THE GURU • FUND FOCUS

เปิดแนวทางลงทุนไตรมาส 4 แนะ 6 กองทุนต่างประเทศเด่น

บทความโดย: ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์

ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2564 กองทุนหุ้นต่างประเทศยังคงความน่าสนใจ โดยเฉพาะกองทุนที่เน้นลงทุนในประเทศที่มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจดี
 

สรุปผลการประชุม ECB ครั้งล่าสุด

            ธนาคารกลางยุโรป หรือ European Central Bank (ECB) มีการประชุมครั้งล่าสุดไปเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 โดยยังคงรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการ QE ไว้ตามเดิมเช่นกัน โดยเฉพาะมาตรการซื้อสินทรัพย์เป็นการฉุกเฉินเพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 (Pandemic Emergency Purchase Programme หรือ PEPP) ที่ระบุชัดเจนว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างน้อยจนถึงเดือนมีนาคม 2565 (ที่มา : ecb.europa.eu) 

สรุปผลการประชุม FED’s FOMC ครั้งล่าสุด

            ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ หรือ Federal Reserve’s Open Market Committee (FED’s FOMC) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา เมื่อปลายเดือนสิงหาคม แถลงการณ์ ของ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน FED สะท้อนภาพว่า FED’s FOMC เตรียมตัวจะลดความเร็วของมาตรการ QE หรือ Tapering ในการประชุมครั้งที่จะถึง (คือครั้งวันที่ 22 กันยายน ดังกล่าว) แต่ผลการประชุมจริงปรากฏว่า แม้จะตระหนักถึงเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และการฉีดวัคซีนในประเทศจะมีความคืบหน้าไปมาก รวมถึงอัตราเงินเฟ้อในระยะสั้นก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่คณะกรรมการยังคงมาตรการสำคัญต่างๆ ไว้ตามเดิม ทั้ง QE และอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (FED Funds Rate) โดยยังคงให้น้ำหนักกับความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการได้ทิ้งท้ายไว้ว่า หากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องตามที่คาด QE Tapering ก็น่าจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ (ที่มา : federalreseve.gov)

            ซึ่งผลที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินโลก ทางฝั่งตลาดหุ้น มีการปรับตัวขึ้นชัดเจนภายหลังจากคณะกรรมการมีมติยังไม่ทำ QE Tapering ขณะที่ในฝั่งตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศสำคัญทั่วโลก ก็พากันปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับจากทราบผลการประชุมครั้งดังกล่าวเป็นต้นมา

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

            รายงานประมาณเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุด โดย IMF ณ กรกฎาคม 2564 ประเมินว่า ในปี 2564 กลุ่มเศรษฐกิจพัฒนาแล้วจะเติบโต 5.6% เพิ่มขึ้นจากมุมมองครั้งก่อนหน้า ณ มกราคม 2564 ซึ่งคาดว่าจะเติบโต 4.3% ด้านตลาดเกิดใหม่และเศรษฐกิจกำลังพัฒนา จะมีการเติบโต 6.3% ซึ่งเท่ากับประมาณการในครั้งก่อน

            ทั้งนี้ สองประเทศที่ IMF ยังคงคาดการณ์การเติบโตสูงในภูมิภาคนี้คือ จีนและอินเดีย ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของธนาคารโลก โดยประเมินว่าจีนจะเติบโต 8.1% เท่ากับประมาณการในครั้งที่แล้ว ขณะที่อินเดียได้รับการประเมินลดลงเป็น 9.5% จากเดิม 11.5% แต่ก็นับว่าเป็นการเติบโตที่ระดับที่สูง ทางด้านสหรัฐฯ ได้รับการประเมินเพิ่มขึ้นเป็น 7.0% จากเดิมที่ 5.1%

 

 แนวทางการลงทุนในไตรมาส 4 ปี 2564

            จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่า ตลาดหุ้นโดยรวมทั่วโลก ยังคงความน่าสนใจ ซึ่งอาศัยมาตรการ QE ที่ยังช่วยสร้างสภาพคล่องให้ระบบการเงินโลกยังคงเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะในฝั่งยุโรปที่ให้ความมั่นใจว่าจะรักษามาตรการต่อไปจนถึงต้นปี 2565 อีกทั้งในระยะต่อไปก็มีโอกาสได้รับแรงส่งต่ออีกระลอก จากภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว กล่าวคือ หากเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ดีพอ ก็จะมีมาตรการ QE ช่วยผลักดันตลาดต่อไป แต่หากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีพอแล้ว ก็จะมีปัจจัยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่เติบโตเปลี่ยนมือเข้ามาเป็นแรงสนับสนุนได้ต่อเนื่อง

            ส่วนในตลาดตราสารหนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลประเทศใหญ่ๆ พากันปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะส่งผลผลด้านลบต่อราคาพันธบัตรและกองทุนตราสารหนี้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2564 กองทุนหุ้นต่างประเทศจึงยังคงความน่าสนใจ โดยเฉพาะกองทุนที่เน้นลงทุนในประเทศที่มีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจดี และพร้อมกันนั้น ก็อาจจำกัดการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุคงเหลือยาวกว่า 2 ปี เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากราคาตราสารหนี้ที่อาจลดลง

แนะนำกองทุนหุ้นต่างประเทศที่น่าสนใจในไตรมาส 4 ปี 2564

1. ลงทุนหุ้นสหรัฐฯ

            1.1 กองทุนเปิด อเบอร์ดีน อเมริกัน โกรท ฟันด์ (ABAG) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุน Aberdeen Standard SICAV I - American Focused Equity

            • ผลตอบแทน 1 ปีล่าสุด : 36.27%

            • ผลตอบแทน 3 ปีล่าสุด (เฉลี่ยต่อปี) : 14.36%

            กองทุนนี้คิดค่าธรรมเนียมการจัดการ 1.8725% ต่อปี และคิดค่าธรรมเนียมการขาย (Front-end) 1.50%

            1.2 กองทุนเปิด ทหารไทย US500 Equity Index (TMBUS500) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุน iShares Core S&P 500 ETF

            • ผลตอบแทน 1 ปีล่าสุด: 33.0%

            • ผลตอบแทน 3 ปีล่าสุด (เฉลี่ยต่อปี): 13.89%

            กองทุนนี้คิดค่าธรรมเนียมการจัดการ 1.07% ต่อปี และคิดค่าธรรมเนียมการขาย (Front-end) 1.00%

2. ลงทุนหุ้นอินเดีย

            2.1 กองทุนเปิด เคดับบลิวไอ อินเดีย อิควิตี้ เอฟไอเอฟ ชนิดสะสมมูลค่า (KWI INDIA-A) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุน Manulife Global Fund-India Equity Fund (Share Class I2)

            • ผลตอบแทน 1 ปีล่าสุด : 62.29%

            • ผลตอบแทน 3 ปีล่าสุด (เฉลี่ยต่อปี) : 21.31%

            กองทุนนี้คิดค่าธรรมเนียมการจัดการ 1.8678% ต่อปี และคิดค่าธรรมเนียมการขาย (Front-end) 1.50%

            2.2 กองทุนเปิดเคแทม อินเดีย อิควิตี้ ฟันด์ ชนิดสะสมมูลค่า (KT-INDIA-A) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุน Invesco India Equity Fund - Class A

            • ผลตอบแทน 1 ปีล่าสุด : 54.30%

            • ผลตอบแทน 3 ปีล่าสุด (เฉลี่ยต่อปี) : 13.81%

            กองทุนนี้คิดค่าธรรมเนียมการจัดการ 0.8025% ต่อปี และคิดค่าธรรมเนียมการขาย (Front-end) 1.50%

3. ลงทุนหุ้นจีน

            3.1 กองทุนเปิด เกรธเธอร์ ไชน่า (GC) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุน INVEST GREATER CHINA

            • ผลตอบแทน 1 ปีล่าสุด : 18.10%

            • ผลตอบแทน 3 ปีล่าสุด (เฉลี่ยต่อปี) : 15.13%

            กองทุนนี้คิดค่าธรรมเนียมการจัดการ 2.14% ต่อปี และคิดค่าธรรมเนียมการขาย (Front-end) 1.50%

            3.2 กองทุนเปิดกรุงศรีเกรทเทอร์ไชน่าอิควิตี้เฮดจ์ปันผล (KF-HCHINAD) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุน FSSA Greater China Growth Fund

            • ผลตอบแทน 1 ปีล่าสุด : 6.94%

            • ผลตอบแทน 3 ปีล่าสุด (เฉลี่ยต่อปี) : 9.60%

            กองทุนนี้คิดค่าธรรมเนียมการจัดการ 0.8025% ต่อปี และคิดค่าธรรมเนียมการขาย (Front-end) 1.50%

เกี่ยวกับนักเขียน

ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์เทรเชอริสต์ ผู้ให้บริการ Treasurist.com ผู้ก่อตั้ง Thailand Investment Forum นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์และผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และ นักแปลอาสาของ TED.com

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน