THE GURU • FINTECH&STARTUP

บาท Digital จะมาตาม หยวน Digital ได้หรือไม่ มีคำตอบ ?

บทความโดย: แซม ตันสกุล


            วันนี้ที่ผมเขียนบทความนี้อยู่ ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศอยู่ในจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่ยังไม่มีเทรนด์ที่ลดลง ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากหลายองค์กรว่าคนไทยมีการปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด และจะทำให้เศรษฐกิจของเราไม่ตกต่ำมากอย่างที่คาดการ

            แต่จากการที่ประชาชนชาวไทยได้ใช้ชีวิตในช่วงล็อคดาวน์นานกว่า 2 เดือน ทำให้พฤติกรรมในการของคนไทยได้เปลี่ยนไปแบบ New Normal ทั้งในการบริโภค การทำงาน หรือ แม้กระทั่งธุรกรรมการเงิน ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ชัดเจนคือ คนไทยเริ่มกลัวการใช้ธนบัตรในการชำระสินค้า จนมีการรณรงค์ให้ชำระผ่านช่องทาง Digital มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน หรือจ่ายผ่าน QR หรือแม้กระทั่งการใช้ pay wave ในการใช้บัตรเครดิตแตะด้วยตัวเองแทนการรูด ซึ่งเมืองไทยก็ได้เริ่มการชำระแบบนี้มาสักระยะแล้ว แต่ก็ยังไม่แพร่หลายมากนัก จนประจวบเหมาะกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และทำให้เราน้อมรับไปใช้

            ซึ่งการจ่ายในลักษะนี้ ก็คล้ายกับที่ประเทศจีน ที่ทุกท่านคงทราบดี ว่าเป็นประเทศที่เป็น Cashless Society โดยใช้ Alipay หรือ WeChat Pay จ่ายเงิน เพียงแต่ที่จีนใช้กันอย่างมาก เพราะประชาชนกลัวธนบัตรปลอม จนทำให้ไม่เกิดความเชื่อมั่นและก่อให้เกิดการศรัทธาในการใช้เงินบน e-wallet แทน เพียงแต่ทุกวันนี้เงินที่อยู่ใน Alipay ก็ยังสามารถถอนออกมาเป็นเงินสดได้ ซึ่งรัฐบาลกลางของประเทศก็ได้ออกความคิดที่จะทำ เงินยวน ดิจิทัล (Yuan Digital) ที่ออกจากรัฐบาล โดยมีค่าเท่ากับ เงินหยวนจริงๆ ซึ่งในศัพท์ทาง fintech จะเรียกว่า Stable Coin คือ เงินผูกกับค่าใดค่าหนึ่ง ถ้าค่าเงินนั้นขึ้น หรือ ลง เงินดิจิทัล นั้นก็จะขึ้นลงตาม (ซึ่งต่างจาก Bitcoin ที่เป็น Trading Coin ที่สามารถเก็งกำไร และราคาขึ้นลงตามการซื้อขาย)  โดยที่ Stable Coin นั้นก็คงคล้ายกับโปรเจค Libra ที่ทาง Facebook ทำออกมา (แต่ได้รับการต่อต้านอย่างมาก เพราะเน้นเรื่องการโอนเงินออกจาประเทศมากเกินไป)

      

            แล้วอะไรคือเหตุผลที่รัฐบาลจีนต้องออกมาทำ Yuan Digital  หลักๆ เลยคือ รัฐต้องการควบคุมและตรวจสอบการไหลเวียนของเงิน เนื่องจากเมื่อเป็นเงินดิจิทัล จะบันทึกในระบบ Blockchain ทำให้ทราบทันทีว่าเงินที่ผลิตออกมา 100 ล้านหยวน แล้วเงินเหล่านี้ ตอนนี้ไปอยู่ในมือใครบ้าง และมีการหมุนเวียนไปถึงชนชั้นระดับไหนบ้าง ซึ่งถ้าเป็นเงินปกติ เราก็คงไม่สามารถเช็คอะไรได้ นี่ไม่นับถึงการที่รัฐจะไม่ต้องพิมพ์ธนบัตรออกมา ทำให้รัฐประหยัดเงินได้มาก และประชาชนเองก็จะไม่ต้องจับธนบัตรอีกต่อไป           

            ทั้งนี้รัฐบาลจีนกำลังจะเริ่มที่ 4 เมืองเศรษฐกิจใหม่ คือ เสิ่นเจิ้น เฉิงตู ซูโจว และ เซียงอัน โดยมี 19 ร้านค้าอาทิ Starbucks , Subways และ McDonald’s ที่จะร่วมมือในการรับเงินหยวนดิจิทัล และพนักงานรัฐในเมืองเหล่านี้ก็จะได้รับเงินเดือนบางส่วนเป็นหยวน ดิจิทัล เพื่อนำมาใช้จ่ายต่อไป

            คำถามคือ แล้วเราจะมีโอกาสได้เห็นเงินบาท ดิจิทัล หรือไม่ ซึ่งตอนนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เริ่มศึกษาเรื่องนี่อย่างจริงจัง ต่อจากโปรเจค อินทนนท์ที่ทำเงินดิจิทัลไว้สำหรับการโอนระหว่างประเทศ โดยที่แบงก์ชาติก็มีจุดมุ่งหมายเดียวกันกับรัฐบาลจีนในการให้ประชาชนใช้เงินดิจิทัล เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมไร้เงินสด และเงินเหล่านั้นก็สามารถเห็นการหมุนเวียนผ่านระบบได้เช่นกัน

            ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นไม่ก็อยู่ที่ทั้งภาครัฐเองจะออกมาตรการกระตุ้นอย่างไรให้คนไทยเห็นคุณค่าและใช่อย่างต่อเนื่อง และคนไทยเองก็ต้องหันมามองอนาคตเรื่องนี้อย่างจริงจังและยึดความสำเร็จที่ประเทศจีนทำไว้จนทำให้เศรษฐกิจดี

            ผมก็หวังว่าอีกไม่นาน พวกเราจะได้ใช้เงินบาท ดิจิทัล กันสักทีครับ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เกี่ยวกับนักเขียน

แซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ กรุงศรี ฟินโนเวต กรรมการ บริษัท ฟินโนมีนา จำกัด กรรมการ บริษัท บานเนีย จำกัด กรรมการสมาคมฟินเทคประเทศไทย

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน