาบันการเงิน รวมถึงการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมในการควบรวมกิจการ 

            บทบาทของนักกฎหมายในการควบรวมกิจการนั้นมีความสำคัญต่อความสำเร็จของการควบรวมกิจการ และมิใช่ว่านักกฎหมายทุกคนจะเป็นนักกฎหมายในการธุรกรรมควบรวมกิจการที่ดีและมีความสามารถได้

            ผมจึงอยากจะแชร์ประสบการณ์ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายที่มีความคุ้นเคยในการทำ Deal ว่า หากท่านอยากเป็นนักกฎหมายที่มีความสามารถในการทำ Deal M&A หรือถ้าท่านต้องเลือกนักกฎหมายให้มาทำ Deal M&A ท่านควรจะพิจารณาเรื่องอะไรในการเตรียมตัวเป็นนักกฎหมายหรือการเลือกที่ปรึกษากฎหมาย

            1.ต้องมีความรู้เรื่องกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายบริษัทจำกัดและมหาชน กฎหมายหลักทรัพย์ และกฎหมายที่กำกับดูแลธุรกิจดังกล่าวเป็นอย่างดีเพราะจะเป็นคนที่ให้แนวทางร่วมกับที่ปรึกษาการเงินของบริษัทว่ารูปแบบใดจึงจะดีที่สุด การมีความเข้าใจเรื่องโครงสร้างทางกฎหมายของการทำ M&A จึงมีความสำคัญมาก 

            ความสามารถในการเลือกรูปแบบการทำ M&A และการจัดโครงสร้าง ของบริษัท ผู้ซื้อ ผู้ขาย ที่ปรึกษากฎหมายที่มีความสามารถก็จะสามารถแนะนำรูปแบบว่ารูปแบบการทำ M&A ควรจะเป็นรูปแบบการซื้อหุ้น ซื้อทรัพย์สิน หรือ การควบกิจการ หรือ การซื้อหุ้นและมีการควบกิจการในภายหลัง

            2.ต้องมีความรู้เรื่องกฎหมายภาษี เพราะภาษีเป็นต้นทุนในการทำธุรกิจ การวางแผนภาษีในมุมมองของผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และ ภาษีอื่นๆ จะมีความสำคัญในการกำหนดราคาซื้อขาย

            การที่นักกฎหมายที่มีความเข้าใจเรื่องภาษีทั้งในมุมมองของผู้ซื้อและผู้ขายก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ตัวอย่างเช่น การเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับผู้ขายที่ต้องเสียกำไรจากการขายหุ้นก็ต้องสามารถแนะนำได้ว่าต้องมีการถือหุ้นในรูปแบบใดที่สามารถขายหุ้นได้ในราคาที่เสียภาษีน้อยหรือไม่เสียภาษีเลยโดยถูกต้องตามกฎหมาย การจัดตั้งบริษัทหรือการจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นจึงมีความสำคัญมากทั้ง 2 มุม

            3.ต้องมีความสามารถในการทำสัญญาควบรวมกิจการและทั้งความสามารถในการการเจรจาต่อรองสัญญา ซึ่งก็มีความสำคัญมาก เพราะ Deal จะสำเร็จลงได้นั้นต้องมีการเจรจาต่อรองด้านสัญญาที่สมประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย และเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นอันเกิดจากความผิดคำรับรองหรือคำรับประกันของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ข้อสัญญาที่มีอยู่จะสามารถแก้ไขหรือเยียวยาจากสัญญาที่ทำไว้แล้วอย่างไร 

            ทั้งนี้ ฝ่ายคู่สัญญาจึงจำเป็นจะต้องได้ทนายที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการเจรจาต่อรองสัญญาและหาทางออกเมื่อเกิด Dead Lock หรือประเด็นที่ไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะหาทางออกอย่างไร เพื่อให้ Deal จบลงได้

            4.ต้องมีความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของกิจการของผู้ซื้อผู้ขายเป็นอย่างดี ว่ามีข้อจำกัดทางกฎหมายต้องขออนุญาตแค่ไหนเพียงไร ปัจจุบันกฎหมายที่กำกับดูแลธุรกิจมีมากมายที่มีความสำคัญและจะมีผลกระทบการทำธุรกิจ เช่น กฎหมายแข่งขันทางการค้า และกฎหมายกำกับหน่วยงานเฉพาะ เช่น สถาบันการเงิน หรือ บริษัทประกันภัย กิจการโทรคมนาคม ยิ่งปัจจุบันถ้าหากเป็นกิจการสตาร์ตอัพ หรือ กิจการที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ นักกฎหมายก็จะต้องมีความรู้กฎหมายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี เช่น กฎหมายโทรคมนาคม, กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล, กฎหมาย Cyber Security

            5.ต้องมีความรู้ทางธุรกิจของกิจการที่มีการซื้อขายกิจการ ที่ปรึกษากฎหมายที่เข้าใจธุรกิจเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่าง ยิ่งที่จะทำให้ข้อตกลงหรือความสำเร็จในการควบรวมกิจการเกิดขึ้นได้ เพราะจะทำให้การเจรจาต่อรองจบลงเป็นไปอย่างเป็นธรรมเพราะมีความเข้าใจรูปลักษณะของการทำธุรกิจของลูกความได้แทนที่จะเอาชนะคะคานในประเด็นทางกฎหมายเกินไป

            นอกเหนือจากความรู้ 5 ประการที่กล่าวมาแล้วนั้น นักกฎหมายที่ดีก็จะต้องมีความทันสมัย ขวนขวายในการหาความรู้ทั้งทางธุรกิจและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งติดตามข่าวสารในธุรกิจที่ตนเองให้คำปรึกษาอยู่ เพราะปัจจุบันนี้มีความเปลี่ยนแปลงในทางธุรกิจเกิดขึ้นมาก ความรู้เหล่านี้จะช่วยได้มาก

            จากประสบการณ์ 43 ปีของผมที่ผ่านมาเชื่อว่านักกฎหมายที่มีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษในธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจควบรวมกิจการยังมีความต้องการอยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก ผมจึงหวังว่าประสบการณ์เล็กๆ น้อยๆ ของผมที่ผ่านมาจะเป็นประโยชน์ คราวหน้าผมจะนำบทความเรื่องการควบรวมกิจการมาแชร์อีก 

            โดยผมจะนำบทความที่อาจจะมาจากการ Update และปรับปรุงหนังสือการควบรวมกิจการ หรือบทความ 2 เล่ม ที่ผมเคยเขียนไว้มาลงให้อ่านในบทความต่อไปเรื่อยๆ บทความฉบับนี้เป็นปฐมบทของการปรับปรุงหนังสือการควบรวมกิจการต่อไป


เกี่ยวกับนักเขียน

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ อดีตประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กูรูด้านภาษี และกฎหมายภาษี มีผลงานการออกหนังสือ พ๊อกเก็ตบุ๊คเกี่ยวกับภาษีต่างๆ การควบรวมกิจการ อาทิ 10 ข้อคิด รู้ภาษี ลดภาษี / 10 ข้อคิด ลดภาษีคนทำงานและนักลงทุน โดยวารสารการเงินธนาคาร และอีกหลากหลายทั้งเรื่องภาษีมรดก ภาษีที่ดิน การควบรวมกิจการ โอกาสของธุรกิจไทย เป็นต้น

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน