THE GURU • BUSINESS LAW

เหลียวหลัง มองอดีตของ ธุรกิจการเงิน-การธนาคาร-ตลาดทุน ไทย แลหน้าไปในอนาคต (ตอนที่ 4)

บทความโดย: ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

วิกฤติสถาบันการเงินไทยเริ่มมีสัญญาณบ่งบอกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ที่เริ่มมีการโจมตีค่าเงินบาท เพราะนักลงทุนต่างชาติเริ่มหมดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย และคาดการณ์ว่าประเทศไทยต้องมีการลดค่าเงินบาท และมีการนำกองทุนสำรองของประเทศไทยเข้าไปแทรกแซง

            มาถึงช่วงที่ 3 กันแล้ว สำหรับการนำเสนอประสบการณ์ในการเรียนและการทำงานของผมในช่วง พ.ศ.2534-2544 ซึ่งในช่วงนี้มีเหตุการณ์สำคัญๆ มากมาย ผมจึงขอแบ่งออกเนื้อหาออกเป็น 2 ตอนนะครับ ในตอนแรกของบทความฉบับนี้ จะกล่าวถึง “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ทั้งช่วงก่อนและหลังเกิดวิกฤติ จนลุกลามทำให้เกิดวิกฤติสถาบันการเงิน และส่งผลต่อเนื่องไปถึงเศรษฐกิจไทยในภาพรวม 

            ส่วนตอนที่สองของช่วงนี้ที่จะนำเสนอในฉบับหน้า จะเป็นเรื่องการตรากฎหมาย 11 ฉบับ ที่เรียกว่าเป็น กฎหมายขายชาติ : ขายชาติจริงหรือ? พร้อมสรุปประสบการณ์สำคัญของผมในช่วงที่ 3 ของวิกฤติเศรษฐกิจไทย

ช่วงที่ 3 (พ.ศ.2534 ถึง พ.ศ.2544) : มหาวิกฤติต้มยำกุ้ง The Fall from Grace 

            ภายหลังที่รัฐบาลของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และได้รับอานิสงส์จากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในช่วงระยะเวลา 8 ปี ในช่วงของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จึงส่งผลให้ประเทศไทยมีการเจริญเติบโตจากเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด จนกระทั่งในปี พ.ศ.2535 ได้มีการปฏิวัติรัฐประหารโดย คณะ รสช. นำโดย พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ และได้มีการแต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

            โดยในช่วงปี พ.ศ.2535 เป็นช่วงที่มีการตรากฎหมายหลายฉบับ รวมทั้ง ภาษีมูลค่าเพิ่ม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ถือได้ว่ามีการตรากฎหมายที่มีผลดีต่อการประกอบธุรกิจในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะอยู่ในสภาวะที่มีรัฐบาลมาจากการแต่งตั้ง

            มีการเลือกตั้งอีกครั้งภายหลังรัฐบาล นายอานันท์ ปันยารชุน เศรษฐกิจไทยก็ยังเจริญอย่างก้าวกระโดด จนมีความหวังให้ประเทศไทยเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย ทั้งนี้ การค้าการลงทุนเพิ่มจากต่างประเทศ มีการเปิดเสรีทางการเงิน และมีการเปิดกิจการวิเทศธนกิจ หรือ BIBF ของธนาคารพาณิชย์ไทย และการเปิดเสรีทางการเงินนี้เอง ถือว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤติฟองสบู่ จนกระทั่งเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ในปี 2540 การเปิดเสรีทางการเงินโดยเฉพาะ BIBF ได้มีผลก่อให้เกิดเหตุการณ์ดังนี้

            1. ภาวะฟองสบู่จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะมีการกู้ยืมเงินระยะสั้นจากต่างประเทศที่มีดอกเบี้ยถูกกว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทย ทำให้หลายกิจการกู้เงินตราต่างประเทศ เพื่อได้กำไรส่วนต่างของดอกเบี้ย โดยเฉพาะการกู้ยืมเงินผ่านธนาคารพาณิชย์ และมาให้กู้แก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แทนที่จะนำมาปล่อยในกิจการอุตสาหกรรมส่งออกซึ่งเป็นเจตนารมณ์เดิม รวมถึงการใช้วิธีการออกตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเงินทุน โดยนำเงินกู้ดังกล่าวมาปล่อยให้กับสินเชื่อส่วนบุคคลและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 

            ซึ่งทำให้บริษัทเงินทุนในช่วงเวลาดังกล่าวมีสภาวะที่เจริญเติบโตในสินทรัพย์อย่างก้าวกระโดดถึงร้อยละ 26 อันเป็นที่มาของการเกิดผลกระทบทั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทก่อสร้างที่มีการสร้างอาคารชุดอาคารสำนักงานและที่อยู่อาศัย เกินความต้องการของผู้บริโภค เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนเก็งกำไร อีกทั้งประเทศไทยในขณะนั้นก็เริ่มมีสถานะที่มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง

            2. ตลาดหุ้นที่ร้อนแรง ที่มีดัชนีหุ้นพุ่งสูงสุดถึง 1,754 จุด ในปี พ.ศ.2537 ด้วยสาเหตุหลักๆ อันเกิดจากการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ และเนื่องจาก GDP ของประเทศไทยได้ขยายตัวในระดับร้อยละ 7-8 มีการปั่นหุ้นสร้างราคาของนักลงทุนบางกลุ่ม มีการนำ ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (BBC) ปล่อยกู้แก่กลุ่มการเมือง เพื่อการทำการเทกโอเวอร์บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยหลักประกันไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นที่มาของการเป็นหนี้ NPL และสร้างความเสียหายให้แก่สถาบันการเงินไทยในปี พ.ศ.2539-2540

            3. ช่วงปี พ.ศ.2539 ภาคส่งออกของไทยเริ่มมีปัญหา เพราะคู่ค้ารายใหญ่ของประเทศไทยคือประเทศญี่ปุ่นมีความชะลอตัว รวมถึงในปี พ.ศ.2547 และ พ.ศ.2548 ประเทศเม็กซิโกก็ประสบวิกฤติการคลัง นักลงทุนจึงเริ่มเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากกลุ่มประเทศในเอเชียรวมถึงประเทศไทย

            4. ในช่วงปี พ.ศ.2539 ได้เริ่มมีการโจมตีค่าเงินบาท เพราะนักลงทุนต่างชาติเริ่มหมดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย และเดาว่าประเทศไทยต้องมีการลดค่าเงินบาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท โดยใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศเข้าซื้อเงินบาทจากตลาดเงินโดยตรง และเพื่อเป็นการรักษาระดับทุนสำรองระหว่างประเทศเอาไว้ จึงได้มีการทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าswap และเมื่อมีข่าวลือว่าจะลดค่าเงินบาท กองทุนควอนตัมของ จอร์จ โซรอส จึงโจมตีเงินบาทไทย ในช่วงพฤษภาคม 2540 

            และ 14 พฤษภาคม 2540 รัฐบาลไทยได้ใช้เงินกว่าหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อปกป้องค่าเงินบาทที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยทำให้เงินสำรองของไทย ลดเหลือเพียง 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 24,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ประเทศไทยจึงได้มีประกาศลดค่าเงินบาทแบบลอยตัวค่าเงิน โดยมีการประกาศในวันที่ 9 กรกฎาคม 2540 และหลังจากนั้นมา 

            การที่เงินบาทของไทยดิ่งลง ทำให้ธนาคารหรือสถาบันการต่างๆ ตกอยู่ในสภาวะที่ล้มละลาย และที่น่าสังเกตคือ ในวันที่ 12 มกราคม 2541 เป็นวันที่เงินบาทดิ่งลงต่ำสุดในประวัติศาสตร์ไทยคืออัตรา 56.1 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นจุดเริ่มต้นของมหาวิกฤติต้มยำกุ้ง

วิกฤติสถาบันการเงินไทย ก่อนและหลัง วิกฤติต้มยำกุ้ง

            วิกฤติสถาบันการเงินไทยได้เริ่มมีสัญญาณบ่งบอกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ที่เริ่มมีการโจมตีค่าเงินบาทเพราะนักลงทุนต่างชาติเริ่มหมดความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยและคาดการณ์ว่า ประเทศไทยต้องมีการลดค่าเงินบาท และมีการนำกองทุนสำรองของประเทศไทยเข้าไปแทรกแซง เข้าซื้อเงินบาทจากตลาดเงินโดยตรง

            โดยมีการทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า swap จนทำให้เงินทุนสำรองของประเทศไทยลดเหลือเพียง 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 24,300 ล้านดอลลาร์ จนกระทั่งประเทศไทยต้องมีการประกาศลดค่าเงินบาท และเข้าโครงการช่วยเหลือจาก IMF 

            วิกฤติสถาบันการเงินได้เริ่มต้นตั้งแต่ ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ หรือ BBC ซึ่งเป็นต้นเหตุของความล้มเหลวของสถาบันการเงินต่อมาเนื่องจาก BBC มีปัญหาสภาพคล่อง กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ต้องเข้าไปแก้ไขการดำเนินงาน และช่วงดังกล่าว ธนาคาร BBC ได้ปล่อยกู้ให้กับกลุ่มด้วยคุณภาพ นักการเมืองที่เรียกว่ากลุ่ม 16 เพื่อ Take Over หุ้นและนำหลักประกันที่มีมูลค่าต่ำ ทำให้ BBC มีหนี้กว่า 7.7 หมื่นล้านบาท 

            ธุรกรรมที่ BBC สร้างหนี้เสียก็คือ การปล่อยเงินกู้เพื่อ Take Over กิจการของ บริษัท ชลประทานซีเมนต์ จำกัด บริษัท น้ำมันพืชมรกต อินดัสทรี จำกัด และ SVI และเมื่อเดือนพฤษภาคม 2539 กระทรวงการคลังอาศัยอำนาจ ตามกฎหมายเข้าควบคุมธนาคารเพื่อดำเนินงานกิจการของ BBC 

            แม้ว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้พยายามดำเนินการฟื้นฟูกิจการ BBC ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทุนและลดทุน แต่ในที่สุด ความเสียหายของ BBC ทำให้กองทุนฟื้นฟูได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งต่อมาภายหลัง กระทรวงการคลังได้แปลงสภาพธนาคารให้เป็น บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพฯพาณิชย์ จำกัด เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารสินทรัพย์และการแก้ไขปัญหาหนี้ของธนาคารต่างๆ และหลังจากนั้นได้นำมาเป็นบริษัทที่ใช้ซื้อสินทรัพย์ที่ได้ก่อเกิดรายได้จากสถาบันการเงินอื่นจนกระทั่งได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปัจจุบัน

            นอกจากนี้ ในช่วงระยะเวลาปี 2538 ทางกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวคิดที่จะทำให้บริษัทเงินทุนสามารถยกฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์ได้ และให้บริษัทเงินทุนที่มีขนาดใหญ่สามารถประกอบธุรกิจเงินตราต่างประเทศและรับฝากบัญชีออมทรัพย์ได้ ในปี 2540 โดยมีความพยายามจะกำกับดูแลสถาบันการเงิน 3 ประเภท ที่มีจำนวนถึง 104 แห่ง ให้ลดลง เพราะผลจากบริษัทเงินทุนเหล่านั้นก่อภาระให้ทางการมาก

            ในปี พ.ศ.2538 เช่นกัน ภายใต้รัฐบาลชวน 1 นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ รมว.กระทรวงการคลัง ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาระบบ การเงิน Financial System Master Plan ที่ใช้ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2538 - 28 กุมภาพันธ์ 2543 โดยมีการจัดตั้งธนาคารใหม่ขึ้น 5 แห่ง ธนาคารต่างประเทศเปิดสาขาได้อีก 5 แห่ง รวมทั้งมีการพัฒนาตลาดทุนและมีการแก้ไขกฎหมายเดิม เช่น กฎหมายธุรกิจการเช่าซื้อ

            เมื่อเริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ปัญหาสถาบันการเงินในช่วงต้นปี 2540 มีความพยายามในการควบรวมกิจการของสถาบันการเงินขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารไทยทนุ จำกัด ได้ประกาศควบรวมกิจการ บริษัทเงินทุนเอกธนกิจ แต่ความล้มเหลวของการควบรวมระหว่างธนาคารไทยทนุ และ บริษัท เอกธนกิจ อาจถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่มาของวิกฤติสถาบันการเงินไทยที่ทำให้ผู้ฝากเงินกับบริษัทเงินทุนต่างไม่มีความมั่นใจในบริษัทเงินทุน เริ่มมีการถอนเงินจนกระทั่งรัฐบาลมีการสั่งปิดบริษัทเงินทุน 42 แห่ง รวมทั้งที่เคยถูกปิดไปแล้วอีก 16 แห่ง รวมเป็น 58 แห่ง 

            ทั้งนี้ โดยกระทรวงการคลังได้ให้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเงินทุนที่ถูกปิดแลกเป็น NCD ของธนาคารกรุงไทย โดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับประกันเงินฝาก แลกเงินกู้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฝากเงิน 

            หลังจากนั้นมาธนาคารพาณิชย์อื่นต่างประสบปัญหาในการเพิ่มทุนอีกคือ ธนาคารแหลมทอง ธนาคารนครหลวงไทย และ ธนาคารเอเชีย

            ในปี 2540 มีการจัดตั้ง พระราชบัญญัติองค์การเพื่อปฏิรูปสถาบันการเงิน (ปรส.) เพื่อจัดการขายสินทรัพย์ของบริษัทเงินทุนที่ถูกสั่งปิดกิจการ

            ในปลายปี พ.ศ.2540 มีการเพิ่มทุนโดยธนาคารดีบีเอส ที่เข้าไปซื้อหุ้นใน ธนาคารไทยทนุ จำกัด เป็นธนาคารต่างประเทศแรก 

            มีการเปลี่ยนโครงสร้างธนาคารมหานคร มีการให้กองทุนฟื้นฟูเข้าไปบริหารจัดการให้เป็น Good Bank 

            มีการเพิ่มทุนของ ธนาคารกรุงไทย จำกัด

            ต่อมาในปี พ.ศ.2541 ได้มีการจัดตั้ง ธนาคารรัตนสิน ขึ้นมา เพื่อซื้อสินทรัพย์คุณภาพดีจาก 56 ไฟแนนซ์จาก ปรส. โดยธนาคารรัตนสิน ได้เริ่มทำการตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2541 

            ช่วงปี 2541 ได้มีความพยายามจะฟื้นฟูกิจการของธนาคารศรีนคร รวมถึง ธนาคารมหานคร แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ แม้ทางการจะมีคำสั่งให้ธนาคารมหานคร ลดทุนและเพิ่มทุนเพื่อให้กองทุนฟื้นฟูเข้าเป็นผู้ถือหุ้น ขณะเดียวกัน ธนาคารนครหลวงไทยก็ประสบสถานการณ์เช่นกัน คือ มีการลดทุนและเพิ่มทุนทำให้กองทุนเข้าไปถือหุ้นร้อยละ 97 ส่วนธนาคารแหลมทอง ภายหลังก็ถูกทางการสั่งให้ครบรวมกิจการกับธนาคารรัตนสิน ตอนปลายปี 2541

            ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 15 แห่ง มีผลขาดทุนสุทธิถึง 113,330 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการตั้งสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก 

            จนกระทั่งต่อมา มีมาตรการที่เรียกว่าโครงการ 14 สิงหาคม 2541 ที่รัฐบาล (สมัย นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) จัดตั้งโครงการช่วยเหลือด้านเงินทุนขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจเฉพาะธนาคารและบริษัทเงินทุนที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยเท่านั้น ที่สถาบันการเงินเหล่านั้นสามารถจะขอรับความช่วยเหลือทั้งเงินกองทุนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 เพื่อแลกกับการเข้าซื้อหุ้นของ FIDF ในการที่ธนาคารจะเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 จะต้องการสำรองให้ครบในปี 2543 

            โดยรัฐบาลได้ออกพันธบัตร 10 ปี เพื่อชำระค่าหุ้นซึ่งสถาบันการเงินจะนำปฏิบัตินี้นับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 ได้จนกว่าเงินกองทุนขั้นที่ 2 ของสถาบันการเงินจะเพิ่มเป็นอัตราร้อยละ 2.5 โดย FIDF จะซื้อหุ้นบุริมสิทธิกับเงินลงทุนของผู้ร่วมทุนเอกชนรายใหม่ในสัดส่วน 1:1 

            สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ เงินกองทุนขั้นที่ 1 ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย บริษัทเงินทุน ทิสโก้ บริษัทเงินทุนธนชาต บริษัทเงินทุนสินอุตสาหกรรม บริษัทเงินทุน เอเชียไฟแนนซ์ บริษัทเงินทุนเอกชาติ และ บริษัทเงินทุน บุ๊คคลับ ส่วนธนาคารกรุงเทพ ก็ได้เข้าร่วมโครงการเงินทุนขั้นที่ 2 และมีการเพิ่มทุน 

            ส่วน ธนาคารกสิกรไทย ไม่ได้เข้าร่วมโครงการเช่นเดียวกับ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดย ธนาคารกสิกรไทย และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ออกตราสารที่เรียกว่า ตราสารหนี้คล้ายทุนที่เรียกว่า SLIPs (Stapled Limited Interest) 

            มีการออกพระราชกำหนด 4 ฉบับ เพื่อรองรับมาตรการ 14 สิงหาคม 2541 โดยให้กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 3 แสนล้านบาท เพื่อโครงการเพิ่มทุนกับสถาบันการเงิน ในช่วงวิกฤตินั้นประเทศไทยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อกำหนดแนวทางการเจรจาและปรับโครงสร้างหนี้ การประนอมหนี้ระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการเงินให้อย่างชัดเจน มีขอบเขตการดำเนินการและรัฐบาลได้กู้เงินจำนวน 5 แสนล้านบาท เพื่อปรับโครงสร้างหนี้กับกองทุนฟื้นฟู 

            ต้องถือว่า โครงการ 14 สิงหาคม เป็นโครงการที่ทำให้สถาบันการเงินไทยส่วนใหญ่รอดพ้นปัญหาหนี้เสียมาได้จนปัจจุบัน

            ในปี พ.ศ.2544 ได้มีการออกพระราชบัญญัติบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย หรือ บสท. เพื่อเป็นองค์กรกลางในการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ออกจากระบบธนาคารพาณิชย์โดยเร็วและเบ็ดเสร็จ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่สถาบันการเงินในการปล่อยสินเชื่อกับภาคการผลิตและบริการต่อไป

    ผู้สนใจเหตุการณ์มหาวิกฤติต้มยำกุ้ง ลองหาหนังสือ “15 ปี วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน” ของ ThaiPublica (มีนาคม 2556) มาอ่าน เพราะจะทราบเบื้องหน้าเบื้องหลังของวิกฤตินี้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์โดยตรง

ติดตามเนื้อหาในตอนที่สองของช่วงนี้ในฉบับหน้านะครับ 


เกี่ยวกับนักเขียน

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ อดีตประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กูรูด้านภาษี และกฎหมายภาษี มีผลงานการออกหนังสือ พ๊อกเก็ตบุ๊คเกี่ยวกับภาษีต่างๆ การควบรวมกิจการ อาทิ 10 ข้อคิด รู้ภาษี ลดภาษี / 10 ข้อคิด ลดภาษีคนทำงานและนักลงทุน โดยวารสารการเงินธนาคาร และอีกหลากหลายทั้งเรื่องภาษีมรดก ภาษีที่ดิน การควบรวมกิจการ โอกาสของธุรกิจไทย เป็นต้น

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน