AWARDS • MONEY & BANKING AWARDS

รางวัลเกียรติยศ บริษัทยอดเยี่ยม แห่งปี 2565 ตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย และบริษัทยอดเยี่ยม กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 2565 บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี

บทความโดย:

“การได้รับรางวัล บริษัทยอดเยี่ยม กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรม 2565 ถือเป็นความภูมิใจของบริษัทอย่างมาก ที่ผ่านมา บริษัทที่ได้รับรางวัลนี้ส่วนใหญ่ จะเป็นองค์กรชั้นนำระดับแถวหน้าของประเทศซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะก้าวมาถึงจุดนี้ แต่เราก็เติบโตมาเรื่อยๆ จนในที่สุดก็มาถึงจุดที่เราสามารถคว้ารางวัลบริษัทยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จรางวัลนี้เป็นตัวการันตีและเป็นเครดิตที่ดีต่อกลุ่มศรีตรังอย่างมาก”

รางวัลเกียรติยศ

บริษัทยอดเยี่ยม แห่งปี 2565 ตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย

Best public company  the year 2022 SET

 

บริษัทยอดเยี่ยม กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 2565

Best public company Agro and Food Industry 2022

 

วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล

กรรมการผู้จัดการใหญ่

บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี



บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล บริษัทยอดเยี่ยมแห่งปี 2565 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  Best public company of the year 2022 set  และบริษัทยอดเยี่ยม กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรม 2565 (Best Public Company - Agro and Food Industry 2022) เป็นผลลัพธ์จากความพยายาม และการทุ่มเต็มกำลัง ในสิ่งที่เชี่ยวชาญ ซึ่งพิสูจน์จากการคว้ารางวัลครั้งนี้แล้วว่า แม้ระหว่างทางจะมีอุปสรรคกั้นขวาง แต่หากยึดมั่นบนเส้นทางที่ถูกต้อง ก็สามารถพาตัวเองไปสู่ความสำเร็จได้เช่นกัน

วีรสิทธิ์ สินเจริญกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจ ที่บริษัทศรีตรังฯ สามารถคว้ารางวัลบริษัทยอดเยี่ยม กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรม 2565 มาครองได้สำเร็จ รางวัลนี้เป็นรางวัลที่มีค่าเพราะ “การเงินธนาคาร” เป็นสื่อทางธุรกิจอันดับต้นๆของประเทศไทย มีความน่าเชื่อถือสูง โดยส่วนตัวติดตามผลการตัดสินรางวัลบริษัทยอดเยี่ยมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมามักเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่จะได้รับรางวัลนี้ แต่บริษัทศรีตรังฯก็มุ่งมั่นพัฒนาตัวเอง จนในที่สุดก็สามารถก้าวเข้ามาอยู่ในจุดนี้ได้สำเร็จ

 

ขับเคลื่อนธุรกิจจากความเชี่ยวชาญ

สู่แชมป์ผู้ผลิตยางเบอร์ 1 ของโลก

วีรสิทธิ์กล่าวว่า หัวใจความสำเร็จของบริษัทศรีตรังฯ คือ “การโฟกัสในสิ่งที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ” เพราะธุรกิจของกลุ่มศรีตรังเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ มีความผันผวน มีช่วงเวลาที่ดีและไม่ดีสลับกันไปมา ซึ่งในปีที่ไม่ดี นักลงทุนมักจะถามว่า “ทำไมไม่ทำสิ่งที่เป็นกระแสในขณะนั้น” เช่น การลงทุนในพลังงานทางเลือก การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล หรือการปลูกกัญชงแต่ศรีตรังมองว่ากระแสเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ตนเองถนัดหรือมีองค์ความรู้ ยกเว้นกัญชงที่มีการทดลองปลูกเพื่อดูผลตอบรับแต่ก็ไม่ถือว่าเป็นธุรกิจหลักของบริษัท

“เราบอกนักลงทุนเสมอว่า บริษัทศรีตรังฯจะมุ่งเน้นในสิ่งที่เชี่ยวชาญ โฟกัสในธุรกิจหลัก และฝึกบุคลากรของเราจากองค์ความรู้ที่มี แม้ว่าระหว่างทางจะมีช่วงเวลาที่ไม่ดีจากความผันผวนของราคาอยู่บ้าง แต่แนวทางนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าการที่เรายึดมั่นกับสิ่งที่เราเชี่ยวชาญ ก็สามารถพาตัวเองให้ประสบความสำเร็จได้”

วีรสิทธิ์เผยว่า นอกจากแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจจาก ความเชี่ยวชาญแล้ว กลุ่มบริษัทศรีตรังยังมีสิ่งที่ถือเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ นั่นคือการมุ่งเน้นใน 2 เรื่องสำคัญคือ

       1. การลงทุนในเทคโนโลยี แม้ว่าธุรกิจการผลิตยางจะถูกจัดอยู่ในประเภทอุตสาหกรรมเก่า แต่บริษัทศรีตรังฯก็มีการลงทุนนำระบบอัตโนมัติ (Automation & Robotic) มาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้อุตสาหกรรมเก่าอย่างการผลิตยางยังคงอยู่และเติบโตในยุคปัจจุบันได้

       2. มุ่งเน้นในเรื่องความยั่งยืน กลุ่มศรีตรังมุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการลงทุนตั้งโรงงานของศรีตรังนั้นจะตระหนักถึงชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบข้างอยู่เสมอ เป็น Green Conceptในทุกกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็น การดูแลสุขภาพของบุคลากรการซื้อ-ขายยางที่เป็นธรรม ใช้ราคามาตรฐานโลกที่ผู้ซื้อและผู้ขายยอมรับ การใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน การบำบัดน้ำเสีย รวมถึงการลงทุนเพื่อกำจัดกลิ่นจากการผลิตยาง เพื่อให้มีผลกระทบกับชุมชมบริเวณรอบข้างน้อยที่สุด

“หากมองในมุมคนนอก ธุรกิจยางมักจะมีแต่ข่าวไม่ดี ขณะที่ตัวธุรกิจยางก็ดูไม่น่าสนใจสำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ด้วยความที่เราโฟกัส เราใช้ประสบการณ์ ยกระดับความเชี่ยวชาญ ไม่ไขว้เขวนั่นจึงทำให้เรามาอยู่ในจุดนี้ได้ เป็นจุดที่เรามีปริมาณการซื้อการผลิต และการส่งออกยางธรรมชาติเป็นอันดับ 1 ของโลก”

 

ตั้งเป้าครองส่วนแบ่งยางโลก 12%

ทุ่ม 10,000 ล้านขยายกำลังผลิต

วีรสิทธิ์กล่าวว่า บริษัทศรีตรังฯตั้งเป้าครองส่วนแบ่งยางในตลาดโลกให้ได้ 12% ภายในปี 2567 ขยับส่วนแบ่งตลาดจาก 10% เป็น 12% โดยจะเร่งขยายกำลังการผลิตยางธรรมชาติอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องการการบริโภคยางธรรมชาติในตลาดโลกที่เติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 3% โดยกำลังการผลิต ณ สิ้นปี 2565 จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.31 ล้านตัน จาก 2.81 ล้านตัน ในสิ้นปี 2564

“ช่วงนี้เป็นช่วงขยายกำลังการผลิต โดยเฉพาะยางแท่งเพื่อรองรับการเติบโตของความตลาด โดยCAPEX สำหรับธุรกิจยางธรรมชาติที่วางแผนไว้สำหรับการขยายกำลังการผลิตอยู่ราว 10,000 ล้านบาท เพื่อให้บรรลุเป้าหมายกำลังการผลิตยางธรรมชาติที่ 4.24 ล้านตัน ในปี 2567”

วีรสิทธิ์กล่าวต่อว่า สาเหตุที่เน้นขยายการลงทุนในเวลานี้เพราะความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น จากปัจจัยบวกสำคัญคือการเริ่มเปิดประเทศ ซึ่งจะมีผลโดยตรงที่ทำให้ความต้องการใช้ยางสูงขึ้น ทั้งจากการเดินทางผ่านรถยนต์ที่ต้องใช้งานยางล้อภาคการขนส่งที่อั้นมาตลอดช่วงการระบาดของ Covid-19ตลอดจนโรงงานผลิตที่สามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังโดยไม่หยุดชะงัก เวลานี้จึงถือเป็นช่วงขาขึ้นของธุรกิจที่กำลังเริ่มไต่ระดับเข้าสู่วงจรปกติ หลังจากหยุดชะงักไปในช่วงที่มีการระบาดของ Covid-19

ส่วนปัจจัยด้านเศรษฐกิจในเรื่องเงินเฟ้อสูง และการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย น่าจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ยางอยู่บ้างแต่ในภาพใหญ่ก็ยังถือว่ามีความต้องการเพิ่มขึ้น เพราะผู้คนมีอิสระในการเดินทาง ทำให้เวลานี้ถือเป็นช่วงที่เหมาะสมในการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วง 3-5 ปีนี้

“ประเทศไทยเป็นผู้เล่นหลักในตลาดยางโลก รองลงมาคือ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งตอนนี้ Supply ฝั่งประเทศอินโดนีเซียประสบปัญหา จากโรคใบร่วง ทำให้ Demand วิ่งเข้ามาในประเทศไทยค่อนข้างเยอะ เป็นผลกระทบเชิงบวกที่ทำบริษัทศรีตรังฯต้องเร่งขยายกำลังการผลิตเพื่อกินส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นได้”วีรสิทธิ์เผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้ยางมากที่สุดถึง 80% และอีกราว 12% เป็นถุงมือยางส่วนที่เหลือราว 8% เป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ยางยืด พื้นรองเท้าและวัสดุประกอบอื่นๆ โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทศรีตรังฯที่ป้อนให้อุตสาหกรรมรถยนต์คือ ยางแท่งและยางแผ่น ส่วนน้ำยางจะป้อนให้กับการผลิตถุงมือยาง และยางยืดต่างๆ

“เราจะเน้นเพิ่มการผลิตยางแท่งเพื่อป้อนเข้าอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นหลัก ส่วนยางแผ่นจะค่อยๆ ลดปริมาณการผลิตลง เพราะราคาแพงกว่ายางแท่ง และความต้องการใช้ก็น้อยลงต่อเนื่อง”

ส่วนกระแส Disruption ในหลายอุตสาหกรรมนั้น มองว่าธุรกิจการผลิตยางธรรมชาติ “เหมือนจะถูก Disruption เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ” เพราะมีการพูดถึงเรื่องนี้มากว่า 20 ปีว่า ในอนาคตผลิตภัณฑ์ประเภทยางสังเคราะห์จะเข้ามาแทนที่ผลิตภัณฑ์ยางพาราทั้งหมด มีการคิดค้นยางสังเคราะห์ประเภทใหม่ๆ ต่อเนื่อง แต่หากดูสถิติตลอด 30 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า สัดส่วนการใช้งานระหว่างยางสังเคราะห์และยางพาราของทั้งโลกจะเฉลี่ยอยู่ที่ 50% แม้ว่าจะมียางสังเคราะห์บางชนิดที่สามารถทดแทนยางธรรมชาติได้ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว แต่ก็ยังมีราคาที่แพงกว่ามาก ทำให้ผู้ผลิตยางรถยนต์หรือถุงมือยาง หันมาใช้ยางธรรมชาติเป็นหลักเพราะมีราคาถูกกว่า 


เดินหน้าทำ R&D ยกระดับสินค้า

ยึดตำแหน่งผู้นำในตลาดโลก

วีรสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับการรักษาความเป็นผู้นำของกลุ่มบริษัทศรีตรังนั้น จะมุ่งเน้นที่การวิจัยและพัฒนา (Research & Development : R&D) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของตัวผลิตภัณฑ์ยางแท่ง ยางแผ่น และน้ำยางข้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบขั้นกลางน้ำที่ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ (Industrial Raw Material)โดยการทำ R&D จะเป็นการปรับสูตรผสมยางใหม่ให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้า โดยจะดำเนินการไปพร้อมกับการขยายธุรกิจเพื่อครองส่วนแบ่งตลาดให้เยอะขึ้น ตลอดจนการลงทุนเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต

บริษัทศรีตรังฯ ยังมีแอปพลิเคชั่นชื่อว่า “ศรีตรังเพื่อนชาวสวน SRI TRANG FRIENDS” ที่เดิมที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้คู่ค้าที่มาขายยางให้กับกลุ่มบริษัทศรีตรัง ต่อมาได้เริ่มพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้รองรับการใช้งานครอบคลุมไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งชาวสวนยางคู่ค้า และลูกค้า สร้างเป็น Ecosystemของอุตสาหกรรมยางพาราไม่ว่าจะเป็นการสร้างระบบในการช่วยบริหารจัดการสวนยาง ครอบคลุมไปถึงการใช้แอปพลิเคชั่นในการขายยางให้กับกลุ่มบริษัทศรีตรังขณะที่ลูกค้าก็สามารถรู้ได้ว่ายางที่ซื้อไปมาจากสวนยางในพื้นที่ไหนโดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเวอร์ชั่นใหม่ให้มีความสมบูรณ์โดยจะมาพร้อมกับฟีเจอร์ใหม่ที่ตอบโจทย์ชาวสวนยางมากขึ้น