THE GURU • BUSINESS LAW

ควรเก็บภาษีการขายหุ้นหรือไม่

บทความโดย: ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยและวิกฤติการคลังคงเป็นเหตุผลเพียงพอที่รัฐบาลพิจารณาปรับโครงสร้างทางภาษีไปพร้อมกับการให้ความรู้ และนักลงทุนไทยก็ควรจะตระหนักถึงภาระหน้าที่การเสียภาษีเพื่อมาพัฒนาประเทศอีกด้วย

            เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2564 ได้มีกระแสข่าวที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดอยากจะเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะของการซื้อขายในหลักทรัพย์ในอัตราร้อยละ 0.1 ของยอดรายรับก่อนหักค่าใช้จ่ายหรือที่เรียกว่า Financial Transaction Tax (FTT) โดยคาดว่าจะเก็บภาษีได้ถึง 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งภาษีธุรกิจเฉพาะตัวนี้ได้มีการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2535 อันเป็นด้วยเหตุผลเพื่อส่งเสริมตลาดทุนไทย

            พร้อมกับการพิจารณาการเก็บภาษีเงินได้การขายหุ้น (Capital Gain Tax) เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าเล่าใหม่ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านพ้นไปมากว่า 30 ปี การเก็บภาษีจากการขายหุ้นก็ยังไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย

            ความไม่เห็นด้วยจากบรรดาบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจดทะเบียน สถาบันตลาดทุน และนักลงทุนจำนวนมาก โดยอ้างว่าทำให้ตลาดทุนไทยไม่น่าสนใจ คนจะไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ เมื่อมีแนวคิดนี้ขึ้นคราวใด รัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่ได้ตัดสินใจในการปฏิรูปโครงสร้างภาษีไทย โดยในระยะเริ่มแรกการยกเว้นภาษีก็เป็นเรื่องถูกต้อง เพราะระยะแรกนั้นต้องอาศัยมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริม แต่เวลาผ่านไปกว่า 30 ปีแล้ว การพิจารณาการเก็บภาษีก็ยังคงค้างอยู่และไม่สำเร็จ

            ด้วยปัญหาการคลังมีรายได้ไม่ได้ตามเป้า วิกฤติโควิด-19 ความเหลื่อมล้ำที่มีมากขึ้นในสังคม ผมจึงขอเสนอว่า อาจเป็นเวลาสมควรที่จะนำเรื่องนี้มาพิจารณากันใหม่ดีหรือไม่ 

    สำหรับผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และประกาศแนวทางในการจัดเก็บภาษีเรื่องนี้อย่างชัดเจน โดยพิจารณารับฟังความเห็นในทุกด้าน โดยไม่ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องลับ แล้วเร่งรีบออกเป็นพระราชกำหนด 

    ผมเองที่อยู่ในแวดวงตลาดทุนมากว่า 40 ปี มีความเห็นโดยส่วนตัวว่า รัฐบาลควรจัดเก็บภาษีตลาดทุนที่เป็นธรรมและเหมาะสม และนำเงินได้ส่วนนี้มาแบ่งแยกในการจัดสรรงบประมาณส่วนนี้มาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนคนไทยให้ชัดเจน

            ผมได้เคยเขียนเรื่องนี้ใน วารสารการเงินธนาคาร มาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2546 เวลาผ่านไปเกือบ 20 ปี ผมจึงอยากนำข้อเสนอในตอนนั้น (ซึ่งมีผู้ลงทุนประมาณ 300,000 ราย แต่ในปัจจุบันมีผู้ลงทุน 2 ล้านรายในตลาดทุน) มาเพื่อลองพิจารณาว่าถูกผิดอย่างไร แต่เวลาพูดถึงเรื่องนี้ทีไร มักจะถูกต่อว่าและไม่สำเร็จสักครั้ง 

            ข้อเสนอที่ผ่านมาก็ไม่มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์มาสนับสนุน ปัญหานี้มีความเห็นที่น่าสนใจของนักเศรษฐศาสตร์ของไทยในการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของการเก็บภาษีการขายหุ้นที่ควรนำมาพิจารณา

            มีบทความที่วิเคราะห์เรื่องภาษีการขายหุ้นในมุมเศรษฐศาสตร์ที่น่าสนใจมากว่าการเสนอเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีธุรกิจเฉพาะที่เรียกว่า Financial Transaction Tax (FTT) ในอัตราร้อยละ 0.1 ที่เสนอโดยกระทรวงการคลังที่เป็นประเด็นถกเถียงอยู่นี้จะมีผลกระทบอะไรบ้าง (อ้างอิง "ภาษีการขายหุ้นในมุมเศรษฐศาสตร์ของ ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ ในเว็บไซต์ www.101.world)

            ทั้งนี้ อาจารย์อธิภัทรได้ให้ความเห็นว่านโยบายการเรียกเก็บภาษี FTT นั้นประเทศในภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง มาเลเซีย อินโดนีเซียก็ได้มีการเก็บโดย การเก็บภาษี FTT นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย 

            ซึ่งคงเป็นบุคคลส่วนใหญ่ในตลาดทุนไทยและนักเศรษฐศาสตร์ทีทำงานในตลาดทุนไทยมีความกังวลว่า ภาษีดีงกล่าวจะกระทบต่อสภาพคล่องและความน่าสนใจในตลาดหลักทรัพย์ไทยจะหายไปและจะทำให้ไม่สามารถดึงดูดโดยการลงทุนซึ่งความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ จากเหตุผลข้อนี้ว่าไม่ควรเก็บ FTT หรือภาษี กำไรจากการขายหุ้น Capital gain tax ในประเทศไทยเพราะได้ไม่คุ้มเสีย (ดูรายละเอียดใน Facebook ของอาจารย์ ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ) 

            ส่วนความเห็นฝ่ายที่สนับสนุนการเก็บภาษีการขายหุ้นก็เห็นว่าเพื่อความเป็นธรรมและการหารายได้เข้ารัฐรวมทั้งจำกัดการเก็งกำไรหรือ Noise Trading 

            ในบทความดังกล่าวอาจารย์อธิภัทรได้ให้ความเห็นว่าหากมีการเรียกเก็บ FTT ในอัตราร้อยละ 0.1 จะทำให้ต้นทุนของประเทศไทยรวมถึงต้นทุนค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์และค่าใช้จ่ายอื่นๆ จะทำให้ต้นทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ของประเทศไทยจะอยู่ในอัตราร้อยละ 0.27 ของต้นทุนการซื้อขายหลักทรัพย์ เมื่อเปรียบเทียบกับ ประเทศสิงคโปร์ 0.20 หรือมาเลเซีย ซึ่งอยู่ในอัตราร้อยละ 0.29 ส่วนฮ่องกงอยู่ในอัตรา 0.39

            จากการศึกษาเชิงประจักษ์ โดยทั่วไปนั้นอาจารย์อธิภัทรพบว่าภาษี FTTจะส่งผลลบอย่างมีนัยสำคัญต่อปริมาณการซื้อขาย เช่น ในประเทศฝรั่งเศส และหากเป็นการออกแบบด้วยการยกเว้นภาษีให้กับการซื้อขายขนาดเล็กก็จะส่งผลให้มีการบิดเบือนพฤติกรรมนักลงทุนได้และมีความเห็นว่า FTT นี้อาจจะไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการจำกัดการเก็งกำไรหรือ Noise Trading ได้

    อาจารย์อธิภัทรให้ความเห็นว่า การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรจากการขายหุ้นเป็นการลดทอนความก้าวหน้าของระบบภาษีและเป็นการเพิ่มความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งลดความเสมอภาคทางภาษีระหว่างแหล่งเงินได้ของผู้ทำงานซึ่งอยู่ในอัตราภาษีถึงร้อยละ 5-35 แต่ในขณะเดียวกัน ผู้มีกำไรจากการขายหุ้นนั้นกลับได้รับการยกเว้นภาษีเป็นเวลานานมากกว่า 30 ปี และมีความเชื่อว่าในหลายประเทศการออกแบบ Capital Gain Tax สามารถส่งผลสำคัญต่อความเป็นธรรมและประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถส่งเสริมการลงทุนระยะยาวของธุรกิจและ ยกระดับการผลิตของประเทศได้ ซึ่งอาจารย์และเห็นว่า FTT นั้น จะไม่ตอบโจทย์ความเป็นธรรมเมื่อเทียบกับภาษีเงินได้ Capital gain ของการขายหุ้นและก็เสนอว่าน่าจะนำค่าใช้จ่ายหรือตัดส่วนขาดทุนมาหักได้ 

    ผมเองมีความเห็นสอดคล้องกับอาจารย์อธิภัทรว่า การยกเว้นภาษีเงินได้ที่ผ่านมานานจนตลาดทุนไทยมีความเข้มแข็ง จึงถึงเวลาแล้วที่ควรจะจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นได้

โดยผมขอเสนอแนวคิดเรื่องภาษีการขายหุ้นดังนี้

            1.ประเทศไทยควรจะเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีการซื้อขายหุ้นเกินกว่าครั้งละ 1 ล้านบาท และที่ถือหุ้นเพื่อเก็งกำไร เช่น ถือหุ้นไว้น้อยกว่าเวลาที่กำหนด แต่ควรยกเว้นให้กับนักลงทุนที่เป็นนักลงทุนระยะยาว เช่น ผู้ที่สมควรได้รับยกเว้นภาษีเงินได้กำไรจากการขายหุ้น ควรจะต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่า 6-12 เดือนแล้วแต่กรณี เพื่อจะให้การลงทุนนั้นเป็นการลงทุนระยะยาว หวังเงินปันผล รวมถึงกองทุนรวมต่างๆ อันจะเป็นการสร้างความมั่นคงให้กับตลาดทุนเป็นอย่างดี 

    2.หากรัฐบาลจะเก็บภาษีเงินได้ที่ได้รับจากการขายหุ้นจากผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รัฐบาลก็ควรจะต้องให้สามารถนำผลขาดทุนที่เขาซื้อขายหุ้นมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน ซึ่งก็สามารถตรวจสอบได้จากบัญชีที่ผู้ลงทุนเปิดไว้กับบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งแน่นอนอาจจะต้องมีเอกสารที่เกี่ยวข้องบ้างและเป็นภาระแก่บริษัทหลักทรัพย์บ้าง แต่ด้วยระบบ IT ในปัจจุบันผมเชื่อว่าสามารถทำได้แต่ต้องให้เวลาในการเตรียมตัว

    3.ถ้าหากจะเก็บภาษี ควรเก็บในอัตราเท่าใด ผมมีความคิดว่าการเก็บภาษีจากกำไรจากการขายหุ้นนั้น ก็น่าจะเก็บเช่นเดียวกับเงินปันผลไม่เกิน 10% โดยระยะแรกอาจเริ่มเก็บในอัตรา 5% สำหรับกำไรจำนวนหนึ่ง เช่น กำไร 5 ล้านบาท หรือเกิน 5 ล้านบาท ก็อาจจะเก็บ 10% โดยที่ผู้มีกำไรจากการขายหุ้นไม่ต้องนำไปรวมเพื่อเสียภาษีในตอนปลายปีอีกครั้งในอัตราก้าวหน้า 

กรณีนักลงทุนต่างประเทศ 

            ข้อเสนอการเก็บภาษีเงินได้จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อาจทำให้นักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนไทยไปลงทุนผ่านประเทศสิงคโปร์หรือฮ่องกงเพราะจะไม่ต้องเสียภาษีกำไร (Capital Gain) จากผลของอนุสัญญาภาษีซ้อนก็จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างนักลงทุนไทย (กองทุนไทย) กับนักลงทุนต่างประเทศที่อยู่ในอนุสัญญาภาษีซ้อน จึงต้องหามาตรการการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ FTT ประกอบไปด้วย

            โดยรัฐบาลอาจจะพิจารณาเรียกเก็บค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ (FTT) ในการซื้อขายหุ้นจากนักลงทุนต่างประเทศที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย จากเงินได้จากการขายหุ้นในอัตราที่เท่ากับ ร้อยละ 0.1 หรือสูงกว่า ส่วนนักลงทุนไทยก็อาจจัดเก็บในอัตราที่ต่ำกว่านี้ เช่น ร้อยละ 0.01-0.05 ของยอดขาย เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน 

            ขณะนี้แนวคิดการเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้น (Capital Gain Tax) อาจจะไม่เหมาะสมในช่วงเวลานี้ จึงอาจดำเนินการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ FTT ไปก่อนได้ 

            การดำเนินการการเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นดังกล่าวจึงจะต้องรับฟังความเห็นเพื่อจะได้ระบบภาษีที่สมบูรณ์ที่สุด ในความเห็นส่วนตัวของผมนั้น รัฐบาลอาจเริ่มต้นการจัดเก็บภาษีธุรกรรมแบบภาษีธุรกิจเฉพาะ FTT ในอัตราร้อยละ 0.1 เป็นมาตรการเบื้องต้นที่ลองเก็บดูโดยกำหนดอัตราที่เรียกเก็บในอัตราก้าวหน้า โดยกำหนดระยะแยกเริ่มจากร้อยละ 0.01, 0.03, 0.05 จนถึง 0.10 ขึ้นอยู่กับมูลค่าในการซื้อขายหลักทรัพย์ (แต่อาจมีความยุ่งยากในการจัดเก็บอยู่บ้างโดยเฉพาะต้นทุนของบริษัทหลักทรัพย์)

            ส่วนการพิจารณาการเก็บภาษีเงินได้จากการขายหุ้น Capital Gains ที่อาจารย์อธิภัทรคิดว่าจะใช้เวลาในการแก้กฎหมายนั้น ผมเห็นว่าไม่จำเป็นต้องเข้าสภา เว้นแต่จะออกเป็นพระราชกำหนดหรือกระทรวงการคลังสามารถทำการยกเลิกและกำหนดเงื่อนไขโดยอาศัยพระราชกฤษฎีกา จะเรียกเก็บภาษีก็สามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องแก้ไขประมวลกฎหมายรัษฎากร ทำการยกเลิกข้อยกเว้นการซื้อขายหลักทรัพย์ในพระราชกฤษฎีกา และสามารถกำหนดอัตราการเรียกเก็บภาษีโดยลดอัตราภาษีที่เรียกเก็บจากเงินได้ของ Capital Gain รวมถึงการหักค่าใช้จ่ายจากผลขาดทุนได้ ทั้งนี้ ควรจะต้องแจ้งล่วงหน้าหรือมีเวลาให้บริษัทหลักทรัพย์เตรียมตัวในการทำระบบการยื่นเสียภาษี

            ผมคิดว่าภาระภาษีของผู้ลงทุนในตลาดทุนไทยซึ่งได้รับการยกเว้นมาตลอดเวลา 30 ปี ได้สร้างความมั่งคั่งให้กับนักลงทุนเป็นจำนวนมากและในขณะเดียวกันก็สร้างความเสียหายหรือขาดทุนให้กับนักลงทุนจำนวนหนึ่งเช่นกัน ซึ่งการยกเว้นภาษีดังกล่าวไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการหรือคนทำงานที่ทำงานสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและต้องเสียภาษีในอัตราสูงถึงร้อยละ 35 ส่วนผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นบุคคลธรรมดากลับได้รับการยกเว้นภาษี อันทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม 

            จึงเห็นได้ว่า ในอดีตที่ผ่านมา เราจะพบว่าบัณฑิตที่จบมาไม่ว่าจะเป็นหมอ วิศวกร หรืออาชีพอื่นๆ อีกหลายอาชีพ ต่างก็ไม่อยากประกอบอาชีพในสายงานที่ตนสำเร็จการศึกษามาทั้งที่รัฐบาลได้ลงทุนในด้านการศึกษาในอาชีพดังกล่าวเป็นจำนวนมาก โดยบุคคลเหล่านั้นอยากจะเป็นนักลงทุนทั้งแบบเก็งกำไรหรือนักลงทุนที่มีคุณค่า (Value Investor "VI") แทน ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างหรือเป็นผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจแต่กลับอยากจะลงทุนค้าขายในหลักทรัพย์หรือสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งคิดว่าสามารถทำกำไรในเวลารวดเร็ว ดังนั้น การจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นหรือหลักทรัพย์อื่นๆ ก็เพื่อสร้างความเป็นธรรมและเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

            การจัดเก็บภาษีการขายหุ้นคงยังไม่เพียงพอ รัฐบาลต้องปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นธรรมและเท่าเทียมกันด้วย ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยและวิกฤติการคลังคงเป็นเหตุผลเพียงพอที่รัฐบาลพิจารณาปรับโครงสร้างทางภาษีไปพร้อมกับการให้ความรู้และนักลงทุนไทยก็ควรจะตระหนักถึงภาระหน้าที่การเสียภาษีเพื่อมาพัฒนาประเทศอีกด้วย

      ผมจึงสนับสนุนให้มีการปฏิรูปโครงสร้างภาษีอย่างจริงจังในขณะนี้โดยถือโอกาสนอกเหนือจากการพิจารณาจัดเก็บภาษี FTT และภาษีการขายหุ้นแล้ว โดยการปรับโครงสร้างภาษีไทยพร้อมกันไปเพื่อให้มีโครงสร้างภาษีที่เป็นธรรมและเท่าเทียม


เกี่ยวกับนักเขียน

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ อดีตประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กูรูด้านภาษี และกฎหมายภาษี มีผลงานการออกหนังสือ พ๊อกเก็ตบุ๊คเกี่ยวกับภาษีต่างๆ การควบรวมกิจการ อาทิ 10 ข้อคิด รู้ภาษี ลดภาษี / 10 ข้อคิด ลดภาษีคนทำงานและนักลงทุน โดยวารสารการเงินธนาคาร และอีกหลากหลายทั้งเรื่องภาษีมรดก ภาษีที่ดิน การควบรวมกิจการ โอกาสของธุรกิจไทย เป็นต้น

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน