THE GURU • FINTECH&STARTUP

Crowdfunding คราวด์ฟันดิง #6 ทางเลือกในการระดมทุน และการลงทุน

บทความโดย: ทศรรห์ บุรีชนะ

            หลังจากที่เราได้ทราบถึงการระดมทุนแบบ Crowdfunding ในรูปแบบต่างๆ ทั้ง Donation – Reward - Equity -Debt ไปกันแล้วก่อนหน้านี้ และเราทราบว่าการระดมทุนผ่าน Crowdfunding มีความสำคัญกับ SME มาก เนื่องจากเป็นการระดมทุนรอบแรกๆ ที่ยอดเงินที่ต้องการสูงเกินกว่าจะพึ่งพาเพียงคนรอบๆ ตัวที่เรียกว่า FFF (FFF: Friend Family and Fool) แต่อาจยังไม่สูงพอที่จะดึงดูดให้ Venture Capital (VC) มาลงทุน ซึ่งในช่วงที่ยังไม่มีระบบ Crowdfunding เกิดขึ้นนั้น หากไม่มีนักลงทุนประเภท Angel มาช่วยลงทุน (ยอดลงทุนเฉลี่ยประมาณ 2.2 ล้านบาท) จะทำให้เกิดช่องว่างในการระดมทุน (Fundraising GAP) ทำให้การเติบโตของ SME ชะงักงัน หากไม่มี Crowdfunding (ถึงแม้จะมีเรื่องราวเหมาะสม แต่หานักลงทุนมาลงทุนไม่ได้)

            นอกจากประโยชน์ของ Crowdfunding แล้ว ครั้งนี้อยากชวนคุยเรื่องการใช้ Crowdfunding มาสร้างมูลค่าให้กับบริษัทกันครับ ซึ่งเป็นประโยชน์อีกด้านหนึ่ง นอกเหนือจากการที่ได้รับเงินจากการระดมทุนมาเพื่อการใช้งานในวัตถุประสงค์ต่างๆ

            เครื่องมือการระดมทุนแบบ Crowdfunding ในรูปแบบต่างๆ ส่งผลกับมูลค่าของบริษัทในระดับที่แตกต่างกัน ดังรูปที่ 1 ซึ่งเราได้พัฒนาเพิ่มเติมจาก Crowdfunding and Value Creation ของ Moriah Meyskens และ Lacy Bird, 2015 จะเห็นได้ว่าการะดมทุนแบบ Debt และ Equity Crowdfunding นั้น จะส่งผลกับมูลค่าของบริษัทในระดับสูง

รูปที่ 1 การระดมทุนในรูปแบบต่างๆ และผลกระทบต่อมูลค่าบริษัท

ความจำเป็นในการสร้างมูลค่าให้บริษัท

            การวางแผนการสร้างมูลค่าให้กับบริษัท หรือองค์กรต่างๆ เป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช่เพียงการสร้างมูลค่าที่เป็นตัวเลข แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการมองกลยุทธ์ระยะยาวให้กับบริษัท อีกทั้งยังเป็นการตอบโจทย์ผู้ถือหุ้น และลูกค้าได้อีกด้วย การสร้างมูลค่าให้กับบริษัท สามารถทำได้ผ่าน Crowdfunding ด้วยวิธีการออกแบบโครงสร้างการถือหุ้น และโครงสร้างราคา (Valuation Model) ที่มีความเหมาะสม ทั้งนี้กระบวนการดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทั้ง บริษัทที่ต้องการระดมทุนและนักลงทุน

บริษัทที่ต้องการระดมทุน

            ในส่วนของบริษัทที่ต้องการระดมทุนนั้น (โดยเฉพาะ Equity Crowdfunding) ต้องทราบว่าการระดมทุนจะต้องมีวิธีการ และกระบวนการทำอย่างไร เพื่อที่จะทำให้บริษัทมีมูลค่าสูงขึ้นได้  เช่นการออกแบบ Roadmap ในการระดมทุน ซึ่งจะส่งผลในการสร้างกลยุทธ์ เพื่อให้บริษัทมีมูลค่าที่สูงขึ้น อาทิเช่น

            1.การสร้างกลยุทธ์ในการตั้งเป้ายอดขาย ที่คำนวณมาจาก มูลค่าบริษัทที่ออกแบบไว้

            2.การกำหนดกลยุทธ์ในการขยายตลาด และระยะเวลาที่ต้องทำให้สำเร็จ สอดคล้องกับ Roadmap ในการระดมทุน

            3.การกำหนดกลยุทธ์ในการการทำ M&A ในระดับ SME

นักลงทุน

            ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนักลงทุนนั้น จะเป็นส่วนที่โดยธรรมชาติของนักลงทุน มีความต้องการให้เงินลงทุนในบริษัท เกิดผลประโยชน์งอกเงย ดังนั้นนักลงทุนจะมองหา บริษัทที่ให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่า

            จะเห็นได้ว่าทั้งผู้ที่ต้องการระดมทุน และนักลงทุนต้องมีความคิด ความต้องการที่สอดผสาน เกี่ยวข้องกันผ่านกระบวนการสร้างมูลค่าของบริษัท

การสร้างมูลค่าบริษัทผ่าน Crowdfunding

            เรื่องการสร้างมูลค่าให้กับบริษัทนั้น ทำได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบกำไรสะสม, การตั้งสมมติฐานผ่าน KPI และทำ Projection เพื่อนำมาทำเป็น Discounted Cashflow (DCF), การสร้างเรื่องราว (หุ้นดีต้องมี story) ให้มีจุดน่าสนใจสอดคล้องกับแนวโน้มโลก เช่น BCG (Bio-Circular-Green Economy) หรือ ESG (Environmental, Social and Governance) หรือจะเป็นการเลือกอุตสาหกรรมที่ตลาดให้ความสนใจและให้คุณค่า ตามที่นักลงทุนทุกท่านคุ้นเคยกัน

            การสร้างมูลค่าของบริษัทผ่าน Crowdfunding จำเป็นต้องทำกระบวนการนี้ด้วยเช่นกันครับ

            นอกจากการทำ Valuation สำหรับ Crowdfunding ที่ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ข้างต้นแล้ว เนื่องจากบริษัทกำลังก้าวข้ามจากสนามเล็ก ไปสนามใหญ่ขึ้น จึงเป็นช่วงที่บริษัท และทีมบริหารต้องมีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น มีระบบบัญชีที่เชื่อถือได้ มีโครงสร้างบริษัทที่เป็นระบบ มีแผนกลยุทธ์ที่ชัดเจน ปัจจัยเหล่านี้มีผลกับการทำ Valuation ทั้งหมดครับ

            และอีกจุดหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อย ในระหว่างการระดมทุนผ่าน Crowdfunding คือการสร้างความเชื่อถือให้กับนักลงทุน การทำการบ้าน การได้ลองพูดคุย แลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญ หรือที่ปรึกษาในด้านต่างๆ ทำให้บริษัทมีการปรับปรุงให้มีความแข็งแรงขึ้นอย่างถูกทาง หลากหลายคำถามยากๆ ที่มาจากคนนอกและนักลงทุน ล้วนแต่เป็นการลับคมความคิด ที่จะนำมาใช้ในการร่างแบบแผน กลยุทธ์ (Strategy Design) ให้เป็นรูปร่าง ชัดเจนยิ่งขึ้น และนำไปปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่แผนงานที่สวยหรู แต่นำไปใช้ในทางปฏิบัติได้ยากและเป็นความท้าทายในการนำไปปฏิบัติจริง (implementation challenge) ซึ่งผมเห็นว่าเป็นจุดยากที่สุดอีกจุดหนึ่ง ของการดำเนินธุรกิจที่ประสบพบปัญหากัน ของพวกนี้ต้องเป็น Tailormade ไม่สามารถลอกเลียนจากตัวอย่าง หรือหนังสือได้ง่ายๆ มิฉะนั้นบริษัทต่างๆ ต้องประสบความสำเร็จ และท้ายสุดบริษัทที่ระดมทุนต้องมีการออกแบบจำนวนหุ้นอีกครั้ง หลังจากที่ระดมทุนสำเร็จแล้วด้วยนะครับ จึงจะเป็นการระดมทุนแบบเพิ่มคุณค่าอย่างสมบูรณ์ครับ

            หากบริษัททำได้ตามนี้ เส้นทางในการระดมทุนให้สำเร็จ และเป็นการสร้างมูลค่าของบริษัทไปด้วยในครั้งเดียว เสมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ย่อมมีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงครับ

เกี่ยวกับนักเขียน

ทศรรห์ บุรีชนะ Chief Value Officer บริษัท สินวัฒนา คราวด์ฟันดิง คอร์ปอเรชั่น จำกัด นักการเงิน นักลงทุน ผู้เข้าใจกลไกการระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มใหม่ๆให้ธุรกิจเอสเอ็มอีได้มีโอกาสเติบโตทางธุรกิจมากขึ้น

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน