THE GURU • BUSINESS LAW

เหลียวหลัง มองอดีต ธุรกิจการเงิน-การธนาคาร-ตลาดทุนไทย แลหน้าไปในอนาคต (ตอนที่ 1)

บทความโดย: ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

บทความในเรื่องนี้นอกเหนือจากเป็นการบันทึกความทรงจำในแต่ละช่วงระยะเวลาต่างๆ แล้ว ผมหวังว่าเหตุการณ์ในช่วงต่าง จะเป็นมาตรวัด “ความสำเร็จ” และ “ความผิดพลาด” ของนักกฎหมายคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตกว่า 44 ปีในวงการกฎหมาย เพื่อจะให้คนรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง จากอดีตเพื่อปัจจุบันและอนาคตที่ดีกว่า ทั้งของตนเองและสังคมโดยส่วนรวม

 

            ผมได้เคยแจ้งท่านผู้อ่านไว้ว่า ภายหลังการเกษียณอายุการทํางาน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ผมตั้งใจจะเขียนหนังสือ บอกเล่าประสบการณ์การทํางานในอดีตที่ผ่านมากว่า 44 ปี ที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้องในแวดวงธนาคารและกฎหมายธุรกิจ เพื่อลงใน วารสารการเงินธนาคาร ตามที่ได้เคยเขียน มาตลอด 20 ปี

ทั้งนี้ โดยผมได้เริ่มเขียนบทความใน วารสารการเงินธนาคาร เป็นครั้งแรกและที่แรก เมื่อเดือนมกราคม 2534 จนถึงปัจจุบัน อันเป็นปฐมบทของการเขียนหนังสือครั้งแรกของผม เรื่องที่เขียนนั้นมักจะเป็นเรื่องภาษี และพัฒนาเป็นเรื่องกฎหมายธุรกิจ

            ต่อมาทำให้ผมได้มีโอกาสเขียนบทความต่างๆ ลงหนังสือ ผู้จัดการรายสัปดาห์ บทความภาษาอังกฤษใน The Nation และหนังสือพิมพ์โพสท์ทูเดย์ ต้องขอขอบคุณ คุณสันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ที่เปิดโอกาสให้ผมเป็นนักเขียน และในช่วงเขียนบทความได้รับการติดต่อทวงถามบทความจาก คุณพรพิมล คูอนุพงศ์ (คุณแมว) บรรณาธิการในขณะนั้น และ คุณอัจฉรา ผ่องผล ตลอดเวลา จนกระทั่งผมยังเขียนบทความวารสารการเงินธนาคารให้มาถึงปัจจุบัน

            โดยบรรดาบทความต่างๆ ที่ผมได้เคยเขียน ก็ได้ถูกรวบรวมนำไปตีพิมพ์เป็นหนังสืออยู่หลายเล่มในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น บัญญัติ 10 ประการในการวางแผนภาษีอากร, กลยุทธ์การวางแผนภาษี, 10 กลยุทธ์การวางแผนภาษีบุคคลธรรมดากับธุรกิจ, 10 ข้อคิด ลดภาษีคนทำงานและนักลงทุน, 10 ข้อคิด รู้ภาษี ลดภาษี, การควบรวมกิจการ : โอกาสของธุรกิจไทย, รู้เฟื่องการควบรวมกิจการ : โอกาสของธุรกิจไทย, กลยุทธ์การควบรวมกิจการอย่างมืออาชีพ, วางแผนสืบทอด ธุรกิจครอบครัว อย่างยั่งยืน, ภาษีการรับมรดก ฉบับสมบูรณ์, สูตรสำเร็จธุรกิจครอบครัวไทย เพื่อการสืบทอดอย่างยั่งยืน, Corporate Governance เป็นต้น

            เมื่อผมได้แจ้งกับ คุณอัจฉรา ผ่องผล บรรณาธิการ วารสารการเงินธนาคาร ว่าผมต้องการข้อมูล ในการจะบอกเล่าประสบการณ์ ในอดีตตลอดระยะเวลา 44 ปี ที่ผมได้ทำงานมาในแวดวงกฎหมายธุรกิจ การเงินธนาคาร และตลาดทุน เพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้อง ไม่ใช่เขียนจากความทรงจำแต่เพียงอย่างเดียว ผมก็เลยได้รับ หนังสือการเงินธนาคาร ฉบับพิเศษ 3 ทศวรรษ การเงินธนาคาร บันทึกประวัติศาสตร์การเงินไทย ที่ตีพิมพ์ เมื่อปี 2555 และในหนังสือเล่มนี้ก็ได้มีบทสัมภาษณ์ของผม ในเรื่องความประทับใจของ 3 ทศวรรษของการเงินธนาคารอยู่ด้วย และออกตัวว่าจะมาเขียนฉลองครบรอบ 60 ปี ของ วารสารการเงินธนาคาร ต่อไป ถ้ายังมีพละกำลัง

            ครั้นเมื่อได้รับหนังสือมาก็ได้เพียงแต่จดๆ จ้องๆ ผมก็ยังไม่ได้เริ่มเขียนสักที จนกระทั่ง คุณสันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ประธานบรรณาธิการ ได้ส่ง บันทึกประวัติศาสตร์ การเงินไทย 4 ทศวรรษ ที่ วารสารการเงินธนาคาร ได้จัดพิมพ์จำหน่ายในโอกาสครบรอบ 40 ปี ของ วารสารการเงินธนาคาร จึงคิดว่าหากนำข้อมูลจากหนังสือเล่มนี้น่าจะมีข้อมูลเพียงพอที่จะเริ่มเขียน แทนที่จะรอให้ไปเขียนเมื่อครบ 60 ปี ซึ่งตอนนั้นผมเขียนหนังสือไม่ไหวแล้วที่จะเล่าประสบการณ์ในอดีตการทำงานของผมที่ผ่านมาได้

            ประกอบกับผมได้รับหนังสือ 50 ปี แห่งประสบการณ์สร้างรากฐานสู่อนาคต (50 Years : The Making Of The Modern Thai Economy) ซึ่งเป็นโครงการที่ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้จัดทำขึ้นเมื่อครบ 50 ปี ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่ คุณบรรยง พงษ์พานิช มอบให้ หนังสือมีประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและข้อมูลที่น่าสนใจ

            โดยหากผมนำข้อมูลจากหนังสือ 3 เล่ม มารวบรวมร้อยเรียง พร้อมเติมประสบการณ์ในอดีตจากความทรงจำที่ยังเหลืออยู่ เพื่อจะทำให้ การเหลียวหลัง ดูอดีตในด้านกฎหมายธุรกิจ การเงินธนาคาร ภาษีของประเทศไทย ที่ผ่านมา โดยอาจจะสามารถเรียนรู้ความผิดพลาด หรือความสำเร็จในอดีต เพื่อจะสามารถวางแผนในการแลไปข้างหน้าก็จะทำให้ผู้อ่านได้รับประโยชน์ไม่มากก็น้อย

บทความของผมไม่ได้มีคุณค่าพอในทางประวัติศาสตร์ แต่จะเป็นการบันทึกความทรงจำในอดีตในยุคปัจจุบันและมองให้ไกลไปถึงอนาคตที่คนรุ่นผมอยากให้เป็นเท่าที่จะทำได้

            ในหนังสือ 50 ปีฯ แบ่งระยะเวลาเป็น 6 ช่วง โดยช่วงแรกเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2488-2500 ที่หนังสือ 50 ปีฯ เรียกว่า ช่วงรุ่งอรุณเศรษฐกิจสมัยใหม่ (The Modern Dawn) โดยผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาและอดีตในการทำงานของผมจึงขอไม่บันทึกไว้ ผมขอแบ่งช่วงเวลาในการเรียนและการทำงานของผม ของการเขียนบทความโดยแบ่งเป็น 5 ช่วงระยะเวลาดังนี้

ช่วงที่ 1 (พ.ศ. 2514 ถึง 2523)

            โดยช่วงเวลาดังกล่าว ในหนังสือ 50 ปี ของธนาคารเกียรตินาคิน นั้น ได้บอกเป็นช่วงเวลา ที่เรียกว่ามรสุมแห่งการเปลี่ยนแปลง (The Wind of Change) เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว มีทั้งการถอนทหารสหรัฐอเมริกาออกจากเวียดนาม, การล่มสลายของระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ของประเทศพัฒนาแล้ว, วิกฤติน้ำมัน 2 ครั้ง ภาวะเงินเฟ้อในยุคข้าวยากหมากแพง และความวุ่นวายทางการเมืองในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519

            ส่วนผมเองนั้น ก็มีประสบการณ์จากอดีตในฐานะนิสิตนักศึกษา ทั้งวันที่ 14 ตุลาคม 16 และ 6 ตุลาคม 19 หรือคนเดือนตุลาฯ และเป็นช่วงที่ทำงานของผมระยะเริ่มต้นในฐานะพนักงานธนาคารตำแหน่งเล็ก ของ 2 ธนาคารใหญ่ในขณะนั้น คือ ธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารกสิกรไทย เป็นเวลากว่า 1 ปี ก่อนมาเริ่มงานกฎหมายที่ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด อีก 43 ปี

ช่วงที่ 2 (พ.ศ. 2522 ถึง 2533)

            เป็นช่วงที่เรียกว่า โอกาสโชติช่วง หรือ The Golden opportunity หรือที่ประเทศไทยเรียกว่า ช่วงเวลาช่วงชัชวาล ที่ประเทศไทยมีการยกเครื่องพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมใหม่แบบเต็มตัว ส่งผลให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติเป็นครั้งใหญ่ เป็นการพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยจากร้านชำในตรอกเป็นห้างที่ตั้งอยู่ริมถนนใจกลางเมืองอย่างน่าชื่นชม ภายใต้รัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่เป็นนายกรัฐมนตรี ถึงกว่า 8 ปี เป็นรัฐบาลที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทยจนปัจจุบัน แม้จะเป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบก็ตาม

            โดยผมได้มีโอกาสไปทำงานและเรียนต่อต่างประเทศ และเป็นช่วงที่ผมได้ทำงานทางกฎหมายกับนักลงทุนระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก และมองเปรียบเทียบกับประชาธิปไตยครึ่งใบในปัจจุบันว่า ทำไมรัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่ารัฐบาลยุค พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

ช่วงที่ 3 (พ.ศ.2534 ถึง 2543)

            ที่เรียกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง (The Fall from the Grace) ที่เรียกว่าความรุ่งโรจน์ของเศรษฐกิจและภาคการเงินของไทย ที่จบลงด้วยวิกฤติ นับตั้งแต่ภาวะฟองสบู่ ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และ ตลาดหุ้นที่พุ่งขึ้นร้อนแรงก่อนจะตกต่ำ การต่อสู้เพื่อดึงค่าเงินบาท การประกาศลอยตัวค่าเงินบาท และในที่สุดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลวงเป็นที่รู้จักกันว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง

            อันเป็นช่วงที่งานทางกฎหมายที่ผมทำได้รับอานิสงส์ผลดีจากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง และนับว่า เป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญของผมที่ได้เรียนรู้และพัฒนาความรู้ทางฎหมาย และนำมาใช้ ในการแก้ไขวิกฤติทางการเงินและธนาคารในขณะนั้น รวมทั้งผ่านประสบการณ์วิกฤติทางการเมืองไทยไปพร้อมๆ กัน 

ช่วงที่ 4 (พ.ศ.2544 ถึง 2553)

            ซึ่งเป็นช่วงที่เรียกว่าการกอบกู้และก้าวต่อ (The Great Reset) ว่าด้วยการกอบกู้ประเทศขึ้นหลังเกิดวิกฤติ มีการยกระดับโครงสร้างระบบการเงินแบบใหม่ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ การส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำคัญ การบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจ หรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการบ่มเพาะความขัดแย้ง ซึ่งนำมาสู่ความปั่นป่วนทางการเมืองที่มีมาถึงปัจจุบัน

            โดยในช่วงดังกล่าวก็เป็นช่วงที่ผมมีงานกฎหมายหลายๆ เรื่องและหลายมิติ และเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคการเมืองและภาครัฐอยู่ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเรียนหลักสูตรต่างๆ และไปเป็นคณะกรรมการในภาครัฐ และการเมืองพอสมควร

ช่วงที่ 5 (พ.ศ.2554 ถึง 2563)

            ที่ถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการทดสอบ หรือ the Turbulent time ว่าด้วยห้วงเวลาแห่งการทดสอบที่ท้าทายที่เริ่มต้นด้วยปัญหาการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ที่ถูกซ้ำเติมจากมหาอุทกภัย ปิดฉากด้วยความท้าทายทั้งสงครามการค้า เทคโนโลยี ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรของอังกฤษ การแพร่ระบาดของโรคไวรัส ที่พลิกชีวิตผู้คนจากหน้ามือเป็นหลังมือ และปัญหานั้นยังสืบทอดมาจนถึงปี 2564 และ 2565 ที่ยังวิกฤติ รวมถึงสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน (ที่หนังสือ 50 ปีฯ ไม่ได้กล่าวถึง)

            ช่วงนี้ก็เป็นช่วงเวลาที่ผมได้มีประสบการณ์ทำงาน ควบรวมกิจการ และเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ การเข้าเป็นกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและหลังเกษียณจากการทำงานผมได้มีโอกาสเข้าไปเป็นกรรมการในสถาบันการเงินและบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง โดยผมได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ มากมาย

            นับจากนี้ไป ผมจะพยายามเรียงลำดับเหตุการณ์ที่ละตอน โดยจะพยายามใช้ข้อมูลเหตุการณ์จากความทรงจำประกอบกับบันทึกเหตุการณ์ของหนังสือทั้ง 3 เล่ม มาบอกกล่าวให้ฟังว่า ในชีวิตการทำงานของผมตลอดระยะเวลา 44 ปี ที่ผ่านมาเกิดอะไรในช่วงเวลาดังกล่าว ผมได้เรียนรู้อะไรบ้าง อะไรที่ทำสำเร็จ หรืออะไรที่ทำไม่สำเร็จ เพื่อจะให้คนรุ่นหลังจะได้เรียนรู้จากความสำเร็จและความผิดพลาด เพื่อไม่ทำผิดซ้ำสอง

            บทความในเรื่องนี้นอกเหนือจากเป็นการบันทึกความทรงจำในแต่ละช่วงระยะเวลาต่างๆ แล้ว ผมหวังว่า เหตุการณ์ในช่วงต่างๆ จะเป็นมาตรวัด “ความสำเร็จ” และ “ความผิดพลาด” ของนักกฎหมายคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตกว่า 44 ปี ในวงการกฎหมาย เพื่อจะให้คนรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง จากอดีตเพื่อปัจจุบันและอนาคตที่ดีกว่า ทั้งของตนเองและสังคมโดยส่วนรวมโปรดติดตามครับ

เกี่ยวกับนักเขียน

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ อดีตประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กูรูด้านภาษี และกฎหมายภาษี มีผลงานการออกหนังสือ พ๊อกเก็ตบุ๊คเกี่ยวกับภาษีต่างๆ การควบรวมกิจการ อาทิ 10 ข้อคิด รู้ภาษี ลดภาษี / 10 ข้อคิด ลดภาษีคนทำงานและนักลงทุน โดยวารสารการเงินธนาคาร และอีกหลากหลายทั้งเรื่องภาษีมรดก ภาษีที่ดิน การควบรวมกิจการ โอกาสของธุรกิจไทย เป็นต้น

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน