THE GURU • MONEY&US

ลูกหนี้ผู้มีบารมี เกินกำลังทรัพย์

บทความโดย: วรวรรณ ธาราภูมิ

            ปฏิเสธไม่ได้ว่านับแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 มา 75 ปี เงิน US Dollar ก็ยังเป็นเงินตราที่คงความนิยมเป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่างเหนียวแน่น

            ทั้งๆ ที่สัดส่วนของเศรษฐกิจที่วัดด้วย GDP ของตน ต่อ GDP โลก ลดลงจากเกือบ 40% ในปี 1960 เหลือประมาณ 25% ในวันนี้

            ทั้งๆ ที่สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อ GDP (Debt/GDP Ratio) ของเขาเป็น 53% ในปี 1960 เพิ่มขึ้นมาโดยตลอดจนกลายเป็นใกล้ 24 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 114% ของ GDP ล่าสุด

            ทั้งๆ ที่เป็นอย่างนี้ ผลของ COVID 19 ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนทั่วโลกวิ่งเข้าหา US Dollar เพื่อเป็นหลุมหลบภัย (เหมือนกับที่เคยทำเมื่อปี ค.ศ.2008) ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ต้องพิมพ์เงินดอลลาร์สหรัฐ ออกมาเพิ่มอีกจำนวนมาก เพื่อสนองตอบความต้องการของนักลงทุนทั่วโลก

            และกว่า 29% ของพันธบัตรสหรัฐฯ มีเจ้าหนี้เป็นต่างชาติ

                                          


            สรุปก็คือ บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายยังคงให้สหรัฐฯ กู้ ยังคงความนิยมใน US Dollar อย่างเหนียวแน่น ทั้งๆ ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่มีเงินออม และที่แท้จริงแล้วอเมริกาใช้เงินออมของชาติอื่น เช่น จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ตะวันออกกลาง ฯลฯ ไปอุดหนุนความสะดวกสบายของตนเองมาโดยตลอด

            หรือจะคล้ายแนวคิดที่ว่า ถ้าเป็นหนี้แบงก์แล้วก็ต้องเป็นหนี้ให้มากๆ มากจนแบงก์เกรงใจคอยประคบประหงม ไม่กล้าปล่อยให้ล้ม เพราะถ้าลูกหนี้รายใหญ่ล้ม แบงก์จะสาหัสตามไปด้วย

            ในปี 2008 สหรัฐฯ เคยประกาศว่า ไม่มีทางที่เราจะผิดนัดชำระหนี้ เพราะหนี้ทั้งหมดเป็นสกุลเงินดอลลาร์ที่ไม่มีใครผลิตออกมาได้นอกจากเรา พอถึงเวลาชำระหนี้ เราก็จะพิมพ์แบงก์ออกไปจ่ายให้

            ซึ่งก็ใช่ เพราะรัฐบาลกลางอเมริกันมีสิ่งวิเศษสงวนลิขสิทธิ์ไว้แก่สหรัฐฯ ประเทศเดียวเท่านั้นตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทำให้รัฐบาลอเมริกันสามารถใช้ข้อได้เปรียบนี้อย่างที่ไม่เคยมีใครในประวัติศาสตร์ทำได้มาก่อน

            สิ่งวิเศษนี้ทำให้รัฐบาลกลางไม่ต้องขายทรัพย์สินออกไป ไม่ต้องหยุดการให้บริการฟุ่มเฟือยที่คนชอบ ไม่ต้องผิดสัญญาที่ให้ไว้แก่ผู้เลือกตั้ง และไม่ต้องทำให้งบประมาณสมดุลด้วยการกดรายจ่ายให้ไม่เกินรายรับจากภาษี

นั่นก็คือเอกสิทธิในการผลิตเงินสกุลดอลลาร์ ซึ่งเป็นสกุลเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของโลก ออกมาจากแท่นพิมพ์ได้มากเท่าที่ต้องการ

            ใช่ พวกเขาเชื่อว่ายังปั๊มแบงก์จากแท่นพิมพ์ออกมาใช้ได้เสมอ โดยไม่ต้องไปห่วงอะไรในเมื่อเงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินในทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของทั้งโลก ใครๆ จึงต้องการดอลลาร์ และสหรัฐฯ ก็เป็นเพียงผู้เดียวที่มีสิทธิพิมพ์ออกมาได้

            ในยุคที่ เบน เบอร์นันเก้ เป็นประธาน Fed และรัฐบาลมีหนี้ที่กำลังจะถึงเวลาจ่าย แต่รายได้ไม่พอเอาไปจ่ายเจ้าหนี้ จะกู้เพิ่มก็ติดเพดานจำกัดระดับหนี้ จึงต้องขออนุมัติจากสภาคองเกรสให้เพิ่มเพดานหนี้ เบน บอกสภาคองเกรสว่า การไม่เพิ่มเพดานหนี้ให้สูงขึ้นก็คล้ายๆ กับเราใช้บัตรเครดิตไปซื้อของจนเต็มวงเงินแล้ว พอเขาเรียกเก็บเงิน เราไม่มีเงินสดไปจ่ายคืนหนี้บัตรเครดิต ดังนั้น การเพิ่มเพดานหนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น

            แล้วคองเกรสก็อนุมัติให้ !

                                                              


เกี่ยวกับนักเขียน

วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง อดีตประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทยและนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเงิน การลงทุน

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน