THE GURU • FAMILY BUSINESS SOCIETY

4 เสาของธรรมนูญครอบครัวที่ศักดิ์สิทธิ์

บทความโดย: นวพล วิริยะกุลกิจ

ครอบครัวก็เปรียบดั่งชูชีพท่ามกลางทะเลชีวิตที่ปั่นป่วน[1]
                                            - J.K. Rowling

            

ทำยังไงให้ธรรมนูญครอบครัวศักดิ์สิทธิ์?

            เป็นคำถามที่อยู่ในใจของหลายๆ คน เมื่อครอบครัวอุตส่าห์เสียเวลา เสียเงินเสียทอง เสียพลังงานไปมากมายเพื่อให้ได้มาซึ่งธรรมนูญครอบครัวซักฉบับ แต่ผลลัพธ์คือไม่มีใครใส่ใจ ไม่มีใครเอาไปปฏิบัติ จนทำให้ต้องกลับมาคิดว่าเราจะทำไปเพื่ออะไร?

            บทความนี้จะมาแชร์ 4 วิธีที่จะทำให้ธรรมนูญครอบครัวของคุณมีความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นกว่าเดิม


เสาที่ 1 : ผูกกับกฎหมาย

            “ธรรมนูญครอบครัว” ไม่ใช่กฎหมาย ฟ้องร้องไม่ได้ แต่ทำให้มีผลทางกฎหมายได้

            แม้ ธรรมนูญครอบครัว” อาจฟังดูคล้ายกับ “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งทั้ง “ธรรมนูญครอบครัว” และ “รัฐธรรมนูญ” ต่างมีจุดเหมือนที่สำคัญคือการเป็น “กติกาสูงสุด” ของสังคม โดยรัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดของประเทศ ในขณะที่ธรรมนูญครอบครัวเป็นกติกาสูงสุดของครอบครัว แต่อย่างไรก็ดี ธรรมนูญครอบครัวไม่ใช่กฎหมาย จึงไม่อาจฟ้องร้องกันตามกฎหมายได้ พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าฝ่าฝืนหรือละเว้นที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงในธรรมนูญครอบครัว ก็ไม่อาจฟ้องร้องกันได้ ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญที่สามารถฟ้องร้องกันได้ตามช่องทางต่างๆ ที่กฎหมายกำหนด

            แต่ก็มีวิธีที่จะทำให้ กติกาที่มีการตกลงไว้ในธรรมนูญครอบครัวมีผลทางกฎหมายได้ด้วยการ ผูกกติกานั้นๆ เข้ากับกฎหมายบ้านเมืองที่เกี่ยวข้อง เช่น หากมีข้อตกลงเรื่องการซื้อ-ขาย-โอนหุ้นระหว่างสมาชิกในธรรมนูญฯ ก็ให้นำข้อตกลงนั้นๆ ไปเขียนไว้ใน สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นซึ่งจะทำให้เกิดการยึดโยงระหว่างข้อตกลงใน ธรรมนูญครอบครัวกับ กฎหมายบ้านเมืองอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหากมีข้อขัดแย้งกันในอนาคต กฎหมายบ้านเมืองก็จะเข้ามาเป็นกลไกบังคับให้เป็นไปตามที่ตกลงกัน

            นอกจาก สัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นแล้ว ก็ยังมี ข้อบังคับบริษัทกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการนิติบุคคลรูปแบบต่างๆ (เช่น บริษัทจำกัด บริษัทโฮลดิง มูลนิธิ ฯลฯ) กฎหมายเกี่ยวกับ พินัยกรรม รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการเงินกงสี (บัญชีครอบครัว กองทุนเพื่อการลงทุนร่วมกัน แฟมิลีออฟฟิศ เป็นต้น) หากเรายึดโยงข้อตกลงในธรรมนูญครอบครัวเข้ากับเครื่องมือทางกฎหมายเหล่านี้ได้แล้ว ธรรมนูญครอบครัวก็จะมีผลบังคับทางกฎหมาย (โดยอ้อม) ด้วย ดังนั้น ข้อตกลงในธรรมนูญครอบครัวที่ผูกกับกฎหมายบ้านเมืองแล้ว ก็จะกลายเป็นกติกาที่สมาชิกจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดตามที่กฎหมายกำหนด


เสาที่ 2 : กำหนดรางวัล

            เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามธรรมนูญครอบครัวอย่างพร้อมเพรียง อาจต้องมี แรงจูงใจบางอย่าง

            ข้อตกลงหลายๆ อย่างในธรรมนูญครอบครัวนั้น ไม่สามารถก่อให้เกิดความผูกพันทางกฎหมายได้ เช่น ข้อตกลงเรื่องการรักษาชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล (เช่น ทำเสียชื่อเสียง ก็ไม่ได้ผิดกฎหมายซะหน่อย!) การปฏิบัติตามค่านิยมหรือธรรมเนียมปฏิบัติของครอบครัว (ไม่สืบทอดกิจการ ก็ไม่ได้ติดคุก) การรักษากติกาและมารยาทในการประชุม (พูดคำหยาบ ไม่เข้าประชุม ก็ฟ้องร้องกันไม่ได้) เป็นต้น

ในกรณีเช่นนี้ หลายๆ ครอบครัวจึงใช้วิธีกำหนดรางวัลเพื่อสร้างแรงจูงใจให้สมาชิกปฏิบัติตามข้อตกลงครอบครัวอย่างพร้อมเพรียง เรียกว่าเป็นการให้ Incentive กับสมาชิกที่ปฏิบัติได้ตามที่ตกลงกันไว้

            “รางวัลหรือผลประโยชน์ที่ถูกนำมายึดโยงกับกติกาครอบครอบครัวก็เช่น การให้สวัสดิการครอบครัว เงินให้ประจำเดือน เงินเดือนพิเศษ (เพิ่มจากเงินเดือนปกติที่ได้จากบริษัท) โบนัสพิเศษ (เพิ่มเติมจากโบนัสที่ได้จากบริษัท) หรือแม้กระทั่งหุ้นของธุรกิจครอบครัว เป็นต้น ใครทำได้ก็มีรางวัลให้ ถือเป็นกุศโลบายที่เชื้อเชิญให้สมาชิกปฏิบัติตามข้อตกลงในธรรมนูญอย่างนิ่มนวล ไม่เป็นการบังคับ เช่น สวัสดิการรถคันแรกให้แก่สมาชิกทุกคนที่อายุถึงเกณฑ์และมีความประพฤติดี แต่ถ้าทำตัวไม่ดีไม่เหมาะสม ก็จะอดได้รถ

            หรือ ทายาทคนใดที่เข้ามาช่วยกิจการของครอบครัวจะได้เงินพิเศษเพิ่มอีกเดือนละ 50,000 บาท (เพิ่มขึ้นจากเงินเดือนที่ได้รับอยู่แล้ว) หรืออาจได้เป็นเงินก้อนจากคุณพ่อคุณแม่ทุกๆ 4-5 ปี เพื่อตอบแทนความเสียสละที่กลับมาช่วยทำงานที่บ้าน เป็นต้น

 

เสาที่ 3 : ก่อเกิดสัญญาใจ

            กติกาครอบครัวที่ดีที่สุดคือกติกาที่ไม่ได้ผูกพันด้วยกฎหมายหรือผลประโยชน์ แต่คือกติกาที่ผูกพันสมาชิกจนก่อให้เกิดเป็น สัญญาใจ

การทำตาม สัญญาใจนั้นจะทำให้ผู้ปฏิบัติรู้สึกดี รู้สึกเป็นสุขที่ได้ทำตามสิ่งที่ได้ตกลงกันไว้ และสบายใจที่ไม่ได้เป็นคนที่กลืนน้ำลายตัวเอง เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ เป็นทายาทที่น่าไว้ใจ แม้การทำตามข้อตกลงครอบครัวดังกล่าวอาจสร้างความอึดอัด คับข้องใจให้กับตนเองก็ตาม แต่การทำให้ธรรมนูญครอบครัวกลายเป็นสัญญาใจได้นั้น ก็มีความยากของมัน โดยมีข้อแนะนำในการสร้างกติกาที่จะก่อเกิดเป็นสัญญาใจได้ ดังนี้

1. เป็นกติกาที่สมาชิกกำหนดขึ้นมาร่วมกัน ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งเป็นคนกำหนดมีลักษณะเป็น “หลักเกณฑ์” มากกว่า “หลักกู”

2. เป็นกติกาที่ยึดโยงกับค่านิยม ธรรมเนียมปฏิบัติอันเป็นที่ยอมรับร่วมกันของครอบครัว กติกาที่ฝืนค่านิยมหรือความเชื่อพื้นฐานของครอบครัวจึงยากที่จะศักดิ์สิทธิ์ได้

3. เป็นกติกาที่นำไปสู่ประโยชน์ส่วนรวมของครอบครัว ไม่ได้เพื่อประโยชน์ส่วนตนของใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

4. เป็นกติกาที่ผู้มีอำนาจ หรือผู้ใหญ่ในครอบครัวก็ยังต้องปฏิบัติตาม โดยมีข้อยกเว้นน้อยที่สุด อภิสิทธิ์คือสิ่งที่ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของธรรมนูญครอบครัว


เสาที่ 4 : กำหนดบทลงโทษ

            กฎหมายที่ปราศจากบทลงโทษก็คงไม่ต่างจาก เสือกระดาษซึ่งยากที่จะใช้ปกครองคนหมู่มากได้ ธรรมนูญครอบครัวที่ไม่มีบทลงโทษก็คงไม่แตกต่างกัน แต่การตั้งเป้าสร้าง “เขี้ยวเล็บ” อันน่าสะพรึงกลัวให้กับธรรมนูญครอบครัว น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่แย่ที่สุดของการเขียนธรรมนูญ

เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น?

            เพราะเมื่อพูดถึงการลงโทษ หรือ บทลงโทษ ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับ รางวัล(เสาที่ 2) นั้น สมองของเราจะถูกดึงไปในด้านลบ และอาจไปสะกิดแผล หรือปมในใจของใครเข้าก็ได้ การพูดคุยในเรื่องบทลงโทษจึงต้องพูดคุยด้วยความเข้าใจ เมตตากัน คือเป็นการลงโทษที่ผู้ถูกลงโทษก็เข้าใจสาเหตุดีว่าเพราะอะไร ในขณะที่สมาชิกคนอื่นๆ ก็ต้องพร้อมที่จะให้อภัยแก่สมาชิกที่ทำผิด สำนึกผิด และถูกลงโทษแล้ว ครอบครัวต้องเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะให้โอกาสแก่สมาชิกที่ทำผิดพลาดในการเริ่มต้นใหม่

            บทลงโทษของการทำผิดธรรมนูญครอบครัวมักจะอยู่ในรูปของ “บทลงโทษทางการเงินและสังคม” (Financial and Social Sanction) เช่น ไม่ให้ใช้เงินกงสีอีก ถูกหักลดสวัสดิการครอบครัว (ยึดรถ งดเงินเดือน เฉือนค่าเน็ต ฯลฯ) ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมของครอบครัว เป็นต้น

ข้อควรระวังก็คือ การใช้บทลงโทษที่รุนแรงมากๆ เช่น ไล่ออกจากบ้าน รวมถึงการไม่ยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวอีกต่อไปเป็นสิ่งที่ต้องคิดต้องคุยกันให้ดี เพราะแม้นักโทษประหารยังมีลดโทษ อภัยโทษได้ แง้มประตูไว้ซักนิดให้กับสมาชิกที่กลับตัวกลับใจเพราะ บ้านไม่ใช่ ศาลบทลงโทษก็ให้มีและใช้เท่าที่จำเป็นก็แล้วกัน


                                                                           4 เสาสร้างธรรมนูญครอบครัวให้ศักดิ์สิทธิ์



ที่มา : Family Business Asia

 

            การสร้างธรรมนูญให้ศักดิ์สิทธิ์นั้น เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ของแต่ละครอบครัว เป้าหมายสำคัญคือ การออกแบบเสาทั้ง 4 เพื่อสร้างกติกาครอบครัวที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งไม่ตึงเกินไป และไม่หย่อนเกินไป โดยมีสถาปนิกผู้ออกแบบคือสมาชิกครอบครัวเรานั่นเอง

 

 


[1] “Family is a life jacket in the stormy sea of life,” J.K. Rowling

เกี่ยวกับนักเขียน

นวพล วิริยะกุลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้ประกอบการ นักเขียน และนักเดินทาง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นวพล ได้ที่ Fan page: Family Business Asia

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน