THE GURU • BUSINESS LAW

การแต่งตั้งผู้พิทักษ์และผู้อนุบาลไว้ล่วงหน้า : ประเด็นกฎหมายสำหรับสังคมผู้สูงวัย

บทความโดย: ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

            ท่านผู้อ่านคงทราบว่า ผมได้ทำหน้าที่เป็นประธาน บริษัท ชีวามิตรวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 โดยภารกิจหลักของชีวามิตรคือ การรณรงค์เผยแพร่ความรู้เรื่องการเตรียมตัวจากไปอย่างมีความหมายและสนับสนุนให้มีการทำพินัยกรรมชีวิต (Living Will) เพื่อให้ผู้ป่วยระยะท้ายจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้โดยสามารถทำให้ผู้ป่วยระยะท้ายหรือแม้แต่ผู้สูงวัยที่ยังมีสุขภาพสมบูรณ์สามารถแสดงเจตนาของตนเองให้มีกระบวนการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care)


            รวมทั้งการจัดการเรื่องการรักษาพยาบาลและการจัดการชีวิตในขณะเจ็บป่วย หรือเมื่อถึงวาระสุดท้ายเมื่อจากไป ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคอวัยวะ การจัดงานศพ หรืองานกุศลอื่นๆ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อผู้ป่วยระยะสุดท้ายเหล่านั้นสามารถอยู่อย่างมีความหมาย และจากไปอย่างมีความสุข หรือที่เรียกว่า Happy Leaving Journey รวมถึงครอบครัวของผู้ป่วย หรือแม้แต่ผู้สูงอายุที่ไม่ได้ป่วย


            จากที่ได้มีประสบการณ์การทำเรื่องนี้มาอย่างยาวนาน ผมได้พบประเด็นปัญหาทางกฎหมายที่เกิดขึ้นสำหรับผู้สูงวัยที่เป็นทั้งผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือผู้ป่วยทางด้านสมอง หรือผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่มีคนในครอบครัวดูแลว่า กระบวนการจัดการทรัพย์สินของผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุดังกล่าว กลับกลายเป็นปัญหาที่ผู้ป่วยหรือครอบครัวของผู้ป่วยต้องประสบในการบริหารจัดการทรัพย์สิน และการจัดการชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจในเรื่องการอยู่อาศัย การเลือกผู้ดูแล หรือการรักษาพยาบาล


            ผมได้เคยสรุปขั้นตอนทางกฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการขอตั้งผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลสำหรับผู้ป่วยไว้ใน "คู่มือชีวามิตรอยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข" ที่จัดพิมพ์โดย ชีวามิตรและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ที่ท่านผู้อ่านสามารถดูจาก Website ของชีวามิตร www.cheevamitr.com ได้


            ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยได้รับความเจ็บป่วยระยะท้าย รวมทั้งผู้สูงอายุบางคนที่อาจจะสูญเสียความสามารถในการสื่อสารในการตัดสินใจหรือการดูแลตัวเอง รวมทั้งความสามารถในการจัดการทรัพย์สิน การใช้ชีวิต โดยทางกฎหมายมีบุคคลสองประเภทที่กฎหมายกำหนดให้มีการตั้งผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลผู้ป่วยที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่าเป็น "ผู้ดูแล"

 

การแต่งตั้งผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล : อำนาจหน้าที่


            ผู้พิทักษ์จะได้รับการแต่งตั้งก็ต่อเมื่อบุคคลผู้ป่วยนั้นตกเป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ โดยกฎหมายให้หมายถึงบุคคลที่มีจิตผิดปกติ สมองพิการ มีความผิดปกติในการเจริญเติบโตด้านร่างกายและพัฒนาการในลักษณะที่ไม่สามารถทำงานได้ เช่นบุคคลธรรมดามีความประพฤติสุรุ่ยสุร่าย เสเพลเป็นอาจิณ ติดสุรายาเสพติด ชราภาพ ซึ่งอยู่ในลักษณะที่ไม่สามารถจัดการงานได้ด้วยตนเอง หรือจัดการไปในทางที่เสื่อมเสียแก่ตนเองและครอบครัว จนทำให้ต้องตกอยู่ในความดูแลของผู้พิทักษ์ตามกฎหมาย


            โดยทั่วไปผู้เสมือนไร้ความสามารถนั้น ยังสามารถทำนิติกรรมต่างๆ ได้ ซึ่งรวมถึงการทำพินัยกรรมก็จะมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย แต่จะมีนิติกรรมบางประเภท เช่น การนำทรัพย์สินไปลงทุน กู้ยืมเงิน หรือรับการให้โดยมีเงื่อนไขซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการจัดการทรัพย์สินเงินทอง โดยนิติกรรมเหล่านั้นจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อน จึงจะทำการได้หรือต้องมีคำสั่งศาลให้ผู้พิทักษ์มีอำนาจกระทำการนั้นแทน

สำหรับกรณีผู้ไร้ความสามารถนั้น หมายถึงบุคคลที่มีอาการไม่ปกติ สติไม่สมบูรณ์ มีอาการทางจิตผิดปกติ หรือจริตวิกลอย่างมาก ไม่สามารถตัดสินใจอะไรเองได้ ไม่สามารถประกอบกิจการงานของตน หรือประกอบกิจการส่วนตัวของตนได้โดยอาการผิดปกตินั้นต้องเกิดขึ้นเป็นประจำ ผู้ไร้ความสามารถที่เป็นผู้ป่วยหลัก ได้แก่ ผู้ป่วยเนื้องอกในสมองที่นอนติดเตียง โรคสมองเสื่อมสมองพิการ ไม่มีโอกาสรักษาหาย ไม่มีสติสัมปชัญญะ ต้องอยู่ในความดูแลของผู้อนุบาลตามกฏหมาย


            การทำนิติกรรมของผู้ไร้ความสามารถหากกระทำไปก็อาจจะมีผลเป็นโมฆียะ ซึ่งนิติกรรมนั้นอาจจะถูกบอกล้างหรือการให้สัตยาบันได้โดยผู้อนุบาล ดังนั้น การทำนิติกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำพินัยกรรมหรือโดยการทำสัญญาอื่นๆ จะต้องกระทำโดยผู้อนุบาลเท่านั้น

 

ใครที่ยื่นคำร้องและเป็นผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล ได้บ้าง และศาลจะแต่งตั้งใครได้บ้าง


            การยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อแต่งตั้งผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ตามกฏหมายไทย บุคคลที่จะมีสิทธิร้องขอต่อศาลเพื่อเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลนั้น ได้แก่ คู่สมรสที่จดทะเบียนกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้สืบสันดาน ซึ่งได้แก่ ลูก หลาน เหลน ลื้อ หรือ บุพการี ซึ่งได้แก่ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด หรือผู้ปกครอง (ซึ่งอาจเป็นญาติหรือไม่ก็ได้) หรือผู้พิทักษ์ในกรณีที่จะร้องขอให้บุคคลที่เสมือนไร้ความสามารถเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือพนักงานอัยการ (โปรดสังเกตว่า พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ก็ไม่มีสิทธิจะยื่นคำร้อง)


            ขณะนี้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้นและเป็นประเทศที่ผู้สูงวัยเหล่านั้น จะอยู่ในสถานะโสดโดยอาจจะไม่ได้แต่งงานมีครอบครัวลูกหลานที่จะดูแลจัดการทรัพย์สิน จึงเกิดมีคดีความที่มีคนใกล้ชิดผู้สูงวัยเข้ามาบริหารจัดการทรัพย์สินของผู้สูงวัยเหล่านั้น โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีเงินทองและมีอาการป่วยรุนแรงจนถึงขนาดที่ไม่สามารถจัดการดูแลหรือตัดสินใจได้ด้วยตนเอง หรือถึงแม้มีลูกหลาน แต่พอเวลาเจ็บป่วย การฝากถอนเงินหรือการจัดการทรัพย์สินก็ไม่สามารถกระทำได้ด้วยตนเอง ต้องให้บรรดาคู่สมรสลูกหลานหรือพ่อแม่ก็จะยื่นคำร้องขอศาลแต่งตั้งให้บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ การแต่งตั้งผู้ดูแลหรือผู้พิทักษ์นั้น ในช่วงก่อนการแต่งตั้งก็อาจจะมีปัญหาการเบิกถอนเงินได้ เว้นแต่บางท่านจะให้บัตร ATM และรหัสกับญาติพี่น้องซึ่งก็นับว่ามีความเสี่ยง


            การแต่งตั้งผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลตามกฎหมายไทย จะต้องเป็นการแต่งตั้งไปตามลำดับชั้นตามกฎหมาย คือ จะต้องให้คู่สมรสชอบด้วยกฎหมายเป็นผู้อนุบาลเสียก่อน หากไม่มี จึงค่อยตั้งบิดามารดาแทน หากไม่มีบิดามารดาหรือผู้สืบสันดาน ศาลจึงจะตั้งบุคคลอื่นตามที่ศาลเห็นสมควร ซึ่งอาจรวมญาติพี่น้องคนอื่นได้


