AWARDS • MONEY & BANKING AWARDS

รางวัลเกียรติยศ บริษัทยอดเยี่ยมแห่งปี 2565 กลุ่มบริการ 2565 Best Public Company Service Industry 2022 บมจ.อาร์ ซี แอล

บทความโดย:

“การที่บริษัทมีบุคลากรกว่า 85% เป็นคนไทย แต่สามารถบริหารจัดการงานของธุรกิจกองเรือที่มีอยู่เกือบ 50 ลำ ยิ่งเป็นเป็นตอกย้ำความภาคภูมิใจ ของคนไทย ที่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ รวมทั้งบริษัทมีการวางแผนบริหารจัดการ ทำให้ต้นทุนของบริษัทต่ำที่สุด แต่ลูกค้ายังคงได้รับบริการที่ดี ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผลประกอบการของบริษัทออกมาค่อนข้างดี”

รางวัลเกียรติยศ

บริษัทยอดเยี่ยมแห่งปี 2565กลุ่มบริการ 2565

Best Public Company Service Industry 2022

 

ทวินโชค ตันธุวนิตย์

กรรมการผู้จัดการ

บมจ.อาร์ ซี แอล

 

ด้วยยุทธศาสตร์ของบริษัทที่เน้นการมีข้อมูลสนับสนุนที่ครบถ้วน สามารถปรับเปลี่ยนและตัดสินใจเคลื่อนย้ายกองเรือได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเข้าไปขยายตลาดในพื้นที่ที่เป็นโอกาสของบริษัทได้อย่างทันท่วงที ส่งผลให้ บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล บริษัทยอดเยี่ยมแห่งปี 2565 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในกลุ่มบริการ 2565 (Best PublicCompany - Service Industry 2022)

 

ปัจจัยสู่ความสำเร็จ

ทวินโชค ตันธุวนิตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ ซีแอลจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทรู้สึกยินดีมากที่ได้รับรางวัล บริษัทยอดเยี่ยมแห่งปี กลุ่มบริการ เพราะเป็นรางวัลที่จะเป็นกำลังใจให้กับบริษัทและพนักงานทุกคนในการทำงาน โดยสาเหตุที่ทำให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดีนั้นมาจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยในที่ผลักดันให้บริษัทประสบความสำเร็จ ซึ่งความสำเร็จจากปัจจัยภายนอกก็เริ่มจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการสินค้ามีมากกว่าจำนวนเรือที่มีอยู่ จึงเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถนำเสนอบริการให้กับลูกค้าได้

ขณะที่ความสำเร็จจากปัจจัยภายในซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากกว่า คือ 1.มีการวางแผนบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ จนสามารถทำให้ต้นทุนของบริษัทต่ำที่สุดแต่ลูกค้ายังคงได้รับบริการที่ดี รวมถีงมีการขยายเส้นทางการเดินเรือออกไปในตลาดใหม่ๆ ที่มีการเติบโตสูง และ 2. บุคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่งบริษัทได้เน้นย้ำถึงการทำงานร่วมกันเป็นทีม เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากที่สุดซึ่งผลที่ได้รับออกมาก็เป็นที่น่าพึงพอใจ โดยบุคลากรในองค์กรโดยเฉพาะที่ทำงานใน Head Office กว่า 85%เป็นคนไทยทั้งหมด

“การที่บริษัทมีบุคลากรกว่า 85% เป็นคนไทย แต่สามารถบริหารจัดการงานของธุรกิจกองเรือที่มีอยู่เกือบ 50 ลำยิ่งเป็นเป็นตอกย้ำความภาคภูมิใจ ของคนไทยที่สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ รวมทั้งบริษัทมีการวางแผนบริหารจัดการทำให้ต้นทุนของบริษัทต่ำที่สุดแต่ลูกค้ายังคงได้รับบริการที่ดี ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผลประกอบการของบริษัทออกมาค่อนข้างดี”

 

5 มาตรการรับมือความผันผวน

ทวินโชคกล่าวว่า สำหรับในช่วงครึ่งปีหลังนี้ บริษัทกำลังเจอกับสิ่งที่มีความผันผวนสูง โดยมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยที่อาจจะทำให้มีความต้องการสินค้าน้อยลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจการเดินเรือด้วย บริษัทจึงได้กำหนด 5 มาตรการ เพื่อเป็นการรักษาฐานลูกค้าและอัตราการเติบโตของบริษัทท่ามกลางความผันผวนที่เกิดขึ้น ดังนี้

        มาตรการที่ 1 การหาช่องทางที่จะขยายธุรกิจไปยังตลาดที่มีการเติบโตสูง เช่น การขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งปัจจุบันได้มีการสานความสัมพันธ์ใหม่ของทั้ง 2 ประเทศขึ้นอีกครั้งแล้ว

        มาตรการที่ 2 การมุ่งเน้นความคุ้มค่าในการทำธุรกิจ โดยจะเน้นไปที่การวางแผนบริหารจัดการเพื่อให้ผลประกอบการของบริษัทดีที่สุดเป็นหลัก แต่จะไม่เติบโตด้วยการเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด

       มาตรการที่ 3 การเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินภายในของบริษัท โดยมองหาแนวทางในการบริหารจัดการหนี้สินให้ต่ำที่สุด และต้องมีกระแสเงินสดที่มากเพียงพอเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของฐานะการเงิน

       มาตรการที่ 4 การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานโดยการเพิ่มพูนความรู้ให้กับบุคลกรอย่างต่อเนื่อง เน้นการมีข้อมูลสนับสนุนที่ครบถ้วน สามารถปรับเปลี่ยนและตัดสินใจเคลื่อนย้ายกองเรือได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเข้าไปขยายตลาดในพื้นที่ที่เป็นโอกาสของบริษัทได้อย่างทันท่วงที

        มาตรการที่ 5 การพัฒนาคุณภาพการบริการ ให้ทันสมัยและลูกค้ามีความพึงพอใจมากขึ้น

 

ปี 2565 เติบโตไม่ต่ำกว่า 10%

ทวินโชคกล่าวว่า ปัจจุบันธุรกิจของบริษัท แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่ 1 การรับขนส่งทางทะเลและตู้คอนเทนเนอร์กลุ่มที่ 2 โลจิสติกส์ และ กลุ่มที่ 3 ธุรกิจเจ้าของเรือในการขนส่งทางทะเลโดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ ตู้ของบริษัท (Container Owned Container :COC) และ ตู้ของลูกค้า (Shipper Owned Container : SOC) โดยในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ บริษัทจะให้บริการในส่วนของ SOC เป็นหลัก จนกระทั่งเมื่อ 25 ปีก่อนจึงได้ตัดสินใจลงทุนและเริ่มต้นในส่วนของ COC จากธุรกิจขนาดเล็กจนเติบโตมาถึงในปัจจุบัน

ทั้งนี้ บริษัทเป็นเจ้าของและดำเนินการกองเรือ 49 ลำซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 400 TEU ถึง 6,400 TEU นอกจากนี้ ยังมีกองเรือจำนวน 94,439 TEU เพื่อรองรับการขนส่ง COCของตัวเองด้วย ขณะเดียวกัน บริษัทได้มีการสร้างเครือข่ายด้านโลจิสติกส์กับลูกค้าและเอเยนซี่สำคัญๆ ในต่างประเทศ จำนวน 69 แห่ง และได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการบริการ SOC และ เป็นผู้บริหารท่าเรือจำนวน 1 ท่าในภูมิภาคเอเชีย

สำหรับในปี 2565 บริษัทตั้งเป้าปริมาณการขนส่งเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ตามความต้องการขนส่งสินค้าทางเรือที่ยังเติบโตสูง และบริษัทได้เพิ่มเส้นทางการขนส่งมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งการที่บริษัทสามารถเคลื่อนย้ายธุรกิจไปในตลาดที่มีการเติบโตสูงได้ ทำให้สามารถเติบโตได้แม้ว่าตลาดอื่นจะไม่เติบโตเลยก็ตาม

“ยุทธศาสตร์ของ RCL คือ พื้นที่ไหนที่มีการเติบโต เราต้องรู้ให้เร็ว มีข้อมูลสนับสนุนที่ครบถ้วน สามารถปรับเปลี่ยนและตัดสินใจเคลื่อนย้ายกองเรือได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเข้าไปขยายตลาดในพื้นที่ที่เป็นโอกาสของบริษัทได้อย่างทันท่วงที เพราะธุรกิจนี้ ถ้าอยู่นิ่งก็เท่ากับถอยหลัง”

ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ บริษัทวางแผนที่จะขยายตลาดไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน อินเดีย และตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น พร้อมกับวางแผนจะเพิ่มกองเรืออีก เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจในระยะยาวด้วย

ทวินโชคกล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมทยอยนำเรือที่เคยปล่อยเช่าไปกลับมาเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าเองพร้อมเตรียมรับเรือเพิ่มเข้ามาอีก 2 ลำ ที่ยังคงเน้นการบริหารจัดการกองเรืออย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้เรือขนส่งสินค้าของลูกค้าที่มีจำนวนมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นซึ่งกระทบต่อค่าใช้จ่ายของบริษัทที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ในเรื่องนี้ บริษัทได้มีการทำสัญญาซื้อขายน้ำมันล่วงหน้าไว้บางส่วนแล้วเพื่อรักษาต้นทุนของบริษัทให้ต่ำที่สุด