AWARDS • MONEY & BANKING AWARDS

รางวัลเกียรติยศ ธนาคารออมสิน

บทความโดย:

“ขอบคุณ วารสารการเงินธนาคาร ขอบคุณลูกค้า ที่ร่วมงาน Money Expo ทุกท่านที่โหวตให้ออมสิน ได้รับรางวัลธนาคาร เพื่อลูกค้ารายย่อยแห่งปี 2565 รวมถึงรางวัลธนาคารยอดเยี่ยม ด้านเงินฝากและธนาคารยอดเยี่ยม ด้านสินเชื่อเอสเอ็มอี ซึ่งการดูแล ลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอี เป็นภารกิจที่ออมสินทำมาอย่างต่อเนื่อง อยู่แล้ว โดยเฉพาะช่วง COVID-19 ไม่ใช่แค่ Survive จากวิกฤติ แต่เราแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมด้วย”

รางวัลเกียรติยศ

รางวัลธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยแห่งปี 2565

Best Retail Bank of the Year 2022

 

ธนาคารยอดเยี่ยม ด้านเงินฝาก 2565

Best Service Provider - Deposit 2022

 

ธนาคารยอดเยี่ยม ด้านสินเชื่อเอสเอ็มอี 2565

Best Service Provider - SME Loan 2022

 

วิทัย รัตนากร

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

 

 หลังจาก วิทัย รัตนากร เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2563 ได้ประกาศเปลี่ยนองค์กรเป็นธนาคารเพื่อสังคม  (Social Bank) อย่างเต็มรูปแบบ โดยเดินหน้าภารกิจช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม จนปัจจุบันผ่านมา 2 ปี ได้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมส่งผลให้ ธนาคารออมสิน ได้รับรางวัลธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยแห่งปี 2565 Best Retail Bank of the Year 2022 นอกจากนี้ ธนาคารออมสิน ยังได้รับ รางวัลธนาคารยอดเยี่ยมด้านเงินฝาก 2565 Best Service Provider - Deposit 2022 และรางวัลธนาคารยอดเยี่ยม ด้านสินเชื่อเอสเอ็มอี 2565 Best Service Provider - SME Loan 2022 ซึ่งเป็นรางวัลที่ได้จากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ร่วมงานมหกรรมการเงิน Money Expo

 วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ขอบคุณ วารสารการเงินธนาคาร และลูกค้าที่ร่วมงาน Money Expo ที่ทำให้ออมสินได้รับรางวัลในครั้งนี้ โดยการตอบรับจากงานมหกรรมการเงิน Money Expo เป็นไปได้อย่างดีทั้งด้านเงินฝากและสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาออมสินเป็นกำลังหลักในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีช่วงสถานการณ์ COVID-19 ด้วยการออกโครงการต่างๆ เช่น โครงการ SMEs มีที่ มีเงิน ช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งคิดว่าออมสินเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่ออกโครงการเพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องมาอย่างต่อเนื่อง

ขอบคุณ วารสารการเงินธนาคาร ขอบคุณลูกค้าที่ร่วมงาน Money Expo ทุกท่านที่โหวตให้ออมสินได้รับรางวัลธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อยแห่งปี 2565 รวมถึงรางวัลธนาคารยอดเยี่ยมด้านเงินฝากและธนาคารยอดเยี่ยมด้านสินเชื่อเอสเอ็มอี ซึ่งการดูแลลูกค้ารายย่อยและเอสเอ็มอีเป็นภารกิจที่ออมสินทำมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วโดยเฉพาะช่วง COVID-19”

 

ใช้เวลา 2 ปี เปลี่ยนออมสิน

เป็นธนาคารเพื่อสังคมได้สำเร็จ

วิทัยกล่าวว่า ตามที่ธนาคารออมสินได้ปรับยุทธศาสตร์เป็นธนาคารเพื่อสังคมเมื่อปี 2563 โดยได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนในการลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงสินเชื่อของประชาชนฐานรากด้วยดอกเบี้ยที่เป็นธรรม และยึดหลักนำกำไรจากการประกอบธุรกิจปกติ มาสนับสนุนภารกิจเชิงสังคมควบคู่ไปกับการบริหารจัดการเสริมความแข็งแกร่งของธนาคารด้วยในเวลาเดียวกันด้วยบทบาทและภารกิจเพื่อสังคมตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ได้เกิด

ผลสำเร็จมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมในทุกมิติ และสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมในวงกว้าง

“2 ปีที่ผ่านมา เป็นการปรับ Position ของธนาคารเป็นธนาคารเพื่อสังคมอย่างชัดเจน ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนองค์กรที่ยิ่งใหญ่มากและผมคิดว่าสามารถเปลี่ยนออมสินให้เป็นธนาคารเพื่อสังคมได้สำเร็จแล้ว แต่ยังต้องทำให้ลึกและกว้างมากขึ้นกว่านี้ ซึ่งผมมีความสุขที่ได้ช่วยคนและคิดว่าพนักงานออมสินกว่า 22,000 คนมีความสุขเช่นกันเพราะการเป็นธนาคารเพื่อสังคมคือรากฐานของเราจริงๆ”

นอกจากนี้ ออมสินได้ดำเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการส่งต่อความช่วยเหลือให้ประชาชนและภาคธุรกิจ ผ่านมาตรการและโครงการต่างๆกว่า 45 โครงการ มีประชาชนได้รับประโยชน์และความช่วยเหลือแล้วจำนวนกว่า 13 ล้านราย โดยเป็นผู้ที่ได้รับสินเชื่อ 5.7 ล้านรายในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ไม่เคยมีประวัติเครดิตและเป็นการเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้เป็นครั้งแรกมากถึง 2.76 ล้านราย

สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจแล้วเป็นเม็ดเงินกว่า 195,000 ล้านบาท รวมถึงได้ช่วยเหลือประชาชนที่ตกงานหรือขาดรายได้ให้สามารถกลับมามีอาชีพ และสร้างรายได้ กว่า 100,000 รายขณะที่ธนาคารยังประสบความสำเร็จในการริเริ่มโครงการใหม่ที่ช่วยให้คนฐานรากและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบด้วยต้นทุนที่ถูกลงและเป็นธรรม ได้แก่

        (1) การเข้าทำธุรกิจจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงช่วยปรับโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจนี้ให้ลดต่ำลง จาก 28% เหลือ 16-18% โดยอนุมัติสินเชื่อให้คนฐานรากแล้วกว่า 1 ล้านราย

         (2) การปล่อยสินเชื่อโดยพิจารณาจากที่ดินซึ่งเป็นหลักประกันในโครงการสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน ทำให้สามารถอนุมัติสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงเวลายากลำบากแล้วเป็นวงเงินกว่า 21,000 ล้านบาท

การทำธุรกิจจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์ถือว่าประสบความสำเร็จจากตอนแรกที่ประกาศว่าจะลดดอกเบี้ยลงมาให้ได้ 10% ก็ทำได้จริงๆ ทำให้ช่วยคนได้กว่า 1 ล้านราย”

 

เดินหน้าดัน 3 โครงการครึ่งปีหลัง

พร้อมทำ Social Mission Integration

วิทัยกล่าวว่า สำหรับโครงการที่ออมสินวางแผนจะดำเนินการในครึ่งหลังของปี 2565 ประกอบด้วย

         1. ธนาคารจะเริ่มเข้าทำธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝากเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนถูกลงและเป็นธรรมสำหรับคนไทย โดยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2565

        “เราอยากช่วยเอสเอ็มอีที่ไม่สามารถขอสินเชื่อจากธนาคารได้จากข้อจำกัดต่างๆ เช่น เรื่องการตรวจเครดิต ดังนั้น  การตั้งเป็นบริษัทลูกจะทำให้เงื่อนไขการอนุมัติผ่อนปรนมากขึ้นทำให้ช่วยเอสเอ็มอีได้แน่นอน นอกจากนี้ในอนาคตบริษัทร่วมทุนจะดำเนินการเรื่องการประกอบธุรกิจนอนแบงก์ ธุรกิจสินเชื่อบุคคล และสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ โดยจะทำให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าตลาดอย่างน้อย5% เหมือนที่เราทำกับสินเชื่อจำนำทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์”

        2. การทำ Digital Lending โดยที่ผ่านมาได้ปล่อยสินเชื่อ ผ่าน MyMo ได้มากถึง 1.6 ล้านราย และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำนวน 5.4 แสนราย ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 โดยที่ลูกค้าประชาชนไม่ต้องไปติดต่อที่สาขา ตอกย้ำการขับเคลื่อนบทบาทธนาคารเพื่อสังคมที่ตั้งเป้าช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินได้อย่างชัดเจน

         “การทำ Digital Lending ของธนาคารยังต้องพัฒนาต่อ เช่นการอนุมัติสินเชื่อผ่าน MyMo โดยที่ไม่ต้องดูรายได้แต่ใช้การดูพฤติกรรมของลูกค้า หรือ Alternative Data โดยจะเริ่มโครงการต้นแบบในเดือน พ.ย. 2565 เราคาดหวังว่าทำได้สำเร็จจะช่วยให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อรายย่อยได้ดียิ่งขึ้นและครอบคลุมมากขึ้น”

         3. เร่งรัดการช่วยเหลือฟื้นฟูคุณภาพชีวิตประชาชนผ่านโครงการสร้างงานสร้างอาชีพวงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าช่วยผู้เดือดร้อนได้ถึง 200,000 ราย ภายในสิ้นปี 65 ทั้งนี้ โครงการสร้างงานสร้างอาชีพปัจจุบันช่วยผู้เดือดร้อนได้แล้ว 110,000 แสนราย วงเงินประมาน 4,300 ล้านบาท คาดว่าจะครบวงเงิน 5,000 ล้านบาทก่อนเดือน ก.ย. 65

         “ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ออมสินมีแผนทำ 3 โครงการ ได้แก่ ธุรกิจสินเชื่อที่ดินและขายฝาก Digital Lending และการเร่งรัดโครงการสร้างงานสร้างอาชีพ ซึ่ง 3 โครงการนี้จะช่วยประชาชนได้ครอบคลุมทั้งเอสเอ็มอี ลูกค้ารายย่อย และกลุ่มฐานราก”

นอกจากนี้ ธนาคารจะยกระดับโดยการเป็นธนาคารเพื่อสังคมด้วยการขยายผลให้ทุกมิติที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะเป็นกระบวนการดำเนินงานหลัก หรือด้านผลิตภัณฑ์และบริการจะต้องมีการนำปัจจัยด้านสังคมเข้ามาบูรณาการทุกด้าน (Social Mission Integration)

โดยจะทำให้เกิด 1. ความลึกลงในการปฏิบัติงาน (Embedded in Core Business Process) 2. ความยั่งยืนทางธุรกิจและสังคม (Sustainability) และ 3. ผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง (Broaden Positive Impact) เช่น การบูรณาการปัจจัยด้านสังคมลงในกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การบริหารจัดการทรัพยากร การปรับวิธีการประเมินผลสำเร็จของงาน หรือในการจัดทำโครงการต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ออมสินจะเน้นการบริหารจัดการเสริมความแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง การลดต้นทุนบริหารจัดการและการควบคุมค่าใช้จ่ายยังเป็นแนวทางหลักในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้สามารถทำกำไรและนำกำไรบางส่วนไปสนับสนุนภารกิจเพื่อสังคม