            ยิ่งถ้าหากผู้ป่วยเหล่านั้น ศาลถือว่าเป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน มีคู่สมรส โดยกฎหมายแล้ว ถ้าไม่มีผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอกฎหมาย พ่อแม่หรือญาติ จะขอให้ศาลตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ไม่ได้เลย ต้องตั้งคู่สมรสเท่านั้น และหากกรณีที่คู่สมรสเหล่านั้นอยู่ในสภาวะที่ทะเลาะเบาะแว้งกันในเรื่องทรัพย์สิน หรือแยกกันอยู่ หรือกำลังจะหย่ากัน ก็จะเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมากต่อคู่สมรสที่อยู่ในสภาพเป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน ซึ่งกรณีแบบนี้ก็จะเป็นปัญหาที่เกิดข้อพิพาทมาก


            สำหรับครอบครัวที่มีความรักสามัคคีกัน การแต่งตั้งให้ใครคนใดคนหนึ่งให้เป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาล ก็ย่อมไม่ก่อให้เกิดปัญหา แต่ที่ปรากฏเป็นปัญหาพบกันมากก็คือ บิดา มารดา หรือผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรสที่ทะเลาะขัดแย้งกัน ต่างก็จะมีข้อพิพาทในการแย่งกันเป็นผู้พิทักษ์ หรือผู้อนุบาลในการจัดการทรัพย์สินของผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่มีสถานะเป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ หรือไร้ความสามารถเพราะในขณะนั้นบุคคลดังกล่าวไม่สามารถจะตัดสินใจได้เองเพราะความบกพร่องทางจิตใจและความเจ็บป่วย ข้อพิพาทดังกล่าวหากต้องพึ่งกระบวนการทางศาลก็ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายอย่างมาก และผู้ที่ได้รับผลกระทบคือผู้ป่วยเอง


            ปัจจุบัน ผู้เจ็บป่วยหรือผู้สูงวัยหลายคนที่ยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนสมบูรณ์ จึงอยากจะมีสิทธิในการเลือกว่าจะให้ใครเป็นผู้ดูแลเมื่อถึงเวลาที่ตนเองเจ็บไข้ได้ป่วย และไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินเรื่องการรักษาพยาบาลและการดูแลชีวิตประจำวัน และตัดสินใจในการที่จะยื้อชีวิตต่อไปหรือไม่ โดยกฎหมายไทยไม่มีการรับรองสิทธิของการทำเป็นหนังสือเหล่านี้ เพียงแต่ศาลอาจรับฟังเป็นหลักฐานเบื้องต้นหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้น เพราะหากขัดแย้งกัน ทายาทหรือคู่สมรส หรือผู้สืบสันดาน คงไม่ยินยอมให้คนอื่นที่ไม่ใช่พี่น้องมาเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลอย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าผู้ป่วยอาจเลือกบุคคลอื่นให้เป็นผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาล


            ผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยจึงอยากจะมีทางเลือกในแต่งตั้งผู้พิทักษ์ผู้ดูแลหรือผู้อนุบาลไว้ล่วงหน้า ทั้งนี้ ในทางกฎหมายไทยไม่สามารถกระทำได้ เพราะการแต่งตั้งผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาล จะต้องกระทำเมื่อเกิดเหตุขึ้นเสียก่อน กล่าวคือ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือผู้สูงอายุนั้น จะต้องเข้าเงื่อนไขทางกฎหมายว่าบุคคลนั้นควรจะเป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ หรือไร้ความสามารถ


            ทั้งนี้ โดยมีความเห็นของแพทย์ที่เป็นผู้ชำนาญหรือแพทย์ผู้รักษาพยาบาลในการเบิกความต่อศาลเพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่า บุคคลดังกล่าวควรจะถูกสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถหรือไร้ความสามารถ โดยศาลก็จะต้องแต่งตั้งบุคคลที่กฎหมายกำหนดให้เท่านั้น เว้นแต่จะมีพฤติการณ์พิเศษว่าบุคคลที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็นคู่สมรส ผู้สืบสันดาน บุพการี ผู้ปกครอง หรือผู้พิทักษ์ ไม่สามารถเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ได้ จึงอาจตั้งบุคคลอื่นได้


            การแสดงเจตนาตั้งผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลไว้ล่วงหน้านี้ จะต่างกับการแสดงเจตนาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะวาระสุดท้ายของชีวิตที่เรียกว่า หนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของตนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎหมายมาตรา 12 ของ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 หรือที่เรียก "พินัยกรรมชีวิต (Living Will)" นั่นเอง

 

ข้อพิพาทที่เกิดขึ้น


            ปัญหาเรื่องข้อพิพาทหรือความขัดแย้งกัน ในการแต่งตั้งผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์หรือผู้ดูแลของผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือผู้ป่วยที่ติดเตียง หรือเป็นอัมพาต โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคสมองเสื่อม มีทั้งในกรณีที่สมาชิกในครอบครัวอยากจะแย่งชิงทรัพย์สินกันเอง หรือการตัดสินใจในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย เพราะส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับเงินทองทรัพย์สินของผู้ป่วย ปัญหานี้กำลังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและสังคมที่มีผู้สูงวัยมากขึ้น


            การที่กฎหมายไทยไม่อนุญาตที่จะให้บุคคลสูงอายุ หรือผู้ป่วยที่ยังมีสติสัมปชัญญะครบถ้วนอยู่ ตัดสินใจในการที่จะแต่งตั้งผู้ดูแลที่ไม่ว่าจะเป็นผู้อนุบาลผู้พิทักษ์ไว้ล่วงหน้า โดยแม้จะทำเป็นหนังสือ ย่อมจะกระทบต่อสถานภาพของบุคคลเหล่านั้น และไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์ของผู้ป่วย และยังจะทำให้ข้อพิพาทระหว่างสมาชิกในครอบครัวนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะครอบครัวของผู้มีสถานะทางการเงินหรือกลุ่มคนรวยที่มีธุรกิจครอบครัวที่มีมูลค่าสูง


            นอกจากนี้ ปัญหาของผู้สูงวัยหรือคนป่วยที่ไม่มีสมาชิกในครอบครัวดูแล ก็จะเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญว่าเมื่อผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยเหล่านั้นจำเป็นจะต้องเข้ารับการดูแลรักษาหรือเข้าสถานรักษาพยาบาลผู้สูงอายุหรือเรียกที่ว่า "สถานที่ดูแลผู้สูงวัย" ว่าจะมีใครที่จะดูแลการบริหารทรัพย์สิน การจ่ายเงิน แม้ว่าบุคคลเหล่านี้มีเงิน แต่ถึงเวลานั้นก็ไม่สามารถจัดการทรัพย์สินของตนเองได้ รวมถึงการใช้จ่ายเพื่อรักษาตัว โดยเฉพาะเมื่อตกอยู่ในสภาพเป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถหรือไร้ความสามารถ อันจะทำให้คนใกล้ชิดฉวยโอกาสหลอกลวงหรือปลอมแปลงเพื่อโอนเงินต่างๆ เข้าเป็นประโยชน์ของตนเองซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ


            ใครที่เคยดูภาพยนตร์ของ Netflix เรื่อง I do care a lot ก็คงเคยเห็นสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นของธุรกิจประเภทนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี เนื่องจากกฎหมายไทยยังไม่มีบทบัญญัติที่จะให้หมอหรือแพทย์ให้ความเห็นไปยังศาลเพื่อแต่งตั้งผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ซึ่งเป็นคนนอกได้


            การแต่งตั้งผู้ดูแลหรือผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ไว้ล่วงหน้าจึงเป็นประเด็นที่จะต้องได้รับการพิจารณาแก้ไขกฎหมายอย่างเร่งด่วนเพราะในต่างประเทศที่มีสังคมผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็นประเทศอังกฤษ ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฝรั่งเศส ต่างมีกฎหมายที่รองรับการแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าของบุคคลใดๆ ในการที่จะให้ใครมาดูแลทรัพย์สิน ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพ


            รวมทั้งมีกฎหมาย Trust ที่เปิดโอกาสให้เจ้าของทรัพย์สินได้มอบหมายให้ Trustee เป็นผู้จัดการทรัพย์สิน รวมทั้งการดูแลความเป็นอยู่ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายยามแก่ชราหรือเมื่อเจ็บป่วยได้ และแม้จะเสียชีวิตลงก็อาจไม่ต้องมีปัญหาเรื่องการตั้งผู้จัดการมรดกหรือความถูกต้องของพินัยกรรมที่มีอยู่ได้

ผมได้เคยเขียนเรื่องการจัดการทรัพย์สินโดยการจัดตั้งทรัสต์ (Trust) ต่างประเทศ: กฎหมายไทยควรแก้ไขในหนังสือภาษีการรับมรดกฉบับสมบูรณ์ไว้ (สำนักพิมพ์อมรินทร์ พ.ศ.2559 หน้า 134-144) ผู้สนใจหาอ่านได้ครับ


            ผมได้มีโอกาสได้ศึกษาวิทยานิพนธ์หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต ของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ..2558 ของ คุณกิตธิ นาคะนิธิ หัวข้อเรื่อง "การแสดงเจตนาล่วงหน้าในการจัดตั้งผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินและดูแลบุคคล : ศึกษาเฉพาะกรณีบุคคลวิกลจริตและจิตฟันเฟือน" ผมคิดว่าวิทยานิพนธ์นี้เป็นประโยชน์มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอที่ให้ประเทศไทยมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเพื่อที่จะให้บุคคลผู้สูงอายุผู้สูงวัยหรือผู้เจ็บป่วยที่ยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์สามารถแต่งตั้งให้ใครคนใดคนหนึ่งที่บุคคลนั้นไว้วางใจดูแลและจัดการทรัพย์สิน ดูแลชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของตนเองได้


            ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของการมอบอำนาจต่อเนื่องหรือกฎหมาย Trust หรือสัญญาตั้งผู้อนุบาลล่วงหน้า เช่น ในประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส ซึ่งจะมีการคุ้มครองบุคคลวิกลจริตและจิตฟั่นเฟือนเป็นอย่างดีเพราะมีหน่วยงานที่ตรวจสอบการทำงานของผู้รับมอบอำนาจหรือผู้อนุบาลตามสัญญาโดยศาลหรือเจ้าพนักงานของรัฐ


            เพื่อให้ผู้สูงวัย ผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยสามารถจัดการเรื่องการจัดการทรัพย์สิน การใช้ชีวิต และการรักษาชีวิตตามความประสงค์ของตนเองได้ ผมจึงขอเสนอให้รัฐบาลได้โปรดพิจารณาดำเนินการดังนี้


            1.ให้มีการปรับปรุงกฎหมายเรื่องผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาล ให้สามารถมีการมอบอำนาจหรือแต่งตั้งผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลไว้ล่วงหน้าได้โดยมีการจดทะเบียนไว้กับหน่วยงานของรัฐ เช่น ศาล อัยการ หรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในลักษณะของการทำพินัยกรรมฝ่ายเมืองรวมทั้งให้มีหน่วยงานภาครัฐในการตรวจสอบการทำงานของผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลหรือผู้รับมอบอำนาจดังกล่าว โดยอำนาจในการจัดการของผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลนั้น ให้ครอบคลุมทุกมิติ ไม่ว่าเรื่องจัดการทรัพย์สิน การทำนิติกรรม การใช้ชีวิตครอบครัว การรักษาพยาบาล รวมถึงการทำหนังสือการปฏิเสธรับการรักษาหากเป็นเพียงการยื้อความตาย


            2.ให้มีการจัดทำกฎหมายทรัสต์ (Trust Law) โดยนำร่างที่กระทรวงการคลังและสำนักงาน ก.ล.ต. ได้เคยจัดทำไว้แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อสามารถให้มีหน่วยงานเอกชนเข้ามาดูแลจัดการทรัพย์สิน การทำนิติกรรม และการใช้ชีวิตของครอบครัว รวมถึงการรักษาพยาบาลได้เช่นกัน การมีกฎหมายนี้จะลดข้อพิพาทเรื่องการที่ต้องตั้งผู้จัดการมรดกหรือข้อพิพาทเรื่องความถูกต้องของพินัยกรรมอีกด้วย ทำให้คดีครอบครัวมรดกจะลดลงไปได้อย่างมาก การออกกฎหมายทรัสต์อาจจะรวดเร็วกว่าการปรับปรุงกฎหมายผู้พิทักษ์หรือผู้อนุบาลใหม่ทั้งหมดเพราะมีการร่างกฎหมายไว้แล้วและปรับปรุงให้สมบูรณ์

            ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีครอบครัว หากไม่มีการแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ไว้ล่วงหน้า สังคมไทยก็จะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน ผมอยากได้เสียงสนับสนุนจากทุกท่านครับ

เกี่ยวกับนักเขียน

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ อดีตประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กูรูด้านภาษี และกฎหมายภาษี มีผลงานการออกหนังสือ พ๊อกเก็ตบุ๊คเกี่ยวกับภาษีต่างๆ การควบรวมกิจการ อาทิ 10 ข้อคิด รู้ภาษี ลดภาษี / 10 ข้อคิด ลดภาษีคนทำงานและนักลงทุน โดยวารสารการเงินธนาคาร และอีกหลากหลายทั้งเรื่องภาษีมรดก ภาษีที่ดิน การควบรวมกิจการ โอกาสของธุรกิจไทย เป็นต้น

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน