THE GURU • INVESTMENT

ปรับเป้าเงินบาทสิ้นปี 64 30.15 บาทต่อดอลลาร์

บทความโดย: พูน พานิชบูลย์

          ท่ามกลางปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในเดือนเมษายน ที่กลับเข้ามารุมเร้าเศรษฐกิจ กอปรกับ ปัญหาการจัดหาวัคซีนและแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้า ทำให้ เรามองว่า ค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะยังคงมีความผันผวนอยู่ และแม้ว่า เรายังคงมุมมองว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้น จากปัจจัย อาทิ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าตลาดทุนสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติ

          แต่ทว่า การแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้า ก็อาจกระทบต่อแผนการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งในส่วนของดุลบัญชีเดินสะพัดถึงจะได้รับแรงหนุนจากการส่งออกที่แข็งแกร่ง แต่การฟื้นตัวช้าของรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกดดันให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลราว 1.0%-1.5% ของ GDP  ลดลงจากที่เคยประเมินแถว 2%-3% ทำให้เรามองว่า ค่าเงินบาทอาจแข็งค่าน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ ซึ่งเราคาดว่า ค่าเงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่อง สู่ระดับ 30.15 บาทต่อดอลาร์ ณ สิ้นปี

          นับตั้งแต่ต้นปี เงินดอลลาร์ ซึ่งสะท้อนผ่านดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index DXY) ได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องกว่า 1.2% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณฟื้นตัวแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งแจกจ่ายวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ หลายประเทศ อาทิ กลุ่มประเทศยูโรโซน อินเดีย กลุ่มประเทศละตินอเมริกา ได้เผชิญปัญหาการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ที่รุนแรง กดดันแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแต่ละประเทศและทำให้ ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดดเด่นกว่าภูมิภาคอื่นๆ

          อย่างไรก็ดี เรามองว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์จะเปลี่ยนไปในช่วงที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ จะไม่ใช่ประเด็นใหม่ในตลาดการเงิน ขณะที่ การฟื้นตัวของกลุ่มประเทศยูโรโซน และในภูมิภาคอื่นๆ จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวชัดเจน หลังสถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลายลง และ การแจกจ่ายวัคซีนสามารถเร่งตัวขึ้นได้ ทำให้ สกุลเงินอื่นๆ มีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้น กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง นอกจากนี้ เรามองว่า ท่าทีไม่เร่งรีบปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำ พร้อมอัดฉีดสภาพคล่องสู่ตลาดการเงินผ่านการทำคิวอี ก็จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กดดันเงินดอลลาร์


 

การขาดดุลงบประมาณ-ขาดดุลการค้า

2 ปัจจัยกำหนดทิศทางเงินดอลลาร์

          ซึ่งนอกเหนือจากปัจจัยนโยบายการเงินที่ยังผ่อนคลายของเฟด และภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอื่นๆ (the Rest of the World: RoW) อีกสองปัจจัยที่สำคัญต่อทิศทางเงินดอลลาร์ คือ การขาดดุลงบประมาณและขาดดุลการค้า (Twin Deficits) ที่จะเพิ่มสูงขึ้น จากการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ผ่านโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่และความต้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ตามแนวโน้มการขยายตัวของการบริโภคในประเทศ

          นอกจากนี้ ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นตัว การค้าโลกก็จะกลับมาเติบโตได้ดี เช่นกัน คล้ายกับภาพที่เกิดขึ้นในปี 2017 ซึ่งการค้าโลกที่ขยายตัวจะส่งผลให้ บริษัทผู้ส่งออกในหลายประเทศจำเป็นต้องขายเงินดอลลาร์ที่ได้จากการส่งออกสินค้า กลับมาเป็นสกุลเงินท้องถิ่น กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง

          นอกเหนือจากทิศทางของเงินดอลลาร์ที่จะส่งผลต่อค่าเงินบาท ปัจจัยภายในประเทศ อาทิ แนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจ แนวโน้มภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว รวมถึง ทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ก็ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อเงินบาทได้

 

ส่งออก - มาตรการกระตุ้นภาครัฐ

          2 เครื่องยนต์หลักหนุนศรษฐกิจไทย

          สำหรับในปีนี้ แม้ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในส่วนของการบริโภคภาคเอกชน (Private Consumption) จะสะดุดลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 นับตั้งแต่ช่วงต้นปี จนถึงการระบาดระลอกล่าสุดในเดือนเมษายน ที่อาจจะมีความรุนแรงมาก จนรัฐบาลอาจต้องใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวดมากขึ้นไปอย่างน้อย 2 เดือน เพื่อควบคุมการระบาด แต่ เราคงมุมมองว่า เศรษฐกิจไทยยังมี 2 เครื่องยนต์หลักสำคัญที่จะสามารถผลักดันให้ เศรษฐกิจกลับมาโตได้ราว 2.2%y/y ได้ ก็คือ

          1.การส่งออก (Exports) ที่จะโตได้ไม่น้อยกว่า 6%y/y โดยเป็นการปรับประมาณการดีขึ้น หลังจากที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวแข็งแกร่ง สะท้อนจากตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สูงถึง 6.5%y/y นอกจากนี้ อีกหนึ่งประเทศคู่ค้าสำคัญ อย่าง จีน ก็มีแนวโน้มที่จะโตไม่น้อยกว่า 8% ทำให้ยอดการส่งออกของไทยไปยังประเทศดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ซึ่งภาพดังกล่าวก็จะสอดคล้องกับ แนวโน้มการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่หลายประเทศเริ่มแจกจ่ายวัคซีน ทำให้การค้าโลกกลับมาขยายตัวดีขึ้น

          2.มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ (Fiscal Stimulus) ซึ่งปัจจุบัน รัฐบาลยังมีเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท อีกราว 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งเราคาดว่า เม็ดเงินที่เหลือจะถูกนำมาใช้ผ่านมาตรการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านโครงการที่จะช่วยดึงการบริโภคในประเทศ อาทิ เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง หรือ เราชนะ เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเร่งลงทุนภาครัฐ บนโครงการที่ได้อนุมัติไปแล้ว โดยเฉพาะ โครงการเมกกะโปรเจค การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งเราคาดว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ และ การเร่งลงทุนของภาครัฐ จะสามารถช่วยพยุงให้เศรษฐกิจโตเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1.5% ซึ่งจะสามารถ Offset ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ได้


          ดังนั้น หากพิจารณาว่า เศรษฐกิจไทยก็ยังมีโอกาสฟื้นตัว อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงไทย ทั้ง หุ้นและ REITs มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี ทำให้เราเชื่อว่า ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่จะไหลกลับเข้ามานั้น จะช่วยหนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป

          สิ่งที่ตลาดอาจกังวลในช่วงที่ผ่านมา อย่าง แรงซื้อสกุลเงินต่างประเทศ เพื่อจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ อาจไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยโดยนักลงทุนต่างชาติ ลดลง จากการที่นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายหุ้นไทยสุทธินับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 จนถึงปัจจุบัน ราว 3 แสนล้านบาท (นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิราว 3.3 หมื่นล้านบาท นับตั้งแต่ต้นปี แต่ขายสุทธิกว่า 2.6 แสนล้านบาทในปี 2020 )

          นอกจากนี้ ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ยังส่งผลให้ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนโดยรวมลดลง ดังนั้น ยอดจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าจะสูงถึง 5.4 หมื่นล้านบาท ในไตรมาสที่ 2 แต่ก็ลดลงจากในอดีต ราว 8% ทำให้ เรามองว่า แรงซื้อสกุลเงินต่างประเทศเพื่อจ่ายปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติ ในช่วงที่เหลือของปี อาจไม่ได้สูงเท่ากับในอดีตและอาจไม่ได้ส่งผลกระทบให้เงินบาทอ่อนค่าไปมากเช่นกัน

          นอกเหนือจากฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงโฟลว์การจ่ายปันผล ที่มีกระทบต่อทิศทางเงินบาท ปัจจัยพื้นฐานสำคัญต่อทิศทางเงินบาทก็คือ ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ซึ่งจะมาจากสองส่วนหลัก คือ ยอดการส่งออก (Exports) และ รายรับจากภาคการท่องเที่ยว (Tourism receipts)

 

ปี 2021คาดดุลการค้ายังคงเกินดุล

ราว 1-2 แสนล้านบาทของ GDP

          สำหรับปี 2021 เราคาดว่าดุลการค้ายังคงมีแนวโน้มเกินดุลราว 1-2 แสนล้านบาท หรือ ไม่น้อยกว่า 1.5% ของ GDP เนื่องจากการส่งออกจะสามารถขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 6%y/y และอาจขยายตัวได้ดีกว่าที่เราคาด ตามการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของประเทศคู่ค้าหลัก อย่าง สหรัฐฯ จีน รวมถึง การทยอยฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าอื่นๆ อาทิ กลุ่มประเทศยูโรโซน ประเทศในโซนเอเชีย เป็นต้น

          อย่างไรก็ดี สิ่งที่เรากังวลมากที่สุด และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราปรับประมาณการค่าเงินบาทใหม่ คือ แนวโน้มการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจจะล่าช้ากว่าแผนที่รัฐบาลเคยวางไว้ และทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจกลับเข้ามาเที่ยวในไทยลดลงเหลือเพียง 1-1.5 ล้านคน จากที่เราเคยประเมินไว้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาได้ไม่น้อยกว่า 3 ล้านคน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติสะดุดลงก็คือ ความคืบหน้าของการแจกจ่ายวัคซีน COVID-19

          โดยในปัจจุบัน การแจกจ่ายวัคซีนยังมีความล่าช้าอยู่มาก จนทำให้การระบาดระลอกใหม่มีความรุนแรงมากกว่ารอบก่อนๆ ซึ่งสวนทางกับในหลายประเทศที่มีการฉีดวัคซีนในอัตราเร่งจนสามารถจะคุมการระบาดระลอกใหม่ได้ดี และถ้าหากพิจารณาจากยอดการสั่งซื้อวัคซีนล่าสุดของรัฐบาล จำนวนไม่น้อยกว่า 73 ล้านโดส (AstraZeneca + Sinovac) ซึ่งหากรัฐบาลตั้งว่าจะแจกจ่ายวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรไม่น้อยกว่า 50% ณ สิ้นปี แปลว่า รัฐบาลจะต้องแจกจ่ายวัคซีนให้ได้ อย่างน้อย วันละ 3 แสนโดส ซึ่งถือว่าเป็นงานที่ท้าทายอย่างมาก ดังนั้น เราจึงมองว่า มีโอกาสที่การแจกจ่ายวัคซีนจะทำได้เพียง 30% ของประชากร


          ถ้าหากประเทศไทยสามารถแจกจ่ายวัคซีนได้เพียง 30% ของประชากร ก็มีโอกาสที่ นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่พร้อมจะกลับเข้ามาเดินทางในประเทศไทย นอกจากนี้ คำถามที่น่าสนใจ คือ แล้วต้องฉีดวัคซีนเท่าไหร่ ถึงจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) จนสามารถเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในไทยได้อย่างเต็มที่

          โดยการตอบคำถามดังกล่าว เราอาจต้องพิจารณาจากสมการ การแพร่ระบาดของโรคอย่างง่าย R=R_0 (1-V×E) โดย R คือ อัตราการแพร่ระบาดของโรค (Reproduction rate) ส่วน R_0 คือ อัตราการแพร่ระบาดของโรคพื้นฐาน (Basic Reproduction rate) ซึ่ง สำหรับ การระบาดในไทย ค่าดังกล่าวอาจสูงถึง 2-2.5 เท่า ส่วน V และ E คือ สัดส่วนผู้ได้รับวัคซีน และ ประสิทธิภาพของวัคซีน

          โดยปกติ เป้าหมายการควบคุม คือ ลดอัตราการแพร่ระบาดของโรค ให้ต่ำกว่า 1  เมื่อแก้สมการ และให้ ประสิทธิภาพของวัคซีนในไทย ราว 70% จะได้ว่า สัดส่วนประชากรที่ต้องได้รับวัคซีน คือ 80%-85% ของประชากร ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ท้าทายรัฐบาล และอาจทำให้ กว่าที่การท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาได้ดีขึ้นนั้น คงต้องใช้เวลาอย่าง 1 ปีจากนี้ไป

          อย่างไรก็ดี แม้ว่ายอดนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะมาน้อยกว่าที่เราเคยประเมินไว้ แต่ยอดการส่งออกของไทยก็ยังคงเติบโตได้ดี และจะหนุนให้โดยรวมดุลบัญชีเดินสะพัดสามารถเกินดุลได้ ราว 1-1.5% ต่อ GDP ซึ่งการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องได้

 

ประเมินค่าเงินบาทมีโอกาสกลับไปแข็งค่า

ใกล้ระดับ 30.15 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปี

          โดยสรุป แล้วเรายังคงมองว่า ค่าเงินบาทยังมีโอกาสที่จะกลับไปแข็งค่าใกล้ระดับ 30.15 บาทต่อดอลลาร์ ณ สิ้นปี จากปัจจัยการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ร่วมกับ ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังคงเกินดุลอยู่ จากการส่งออกที่เติบโตได้ดี และโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงไทยมากขึ้น ดังนั้น ในช่วงที่ค่าเงินบาทเผชิญความผันผวนจากความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในไตรมาส 2 เรามองว่าเป็นโอกาสที่ดี (Sweet spot) สำหรับผู้ส่งออกในการทยอยปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพราะเรามองว่า ไตรมาส 2 คือ ไตรมาสสุดท้ายที่เงินบาทจะอ่อนค่ามากที่สุดในปีนี้ ก่อนจะกลับไปแข็งค่าขึ้น


          ทั้งนี้ แนวโน้มค่าเงินบาทที่เราคาดการณ์ไว้ อาจผิดไปจากสมมติฐานข้างต้น หาก 1. ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ตัดสินใจใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยต้องจับตา ท่าทีของเฟดต่อการปรับลดมาตรการคิวอี เพราะข้อมูลในอดีตชี้ว่า เงินดอลลาร์จะปรับตัวแข็งค่าขึ้น หากเฟดทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่อง

          2. ปัญหาการระบาด COVID-19 ทวีความรุนแรงทั่วโลก จากการกลายพันธุ์และวัคซีนขาดประสิทธิภาพ ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวหนัก หนุนให้ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะหลบความผันผวนในสินทรัพย์ปลอดภัย Safe Have Asset อย่าง เงินดอลลาร์ 3. ปัญหาการระบาด COVID-19 ในไทย ก็อาจกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจ และส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติไม่ได้สนใจกลับเข้ามาลงทุนในตลาดทุนไทย และ 4. การท่องเที่ยวยังไม่สามารถกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ในปีนี้

          เช่นนั้นแล้ว นักลงทุนและผู้ประกอบการ ก็ควรติดตามแนวโน้มของปัจจัยต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้ปรับกลยุทธ์การป้องกันความเสี่ยงค่าเงินได้อย่างเหมาะสม

เกี่ยวกับนักเขียน

พูน พานิชบูลย์ นักวิเคราะห์ห้องค้าธนาคารกรุงไทย อดีตนักวิเคราะห์ตลาดเงินตลาดทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB Analytics ปัจจุบันนักวิเคราะห์ห้องค้าธนาคารกรุงไทย อดีตนักวิเคราะห์ตลาดเงินตลาดทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ TMB Analytics

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน