THE GURU • BUSINESS LAW

เหลียวหลัง มองอดีต ธุรกิจการเงิน-การธนาคาร-ตลาดทุนไทย แลหน้าไปในอนาคต (ตอนที่ 2)

บทความโดย: ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

                ผมคิดว่าตัวเองได้ก้าวมาถึงจุดที่สูงสุดในชีวิตแล้ว เพราะนักกฎหมายทุกคน สิ่งที่มุ่งหวังคือ การเป็นหุ้นส่วนของสำนักงานกฎหมาย ตัวผมเองเป็นเพียงเด็กบ้านนอก จากลูกจ้างตัวเล็กๆ เมื่อสามารถเดินมาถึงจุดนี้ได้ จึงถือว่าชีวิตนี้เกินคุ้มแล้วจริงๆ การนำข้อคิดมาเล่าให้คนรุ่นหลังฟัง จึงน่าจะเป็นประโยชน์ ซึ่งผมก็จะได้นำประสบการณ์และสิ่งดีงามที่ได้รับไปใช้ในการเริ่มต้นบททดสอบชีวิตครั้งใหม่ต่อไป

            จากบทความเมื่อเดือนที่แล้วที่ผมได้แจ้งว่าจะนำข้อมูลจากหนังสือ 3 เล่ม คือ “3 ทศวรรษการเงินธนาคาร บันทึกประวัติศาสตร์การเงินไทย” “บันทึกประวัติศาสตร์ การเงินไทย 4 ทศวรรษ” ของ วารสารการเงินธนาคาร และ “50 ปี แห่งประสบการณ์สร้างรากฐานสู่อนาคต” ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มารวบรวมร้อยเรียง พร้อมเติมประสบการณ์ในอดีตจากความทรงจำของตัวผม เพื่อเหลียวหลัง ดูอดีตในด้านกฎหมายธุรกิจ การเงินธนาคาร ภาษีของประเทศไทย ที่ผ่านมา 

            ผมหวังว่าจะทำให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์ในการเรียนรู้ความผิดพลาดหรือความสำเร็จในอดีต เพื่อวางแผนในการแลไปข้างหน้าได้ โดยขอแบ่งช่วงเวลาในการเรียนและการทำงานของการเขียนบทความเป็น 5 ช่วงระยะเวลา ดังนี้ ช่วงที่ 1 (พ.ศ.2514 ถึง 2523) ช่วงที่ 2 (พ.ศ.2522 ถึง 2533) ช่วงที่ 3 (พ.ศ.2534 ถึง 2543) ช่วงที่ 4 (พ.ศ.2544 ถึง 2553) ช่วงที่ 5 (พ.ศ.2554 ถึง 2563) ซึ่งในเล่มนี้จะขอเริ่มในช่วงที่ 1 นะครับ 

ช่วงที่ 1 (พ.ศ.2514 ถึง 2523) : ช่วงเปลี่ยนผ่าน

            ช่วงที่ 1 พ.ศ.2514 ถึง 2523 ที่ถือว่าเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมไทยไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถอนทหารสหรัฐอเมริกาหลังจากการแพ้สงครามเวียดนาม การล่มสลายของระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ของประเทศพ้ฒนาแล้ว และวิกฤติน้ำมัน 2 ครั้ง ซึ่งมีภาวะเงินเฟ้อในยุคข้าวยากหมากแพงและรวมทั้งความวุ่นวายทางการเมืองของประเทศไทยในช่วง 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 การปฏิวัติตนเองของจอมพลถนอม กิตติขจร ในปี 2514 ได้นำไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษา ต่อมาในปี พ.ศ.2516

            นับช่วงเวลา พ.ศ.2516 ถึง พ.ศ.2520 จากการที่ผมได้เรียนนิติศาสตร์และเริ่มทำงานในปี พ.ศ.2510 กับธนาคาร 2 แห่งคือ ธนาคารกสิกรไทย และ ธนาคารไทยพาณิชย์ ก่อนมาร่วมงานกับ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ เมื่อปี พ.ศ.2521 ผมจึงอยากจะแบ่งอดีตดังกล่าวเป็น 2 ช่วง และกล่าวถึงช่วงประสบการณ์การทำงานของผม เพื่อให้ผู้อ่านมีข้อคิดจากอดีตเพื่อแลหน้าไปในอนาคตได้ 

            รียนกฎหมาย (พ.ศ.2516 ถึง 2519) : การที่ผมได้มีโอกาสเข้าเป็นนิสิตคณะนิติศาสตร์ที่จุฬาฯ ในช่วงปี พ.ศ.2516 ถึง พ.ศ.2519 ผมจึงได้มีประสบการณ์ในความวุ่นวายทางการเมือง 2 ครั้ง ด้วยกัน คือ 14 ตุลาคม 2516 ที่เรียกว่า “วันมหาวิปโยค” ที่คุกรุ่นมานาน ซึ่งคนรุ่นนี้ส่วนใหญ่ก็จะมีส่วนร่วมในการเดินขบวนประท้วงขับไล่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของจอมพลถนอม กิตติขจร 

            ในช่วงเวลานั้นอุดมการณ์ความคิดทางการเมืองของนิสิตในมหาวิทยาลัยก็มีอยู่ 3 ขั้วคือ ฝ่ายก้าวหน้าที่เรียกว่า ฝ่ายซ้าย และ ฝ่ายอนุรักษนิยม ที่เรียกว่า ฝ่ายขวา และกลุ่มที่พยายามทำตัวเป็นกลาง แต่บางคนก็อ้างว่าเป็นกลางไม่ได้ต้องเลือกข้าง ประสบการณ์ตอนนั้นสอนให้รู้ว่า อุดมการณ์ความคิดทางการเมืองของแต่ละคนนั้นแตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละคน แต่ที่รับไม่ได้คือการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนโดยเฉพาะเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

            คนรุ่นผมซึ่งเป็นคนที่มีความคาดหวังที่จะได้มี ข้าราชการ นักการเมือง ที่เห็นประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง แต่ประวัติศาสตร์ทางการเมืองของประเทศไทยได้สอนให้รู้ว่า นักการเมืองไม่ว่าจะมาจากระบบเผด็จการหรือมาจากการเลือกตั้ง กลับไม่ค่อยให้ความสนใจในการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะการตรากฎหมายที่ดี ยุติธรรม เป็นธรรม และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนและภาคธุรกิจ รวมทั้งการลดความเหลื่อมลํ้าของสังคมไทยน้อยมาก 

            จากประสบการณ์ของผม พบว่า ช่วงที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีกว่า 8 ปี และช่วง นายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นช่วงที่ได้มีการออกกฎหมายและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยได้ดีที่สุดช่วงหนึ่งทีเดียว โดยมีนักวิชาการ (Technocrat) และข้าราชการที่มีคุณภาพ แม้ปัจจุบันผมจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายอยู่ในหลายบทบาท และได้พยายามขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายอยู่หลายครั้งตามที่คาดหวัง แต่ก็ยังไม่สามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปทางกฎหมายได้อย่างที่คาดหวังและควรจะเป็น

            กฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจในช่วงระยะเวลา พ.ศ.2514-2523 : ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ ตลาดทรัพย์แห่งประเทศไทยที่เปิดมีการซื้อขายครั้งแรกเมื่อ วันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2518 อันเป็นเหตุให้เกิดวิกฤติ บริษัท ราชาเงินทุน ต่อมาในปี พ.ศ.2522 

            ในขณะนั้นมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน นอกเหนือจาก พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505ที่เป็นกฎหมายควบคุมเพียงฉบับเดียว คือ ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 เดือนมกราคม 2515 ที่ให้อำนาจ ทั้งในการควบคุมกิจการบางประเภทที่เป็นภัยต่อสาธารณชน แต่ไม่มีการกำหนดมาตรการที่ชัดเจน และเพียงพอในการควบคุมหรือการกำกับดูแลธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจเงินทุนที่ขยายตัวมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2510 เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถให้บริการทางการเงินได้ จนกระทั่งได้มีการออกพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ เมื่อปี พ.ศ.2522 เพื่อเพิ่มอำนาจของทางการในการกำกับและควบคุมธุรกิจเหล่านั้น 

            แต่กฎหมายดังกล่าวได้ออกมาหลังจากเกิดวิกฤติของเงินทุน บริษัท ราชาเงินทุน แม้ว่าทางราชการจะเสนอกฎหมายควบคุมบริษัทเงินทุน แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล 5-6 ครั้ง กฎหมายฉบับนี้จึงผ่านในการประชุมวันสุดท้าย จึงไม่อาจใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลายเป็นที่มาของการล่มสลายของบริษัทเงินทุนในปี 2525 กลายเป็นที่มาของโครงการ 4 เมษายน เพื่อช่วยเหลือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ให้อยู่รอดได้ในระยะเวลาต่อมา

            นอกจากนี้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของชาวต่างชาติในประเทศไทยในตอนนั้นก็ได้แก่ ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำกับดูแลธุรกิจคนต่างด้าวที่ต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งนับได้ว่า เป็นกฎหมายที่ผมได้ใช้ประกอบวิชาชีพมากที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าวในการให้คำแนะนำกับนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยว่ากิจการใดต้องขออนุญาต หรือ ไม่ต้องขออนุญาต หรือกิจการใดที่ขออนุญาตไม่ได้ แต่หลักๆ ก็คือว่า คนต่างด้าวจะทำธุรกิจไม่ได้เลยถ้าหากไม่เข้าเกณฑ์ตามที่กำหนดของกฎหมาย 

            ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ก็ได้มีการแก้ไขอีก 2 ครั้งคือ ในปี 2521 และ ปี 2535 โดยเป็นการแก้ไขประกาศคณะปฏิวัติ จนกระทั่งมีการตรา พระราชบัญญัติประกอบธุรกิจคนต่างด้าว ในปี พ.ศ.2542 กฎหมายฉบับนี้มีส่วนสำคัญสำหรับการค้าการลงทุนของประเทศไทยที่มีข้อจำกัดและกำหนดให้บริษัทต่างประเทศต้องขออนุญาต เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากกฎหมายส่งเสริมการลงทุน 

            กฎหมายที่สำคัญอีกฉบับหนึ่งก็คือ พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 และมีการแก้ไขครั้งที่ 2 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2544 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้ถูกยกเลิกไปแล้วด้วยพระราชบัญญัติการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.2551 

            ส่วนใหญ่การทำงานในช่วงเวลาดังกล่าวของสำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศนั้นก็มักจะเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งหรือขออนุญาตในการทำธุรกิจหรือขอใบอนุญาตการทำงานให้กับชาวต่างประเทศที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยรวมถึงในสมัยก่อนต้องขอทำใบผ่านภาษีกับกรมสรรพากรก่อนชาวต่างประเทศจะเดินทางออกนอกประเทศ ที่เรียกว่า การทำ Tax Clearance นอกเหนือจากการทำสัญญาทางธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นรายได้หลักของธุรกิจที่ปรึกษากฎหมาย

โดยสรุปในปี พ.ศ.2522 รัฐบาลได้มีการออกกฎหมายที่สำคัญเกี่ยวกับการเงิน 3 ฉบับ คือ 

            1.การแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ในการกำกับควบคุมธนาคารพาณิชย์และโครงสร้างการถือหุ้น 

            2.พระราชบัญญัติ การประกอบธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ 2522 ให้อำนาจทางการ ในการเข้าควบคุม สถาบันการเงิน หลังจากเกิดเหตุวิกฤติ ของบริษัทราชา เงินทุน และต่อมาเกิดวิกฤติสถาบันการเงินอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะมีการจัดตั้ง ทรัสต์เถื่อนกว่า 400 แห่ง และผลกระทบจากการปิด บริษัท ราชาเงินทุน จำกัด 

            ซึ่งในตลาดหลักทรัพย์ทำให้เกิด การล่มสลายของค่ายตึกดำ ซึ่งได้แก่ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บ้านและที่ดินไทย และ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์บ้านและที่ดินไทย ภายใต้การบริหารของ นายพร สิทธิอำนวย และ นายสุธี นพคุณ ซึ่งสถาบันการเงินเหล่านั้นไม่สามารถหาเงินมาคืนกับผู้ฝากเงินได้ เพราะในช่วงที่ตลาดหุ้น บูมหรือราคาสูงขึ้น

            3.พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นการให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดดอกเบี้ยของสถาบันการเงินได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อ เพราะตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 654 นั้น ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี และอาจจะยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ในขณะนั้นด้วย ซึ่งภายหลังนี้ได้มีการออก พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มาใช้บังคับแทน ซึ่งมีหลักการณ์เหมือนเดิมแต่เพียงแต่การกำหนดโทษให้มากขึ้นเท่านั้น อีกด้วยจึงจำเป็นต้องมีการออกกฎหมายฉบับนี้มา 

            สมัยนั้นการให้กู้ยืมของสถาบันการเงินมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงรวมทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ด้วย ทำให้สถาบันการเงินเรียกดอกเบี้ยได้ถึงเกินร้อยละ 15 ต่อปีได้ และดอกเบี้ยเงินฝากในอัตราที่สูง และคงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติปี 2540 เพราะดอกเบี้ยในประเทศไทยเงินฝากสูงมาก เมื่อไปกู้ต่างประเทศมาซึ่งดอกเบี้ยถูก แล้วมาฝากในประเทศไทยก็จะกินกำไรส่วนต่าง แต่เมื่อวิกฤติการลดค่าเงินบาทก็ทำให้ผู้กู้จากต่างประเทศต้องมีภาระชำระหนี้เกินกว่าที่ตนเองกู้มา

            แลอดีตย้อนหลัง : นิสิตนิติศาสตร์ (2516-2519) สำหรับตัวผมเองเมื่อได้เข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ก็เข้าใจว่า หลักสูตรต่างๆ ของ คณะนิติศาสตร์ ทุกมหาวิทยาลัย มิได้มีการศึกษาหรือเรียนวิชาด้านกฎหมายธุรกิจโดยเฉพาะ เว้นแต่ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ที่นับว่าก้าวหน้าที่สุดในขณะนั้น ก็มีเรียนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ไม่กี่ฉบับ เช่น กฎหมาย ภาษีอากร กฎหมายที่ดิน ที่อาจก้าวหน้าที่สุดคือ กฎหมายธนาคาร แต่ไม่ได้มีการสอนเรื่อง กฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอื่นแต่อย่างใด แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาหลักสูตรอย่างมาก

            ตั้งแต่เรียนจบกฎหมายมา ตอนแรกไม่มีความคิดจะทำงานบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย แค่เข้ามาทำงานไประหว่างเตรียมตัวสอบผู้ช่วยผู้พิพากษา หรืออัยการ เป้าหมายในใจตอนนั้นมีแค่อยากรับราชการเป็นผู้พิพากษา แต่จุดเปลี่ยนในชีวิตเกิดขึ้น ขอไปลองสอบแค่ครั้งเดียว ถ้าสอบไม่ได้จะตั้งใจทำงาน สุดท้ายผมสอบไม่ผ่าน เป้าหมายชีวิตจึงเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ผิดหวังจากการรับราชการมาสู่การเป็นนักกฎหมายอาชีพของเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จนกระทั่งเกษียณอายุในปี พ.ศ.2564

            เหลียวหลังเมื่อผมเริ่มงานนักกฎหมายเมื่อปี 2521 : ทำไม เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จึงเจริญเติบโตอย่างมั่นคง : ข้อคิด ผมได้เริ่มทำงานที่ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2521 ไม่น่าเชื่อเลยว่า เวลาที่ผมใช้ชีวิตอยู่กับสำนักงานกฎหมายแห่งนี้เป็นเวลายาวนาน ขาดไปเพียงแค่ 14 วันก็จะครบ 43 ปีเต็ม หลังจากที่ได้ทำงานที่ธนาคารกสิกรไทย 3 เดือน และธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ประมาณ 11 เดือน 

            สมัยก่อน การประกอบอาชีพเป็นที่ปรึกษากฎหมายทางธุรกิจนั้น ส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวข้องกับกฎหมายหุ้นส่วนบริษัท กฎหมายลิขสิทธิ์ กฎหมายเครื่องหมายการค้า กฎหมายภาษีอากร ไม่ว่าจะเป็น ประมวลรัษฎากร กฎหมายสรรพสามิต และ กฎหมายศุลกากร และการขออนุญาตประกอบธุรกิจและการทำงานให้นักลงทุนต่างประเทศ หรือทำ Tax Clearance นอกเหนือจากการทำสัญญาทางธุรกิจต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นรายได้หลักของสำนักงานทีเดียว

            ประสบการณ์การทำงานกับ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ถือได้ว่ามีความเข้มข้นและหนักหน่วงมาก ผมต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าดีที่สุดคือ การสนับสนุนและส่งเสริมจากองค์กรอย่างเต็มที่ กว่าที่ผมจะเป็นนักกฎหมายระหว่างประเทศได้ ต้องผ่านการอบรมในหลายกระบวนการของ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ตั้งแต่ฝึกภาษาอังกฤษแบบตัวต่อตัว ส่งไปฝึกงานกับสำนักงานในประเทศต่างๆ รวมถึงได้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ 

            ในปี 2525 บริษัทส่งผมไปฝึกงานที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างฝึกงานที่นั่น ผมก็ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทไปด้วย จนจบนิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อกลับมาประเทศไทย

            สองปีต่อมา (ปี 2529) เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ให้ทุนผมไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เป็นทุนที่คัดเลือกทนายความจาก เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ทั่วโลก และให้ทุนในปีนั้นเพียง 3 คน ผมเลือกไปประเทศแคนาดา โดยมีคุณวิภา ภรรยาเดินทางไปด้วย ผมจึงเป็นนักเรียนต่างชาติคนแรกของที่นั่น ต้องเรียนหนักมากและต้องทำวิทยานิพนธ์ และอาจารย์บอกว่า ดูท่าอาจจะไม่จบในปีเดียว ผมก็บอกท่านว่า อย่างไรก็ต้องจบ เพราะบริษัทให้ทุนแค่ปีเดียว ในที่สุดก็จบจนได้ เรียกว่าต้องยกความดีให้ภรรยาที่ช่วยพิมพ์วิทยานิพนธ์ ช่วยตรวจแก้ไขภาษาให้ เพราะเธอมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษมากกว่าผม

            เมื่อผมเรียนจบในปี 2530 ก่อนกลับเมืองไทย ผมไปฝึกทำงานกับสำนักงานโตรอนโตอยู่ 3 เดือน ได้รับประสบการณ์ และมุมมองความคิดที่กว้างขวางในการทำงานมาก

            กำเนิด เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ กรุงเทพฯ : ผมต้องขอย้อนเล่าถึงความเป็นมาของ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ นั้น ให้รู้จักกัน เพราะเชื่อว่าสำนักงานแห่งนี้มีบทบาทในตลาดเงิน ตลาดทุน ของธุรกิจไทยมา ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

            เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ เป็นสำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นในมลรัฐชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2491 ต่อมาขยายการดำเนินงานจนมีสำนักงานมากกว่า 77 แห่ง ในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในยุโรป ตะวันออกกลาง อเมริกาเหนือและใต้ ออสเตรเลีย และภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ส่วน เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2519 ตอนนั้นใช้ชื่อว่า “สำนักงานที่ปรึกษากฎหมายกรุงเทพฯ” มาเปลี่ยนชื่อเป็น เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ในปี 2520 

            ซึ่งในขณะนั้นทุกคนมีความหวั่นวิตกว่าการเปิดสำนักงานกฎหมายระหว่างประเทศในประเทศไทยในช่วงความไม่แน่นอนของสงครามอินโดจีน ตามทฤษฎีโดมิโนจะอยู่รอดได้อย่างไร วันนี้ 46 ปีผ่านไป เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ นอกจากจะอยู่รอดแล้วยังแข็งแรง และพร้อมจะก้าวต่อไปในอนาคตได้อย่างมั่นคง และผมเชื่อว่าจะมีบทบาทในการพัฒนาตลาดทุน ตลาดเงิน ต่อไปอย่างแน่นอน

            ข้อคิดจากการบริหารจัดการ สำนักงานกฎหมาย : วิธีการบริหารขององค์กรของ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ นั้น สำนักงานในแต่ละประเทศไม่ถือเป็นสาขา หรือตัวแทนของสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ แต่บริหารในลักษณะอิสระ โดยจะเลือกดูว่าควรไปลงทุนตั้งสำนักงานในประเทศไหน เมื่อเลือกได้แล้วก็จะรับนักกฎหมายท้องถิ่นที่เห็นว่ามีความสามารถเข้ามาเป็นหุ้นส่วน เรียกว่า World-Wide Partnership ถือเป็นเจ้าของ หรือผู้ก่อตั้งที่มีสิทธิในการบริหารเต็มที่ และ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ต่างประเทศจะช่วยสนับสนุนในเรื่องเทคโนโลยี ฐานลูกความ และการฝึกอบรมให้

            ผมคิดว่าการจัดตั้ง เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ กรุงเทพฯ ได้ยกระดับการประกอบวิชาชีพกฎหมายของประเทศไทยให้ได้มาตรฐานขึ้นจนมีสำนักงานกฎหมายระดับมาตรฐานมากมายในประเทศไทยในปัจจุบัน 

            จุดเด่นสำคัญที่ทำให้ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ประสบความสำเร็จจนเป็นบริษัทชั้นนำในระดับโลกได้คือ การให้ความสำคัญกับคนทำงาน ตลอดเวลาที่ผมทำงานที่นี่ ตัวผมเองก็เช่นกันที่ได้รับการส่งเสริมทั้งเรื่องความรู้ ความสามารถ และทักษะในการเป็นนักกฎหมายระดับสากล โดยเฉพาะในเรื่องของการปกครองที่นำระบบคุณธรรมเข้ามาใช้ นี่เป็นสิ่งที่ทำให้พนักงานของที่นี่ไม่อยากไปไหน อย่างตัวผมเองก็ทำงานที่นี่นานถึง 43 ปี 

            ผมยังได้สัมผัสอีกแง่มุมที่เป็นประโยชน์ และถือว่ามีความสำคัญมากคือ วัฒนธรรมองค์กรที่ดี เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ไม่เพียงมีแนวคิดสนับสนุนหรือส่งเสริมบุคลากรที่มีความสามารถ ให้เติบโต และประสบความสำเร็จได้สูงสุด แต่ยังให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม เรามีทีมทำงานร่วมกันหลายสายงาน ผมวางแผน กำหนดกลยุทธ์ โดยมีกลุ่มคนที่ช่วยให้งานออกมาเป็นรูปเป็นร่างสมบูรณ์ กลุ่มคนเหล่านี้ก็คือผู้ที่จะก้าวขึ้นมาแทนผม หรือแทนคนที่เกษียณออกไป เป็นอนาคตของบริษัท เพราะบริษัทไม่ได้อยู่ที่คน แต่อยู่ที่ระบบ และยังต้องดำเนินต่อไปด้วยความสามารถและศักยภาพจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง

            การทำงานเป็นทีมของที่นี่มีการปรึกษาหารือกันตลอดเวลา ถือเป็นหัวใจสำคัญ และทุกคนเชื่อว่า จะยิ่งทำให้เห็นหนทางในการแก้ปัญหาได้กระจ่างยิ่งขึ้น เพราะในทีมทำงานนั้น มีบางคนเคยผ่านประสบการณ์ หรือปัญหานั้นมาแล้ว นี่จึงทำให้นักบริหารของเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ มีการพบปะกันทุกวัน ในช่วงรับประทานอาหารกลางวัน ไม่มีการแยกย้ายออกไปกินข้าวข้างนอก เราถือเป็นเวลาและโอกาสที่ดีในการพูดคุย แลกเปลี่ยน และปรึกษาหารือ ในบางวันเรายังเชิญทนายเด็กๆ มาร่วมโต๊ะด้วย เพื่อให้เห็นมุมมองที่แตกต่าง และถ้ามีปัญหาในการทำงานก็สามารถนำมาพูดคุยสอบถามได้

            ในมุมของการดูแลและให้บริการกับลูกความก็เช่นกัน เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ได้ปรับตัวโดยไม่รอให้ลูกความเดินเข้ามาพบ แต่ออกไปหาลูกความเอง เป็นการปรับตัวเข้าหาลูกความมากขึ้น ที่สำคัญคือ ทีมงานของเราต้องเป็นที่ปรึกษา และรู้สึกได้ถึงการเป็นหุ้นส่วนร่วมพัฒนาธุรกิจกับลูกความ จึงจะดูแลและช่วยแก้ปัญหาให้ลูกความได้แบบใจถึงใจ 

            เราสอนทนายความทุกระดับของเราว่า “ต้องเป็นนักกฎหมายที่แก้ปัญหาไม่ใช่สร้างปัญหา” ลูกความคือคนสำคัญที่สุด เรามีหน้าที่ให้บริการอย่างสุดความสามารถ แม้บางครั้งอาจจะหนักมากสำหรับเรา แต่ต้องพยายามเพื่อแก้ไขปัญหาให้ผ่านพ้นไป ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกความ ต้องช่วยเขาหาทางออกที่ดีที่สุด ตัวผมเองบางครั้งยังให้คำแนะนำลูกความโดยที่ไม่ได้ค่าคอมมิสชั่นอะไรเลย แต่ถือเป็นมิตรภาพที่ดีต่อกัน ซึ่งผมเชื่อว่ามันทำให้เกิดความรู้สึกดี ผูกพัน และยั่งยืนกว่า

            การจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรในแบบที่ว่าให้ฝังรากลงลึกสู่หัวใจของคนทำงานทุกคน ผมคิดว่าต้องเริ่มจากจุดเริ่มต้นด้วย ตั้งแต่การเลือกคนเข้ามาทำงาน แน่นอนว่าในเบื้องต้นเราพิจารณาจากผลการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจ และความสามารถของบุคคลนั้น

            แต่ผลการศึกษาก็เป็นเพียงส่วนเดียว การสัมภาษณ์จะพิจารณาถึงคุณสมบัติอื่นด้วย เช่น การทำงานเข้ากับเพื่อนร่วมงาน การเป็นคนใฝ่หาความรู้ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จึงมีนโยบายเปิดรับนักศึกษาที่จบใหม่จากมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมีโครงการรับนักศึกษาฝึกงานในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน ทำให้เราได้เห็นศักยภาพของคนรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาทำงานกับเรา และเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน

            เมื่อเข้ามาทำงานที่นี่ วัฒนธรรมสำคัญอีกอย่าง และเป็นสิ่งที่ทำให้ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ประสบความสำเร็จในการเป็นสำนักงานกฎหมายชั้นนำระดับโลก ก็คือ การให้ความสำคัญกับพนักงานทุกคน และการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ โดยดูว่าจุดแข็งจุดอ่อนของแต่ละคนเป็นอย่างไร เพื่อจัดสรรคนให้ตรงกับงาน ใครควรถูกส่งไปอบรมอะไรเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมให้คนของเราพัฒนาศักยภาพได้สูงสุด อาจเรียกว่า ที่นี่เป็นมหาวิทยาลัยสำหรับนักกฎหมายด้วยการทำงานจริง ฝึกคนของเราให้ดีที่สุด รวมทั้งปลูกฝังจริยธรรมของนักกฎหมาย ถือเป็นสูตรสำเร็จในการเป็นสำนักงานกฎหมายระดับโลกที่พยายามสร้างคนให้เป็นที่ปรึกษากฎหมายระดับสากล 

            ความสำเร็จของการทำงาน : เมื่อได้เป็น Partner และคำแนะนำสำหรับนักกฎหมายรุ่นใหม่ อีกสิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อว่ามีความสำคัญ และทำให้คนทำงานมีความผูกพันกับองค์กรคือ การให้โอกาสเติบโตในหน้าที่การงานโดยมีผลตอบแทนเป็นองค์ประกอบหนึ่ง และให้สิทธิในการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น โดยเมื่อปี 2532 เมื่อผมกลับจากแคนาดาก็ได้รับการเสนอให้เป็น Local Partner โดยเป็นหนึ่งในกลุ่มนักกฎหมายชาวไทยรุ่นที่ 2 ของบริษัทที่ได้รับการเสนอให้ขึ้นเป็น และยังได้รับการเสนอให้เป็นกรรมการบริษัท ซึ่งหมายถึงเป็นเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของบริษัท 

            ต่อมาในปี 2533 ได้รับเลือกให้เป็นหุ้นส่วนทั่วโลก หรือ International Partner หมายถึงมีสิทธิมีเสียงในการกำหนดนโยบาย และทิศทางการบริหารในการประชุมใหญ่ทั่วโลก (Annual Meeting) ซึ่งมีการประชุมปีละครั้ง 

            ผมได้รับโอกาสอย่างมากจากสำนักงานแห่งนี้ ผมได้ทำงานกับเจ้านายที่มีความเมตตากรุณาสูง ไม่ว่าจะเป็นคุณ John Hancock หรือ คุณสุจินต์ ชัยมังคลานนท์ (ทั้งสองท่านเป็นผู้เริ่มก่อตั้งสำนักงานกรุงเทพฯ น่าเสียดายว่า คุณสุจินต์ ชัยมังคลานนท์ ได้เสียชีวิตไปแล้ว) คุณศิริพงษ์ ศิลปะกุล คุณอนุรัติ ตียาภรณ์ และ คุณอธึก อัศวนันท์ หุ้นส่วนและผู้บริหารในขณะนั้น (คุณอธึกนับว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในกฎหมายธนาคาร การเงินโดยเฉพาะการเงินจากต่างประเทศคนแรก ไม่ว่าจะเป็นการออก Floating Rate Note ของธนาคารไทยในต่างประเทศ และการกู้เงินจากธนาคารต่างประเทศ และทำให้ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ เป็นผู้นำในกฎหมายการเงินมาจนปัจจุบัน) 

            เจ้านายทุกท่านได้เปิดโอกาสให้ผมทำงานที่ผมรัก สนับสนุนให้ผมไปสอนหนังสือและเขียนหนังสือตลอดระยะเวลาในการทำงาน เมื่อคุณจอห์นและคุณสุจินต์ เกษียณไป คุณศิริพงษ์และคุณอนุรัต ยังเสนอและสนับสนุนให้ผมเป็นประธานกรรมการของสำนักงาน นับว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติและน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง จนถึงวันที่ผมเกษียณอายุ การทำงานอาจเรียกได้ว่า ผมเป็นบุคลากรที่ได้รับการสร้าง และสืบทอดเจตนารมย์การทำงานจากรุ่นพี่ที่ก่อตั้งสำนักงานแห่งนี้ขึ้นมา

            การทำงานที่ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ยังทำให้ผมมีโอกาสได้พบเพื่อนทั้งในและต่างประเทศ ได้มีเพื่อนร่วมงานที่ดี และได้พบเพื่อนทั้งที่เป็นหุ้นส่วนและทนายความของสำนักงานแห่งนี้จากทั่วโลกทุกปี เพราะเรามีการประชุม Asia Pacific Meeting การประชุม Annual meeting และการประชุม Asia Pacific Tax Meeting โดยเฉพาะเพื่อนๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นหุ้นส่วนทั่วโลก (Principals) พร้อมกันในปี 2533 ซึ่งหลายคนเกษียณอายุไปแล้ว หลายคนยังคงทำงานอยู่ เป็นมิตรภาพและความทรงจำดีๆ ที่ผมไม่อาจลืมเลือนไปจากชีวิตอย่างแน่นอน

            การทำงานเป็นที่ปรึกษากฎหมายด้านธุรกิจ ยังทำให้ผมได้พบลูกความที่หลากหลาย ตั้งแต่เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ไปจนถึงบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ มีทั้งลูกความในประเทศและต่างประเทศ ได้รับโอกาสทำงานธุรกรรมสำคัญทั้งด้านตลาดทุน ภาษีอากร การปรับโครงสร้างกิจการ ไปจนถึงธุรกรรมใหญ่ๆ ที่มีความซับซ้อน ผมยังได้รับการสนับสนุนให้จัดตั้งงานด้านบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว โดยสำนักกรุงเทพฯ ร่วมกับสำนักงานอื่นๆ ของ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ในภูมิภาคนี้ ทำให้ชื่อเสียงของเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ เป็นที่รู้จัก และยอมรับในแวดวงกฎหมายในปัจจุบัน

            จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมาทั้งหมด ผมเชื่อว่าแนวโน้มธุรกิจที่ปรึกษากฎหมายจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ องค์กรธุรกิจจะหันมาใช้บริการมากขึ้น แม้กระทั่งนักธุรกิจบางคนที่ไม่เปิดตัวก็หันมาพึ่งสำนักงานกฎหมาย นั่นยิ่งทำให้นักกฎหมาย และที่ปรึกษากฎหมายต้องมีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ในการให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าได้ ปัจจุบันนักกฎหมายต้องพัฒนาองค์ความรู้มากกว่าในยุคของผมมากนัก

            ในแง่วิชาชีพกฎหมาย ผมถือว่าตัวเองประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วผมเชื่อว่าไม่มีใครประสบความสำเร็จไปหมดทุกอย่าง ผมเองก็ไม่ได้เก่งมีความสามารถเป็นพิเศษดีมาตั้งแต่แรก เพียงแต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ก็ต้องทำงานหนัก ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก็มาก ทุกความสำเร็จที่เห็นเป็นผลลัพธ์ของความรักในงานที่ทำ (Passion) ประกอบกับจังหวะและโอกาสชีวิตที่มีเข้ามา และเราตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด

            ผมจึงคิดว่าตัวเองได้ก้าวมาถึงจุดที่สูงสุดในชีวิตแล้ว เพราะนักกฎหมายทุกคน สิ่งที่มุ่งหวังคือ การเป็นหุ้นส่วนของสำนักงานกฎหมาย ตัวผมเองเป็นเพียงเด็กบ้านนอก จากลูกจ้างตัวเล็กๆ เมื่อสามารถเดินมาถึงจุดนี้ได้ จึงถือว่าชีวิตนี้เกินคุ้มแล้วจริงๆ การนำข้อคิดมาเล่าให้คนรุ่นหลังฟัง จึงน่าจะเป็นประโยชน์ ซึ่งผมก็จะได้นำประสบการณ์และสิ่งดีงามที่ได้รับไปใช้ในการเริ่มต้นบททดสอบชีวิตครั้งใหม่ต่อไป



เกี่ยวกับนักเขียน

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ อดีตประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กูรูด้านภาษี และกฎหมายภาษี มีผลงานการออกหนังสือ พ๊อกเก็ตบุ๊คเกี่ยวกับภาษีต่างๆ การควบรวมกิจการ อาทิ 10 ข้อคิด รู้ภาษี ลดภาษี / 10 ข้อคิด ลดภาษีคนทำงานและนักลงทุน โดยวารสารการเงินธนาคาร และอีกหลากหลายทั้งเรื่องภาษีมรดก ภาษีที่ดิน การควบรวมกิจการ โอกาสของธุรกิจไทย เป็นต้น

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน