THE GURU • FUND FOCUS

ทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐฯ แนวทางปรับพอร์ตลงทุน

บทความโดย: ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์

แนวทางการลงทุนในระยะต่อไป ด้านที่เน้นการเติบโตของมูลค่าเงินลงทุน จึงยังสามารถเน้นลงทุนในกองทุนหุ้นที่กระจายลงทุนในหลากหลายประเภทธุรกิจ เพื่อเปิดโอกาสรับผลตอบแทนดีจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ส่วนด้านที่เน้นความมั่นคงของมูลค่าเงินลงทุน สามารถเน้นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงจากราคาตราสารหนี้ที่อาจถูกกดดันจากภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

สรุปผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐอเมริกา ครั้งล่าสุด

เหตุการณ์สำคัญของวงการลงทุนโลกในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา คือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐอเมริกา (FED’s FOMC) ซึ่งนักลงทุนประเมินกันว่าเป็นการประชุมครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งเพราะจะชี้ชะตาทิศทางการลงทุนของโลกในระยะต่อไป โดยเท่าที่มีการเปิดเผยรายละเอียดไว้ในเอกสารเผยแพร่ฉบับทางการ (Press Release) สามารถสรุปผลการประชุมได้ดังนี้

1.กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง 

2.แม้อุปสงค์และอุปทานจะยังไม่สมดุลจนทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง แต่ภาวะทางการเงินโดยรวมก็ยังมีความผ่อนคลาย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายภาครัฐที่เอื้อและสินเชื่อที่เข้าถึงครัวเรือนและภาคธุรกิจ

3.มีมติคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตามเดิมที่ 0.0-0.25% โดยพร้อมปรับเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้เพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจ

4.มีมติลดความเร็วในการซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติม (QE Tapering) เหลือ 30,000 ล้านเดอลลาร์ต่อเดือน และจะยุติการซื้อเพิ่มในเดือนมีนาคม 2565 โดยจะยังคงซื้อทดแทน (Rollover) สินทรัพย์เดิมต่อไป เพื่อรักษาเสถียรภาพให้ระบบการเงิน

ซึ่งจะเห็นว่า ผลการประชุมข้างต้น ยังคงสะท้อนแนวทางที่สอดคล้องกับการประชุมครั้งก่อนหน้าในเดือนธันวาคม 2564 แต่มีความชัดเจนยิ่งขึ้นในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ว่ามีโอกาสสูงที่ปรับเพิ่มขึ้นในการประชุมครั้งถัดไปในเดือนมีนาคม 2565 

ผลกระทบต่อวงการลงทุน

        หลังจากที่ FED's FOMC ได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ตลาดหุ้นและตลาดคริปโทเคอร์เรนซี่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากวันก่อนหน้า สะท้อนว่า แนวทางของ FED’s FOMC เป็นไปตามที่คาด แต่เมื่อ Jerome Powell ประธาน FED ออกแถลงการณ์เพิ่มเติมตามหลัง Press Release พร้อมกับตอบคำถามผู้สื่อข่าว ซึ่งเนื้อหาแสดงถึงโอกาสที่ FED’s FOMC จะลดระดับความผ่อนคลายของนโยบายการเงินอย่างเข้มข้น ก็กลับทำให้ตลาดหุ้นและตลาดคริปโทเคอร์เรนซีย่อลงอย่างรวดเร็ว โดย Dow Jones Industrial Average (DJIA) และดัชนี S&P 500 กลับลงมาปิดในแดนลบ

นอกจากนั้น นักลงทุนได้แสดงความกังวลต่อทิศทางของ FED’s FOMC มาล่วงหน้าแล้วตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2564 โดยในช่วงเวลา 1 เดือนล่าสุด DJIA ได้ปรับลดลงมาแล้ว 5.9% แต่กลุ่มหลักทรัพย์ที่นักลงทุนให้ความกังวลยิ่งขึ้นไปอีกก็คือหุ้นเทคโนโลยี โดยจะเห็นได้จากดัชนี NASDAQ Composite ที่ปรับลดลงมาถึง 14.7% ในช่วงเวลาเดียวกัน

และแน่นอนว่า เมื่อ FED’s FOMC ส่งสัญญาณเตรียมขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างชัดเจน ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็ย่อมทำให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ขยับขึ้นสูงด้วยเช่นกัน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา อายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับประมาณ 1.5% ต่อปี ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2564 มาอยู่ที่ระดับสูงกว่า 1.8% ต่อปี ในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือยาว

สรุปกลไกอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

        และเพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐอเมริการวมถึงในประเทศไทยเองก็ดี จะส่งต่อภาคเศรษฐกิจและการเงินอย่างไรบ้าง จึงขอสรุปนิยามและกลไกโดยย่อดังนี้

        อัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือดอกเบี้ยแกนหลักของประเทศซึ่งมีหน้าที่ประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปอย่างมั่นคง ไม่ตกต่ำจนประชาชนเดือดร้อน และไม่ร้อนแรงเกินไปจนสุ่มเสี่ยง (ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งความเดือนร้อนเช่นกัน) โดย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือหลักอย่างหนึ่งในการปรับสภาวะเศรษฐกิจ 

1.การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

เมื่อเศรษฐกิจดูจะคึกคักเกินไป เติบโตร้อนแรง เงินเฟ้อเริ่มพุ่งสูงจากการที่ข้าวของแพง กนง.ก็จะ “ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” เพื่อส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยทั้ง 2 ขาดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงขึ้นจะจูงใจให้คนที่ชอบความเสี่ยงต่ำลดการใช้จ่ายและการลงทุนด้านอื่นๆ เพื่อนำเงินมาฝากมากขึ้น

ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ที่แพงขึ้นก็จะโน้มน้าวให้คนทั่วไปและภาคเอกชนอยากกู้ยืมน้อยลง รวมถึงจะทำให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ทั้งรัฐและเอกชน มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย จนเป็นการจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติขนเงินมาลงทุนในประเทศมากขึ้น จนค่าเงินแข็งขึ้น และส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวลง

2.การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

เมื่อเศรษฐกิจชักจะเหงาหงอย เติบโตต่ำ โดยหลักก็จะดูจากการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ที่ชะลอตัว ยอดการส่งออกสุทธิที่ลดลง และอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำลง กนง.ก็จะ “ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” เพื่อส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดดอกเบี้ยทั้ง 2 ขาเช่นกัน เพื่อให้คนอยากฝากธนาคารน้อยลง แล้วนำเงินไปใช้จ่ายและลงทุนมากขึ้น โดยหวังผลตอบแทนที่ดีกว่าฝากเงินในธนาคาร รวมถึงทำให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ทั้งระบบมีแนวโน้มลดลง จนมีส่วนช่วยให้ค่าเงินอ่อน จนช่วยกระตุ้นรายรับของภาคส่งออกได้

แนวทางการลงทุนในระยะต่อไป

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าการส่งสัญญาณอัตราดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นและการชะลอ QE ของ FED’s FOMC มีเหตุผลพื้นฐานจากภาคเศรษฐกิจและการจ้างงานในสหรัฐอเมริกาที่มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นโดยลำดับ ดังนั้น เมื่อพิจารณามุมมองในระยะกลางถึงยาว ก็ปฏิเสธได้ยากว่า ภาวะเช่นนี้เป็นเรื่องดีมากกว่าเสีย ควรค่าแก่การอนุโมทนา อย่างไรก็ดี การลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์ที่ราคามีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงก่อนหน้า เช่น หุ้นเทคโนโลยีซึ่งได้อานิสงส์หลักจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายยิ่งยวด ก็ย่อมได้รับผลกระทบด้านลบในระยะสั้นมากเป็นพิเศษ

ดังนั้น แนวทางการลงทุนในระยะต่อไป ด้านที่เน้นการเติบโตของมูลค่าเงินลงทุน จึงยังสามารถเน้นลงทุนในกองทุนหุ้นที่กระจายลงทุนในหลากหลายประเภทธุรกิจ ไม่กระจุกตัวในหุ้นหมวดเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว เพื่อเปิดโอกาสรับผลตอบแทนดีจากพื้นฐานเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ส่วนด้านที่เน้นความมั่นคงของมูลค่าเงินลงทุน สามารถเน้นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อเลี่ยงความเสี่ยงจากราคาตราสารหนี้ที่อาจถูกกดดันจากภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น

แนะนำกองกองทุนหุ้น และกองทุนตราสารหนี้ที่น่าสนใจ

กองทุนหุ้นที่กระจายลงทุนทั่วโลก

        • กองทุนเปิดเคเคพี โกลบอล นิว เพอร์สเปกทีฟ ชนิดทั่วไป (KKP GNP) เน้นลงทุนในหุ้นสามัญทั่วโลก เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตในระยะยาวของกองทุน ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 10.31% ย้อนหลัง 3 ปี 19.17% ต่อปี ค่าธรรมเนียมการจัดการ 1.605% ต่อปี 

        • กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลแบรนด์อิควิตี้-ปันผล (KFGBRAND-D) เน้นลงทุนหุ้นของบริษัทต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งประสบผลสำเร็จ หรือมีชื่อเสียงในตราสินค้า โดยพิจารณาจากสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เช่น การมีเครื่องหมายการค้าเป็นที่รู้จักทั่วโลก ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 6.26% ย้อนหลัง 3 ปี 13.79% ต่อปี ค่าธรรมเนียมการจัดการ 0.6955% ต่อปี 

        • กองทุนเปิด ยูไนเต็ด โกลบอล ควอลิตี้ โกรท ฟันด์ (UGQG) เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัททั่วโลกที่ผ่านการคัดสรรแล้วว่าเป็นบริษัทชั้นนำที่มีการเติบโตของส่วนแบ่งทางการตลาด หรือมีโอกาสในการขยายธุรกิจไปทั่วโลก ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 1.42% ย้อนหลัง 3 ปี 12.83% ต่อปี ค่าธรรมเนียมการจัดการ 1.4445% ต่อปี 

กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น

        • กองทุนเปิดเคเคพี ตราสารหนี้พลัส (KKP PLUS) เน้นลงทุนในตราสารภาครัฐและบริษัทเอกชนที่มีความมั่นคงซึ่งต้องได้รับการจัดอันดับตั้งแต่ BBB+ ขึ้นไป โดยมี Portfolio Duration ไม่เกิน 1.5 ปี ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 0.80% ย้อนหลัง 3 ปี 1.15% ต่อปี ค่าธรรมเนียมการจัดการ 0.20% ต่อปี 

        • กองทุนเปิด วรรณ ชอร์ตเทอม ฟิกซ์ อินคัม หน่วยลงทุนชนิด A (ONE-FIXED-A) เน้นลงทุนในตราสารหนี้ของทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เสนอขายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (Investment Grade) ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 0.69% ย้อนหลัง 3 ปี 1.18% ต่อปี ค่าธรรมเนียมการจัดการ 0.1712% ต่อปี

        • กองทุนเปิด แอสเซทพลัส ตราสารหนี้ เดลี่ พลัส (ASP-DPLUS) เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ และตราสารทางการเงิน และเงินฝาก ทั้งในและต่างประเทศ อายุเฉลี่ยของทรัพย์สินที่ลงทุน 3 เดือน ถึง 1 ปี ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 0.66% ย้อนหลัง 3 ปี 1.32% ต่อปี ค่าธรรมเนียมการจัดการ 0.28% ต่อปี 


อ้างอิง: federalreserve.gov, google.com/finance, treasurist.com

รวบรวมข้อมูล : รวีโรจน์ เจียมศิริกาญจน์ และ นิติกร สุทธิมูล ผู้แนะนำการลงทุนรับอนุญาต กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์เทรเชอริสต์


เกี่ยวกับนักเขียน

ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์เทรเชอริสต์ ผู้ให้บริการ Treasurist.com ผู้ก่อตั้ง Thailand Investment Forum นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์และผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และ นักแปลอาสาของ TED.com

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน