THE GURU • FUND FOCUS

เก็บเงินเท่าไร & ลงทุนอย่างไร ให้มีใช้ตลอดไปแม้เป็นอมตะ

บทความโดย: ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์

            การวางแผนออมเงินและลงทุนระยะยาวแบบที่จะช่วยปิดความเสี่ยงไม่ให้เกิดเหตุ “เงินหมดก่อนที่จะจากไป” ต้องมีเงินต้นมากพอ และหากมีเงินต้นมากพอจนถึงระดับหนึ่ง เราจะสามารถนำดอกผลของเงินต้นนั้นมาใช้จ่ายได้โดยที่เงินต้นไม่ลดลง หรืออาจพูดได้ว่า เป็นระดับที่แม้ชีวิตจะเป็นอมตะก็ยังคงมีเงินใช้ได้เรื่อยไป

            หนึ่งในเป้าหมายทางการเงินที่สำคัญสูงสุดสำหรับมนุษย์ที่ยังต้องอาศัยอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ที่ยังต้องใช้เงินซื้อหาปัจจัยสี่ นั่นก็คือ การมีคุณภาพชีวิตดีไปตลอดชีวิต และการจะบรรลุเป้าหมายเช่นนั้นได้ก็ต้องมีเงินมากพอ

            ซึ่งการคำนวณจำนวนเงินว่าเท่าไรจึงจะมากพอ มักใช้อายุขัยคาดการณ์ เช่น 75-80-85 ปี เป็นสมมติฐานหลัก

            อย่างไรก็ดี ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าถึงอายุขัยที่แน่นอนของตัวเอง ทำให้การคำนวณโดยอิงกับอายุขัยคาดการณ์นั้นจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สำคัญ นั่นคือ การมีอายุยืนยาวกว่าที่ประเมินไว้ ซึ่งแม้จะเป็นข้อดี แต่อาจทำให้เหลือเงินไม่พอเมื่อเทียบกับแผนที่วางไว้เดิม ดังที่หลายคนกล่าวแบบทีเล่นทีจริงว่า “จากไปแบบยังใช้เงินไม่หมด ดีกว่าใช้เงินจนหมดแต่ยังไม่จากไป”

            การวางแผนออมเงินและลงทุนระยะยาวแบบที่จะช่วยปิดความเสี่ยงไม่ให้เกิดเหตุ “เงินหมดก่อนที่จะจากไป” จึงต้องมีเงินต้นมากพอ และหากมีเงินต้นมากพอจนถึงระดับหนึ่ง เราจะสามารถนำดอกผลของเงินต้นนั้นมาใช้จ่ายได้โดยที่เงินต้นไม่ลดลง หรืออาจพูดได้ว่า เป็นระดับที่แม้ชีวิตจะเป็นอมตะก็ยังคงมีเงินใช้ได้เรื่อยไป

ส่วนที่ 1 : ออมเดือนละเท่าไรจึงจะตอบโจทย์

            การสร้างเงินต้นให้เพียงพอได้ในลักษณะดังกล่าว ต้องอาศัยการสะสมเงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับนำเงินนั้นไปลงทุนให้งอกเงย ซึ่งการคำนวณจำนวนเงินที่จะต้องสะสมหรือออมเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนนั้น แนวทางหนึ่งก็อาจทำได้ด้วยการใช้ข้อมูลนำเข้า (Input) 8 ข้อดังนี้

             1.อายุที่อยากเกษียณ 2.อายุปัจจุบัน 3.รายได้ปัจจุบัน 4.คาดการณ์อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ในแต่ละปี ซึ่งอาจจะอิงกับอัตราเงินเฟ้อ 5.คาดการณ์สัดส่วนค่าใช้จ่ายยามเกษียณเทียบกับรายได้ก่อนเกษียณ 6.จำนวนเงินฝากหรือเงินลงทุนที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน 7.อัตราผลตอบแทนการลงทุนที่คาดหวังในช่วงที่ยังมีรายได้ ซึ่งมักจะรับความเสี่ยงได้สูงกว่า และ 8.อัตราผลตอบแทนการลงทุนที่คาดหวังหลังจากเกษียณแล้ว ซึ่งมักต้องการความแน่นอนสูงกว่า

            โดยข้อ 1. ถึง 5. จะใช้คำนวณ (A) จำนวนเงินที่สามารถใช้จ่ายได้เมื่อยามเกษียณ และตัวเลข (A) ก็จะใช้คำนวณร่วมกับข้อ 8) เพื่อให้ทราบ (B) จำนวนเงินก้อนที่ต้องมีไว้ให้พอ ณ วันเกษียณ และสุดท้ายก็จะนำตัวเลขข้างต้นมาคำนวณเป็น (C) จำนวนเงินที่ต้องออมเพิ่มและลงทุนให้ได้ต่อเนื่องรายเดือนเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย (A)

            ซึ่งจะเห็นว่า หากเราสามารถสร้าง (B) หรือเงินก้อนที่มีไว้ก่อนเกษียณได้เป็นจำนวนมากพอ เมื่อร่วมกับ (8) หรือผลตอบแทนการลงทุนภายหลังเกษียณ (8) ก็จะเกิดเป็น (A) หรือรายได้จากการลงทุนที่สามารถนำมาใช้จ่ายได้ตลอดไปโดยที่เงินต้นไม่ลดลงไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไร

            ตัวอย่างแรก คุณ Z ปัจจุบันอายุ 45 ปี และต้องการเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี (มีเวลาทำงานเก็บเงินอีก 15 ปี) ปัจจุบันมีรายได้สุทธิเดือนละ 75,000 บาท เมื่อรวมกับรายได้ในอนาคตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงอัตราเงินเฟ้อ 1.40% ต่อปี (ซึ่งคือตัวเลขจริงของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยต่อปีในช่วง 15 ปีล่าสุด ณ มิถุนายน 2564) โดยตั้งใจว่าเมื่อเกษียณแล้วจะใช้จ่ายเป็น 60% ของรายได้เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ ก็จะคำนวณได้ว่า คุณ Z ต้องการเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ เดือนละ 55,435 บาท

            โดยคุณ Z คาดว่าหลังเกษียณแล้วจะนำเงินก้อนที่สะสมไว้มาสร้างผลตอบแทนได้ร้อยละ 5 ต่อปี เท่ากับว่าคุณ Z จะต้องมีเงินเก็บ ณ วันเกษียณ 13.30 ล้านบาท และในช่วงเวลา 15 ปีที่ยังคงทำงานอยู่ คุณ Z คาดว่าจะหาผลตอบแทนจากการลงทุนได้ร้อยละ 10 ต่อปี เมื่อพิจารณาจากเงินเก็บที่มีอยู่แล้ว 2 ล้านบาท พบว่าคุณ Z ต้องออมมาลงทุนเพิ่มขึ้นอีก เดือนละ 12,983 บาท (คิดเป็นสัดส่วนเพียง 17.3% ของรายได้ 75,000 บาทต่อเดือน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะทำได้จริงตามแผนนี้)

            ตัวอย่างที่สอง คุณ M ปัจจุบันอายุ 30 ปี และต้องการเกษียณเมื่ออายุ 55 ปี (มีเวลาทำงานเก็บเงินอีก 25 ปี) ปัจจุบันมีรายได้สุทธิเดือนละ 50,000 บาท เมื่อรวมกับรายได้ในอนาคตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นใกล้เคียงอัตราเงินเฟ้อ 1.40% ต่อปี และตั้งใจว่าเมื่อเกษียณแล้วจะใช้จ่ายเป็น 70% ของรายได้เดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ ก็จะคำนวณได้ว่า คุณ M ต้องการเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ เดือนละ 49,547 บาท โดยคุณ M คาดว่าหลังเกษียณแล้วจะนำเงินที่สะสมไว้มาสร้างผลตอบแทนได้ร้อยละ 4 ต่อปี เท่ากับว่าคุณ M จะต้องมีเงินเก็บ ณ วันเกษียณ 14.86 ล้านบาท และในช่วงที่ยังทำงานอยู่อีก 25 ปี คุณ M คาดว่าจะหาผลตอบแทนจากการลงทุนได้ร้อยละ 8 ต่อปี

            เมื่อพิจารณาจากเงินเก็บที่มีอยู่แล้ว 3 ล้านบาท จะพบว่าคุณ M ต้องออมมาลงทุนเพิ่มขึ้น เดือนละ -6,476 บาท ซึ่งตัวเลขที่ติดลบหมายความว่า คุณ M ไม่จำเป็นต้องออมเพิ่มแล้ว เนื่องจากมีเงินก้อนมากพอ (3 ล้านบาท) และคาดว่าจะนำเงินนั้นไปสร้างผลตอบแทนได้ในอัตราสูงพอ (ร้อยละ 8 ต่อปี) และมีระยะเวลาลงทุนเหลืออีกนานพอ (25 ปี) ดังนั้น โดยหลักการแล้ว คุณ M จะสามารถนำรายได้แต่ละเดือนไปใช้จ่ายได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องปันส่วนมาออมและลงทุนเพิ่มอีก

            อย่างไรก็ดี หากในแต่ละเดือนคุณ M ยังมีเงินเหลือจากการใช้จ่าย จนสามารถปันส่วนมาเติมเป็นเงินออมเพื่อลงทุนได้เรื่อยๆ ก็จะยิ่งเสริมพลังให้มีเงินก้อนพร้อมใช้ ณ วันเกษียณเป็นจำนวนสูงขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าคุณ M จะมีศักยภาพในการใช้จ่ายเมื่อยามเกษียณสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่ผู้เขียนยังคงแนะนำ แม้ในเชิงตัวเลขจะไม่จำเป็นต้องออมเพิ่มแล้วก็ตาม

            เมื่อถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่าตัวเองยังต้องออมมาลงทุนเพิ่มอีกหรือไม่ และเป็นจำนวนเงินเท่าไรต่อเดือน ภายใต้ตัวแปรต่างๆ ที่เป็นตัวเลขของท่านเองโดยเฉพาะ รวมถึงอาจจะยังสงสัยว่าผลลัพธ์จากสองตัวอย่างข้างต้นนั้นมีรายละเอียดสูตรคำนวณอย่างไร ก็สามารถคลิกลิงก์หรือสแกน QR Code นี้เพื่อลองทำด้วยตัวเองและเห็นผลลัพธ์การคำนวณได้ทันที ซึ่งจะเป็นลิงก์ไปยังเครื่องมือคำนวณที่เว็บไซต์ของผู้เขียน (ใช้งานฟรี และไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนตัวใดๆ ทั้งสิ้น)




ตอนที่ 2 : ลงทุนอย่างไรจึงมีโอกาสถึงเป้าหมาย

            เนื้อหาช่วงก่อนหน้าได้นำเสนอหลักการออมมาลงทุนเพื่อไม่ต้องกังวลว่าเงินจะหมดก่อนจากไป รวมถึงได้นำเสนอเครื่องมือช่วยคำนวณซึ่งแสดงผลลัพธ์ให้ทราบได้ทันที แต่เมื่อสังเกตในรายละเอียดก็จะพบว่า แม้จะรู้ตัวแปรครบทุกข้อและได้รับผลลัพธ์การคำนวณแล้ว แต่หากไม่ทราบว่าต้องลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทใดจึงจะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์ทั้งช่วงก่อนและหลังเกษียณ ก็ยากที่จะนำแผนการทั้งหมดนี้ไปดำเนินการได้จริง จึงขอเสริมข้อมูลด้วยตัวเลขจริงของผลตอบแทนการลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์บางประเภทเพื่อให้ท่านผู้อ่านมีข้อมูลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนี้


            และเมื่อนำข้อมูลจากตารางข้างต้นเข้าไปประกอบกับการคำนวณในส่วนที่ 1 ก็จะครบเป็นองค์ประกอบทั้งแผนในภาพรวมและการตัดสินใจลงทุนจริงในภาคปฏิบัติ เช่น ช่วงวัยทำงานที่ยังมีรายได้ประจำ ซึ่งรับความเสี่ยงได้สูง ก็อาจต้องการผลตอบแทนในระดับสูงมาก (เช่น กรณีคุณ Z) และเมื่อพิจารณาตัวเลือกในตารางก็จะเห็นว่าการลงทุนในหุ้นสหรัฐอเมริกาให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 10 ต่อปี ทั้งในช่วง 5 ปีล่าสุดและช่วงที่นานกว่านั้น หรือหากต้องการผลตอบแทนปานกลางแต่ยังมีโอกาสเติบโต ก็อาจลงทุนในทองคำซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณร้อยละ 6 ต่อปี

            แต่หากต้องการความแน่นอนมากขึ้นโดยยังเปิดโอกาสได้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อพอสมควร ก็อาจเน้นลงทุนในหุ้นกู้เอกชนหรือพันธบัตรรัฐบาลไทย ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3-4 ต่อปี โดยส่วนนี้อาจใช้เป็นสินทรัพย์หลักสำหรับการลงทุนหลังเกษียณแล้ว (เช่น กรณีคุณ M) และอาจผสมกับสินทรัพย์อื่นๆ อีกบางส่วนในลักษณะ Portfolio เพื่อเปิดโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น

 

สรุปแนวทางและการลงมือปฏิบัติ

            เมื่อนำส่วนที่ 1 ซึ่งกล่าวถึงแนวคิดการออมเพื่อลงทุนให้มีเงินใช้ต่อเนื่องเรื่อยไป รวมถึงการใช้เครื่องมือช่วยคำนวณที่สามารถแสดงตัวเลขได้อย่างชัดเจน รวมเข้ากับส่วนที่ 2 ซึ่งแสดงสถิติผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวของสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ก็น่าจะช่วยให้ท่านผู้อ่านกำหนดเป้าหมายการออม (ต้องออมเท่าไร) และการลงทุน (ต้องลงทุนอย่างไร) ได้อย่างชัดเจน

            และเมื่อต้องลงมือปฏิบัติจริงตามแนวทางที่กล่าวมาทั้งหมด ก็สามารถเลือกใช้กองทุนรวมประเภทที่เกี่ยวข้อง ทั้งกองทุนหุ้น กองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ และกองทุนตราสารหนี้ เข้ามาช่วยตอบโจทย์การลงทุนระยะยาว โดยอาศัยประโยชน์จากความเข้าถึงง่ายสำหรับทุกคนแต่ยังทรงประสิทธิภาพในด้านโอกาสการได้รับผลตอบแทนดีอย่างที่ต้องการ




เกี่ยวกับนักเขียน

ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์เทรเชอริสต์ ผู้ให้บริการ Treasurist.com ผู้ก่อตั้ง Thailand Investment Forum นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์และผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และ นักแปลอาสาของ TED.com

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน