THE GURU • INVESTMENT

บทเรียนการลงทุนในหุ้นสตาร์ทอัพ

บทความโดย: ณพวีร์ พุกกะมาน (เปโดร)

ไม่กี่ปีมานี้เราเริ่มจะเห็นบริษัทสตาร์ทอัพชื่อดังในต่างประเทศสามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Uber Airbnb Robinhood และล่าสุดคือ Grab ซึ่งเป็น Super App ชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้ามาในตลาดหุ้นอเมริกาด้วยวิธี Spac 

อย่างไรก็ตามผลงานของหุ้นที่โตมาจากการเป็นสตาร์ทอัพกลับไม่ค่อยสดใสนัก ส่วนใหญ่ราคามักจะปรับตัวลงตั้งแต่วันแรกที่ไอพีโอและหลังจากนั้นราคาแทบจะไม่ได้เป็นขาขึ้นเลย 

อย่างเช่นหุ้น Grab ที่ราคาปรับตัวลงจากราคาไอพีโอแล้วถึง 75% หุ้น Robinhood แอปเทรดหุ้นขวัญใจวัยรุ่นอเมริการาคาหวือหวาในช่วงแรกก่อนจะปรับตัวลงและขาดทุนไปแล้วกว่า 75%

การที่เป็นธุรกิจชื่อดังที่มีคนรู้จักและใช้งานทั่วโลกเวลาที่มีการเสนอขายหุ้นไอพีโอก็มักได้รับความสนใจจากนักลงทุน แต่สิ่งหนึ่งที่ใครสนใจจะเข้าลงทุนในหุ้นที่มาจากการเป็นสตาร์ทอัพจะต้องศึกษางบการเงินให้ดีว่าบริษัทฯสามารถสร้างผลกำไรจากการดำเนินงานได้หรือยังหรือมีกระแสเงินสดที่เป็นบวกหรือไม่

เพราะสตาร์ทอัพเป็นธุรกิจที่รู้กันดีว่าต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลในการขยายธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงอย่างเช่นอีคอมเมิร์ซ เราจึงแทบไม่เห็นสตาร์ทอัพขนาดใหญ่สามารถทำกำไรได้เลย จึงจำเป็นที่จะต้องเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นเมื่อการระดมทุนจากวีซีเริ่มที่จะมีข้อจำกัด

เมื่อเข้าสู่ตลาดหุ้นเคียงข้างกับบริษัทที่สามารถทำกำไรในตัวเอง เมื่อมีการประกาศผลประกอบการออกมาแล้วยังคงขาดทุน นักลงทุนจึงยังไม่สามารถประเมินมูลค่าของกิจการได้จึงต้องตัดสินใจขายหรือยังไม่เข้าไปซื้อ เป็นเหตุให้ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้มักจะร่วงลงเสมอ

อย่างไรก็ตาม เมื่อไรที่ผลประกอบการเริ่มที่จะมีกำไรหรือขาดทุนน้อยลง ราคาหุ้นก็สามารถตอบสนองในเชิงบวกได้ อย่างเช่นกรณีของหุ้น Sea Limited ซึ่งมีสามธุรกิจหลักคืออีคอมเมิร์ซอย่าง Shopee อีสปอร์ตอย่าง Garena และธุรกิจฟินเทค ที่หลัง

จากประกาศว่าเริ่มมีผลขาดทุนลดลงและหน่วยธุรกิจของ Shopee เริ่มที่จะมีผลกำไรแล้วทำให้ราคาหุ้นพุ่งกว่า 38% ในวันเดียว

จุดเด่นของหุ้นสตาร์ทอัพกลุ่มนี้คือเรื่องของแบรนด์ที่มีคนทั่วโลกรู้จักดี การเป็นผู้นำตลาดรวมถึงมีโปรดักต์และเทคโนโลยีที่โดดเด่น แต่มักจะมีงบการเงินที่แย่ เมื่อไรที่งบการเงินของบริษัทเริ่มสะท้อนจุดแข็งของบริษัท ราคาหุ้นก็จะตอบสนองในเชิงบวกได้ในที่สุด

บทเรียนสำหรับผู้ที่สนใจลงทุนในหุ้นที่มาจากการเป็นสตาร์ทอัพจึงต้องยอมรับก่อนว่าต้องใช้เวลารอให้กิจการมีความเข้มแข็งและเริ่มจะทำกำไรได้ด้วยตัวเองถึงจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนการลงทุนซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาสองถึงสามปีในการใช้เงินทุนของนักลงทุนมาต่อยอดธุรกิจ 

ถ้าหากงบการเงินเริ่มมีความเข้มแข็งก็มีโอกาสที่หุ้นสตาร์ทอัพเหล่านี้จะเติบโตได้หลายเท่าในอนาคต หรือไม่ก็อาจจะไปไม่รอดได้เช่นกัน เป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องยอมรับให้ได้

เกี่ยวกับนักเขียน

ณพวีร์ พุกกะมาน (เปโดร) นักลงทุนหนุ่มรุ่นใหม่ ที่เติบโตใช้ชีวิตในต่างแดนจากพื้นฐานครอบครัวนักการทูต ทำให้หลงไหลการลงทุนในสินค้าต่างประเทศ ปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้ง creative investment space พื้นที่แชร์ประสบการณ์ และข้อมูล นวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ ที่มีความหลากหลาย

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน