THE GURU • BUSINESS LAW

เหลียวหลัง มองอดีต ธุรกิจการเงิน-การธนาคาร-ตลาดทุนไทย แลหน้าไปในอนาคต (ตอนที่ 5)

บทความโดย: ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

ในช่วงนี้วิกฤติรอบใหม่ของประเทศไทยอาจกำลังเกิดขึ้นอีก ผมจึงอยากจะเห็นการมีการเตรียมร่างกฎหมายเพื่อรองรับวิกฤติที่กำลังจะเกิดขึ้น ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าก่อนว่า การออกกฎหมายได้จะสามารถป้องกันและผ่อนปรนวิกฤติได้ และไม่ให้กฎหมายต้องมาเป็นอุปสรรคในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ

            อย่างที่ได้เรียนไว้ว่า ประสบการณ์ในการเรียนและการทำงานของผมในช่วงที่ 3 พ.ศ.2534-2544 นั้น มีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นมาก ผมจึงขอแบ่งออกเนื้อหาออกเป็น 2 ตอน ตอนแรกของบทความฉบับที่แล้วได้กล่าวถึง “วิกฤติต้มยำกุ้ง” กันไปแล้ว บทความฉบับนี้จะเป็นตอนสุดท้ายของการทำงานในช่วงที่ 3 ของผม ดังนี้ 

ช่วงที่ 3 (พ.ศ. 2534 ถึง พ.ศ. 2544) : การตรากฎหมาย 11 ฉบับที่เรียกว่าเป็นกฎหมายขายชาติ - ขายชาติจริงหรือ

            ด้วยเหตุที่ประเทศไทยต้องขอรับความช่วยเหลือจาก IMF ภายหลังวิกฤติต้มยำกุ้งในช่วงปี พ.ศ.2542 ประเทศไทยจำเป็นต้องออกกฎหมายจำนวน 11 ฉบับ ที่แสดงไว้ในหนังสือเจตจำนงที่ทำกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF โดยมีกฎหมาย แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ

1.กลุ่มกฎหมายที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพความสะดวกรวดเร็วในการบริหารจัดการหนี้สินทางธุรกิจของภาคเอกชน ซึ่งมีทั้งหมด 5 ฉบับ คือ

            1.พระราชบัญญัติล้มละลาย ฉบับที่ 5 พ.ศ.2542 ที่เพิ่มเติมว่าด้วยกฎหมายการฟื้นฟูกิจการ คล้ายๆ กับ กฎหมายล้มละลายของสหรัฐอเมริกาที่เรียก Chapter Eleven และ 

            2.พระราชบัญญัติการจัดตั้งศาลล้มละลาย พ.ศ.2542 เพื่อทำให้การพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็ว

            3.พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยคดีมโนสาเร่

            4.พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉบับที่ 18 ว่าด้วยการบังคับคดี

            5.พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉบับที่ 19 ว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัด

2.กลุ่มกฎหมายที่เป็นการอำนวยความสะดวกแก่การถือครองสิทธิเข้าอยู่อาศัยของชาวต่างประเทศ ซึ่งมีกฎหมาย 2 ฉบับ คือ

            1.พระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดิน ฉบับที่ 8 ที่อนุญาตให้คนต่างด้าวถือครองที่ดินได้จำนวน 1 ไร่ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด และ

            2.พระราชบัญญัติอาคารชุด ฉบับที่ 3 ที่ให้คนต่างด้าวถือครองอาคารชุดได้ไม่เกินร้อยละ 49

3.กลุ่มกฎหมายที่เป็นการเพิ่มขยายสิทธิและโอกาสการลงทุนของชาวต่างประเทศในประเทศไทย ซึ่งมีกฎหมาย 3 ฉบับ คือ

            1.พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542

            2.พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542

            3.พระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542

            และมีกฎหมายอีกฉบับหนึ่งซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่อยู่ในกลุ่มข้างต้น คือ พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2542 ซึ่งหากไม่ออกในช่วงนั้น ประชาชน ลูกจ้าง คงไม่ได้ประโยชน์จนถึงทุกวันนี้

ข้อคิด เมื่อมองย้อนหลัง

            กฎหมาย 11 ฉบับข้างต้นในขณะนั้นได้รับการคัดค้านจากกลุ่มประชาชนหลายกลุ่ม โดยอ้างว่า จะทำให้คนไทยเสียสิทธิ์ในการประกอบธุรกิจ และจะทำให้คนต่างด้าวครอบงำการประกอบธุรกิจในประเทศไทย และได้มีความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ โดยอ้างว่าเพื่อคุ้มครองนักลงทุน หรือผู้ประกอบธุรกิจชาวไทย การเสนอกฎหมายดังกล่าวเป็นการขายชาติ

            ผมเองเห็นว่า ระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา จนปัจจุบัน กฎหมายดังกล่าวได้สร้างความเข้มแข็งและทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติมาได้ กล่าวคือ กฎหมายดังกล่าวมีผลดีมากกว่าผลเสียแน่นอน ไม่ใช่เป็นกฎหมายขายชาติตามที่มีผู้กล่าวหา 

โดยผมขอยกตัวอย่างกฎหมาย 3 ฉบับ คือ 

            1.กฎหมายฟื้นฟูกิจการและศาลล้มละลายกลาง ถ้าหากประเทศไทยไม่มีกฎหมายฟื้นฟูกิจการและรวมทั้งศาลล้มละลายกลาง การฟื้นฟูกิจการของบริษัทลูกหนี้รายใหญ่ ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่มีการจ้างงานลูกจ้างเป็นจำนวนมากของประเทศไทยก็คงเกิดขึ้นไม่ได้ และต้องล้มละลาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นมหากาพย์ของการฟื้นฟูกิจการ และมีคดีที่มีการฟ้องร้องมากมาย จนปัจจุบันนี้ก็กลายมาเป็นบริษัท IRPC ที่มีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็งให้ตลาดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศไทยได้เป็นอย่างดียิ่ง รวมทั้งล่าสุด การฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

            2.พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ทำให้การแปรรูป การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ทำให้รัฐบาลมีรายได้ที่เกิดขึ้นจากความเจริญเติบโตของ ปตท. ในตลาดทุนไทย และ

            3.พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว มีผู้อ้างว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้บริษัทต่างชาติเข้ามาครอบงำธุรกิจค้าปลีกค้าส่งของประเทศไทย และทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยของประเทศไทยและธุรกิจ SME ได้รับผลกระทบ 

            ความจริงแล้วบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาถือหุ้นธุรกิจดังกล่าวในช่วงวิกฤตินั้น ต่อมาต่างก็ได้ขายหุ้นกลับคืนมาให้กับบริษัทไทยทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Casino และ Makro Carrefour ดังนั้น ประเด็นเรื่องความกังวลว่าบริษัทต่างชาติจะเป็นเจ้าของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในประเทศไทยยังไม่ใช่เป็นประเด็นหลัก 

            ปัจจุบัน ธุรกิจค้าปลีกค้าส่งไทยต่างหากที่ยังตกอยู่ภายใต้การครอบงำของธุรกิจหรือทุนรายใหญ่ของไทยและส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจ SME หรือรายย่อยเป็นจำนวนมากกว่าการครอบงำของบริษัทต่างประเทศ

            ส่วนตัวผมมีความเห็นว่ารูปแบบของการธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป พระราชบัญญัติการประกอบคนต่างด้าวก็ยังจำเป็นจะต้องได้รับการพิจารณาว่าจะเปิดโอกาสให้คนต่างด้าวเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยมากขึ้นด้วยความสะดวกรวดเร็ว แนวคิดเรื่องการสงวนสิทธิ์การประกอบธุรกิจให้เฉพาะคนไทยนั้นน่าจะเป็นแนวคิดที่ล้าสมัย (ยกเว้นธุรกิจที่สำคัญเท่านั้น) ปัจจุบันยังมีธุรกิจที่ไม่มีพรมแดนผ่านระบบออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจบริการไม่จำเป็นต้องเข้ามาจดทะเบียนในประเทศไทย 

            ดังนั้น จึงยิ่งทำให้ประเทศไทยต้องปรับยุทธศาสตร์ในการประกอบธุรกิจและเปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยและจะสร้างให้คนไทยแข่งขันกับธุรกิจต่างชาติได้อย่างไรต่างหาก มากกว่าการมุ่งคุ้มครองคนไทยอย่างเดียวซึ่งแนวคิดแบบเดิมดูจะล้าสมัยไปมากทีเดียว

ประสบการณ์สำคัญของผม
ในช่วงที่ 3 ของวิกฤติเศรษฐกิจไทย 

            ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจไทยในช่วงนั้นถือเป็นโอกาสของสำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศรวมทั้งตัวผมเองที่ได้มีการสั่งสมประสบการณ์ในการทำงานในการแก้ไขปัญหาหนี้ของสถาบันการเงินไทยหลายแห่ง การเข้าไปเป็นที่ปรึกษาการซื้อ ควบรวมกิจการ โดยมีโอกาสเข้าไปร่วมในการทำแผนฟื้นฟูของสถาบันการเงินที่เป็นบริษัทเงินทุนที่ถูกปิดกิจการรวม 56 แห่งไม่ว่าจะเป็นการทำ Due Diligence, การตรวจสอบแผนฟื้นฟูกิจการรวมถึงเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นไทยหรือหุ้นต่างประเทศในการเจรจาซื้อขายหุ้น ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว เป็นจำนวนหลายแห่งด้วยกัน

            สำหรับผมเอง ผมได้มีโอกาสทำงานในการเจรจาซื้อขายกิจการของสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาซื้อกิจการระหว่างในช่วงก่อนวิกฤติของธนาคารไทยทนุ กับ บริษัท เงินทุนเอกธนกิจ จํากัด (มหาชน) และการซื้อหุ้นของ ธนาคารดีบีเอส สิงคโปร์ กับ ธนาคารไทยทนุ

            และภายหลังวิกฤติปี 2540 ต้องมีการเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งที่ออกตราสาร SLIP เช่น ของธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารทหารไทย 

            สำนักงาน เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ก็ได้มีส่วนร่วมด้วย ส่วนตัวสำหรับผมเองผมถือว่า Deal SLIP ของธนาคารกสิกรไทย เป็น Deal ที่ผมภูมิใจและประทับใจที่สุดในชีวิตการทำงาน เพราะได้ทำงานโดยใช้นวัตกรรมทางการเงินและทางกฎหมายธนาคารพาณิชย์ กฎหมายมหาชน กฎหมายภาษีอากรโดยได้ทำงานประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ตลอดเวลา

            นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ผมได้ทำงานร่วมกับผู้บริหารสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็น คุณบัณฑูร ล่ำซำ คุณกฤตย์ รัตนรักษ์ คุณพรสนอง ตู้จินดา คุณปิ่น จักกะพาก คุณบรรยง พงษ์พานิช ดร.ทนง พิทยะ ดร.สุภัค ศิวะรักษ์ และผู้บริหารสถาบันการเงินและตลาดทุนอีกหลายท่าน ถือว่าเป็นประสบการณ์ในการทำงานต่อมาเป็นอย่างมาก

            นอกจากงานที่ปรึกษากฎหมายแล้ว ผมยังได้มีโอกาสแสดงความเห็นหรือมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นทางกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่ถือว่าเป็นกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมายฟื้นฟูกิจการ หรือ กฎหมายล้มละลาย กฎหมายการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ให้กับสื่อมวลชนสถาบันต่างๆ และได้เขียนบทความเรื่องดังกล่าวในวารสารการเงินธนาคารอยู่หลายตอนด้วยกัน

            ในช่วงเวลาดังกล่าว ผมก็ยังได้รับการทาบทามให้ไปช่วยงานภาคราชการ เช่น ได้รับการทาบทามให้เป็นกรรมการธนาคารกรุงไทย ในยุคที่ต้องปรับโครงสร้างธนาคาร ผมได้เป็นกรรมการอยู่ 8 เดือน ก็ลาออก การเข้าเป็นกรรมการธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ นับได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีอีกครั้งหนึ่งและเป็นครั้งสุดท้ายที่ผมอยากเข้าเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ

            หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2542 ผมโดยคำชวนจาก คุณชาญชัย จารุวัฒน์ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด หรือเดิมเรียกว่า บริษัท บางกอกอินเตอร์คอนติเนนตอล โฮเต็ลส จำกัด (BIHC) เจ้าของศูนย์การค้าสยามและสยามพารากอนในปัจจุบันด้วย โดย คุณชาญชัย จารุวัฒน์ นั้น ผมได้รู้จักกันในช่วงที่ไปทำงานที่ธนาคารกรุงไทย 

            การเข้าเป็นกรรมการในบริษัทสยามพิวรรธน์นั้น ผมได้เปิดโอกาสเรียนรู้และรู้จักกับท่านกรรมการที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์ในระบบราชการและธนาคารที่มากประสบการณ์ การเป็นกรรมการของบริษัทสยามพิวรรธน์นั้น เป็นประสบการณ์การทำงานที่ล้ำค่า และเป็นประโยชน์ในการทำงานที่ปรึกษากฎหมาย และต่อมาเมื่อผมเกษียณอายุการทำงานมาเป็นกรรมการในบริษัทอื่น ก็ได้นำประสบการณ์ดังกล่าวมาใช้ได้เป็นอย่างดีมาก และปัจจุบัน ผมยังคงเป็นกรรมการบริษัทแห่งนี้ และนับว่าเป็นตำแหน่งกรรมการที่ยาวนานที่สุดของผม

            บทบาทที่สำคัญอีกอันหนึ่งคือ การที่เข้าไปเกี่ยวข้องเป็นผู้บรรยายของ สมาคมสถาบันส่งเสริมกรรมการไทย ที่ริเริ่มโดย คุณชาญชัย จารุวัฒน์ ในฐานะผู้เข้ารับการอบรมและผู้อบรม (ซึ่งจัดตั้งโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงาน ก.ล.ต. ที่จัดตั้งขึ้นหลังวิกฤติต้มยำกุ้ง) โดย IOD มีบทบาทในการพัฒนาส่งเสริมกิจการที่ดี Good Corporate Company นับว่าเป็นสถาบันเพื่อมาส่งเสริมการกำกับดูแลกิจการที่ดีหลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งของสถาบันการเงินและบริษัทจดทะเบียนไทย ที่ต้องล้มละลายเพราะขาดหลักธรรมาภิบาล 

            นับได้ว่าสถาบันแห่งนี้ได้สร้างกรรมการมืออาชีพเป็นจำนวนมาก ผมก็ได้เข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้บรรยายตั้งแต่รุ่นแรกกว่า 200 รุ่น กรรมการอยู่หลายสมัยจนปัจจุบันนี้ผมได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการของสถาบัน IOD แห่งนี้ (เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา) ซึ่งผมตั้งใจว่าจะส่งเสริมกิจการของสถาบันแห่งนี้เพื่อสร้างความเข้มแข็งของการกำกับดูแลกิจการที่ดีของประเทศไทยต่อไป

ข้อคิดจากประสบการณ์การทำงานในช่วงดังกล่าว

            ผมถือว่าประสบการณ์การทำงานในวิชาชีพกฎหมายเกิดขึ้นในช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญที่ทำให้ผมและสำนักงาน เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ประสบความสำเร็จ และเป็นที่รู้จักในแวดวงธุรกิจการเงิน ตลาดทุน ในเวลาต่อมา

ผมมีข้อคิดสำหรับการทำงานของคนรุ่นใหม่ดังนี้

            1.ต้องพัฒนาหาความรู้ใหม่ๆ สำนักงานเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ มีความพร้อมในการพัฒนาความรู้ในเรื่องกฎหมายโดยเฉพาะเรื่องกฎหมายฟื้นฟูกิจการที่เป็นเรื่องใหม่ โดยมีสำนักงานและเครือข่ายได้นำความรู้และประสบการณ์ทนายความจากต่างประเทศเข้ามาช่วยทำงาน โดยนำทนายความฮ่องกง สิงคโปร์ หรือ สหรัฐอเมริกาที่มีความรู้เรื่องการฟื้นฟูกิจการ เพื่อมาบรรยายให้กับทนายของสำนักงานเองและลูกความ หรือการเตรียมการเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผมได้ศึกษาจากกฎหมายต่างประเทศมาก่อน

            การศึกษาหาความรู้ก่อนและวางแผนไว้ล่วงหน้าจึงจะทำงานให้ได้มีคุณภาพและเป็นที่เชื่อถือของลูกความ การแสวงหาความรู้ในเรื่องกฎหมายใหม่ๆ ของต่างประเทศที่เกี่ยวข้องมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพการทำงานความสำเร็จ 

            2.ต้องมีโอกาสที่จะได้ทำงาน เมื่อมีความรู้แล้วต้องมีโอกาสที่จะได้ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดี เมื่อมีโอกาสทำงานก็ต้องทำให้ดีที่สุด บางคนมีโอกาสได้ทำงานแต่ไม่มีความรู้ก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จในงานที่ทำได้ 

            3.การให้และเผยแพร่ความรู้ ในช่วงปี พ.ศ.2535 จนถึงปัจจุบันผมเริ่มเขียนหนังสือ บทความ และ สอนหนังสืออย่างจริงจัง รวมทั้งมีการบรรยายให้ความรู้กับสถาบันต่างๆ และให้สัมภาษณ์กับสื่อหลายฉบับเกี่ยวกับงานกฎหมายที่ทำอยู่ อยู่ตลอดเวลา (โดยไม่ละเมิดเรื่องการเปิดเผยความลับของลูกความ) ส่งผลให้สำนักงานและผมเป็นที่รู้จักของวงการธุรกิจการเงินและตลาดทุนรวมทั้งภาควิชาการและราชการ วงการสื่อสารมวลชนด้วย นอกจากนี้ ผมก็ได้เข้าไปทำงานไม่ว่าเข้าเป็นคณะกรรมการต่างๆ ทั้งภาคราชการและภาควิชาการหลายคณะด้วยกัน ซึ่งก็ยังช่วยสร้างประสบการณ์ให้กับตัวผมเองอีกด้วย

            4.ต้องเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมของงานที่ทำ คนที่มีความเก่งมีความรู้มีโอกาส แต่จังหวะเวลาไม่เหมาะสมก็ไม่สามารถจะแสดงความสามารถให้เป็นที่ยอมรับกับวงการธุรกิจหรือลูกความได้ เพราะอายุ, ประสบการณ์การทำงาน อาจยังไม่เป็นที่ยอมรับของลูกความ

            ผมถือว่า ช่วงปี พ.ศ.2540-2544 ต้องถือเป็นช่วงที่ผมมีประสบการณ์จากการทำงานมากว่า 20 ปีแล้ว มีอายุประมาณ 40 ปี จึงทำให้ลูกความมีความเชื่อมั่นที่เห็นว่าเราเป็นผู้มีประสบการณ์และความรู้ในงานที่ทำ จึงจะสร้างความเชื่อมั่น Trust ให้กับลูกความได้

            5.ความสำเร็จไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะเราคนเดียว แต่ต้องมีคนรอบข้าง ความสำเร็จในงานไม่ใช่เกิดเพราะผลงานของคนคนเดียว คนทำงาน ต้องมีคนรอบข้างไม่ว่า เจ้านายสนับสนุน, มีเพื่อนร่วมงาน ลูกน้องที่ช่วยทำงาน มีผู้ใหญ่ ผู้บริหาร ลูกความที่ส่งเสริมให้งานปัจจุบันสำเร็จ 

            สำหรับผมแล้วทุกคนในสำนักงานเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย หุ้นส่วน ทนายความ และพนักงานทุกคนที่ทำงานอย่างหนัก ต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของผมและองค์กร รวมถึงผู้บริหารผู้ใหญ่ในวงการและลูกความให้ความสนับสนุนในงานที่ทำมาตลอด 43 ปี หากไม่มีบุคคลเหล่านี้คงเป็นการยากที่จะประสบความสำเร็จในการทำงานได้ 

            การมีความรู้สึกขอบคุณบุคคลที่ได้ให้ความช่วยเหลือและซาบซึ้งในสิ่งที่บุคคลเหล่านั้นทำให้เรา (หรือความกตัญญู) ย่อมจะทำให้งานประสบความสำเร็จได้

แลไปข้างหน้า

            ในช่วงนี้วิกฤติรอบใหม่ของประเทศไทยอาจกำลังเกิดขึ้นอีก ผมจึงอยากจะเห็นการมีการเตรียมร่างกฎหมายเพื่อรองรับวิกฤติที่กำลังจะเกิดขึ้น เราไม่ควรรอให้ประเทศเกิดวิกฤติเสียก่อนแล้วจึงค่อยคิดแก้ตัว ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเหมือนอย่างเหตุการณ์วิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ประเทศไทยควรเตรียมพร้อมคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าก่อนว่า การออกกฎหมายได้ จะสามารถป้องกันและผ่อนปรนวิกฤติได้ และไม่ให้กฎหมายต้องมาเป็นอุปสรรคในการส่งเสริมละพัฒนาเศรษฐกิจ

            ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ได้มีความพยายามจะเสนอออกกฎหมายสารพันเรื่อง Omnibus Law เพื่อแก้ไขวิกฤติเช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์และอินโดนีเซียแต่ก็ไม่สำเร็จ (ผมเคยเขียนบทความเรื่องนี้ในวารสารการเงินธนาคารไว้แล้ว) เพราะรัฐบาลกลัวกระแสของพรรคการเมืองที่อาจไม่ยอมรับ และยินยอมผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้

            แม้รัฐบาลนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีคณะกรรมการในการปรับปรุงกฎหมายระยะเร่งด่วนที่ทำกันมานานปลายปี แม้ผมจะมีส่วนร่วมด้วยแต่ผมเห็นว่าก็ความก้าวหน้าอาจไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้

            ผมจะได้นำประสบการณ์ในช่วงที่ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประเทศมาเล่าให้ฟังในตอนต่อไปครับ


เกี่ยวกับนักเขียน

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ อดีตประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กูรูด้านภาษี และกฎหมายภาษี มีผลงานการออกหนังสือ พ๊อกเก็ตบุ๊คเกี่ยวกับภาษีต่างๆ การควบรวมกิจการ อาทิ 10 ข้อคิด รู้ภาษี ลดภาษี / 10 ข้อคิด ลดภาษีคนทำงานและนักลงทุน โดยวารสารการเงินธนาคาร และอีกหลากหลายทั้งเรื่องภาษีมรดก ภาษีที่ดิน การควบรวมกิจการ โอกาสของธุรกิจไทย เป็นต้น

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน