THE GURU • BUSINESS LAW

เหลียวหลัง มองอดีต ธุรกิจการเงิน-การธนาคาร-ตลาดทุนไทย แลหน้าไปในอนาคต (ตอนที่ 3)

บทความโดย: ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

            ในสมัย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นรัฐบาล ได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจแบบการคลังมาเป็นแบบการรัดเข็มขัดในช่วงปี พ.ศ.2525 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2526 และได้มีการลดค่าเงินบาทในปี พ.ศ.2527 รวมทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนครั้งสำคัญ ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ทำให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากการถดถอยทางเศรษฐกิจ และยังเป็นพื้นฐานสำคัญรองรับความเจริญทางเศรษฐกิจในเวลาต่อมา

            หลังจากที่ได้นำเสนอประสบการณ์ในการเรียนและการทำงานของผมไปแล้วในช่วงที่ 1 (พ.ศ.2514 ถึง 2523) บทความฉบับนี้จะมาต่อกันในช่วงที่ 2 นะครับ 

ช่วงที่ 2 (พ.ศ.2523 ถึง ปี พ.ศ.2533) : โอกาสอันโชติช่วงชัชวาล 

            ช่วงระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ประเทศไทยเข้าสู่ยุคที่มีความเจริญ และมีความเข้มแข็งทั้งภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรมและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ และในขณะเดียวกันนั้นประเทศไทยก็ได้ค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ โดยมีการขยายตัวทางอุตสาหกรรมเพราะประเทศญี่ปุ่นได้ย้ายฐานการผลิตส่วนใหญ่เข้ามาอยู่ในโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด 

            ทั้งนี้ เนื่องจากการตัดสินใจเริ่มพัฒนาโครงการในสมัย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยในสมัยพลเอกเปรมเป็นรัฐบาล ได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจแบบการคลังมาเป็นแบบการรัดเข็มขัดในช่วงปี พ.ศ.2525 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2526 และได้มีการลดค่าเงินบาทในปี พ.ศ.2527 รวมทั้งการปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนครั้งสำคัญ ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ทำให้ประเทศไทยฟื้นตัวจากการถดถอยทางเศรษฐกิจและยังเป็นพื้นฐานสำคัญรองรับความเจริญทางเศรษฐกิจในเวลาต่อมา

            ในขณะเดียวกัน ในปี พ.ศ.2526 ได้เกิดวิกฤติของบริษัทเงินทุนและธนาคารพาณิชย์อีกครั้งหนึ่ง เพราะเป็นการให้กู้ยืมเงินให้กับบริษัทในเครือของตนเองโดยไม่มีหลักประกัน มีการสร้างบัญชีลูกหนี้ปลอม ทำให้บริษัทเหล่านั้นประสบปัญหาสภาพคล่อง หลังจากที่เคยเกิดเหตุขึ้นมาแล้วในช่วงปี พ.ศ.2521 

            ในปี พ.ศ.2526 ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้เข้าควบคุม บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน (บริษัทตึกดำ) ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งที่มีผลกระทบต่อเนื่องมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2521 และยังคงมีการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังเกิดแชร์ลูกโซ่ที่เรียกว่า แชร์แม่ชม้อย จนถึงปี พ.ศ.2526 จนต้องมีการออกกฎหมายเป็นพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และแม้กระนั้นก็ดียังคงมีการกู้ยืมแบบแชร์ลูกโซ่ มาจนถึงปัจจุบันและทางการต้องใช้กฎหมายฉบับนี้ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีก 2 ฉบับ ในปี พ.ศ.2534, พ.ศ.2545 มาจนปัจจุบัน

วิกฤติบริษัทเงินทุน

            ในปี พ.ศ.2527 จึงเป็นที่มาของมาตรการโครงการ 4 เมษายน ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ตรวจสัญญาใช้เงินและมีการออกมาตรการต่างๆ ขึ้น โดยโครงการ 4 เมษายนเป็นโครงการที่ให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินโดยให้ทางการเข้ามีส่วนเป็นเจ้าของและรับผิดชอบในการบริหารจัดการแต่ยึดหลักการว่า เจ้าของและผู้เกี่ยวข้องของสถาบันการเงินนั้นจะต้องสมัครใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งปรากฏว่าในขณะนั้นมีสถาบันการเงินหรือบริษัทเงินทุนสมัครใจเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 25 บริษัท

วิกฤติธนาคารพาณิชย์

            ในช่วงปี พ.ศ.2527 ธนาคารเอเชียทรัสต์ ถือว่าเป็นธนาคารแรกที่รัฐบาลเข้าไปดำเนินการแก้ไขและเปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารสยาม จำกัด เพราะมีปัญหาเรื่องสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและเสียหายจำนวนสูง ผู้บริหารของธนาคารได้ร้องขอความช่วยเหลือ ทางธนาคารประเทศไทยจึงได้เข้าไปบริหาร ธนาคารเอเชียทรัสต์ โดยให้เงื่อนไขโอนหุ้นไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งและสิทธิ์ออกเสียงให้กับ ราชการและมีการ สั่งลดทุนเพื่อตัดความเสียหายในปี พ.ศ.2528 และมีความช่วยเหลือให้สภาพคล่อง 

            และ 3 ปีต่อมาหลังจากนั้น พ.ศ.2531 ธนาคารสยามก็ยังประสบภาวะรุนแรงจนไม่สามารถดำเนินการได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมีคำสั่งให้โอนกิจการทั้งหมดไปรวมอยู่กับธนาคารกรุงไทย 

            นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.2530 กองทุนฟื้นฟูก็ต้องได้เข้าไปช่วยเหลือ ธนาคารนครธน จำกัด (มหาชน) ที่มีผลกระทบตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 ถึง พ.ศ.2527 รวมถึง ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) ที่ทางรัฐบาลจะต้องเข้าไปช่วยเหลือในปี พ.ศ.2531 เช่นกัน

            โดยในขณะนั้นในปี พ.ศ.2527 ก็ได้มีการบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า (FIDF) ซึ่งเป็นกองทุนที่ได้มีบทบาทสำคัญในการแก้วิกฤติในปี พ.ศ.2540 ในเวลาต่อมา

            หลังจากนั้นเมื่อรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2531 ทำให้รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้รับผลพวงจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยตั้งแต่สมัย พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ โดยประเทศไทยในขณะนั้นได้มีการขยายตัวเศรษฐกิจถึงร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2500 และในปี พ.ศ.2511 การขยายตัวเศรษฐกิจ รายได้พุ่งสูงสุดถึงร้อยละ 13.2 แม้จะมีการลดการขยายตัวบ้าง แต่อยู่ในอัตรา 2 หลัก ตลอดเวลา ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยก็มีความคาดหวังจะเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย จากฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน แต่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดฝันว่าประเทศไทยต้องประสบภาวะฟองสบู่แตกในปี พ.ศ.2540

            ในปี พ.ศ.2533 ระบบการเงินไทยก็ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยมีการปรับโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยใหม่ ทั้งดอกเบี้ยเงินฝาก ของธนาคารพาณิชย์ ที่ให้ยกเลิกเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ทางการให้สินเชื่อก็เพิ่มอัตราการให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นสูง จากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 15 ต่อปี รวมทั้งกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่กู้ไม่เกิน 50 บาทในแต่ละ 15 ต่อปี 

            ซึ่งขนาดนั้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก ในปี พ.ศ.2533 สภาพคล่องก็ระบบถึงตัวธนาคารปฏิเสธ รายการให้การกู้ยืมเงินแก่ลูกค้ารายย่อย และเรื่องการให้ดอกเบี้ยตามกฎหมายจนกระทั่งมีการไปกู้เงินตราต่างประเทศแล้วมาฝากดอกเบี้ยในไทยไปถึงร้อยละ 18 โดยมีการปรับอัตราดอกเบี้ยถึง 2 รอบด้วยกัน อันเป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤติต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2540

            ในช่วงปี พ.ศ.2523 ถึง พ.ศ.2534 นั้น ได้มีการออกกฎหมาย การเงินการธนาคารที่มีความสำคัญมาก คือ มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยของโครงการ 4 เมษายน พ.ศ.2527 และ การจัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือที่เรียกกันในชื่อ FIDF ในปี พ.ศ.2527

แลหลังช่วงปี 2523 ถึง 2533 : ประสบการณ์ทำงานของผมกับการเรียนและทำงานต่างประเทศ

            ดังที่ผมได้เคยกล่าวในบทความตอนที่แล้วว่า เมื่อในช่วงปี พ.ศ.2525 ผมได้มีโอกาสไป ทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ของสำนักงานเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ด้วย ในโครงการแลกเปลี่ยน เรียกว่า Associate Training Program และในขณะนั้นทางสำนักงานก็ตั้งใจว่าจะให้ผมเป็นตัวแทนสำนักงาน เพื่อให้บริการกับนักลงทุนต่างประเทศที่สนใจจะมาตั้งบริษัทขึ้นในประเทศไทย หรือเรียกว่า Thai Desk นั่นเอง 

            แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะเศรษฐกิจทั่วโลกมีปัญหานอกเหนือจากเป็นการส่งให้ผมได้ไปฝึกฝนการใช้ภาษาอังกฤษ เพราะผมไม่ได้เรียนจบปริญญาโทจากต่างประเทศ 

            โดยในช่วงนั้นประเทศสิงคโปร์เป็นช่วงที่ประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ถึงขนาดบางโรงแรมไม่มีแขกเข้าพักเลย และเป็นช่วงที่สิงคโปร์เพิ่งจะเริ่มต้นสร้างรถไฟใต้ดิน ไม่น่าเชื่อว่าปัจจุบันสิงคโปร์ได้พัฒนาก้าวหน้ากว่าประเทศไทยจนเราตามไม่ทัน

            การได้ไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ ที่ผมได้ใช้เวลาอยู่ในสิงคโปร์เกือบ 1 ปี นับได้ว่าเป็นประสบการณ์อันมีคุณค่ามาก ผมได้เรียนรู้กฎหมายของสิงคโปร์ ได้พบกับเพื่อนทนายความที่มาจากหลายประเทศ เช่น อังกฤษ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ แคนาดา สิงคโปร์ ที่เข้ามาตามโครงการแลกเปลี่ยน เรียกว่า Associate Training Program ของ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ เอง ต่อมาเพื่อนๆ ทนายเหล่านั้นก็ได้เป็นหุ้นส่วนของ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ และได้ทำงานร่วมกันในหลายโครงการ นี่คือวัฒนธรรมสำคัญของ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ และนอกจากนี้ ผมได้พบผู้ใหญ่ในวงการธุรกิจและราชการทำให้มีความสัมพันธ์ในการเกื้อหนุนการทำงานของผมต่อมา

            ผลพลอยได้อีกอย่างของการไปทำงานอยู่สิงคโปร์ ก็คือ ผมสามารถทำวิทยานิพนธ์ และจบเป็นนิติศาสตรมหาบัณฑิต ของจุฬาลงกรณ์ได้ จบที่ปี พ.ศ.2527 โดยได้ทำวิทยานิพนธ์ ในหัวข้อ “การใช้กฎหมายไทยกับการกู้ยืมเงินระหว่างประเทศ” โดยเรื่องการกู้ยืมเงินต่างประเทศนี้ถือได้ว่า สำนักงานเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ เป็นสำนักงานแห่งแรกในประเทศไทยบุกเบิก โดย คุณอธึก อัศวนันท์ (ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ในขณะนั้น) ที่มีการทำสัญญาเงินกู้ระหว่างประเทศ ในภาคเอกชนเป็นครั้งแรก โดยผมเข้าใจว่าเป็นโครงการเงินกู้ของไทยออยล์ที่เป็น Project Finance และธนาคารกรุงไทยที่ออกเงินตราสารการเงิน (Floating Rate Note (FRN)) ในตลาดต่างประเทศ

            ต่อมาในปี พ.ศ.2529 ผมยังได้รับทุนจากเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ สำนักงานใหญ่ ทำเป็นทุนที่จัดสรรให้ เป็นครั้งแรก กับทนายความ ในแต่ละประเทศ 3 ทุน และผมเป็นนักกฎหมายจากประเทศไทย ผมเลือกไปศึกษาต่อ ที่มหาวิทยาลัยบริติชโคลัมเบีย แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เพราะสอบคะแนน TOEFL ไม่ถึงที่จะสมัครเรียนมหาวิทยาลัยดังๆ ในสหรัฐอเมริกา 

            โดยการศึกษาปริญญาโทที่ประเทศแคนาดานั้น ทำให้จะต้องทำวิทยานิพนธ์ ทำให้ผมต้องทำการศึกษาอย่างหนักมาก จนกระทั่งเขียนวิทยานิพนธ์ Legal Aspect on Countertrade under Thai and Canadian law จบ และหลังจากนั้นมาไม่เคยมีคนไทยเรียนอยู่ที่นี่อีกเลย ผมจึงเป็นคนไทยคนเดียวที่เรียนจบการ UBC และผมไม่เคยแนะนำให้ใครไปเรียนที่นี่อีกเลย ด้วยเหตุผลที่ต้องทำวิทยานิพนธ์ซึ่งเป็นเรื่องยากมากสำหรับนักศึกษาต่างชาติ 

            เหตุผลที่ผมเลือกหัวข้อนี้เพราะขณะนั้นเนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจการศึกษาเรื่องการทำสัญญซื้อต่างตอบแทน หรือการแลกเปลี่ยนสินค้า ที่เรียกว่า Barter เพื่อนำสินค้ามาแลกเปลี่ยนกันโดยไม่ใช้เงินตราก็เป็นเรื่องน่าสนใจ

            ก่อนกลับกรุงเทพฯ ผมได้ไปฝึกงานที่สำนักงานเมืองโตรอนโตอีก 3 เดือน การไปทำงานและเรียนต่างประเทศกว่า 2 ปี ทำให้ผมได้เปิดมุมมองการทำงานและพัฒนาความสามารถในการทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ด้วยความมุ่งมั้นที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ

ต่อมาเมื่อผมกลับมาในประเทศไทยและเริ่มทำงานอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ.2531 และได้รับแต่งตั้งเป็นหุ้นส่วนของสำนักงานอันเป็นช่วงที่ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้รับเลือกตั้ง และช่วงนั้นเศรษฐกิจไทย ซึ่งได้รับผลพวงจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจตั้งแต่ รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ทำให้มีการขยายตัวการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ โดยมีความตั้งใจให้ประเทศไทยเป็นเสือตัวที่ 5 ในช่วงเวลาดังกล่าว 

            สำนักงานของเราและตัวผมเองต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายการค้าการลงทุน ไม่ว่าจากนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย หรือนักลงทุนไทยที่มีการร่วมทุนกับต่างประเทศ มีการทำสัญญา Joint Venture Agreement การขออนุญาตในการประกอบธุรกิจของบริษัทต่างชาติการยื่นขอ BOI ซึ่งในขณะนั้นธุรกิจที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ จึงมีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ในช่วงเวลาดังกล่าวผมแทบ เกือบจะทำสัญญา Joint Venture อาทิตย์ละ 3-4 บริษัท ประสบการณ์การทำสัญญาการค้าการลงทุนถือได้ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญในการเข้าไปทำงานในตลาดทุนต่อมา

            นอกเหนือจากนี้ ผมยังได้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องด้านกฎหมายกับการควบรวมกิจการของบริษัทเงินทุนให้กับนักลงทุนตามโครงการ 14 เมษายน หนึ่งในนั้นคือ บริษัท เงินทุนจักรวาล ทรัสต์ จำกัด ที่กลุ่มธนาคารกรุงเทพ กลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และกลุ่มเอกธำรง เข้าร่วมลงทุนและซื้อหุ้น และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทเงินทุน นิธิภัทร จำกัด และนำเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ไม่นาน

            ในการเข้าไปเป็นที่ปรึกษากฎหมายในเรื่องดังกล่าวทำให้ผมได้มีประสบการณ์ได้รู้จัก และทำงานร่วมกับ คุณณรงค์ ปัทมะเสวี คุณอนันต์ อัศวโภคิน คุณชาติศิริ โสภณพนิช ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย และ คุณภควัต โกวิทวัฒนพงษ์ ซึ่งถือได้ว่า การเป็นที่ปรึกษากฎหมายและได้ทำงานร่วมกับ คุณณรงค์ ปัทมะเสวี และทีมบริหารของ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นิธิภัทร เป็นการทำให้ผมได้มีความเกี่ยวข้องกับตลาดเงินและตลาดทุน มากขึ้น 

            รวมถึงได้เข้าเป็นกรรมการในตอนที่ บริษัทเงินทุน นิธิภัทร จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การที่ได้ทำหน้าที่กรรมการในบริษัทดังกล่าวทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้ประสบการณ์ กับ กรรมการ ผู้บริหาร ที่มีความสามารถเหล่านั้น และเป็นที่น่าเสียดายว่าเมื่อเกิดวิกฤติปี 40 บริษัทเงินทุน นิธิภัทร ก็หายไปกลายเป็นบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ในปัจจุบัน

            ประสบการณ์การทำงานที่สำคัญในช่วงนั้นที่สำคัญอีกเรื่องคือ การที่ผมได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้ บริษัท การบินไทย จำกัด ในการเจรจาการซื้อเครื่องบินจากกลุ่ม Boeing และ Air Bus รวมถึงการทำสัญญาเช่าเครื่องบิน (Operating Lease) ให้ ผมทำงานร่วมกับทนายความที่ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ที่ฮ่องกง อันเป็นงานที่ทำให้ได้ประสบการณ์การทำสัญญาระหว่างประเทศอีกแบบหนึ่ง ที่ต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ จากงานกฎหมายที่เคยทำแต่เดิมๆ 

            และยังทำหน้าที่ที่ปรึกษากฎหมายจากการนำ บริษัท การบินไทย จำกัด เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ.2535 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังคงเป็นลูกความสำคัญของ เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ในช่วงตอนยื่นฟื้นฟูกิจการอันเป็นงานชิ้นสุดท้ายที่ผมได้ทำก่อนการเกษียณอายุการทำงานเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2564 ผมถือได้ว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นลูกความที่ผมได้ทำงานด้วยอย่างยาวนานที่สุด การทำงานกับรัฐวิสาหกิจแบบ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นที่ทำให้รู้จักผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ที่ปรึกษาการเงิน ข้าราชการระดับสูง โดยท่านเหล่านั้นได้มีส่วนช่วยให้ผมได้ทำงานและเกี่ยวข้องกับภาครัฐและรัฐวิสาหกิจต่อมาหลายโครงการอันเป็นการเรียนรู้ครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในชีวิตการทำงานของผม

            ในช่วงที่ 3 ปี 2534-2544 ช่วงมหาวิกฤติต้มยำกุ้ง จะเป็นช่วงที่มีความสำคัญ ซึ่งผมมีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจตลาดทุน การเงิน และการธนาคาร เป็นอย่างมาก ผมจะได้นำมาเขียนให้ทราบในตอนต่อไป


เกี่ยวกับนักเขียน

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ อดีตประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กูรูด้านภาษี และกฎหมายภาษี มีผลงานการออกหนังสือ พ๊อกเก็ตบุ๊คเกี่ยวกับภาษีต่างๆ การควบรวมกิจการ อาทิ 10 ข้อคิด รู้ภาษี ลดภาษี / 10 ข้อคิด ลดภาษีคนทำงานและนักลงทุน โดยวารสารการเงินธนาคาร และอีกหลากหลายทั้งเรื่องภาษีมรดก ภาษีที่ดิน การควบรวมกิจการ โอกาสของธุรกิจไทย เป็นต้น

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน