THE GURU • FAMILY BUSINESS SOCIETY

ค่าตอบแทนในธุรกิจครอบครัว ออกแบบค่าตอบแทนให้เหมาะสมและยุติธรรม (ตอนที่ 2)

บทความโดย: นวพล วิริยะกุลกิจ

การยึดคำนิยามของความยุติธรรมที่มุ่งเน้นแต่ความ “แฟร์” อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัว แต่การใส่ความ “แคร์” หรือความใส่ใจ ความเป็นห่วงซึ่งกันและกันเข้ามาในสมการของความยุติธรรมด้วย อาจเป็นสิ่งที่ครอบครัวต้องการมากกว่าก็เป็นได้

"ความยุติธรรมของอียิปต์โบราณ ไม่ได้เรียกร้องให้ทุกคนเท่าเทียมกัน...แต่หมายถึงการที่คนทุกระดับอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนสมานฉันท์ และเอื้ออาทรต่อกัน” - The Tale of the Eloquent Peasant (แปลโดย ปรีดี บุญซื่อ)


            ตอนนี้เรายังคงอยู่กันที่เรื่องค่าตอบแทน โดยเราจะมาโฟกัสกันในประเด็นของ “ความยุติธรรม” ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องที่เซ็นซิทีฟที่สุด และเป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดในธุรกิจครอบครัว 

            ธรรมชาติของมนุษย์คือเราไม่ชอบเสียเปรียบ! 

            “ทำเยอะ ทำไมได้น้อย?”

            ปัญหาของเรื่องนี้ก็คือ “ได้เยอะ” หรือ “ได้น้อย” นั้นเป็นความรู้สึกและมุมมองส่วนบุคคล เพราะแม้ได้เท่ากัน คนหนึ่งก็อาจมองว่า “ได้น้อย” และอีกคนก็อาจถูกมองว่า “ได้เยอะ” ก็เป็นได้ ดังนั้น เรื่องความยุติธรรมจึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันเสมอไม่ว่าจะเป็นในธุรกิจครอบครัว หรือองค์กรธุรกิจทั่วไป งานวิจัยเชิงจิตวิทยาในช่วงหลังๆ ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจประการหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องของความยุติธรรม ที่น่าสนใจก็เพราะไม่ใช่แค่มนุษย์ที่ต้องการความยุติธรรม เพราะแม้แต่ลิงก็ยังต้องการความยุติธรรมเช่นกัน! 

            การทดลองโดย Sarah Brosnan และ Frans de Waal กับลิงคาปูชินเพศเมีย 2 ตัว ในปี 2003 ให้ผลการทดลองที่น่าสนใจ ลิงสองตัวถูกจับให้อยู่ในกรง 2 กรงข้างๆ กัน นักวิจัยตั้งภารกิจให้ลิงทั้งสองตัวต้องส่งคืนก้อนหินที่ได้รับไปเพื่อที่จะได้ “รางวัล” คือแตงกวาหนึ่งชิ้น ตลอดการทดลอง 25 รอบ ลิงทั้งสองส่งคืนก้อนหินแก่นักวิจัย และรับเอาแตงกวาไปกินอย่างเรียบร้อยดี 

            แต่เหตุการณ์เปลี่ยนไปเมื่อหนึ่งในลิงสองตัวได้รับ “องุ่น” แทนแตงกวา และลิงอีกตัวยังคงได้ “แตงกวา” เช่นเดิม ลิงที่ได้แตงกวาเห็นลิงที่ได้องุ่นในกรงข้างๆ มันเริ่มแสดงอาการไม่พอใจ และเมื่อมันทำภารกิจส่งคืนก้อนหินให้กับนักวิจัย พร้อมกับรับแตงกวาไป ครั้งนี้มันรับไป เคี้ยวไปนิดนึง และขว้างแตงกวานั้นกลับออกมาจากกรงอย่างเกรียวกราด และเมื่อได้เห็นว่า ลิงในกรงข้างๆ ได้รับองุ่นอีกครั้ง มันก็ดูเหมือนจะคลุ้มคลั่งมากยิ่งขึ้นไปอีก 

นักวิจัยสรุปผลการทดลองนี้ว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดนั้นไม่ชอบหรือพยายามหลีกเลี่ยง “ความเสียเปรียบ” หรือที่นักจิตวิทยาเรียกว่า Disadvantageous-inequity Aversion (D.I.) ซึ่งความไม่ชอบความเสียเปรียบนี้พบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น ลิงชิมแปนซี สุนัข และมนุษย์ เป็นต้น 

            ความไม่ชอบนี้ยังพบว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สัตว์เหล่านี้ยังอายุน้อย จึงอาจเรียกได้ว่า D.I. นี้เป็นเหมือนสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของสัตว์ในกลุ่มนี้เลยทีเดียว ผลวิจัยในมนุษย์เรื่อง D.I. ก็ให้ผลลัพธ์ที่สอดคล้องกันว่าคนเราก็ไม่ชอบเสียเปรียบเช่นกัน 

            และที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก คือ “ความได้เปรียบ” ก็เป็นสิ่งที่คนในบางวัฒนธรรมไม่ชอบด้วยเช่นกันโดยเฉพาะในวัฒนธรรมตะวันตก (บางประเทศ) ที่ให้คุณค่าในเรื่องของความเท่าเทียมกัน  ดังนั้น ไม่ว่าจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบ คนเราก็อาจไม่ชอบได้ และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ประเด็นเรื่อง “ความยุติธรรม” กลายเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึงบ่อยที่สุดประเด็นหนึ่งในธุรกิจครอบครัว

          หลายแนวคิดเกี่ยวกับ “ความยุติธรรม”

            แนวคิดเรื่อง “ความยุติธรรม” นั้น มีมาตั้งแต่อดีตกาล ความยุติธรรมที่คนอียิปต์โบราณเรียกว่า “มาต” เป็นแนวคิดที่มีความหมายกว้างขวางในหลายมิติ ในความหมายกว้าง มาต หมายถึง ความเป็นระเบียบแบบแผน และความสมดุลของจักรวาล เช่น ฤดูที่ผันเปลี่ยนเป็นไปตามปรกติ การท่วมบ่าของแม่น้ำไนล์ตามฤดูกาล กลางวันเปลี่ยนเป็นกลางคืน เป็นต้น 

            ในแง่นี้ มาต จึงคล้ายกับความคิดปรัชญาตะวันตกในเรื่องกฎธรรมชาติ (Natural Law) ในความหมายที่แคบลงมา โดยเฉพาะเมื่อมองไปยังสังคมมนุษย์ มาต เป็นความคิดที่กำหนดค่านิยมของสังคมว่า อะไรถูก อะไรผิด กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน และการยึดถือสิ่งที่เป็นสัจจะความจริง เป็นต้น 

ในยุคสมัยของอียิปต์โบราณนั้น ยังไม่มีกฎหมายหรือบทบัญญัติทางศาสนาที่จะบอกว่าอะไรคือการกระทำที่ถูกหรือผิด การแยกแยะสิ่งที่ถูกกับสิ่งที่ผิด ความจริงกับความเท็จจึงต้องอาศัยแนวคิด มาต เป็นหลัก ความยุติธรรมในมุมมองของ มาต จึงไม่จำเป็นว่าจะต้องเท่ากัน หรือเสมอภาคกัน แต่คือสภาวะตามธรรมชาติ นั่นเอง

            ในปัจจุบัน แนวคิดเรื่องความยุติธรรมนั้นถูกตีความ และให้นิยามกันไปต่างๆ นานาโดยนักคิดที่สำคัญในแต่ละยุคสมัย ซึ่งผู้เขียนจะขอยกมาเป็นตัวอย่าง 3 แนวคิด ได้แก่ 

            1.ความยุติธรรมของอริสโตเติล - อริสโตเติลเป็นนักปรัชญาชาวกรีก (384-322 ปีก่อนคริสตกาล) มีแนวคิดที่ว่า “Let’s give the best flutes to the best flute players” หรือเราควรให้ฟรุ้ต (เครื่องเป่าประเภทหนึ่ง) ที่ดีที่สุดแก่นักเป่าฟรุตที่เก่งที่สุด ทำไมล่ะ? อริสโตเติลเห็นว่า ฟรุ้ต เป็นเครื่องดนตรีที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้กำเนิดเสียงที่ไพเราะ ดังนั้น การให้ฟรุ้ตแก่คนที่จะใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุด ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรืออาจเรียกได้ว่า “ยุติธรรม” 

            2.ความยุติธรรมของ Jeremy Bentham - เจเรมี เบนแธม เป็นนักปรัชญาชาวอังกฤษ (ค.ศ.1748-1832) มีแนวคิดที่ว่า “Let’s give the best flutes to those who would make use of them to create the greatest happiness to the greatest number of people” หรือเราควรให้ฟรุ้ตที่ดีที่สุดแก่นักเป่าฟรุ้ตที่จะใช้เพื่อสร้างความสุขสูงสุดแก่ผู้คนจำนวนมากที่สุด ทำไมล่ะ? เบนแธม เห็นว่าพวกเราต้องมองไปที่ “ประโยชน์ส่วนรวม” หรือ “ความพึงพอใจร่วมกัน” (Benefits) รวมถึง “ต้นทุน” (Costs) ที่จะเกิดขึ้นกับสังคมเป็นสำคัญ 

            โดยเปรียบเทียบ “ประโยชน์ส่วนรวมสุทธิ”  ว่ามากหรือน้อยกว่าทางเลือกอื่นๆ หากสิ่งที่เราเลือกนั้นก่อให้เกิด “ประโยชน์ส่วนรวมสุทธิ” สูงสุดต่อสังคม (เช่น ครอบครัวของเรา) ก็อาจเรียกได้ว่าการตัดสินใจนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรือ “ยุติธรรม” 

            3.ความยุติธรรมของ John Rawls - จอห์น รอว์ล เป็นนักปรัชญาชาวอเมริกัน (ค.ศ.1921-2002) มีแนวคิดที่ว่า “Let’s give a fair chance to everyone to make use of the best flutes” หรือเราควรที่จะให้โอกาสที่เท่าเทียมกันแก่ทุกๆ คนที่ต้องการจะใช้ฟรุ้ตที่ดีที่สุดนั้นๆ ทำไมล่ะ? เพราะ รอว์ล เชื่อว่า สังคมมีหน้าที่ๆ จะให้โอกาสแก่ทุกคนเพื่อที่พวกเขาจะสามารถประสบความสำเร็จได้อย่างเท่าเทียมกัน ถ้าฟรุ้ตนั้นจะนำไปสู่การสร้างชื่อเสียง หรือโอกาสในการทำมาหากิน ทุกคนก็ควรจะได้รับโอกาสนั้นอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งนั่นก็คือสิ่งที่เราอาจจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หรือ “ยุติธรรม” นั่นเอง 

            ดังนั้น วกกลับมาที่เรื่องการให้ค่าตอบแทน ความยุติธรรมในมุมมองที่ 1 ของอริสโตเติลจะเกิดขึ้นได้เมื่อเราให้ค่าตอบแทนที่สูงที่สุดแก่คนที่ เก่งที่สุด มีผลงานดีที่สุด หรือมีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่สุด เป็นต้น แต่ถ้าเราเปลี่ยนมาใช้ความยุติธรรมในมุมมองที่ 2 ของ เบนแธม เราอาจจะเลือกให้ค่าตอบแทนที่สูงที่สุดแก่คนที่จะทำประโยชน์ให้กับองค์กรได้มากที่สุด ซึ่งคนๆ นั้น อาจไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด หรือมีผลงานที่ดีที่สุดก็ได้ แต่อาจเป็นหัวหน้าทีมที่ไม่ได้มีผลงานส่วนตัวดีเด่นอะไร แต่สามารถรักษาสปิริตของทีมได้ดี ทำให้ทีมงานมีความสุข และสร้างผลงานร่วมกันได้ดี เป็นต้น 

            หรือถ้าเราจะนำความยุติธรรมในมุมมองที่ 3 ของ รอว์ล มาใช้ เราอาจเลือกที่ให้ค่าตอบแทนเท่าๆ กันแก่ทุกคน เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้มีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการมีความสุขและสามารถพัฒนาตนเองให้ทำงานได้ดีขึ้นในอนาคต เป็นต้น

          นี่คือความยากของการหาจุดที่ทุกคนยอมรับว่า “ยุติธรรม” 

            ผลลัพธ์ที่ยุติธรรม VS กระบวนการที่ยุติธรรม?

            เมื่อ “ผลลัพธ์ที่ยุติธรรม” นั้นไม่อาจจะหาจุดลงตัวที่ทุกคนเห็นตรงกันได้โดยง่าย การหาความยุติธรรมด้วยวิธีใหม่ที่ทุกคนยอมรับจึงเกิดขึ้น จุดลงตัวใหม่นั้นอาจคือ “กระบวนการที่ยุติธรรม” ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

ยกตัวอย่างสมมติที่คุณแม่จะต้องหาวิธีแบ่งเค้กหนึ่งชิ้นที่มีให้กับลูก 2 คนอย่างยุติธรรมที่สุด ซึ่งถ้าเป็น “ความยุติธรรมในผลลัพธ์” แล้วละก็ คุณแม่อาจจะต้องเหนื่อยหน่อย เพราะต้องแบ่งให้ทั้งสองส่วนของเค้กมีความเท่ากันมากที่สุด เช่น อาจใช้วิธีชั่งน้ำหนักให้เท่ากัน หรืออาจจะต้องลงรายละเอียดไปถึงองค์ประกอบของเค้กว่าจะต้องเท่าเทียมกันที่สุด เป็นต้น 

            แต่ถ้าคุณแม่ลองออกแบบ “กระบวนการ” บางอย่างที่ทุกคนยอมรับว่ายุติธรรม คือโฟกัสไปที่ “กระบวนการ” มากกว่า “ผลลัพธ์” ที่ยุติธรรม คุณแม่ก็อาจจะเหนื่อยน้อยลง และสามารถตอบคำถามของลูกๆ ได้ง่ายขึ้นว่ามันยุติธรรมยังไง กระบวนการที่ยุติธรรม เช่น ให้น้องเป็นคนแบ่งแล้วให้พี่เลือกชิ้นเค้ก หรือให้ใครแบ่งก็ได้ แล้วเป่ายิ้งฉุบกัน ใครชนะก็จะได้เลือก หรือถ้ามองว่าคุณแม่คือความยุติธรรม 

            การให้คุณแม่แบ่งให้ลูกทั้งสองคน ไม่ว่าจะเป็นชิ้นไหนก็ถือว่ายุติธรรมทั้งนั้นก็อาจเป็นทางออกหนึ่งก็เป็นได้ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อกระบวนการตัดสินใจถูกยอมรับโดยสมาชิกครอบครัวแล้วว่า “ยุติธรรม” ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงเป็นที่ยอมรับว่า “ยุติธรรม” ด้วย แม้ว่าอาจจะไม่ได้ถูกใจทุกคนก็ตาม

           

 

            แต่การตัดสินใจในธุรกิจครอบครัวอาจไม่ง่ายเหมือนการแบ่งเค้ก ผมขอแชร์คำแนะนำของ Barbara Hauser ที่ปรึกษาธุรกิจครอบครัวท่านหนึ่งที่เสนอหลัก 3 ประการของการสร้างกระบวนการตัดสินใจที่ “แฟร์” กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจครอบครัว ดังนี้

            1) กระบวนการตัดสินใจที่แฟร์จะต้องเป็นกระบวนการที่ “โปร่งใส” (Transparent)

            2) กระบวนการตัดสินใจที่แฟร์จะต้องเป็นกระบวนการที่ “เปิดให้มีส่วนร่วม” (Participative) 

            3) กระบวนการตัดสินใจที่แฟร์จะต้องเป็นกระบวนการที่ “ร่วมกันรับผิดชอบต่อการตัดสินใจนั้นๆ” (Accountable)

            หลักข้อแรกของการตัดสินใจที่แฟร์คือ การตัดสินใจนั้นๆ จะต้องมาจากกระบวนการที่ “โปร่งใส” (Transparent Process) เช่น เริ่มต้นจากการแชร์ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการตัดสินใจร่วมกัน การมีข้อมูลไม่เท่ากัน หรือมีข้อมูลคนละชุดกันจะเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการตัดสินใจร่วมกัน 

            หลักข้อที่ 2 คือการ “เปิดให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ” (Participative Process) ซึ่งจะนำไปสู่ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจนั้นๆ และรู้สึกว่าเสียงของพวกเขาถูกได้ยิน เช่น การใช้คณะกรรมการในการตัดสินใจ ไม่ใช่ผู้มีอำนาจตัดสินใจเองคนเดียว หรืออาจจะตัดสินใจคนเดียวก็ได้ แต่มีขั้นตอนของการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ก่อนตัดสินใจ เป็นต้น 

            และหลักข้อสุดท้ายคือ เมื่อตัดสินใจร่วมกันแล้ว กระบวนการจะนำไปสู่ความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกัน ไม่โทษกันภายหลังว่าเป็นการตัดสินใจของใคร แต่เป็นการตัดสินใจของ “พวกเราร่วมกัน” (Accountable Process) ถ้าผลลัพธ์ดีก็รับชอบร่วมกัน ถ้าผลลัพธ์แย่ก็รับผิดร่วมกัน 

            หลักทั้ง 3 ประการข้างต้น ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของกระบวนการตัดสินใจที่ “แฟร์” และจะช่วยสร้าง Trust หรือ “ความเชื่อใจซึ่งกันและกัน” ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อความยั่งยืนของธุรกิจครอบครัว 

            แฟร์ แคร์ หรือยุติธรรม?
            ไม่ใช่ทุกเรื่องในธุรกิจครอบครัวจะต้อง “แฟร์” เสมอไป เช่น การให้เงินเดือนควรจะมีหลักเกณฑ์การให้ที่ชัดเจนและ “แฟร์” กับสมาชิกทุกคนที่เข้ามาทำงาน ซึ่งความแฟร์นั้นอาจเกิดขึ้นจาก “กระบวนการที่ยุติธรรม” เช่น มีการกำหนดเกณฑ์การให้ค่าตอบแทนร่วมกัน และบังคับใช้หลักนั้นๆ กับสมาชิกทุกคนอย่างเสมอภาคกัน เป็นต้น 

            แต่ถ้าเป็นกรณีการให้สวัสดิการครอบครัวกับสมาชิกล่ะ? ถ้าบอกว่าทายาททุกคนที่อยู่ในวัยเรียนจะได้รับเงินสนับสนุนค่าเล่าเรียนคนละ 200,000 บาท/ปี เสมอภาคกันทุกคน แต่ถ้าทายาทคนนั้นเป็นเด็กพิเศษ (ออทิสติก) ที่ต้องการการดูแลเป็นกรณีพิเศษล่ะ เราจะตัดสินใจอย่างไร? หรือถ้าเป็นสวัสดิการการรักษาพยาบาลที่สมาชิกจะได้รับคนละ 200,000 บาท/คน/ปี แต่มีสมาชิกคนหนึ่งที่เกิดโชคร้ายเป็นโรคร้ายแรงล่ะ? เราจะเพิ่มค่ารักษาพยาบาลให้เขามากกว่าสมาชิกคนอื่นๆ หรือไม่? และถ้าทำเช่นนั้นจริง จะเป็นการไม่แฟร์หรือไม่?

ผู้ใหญ่ที่เคารพรักของผมท่านหนึ่งได้ให้คำนิยามของ “ความยุติธรรม” ที่น่าสนใจมากไว้ว่า ยุติธรรม = แฟร์ + แคร์

เพราะในธุรกิจครอบครัวนั้นมีทั้งเรื่องของธุรกิจ และเรื่องของความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวผสมปนเป ผูกพันกันอยู่อย่างแน่นหนา การยึดคำนิยามของความยุติธรรมที่มุ่งเน้นแต่ความ “แฟร์” อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัว แต่การใส่ความ “แคร์” หรือความใส่ใจ ความเป็นห่วงซึ่งกันและกันเข้ามาในสมการของความยุติธรรมด้วย อาจเป็นสิ่งที่ครอบครัวต้องการมากกว่าก็เป็นได้


Resources:

นวพล วิริยะกุลกิจ, “ธรรมนูญครอบครัว”, เอกสารบรรยายงานสัมมนาธุรกิจครอบครัว ปี 2565

ปรีดี บุญซื่อ (แปลเรียบเรียง), “นิทาน ชาวนาผู้มีวาทศิลป์: วาทกรรมว่าด้วยความยุติธรรมม”, พิมพ์ครั้งที่ 1 โดยสำนักพิมพ์ ทับหนังสือ, ส.ค. 2562

Maria Konnikova, “How We Learn Fairness,” www.newyorker.com, on January 7, 2016

Michael J. Sandel, “Justice: What’s the Right Thing to do?,” 2009

อ้างอิง

1 นักจิตวิทยาเรียกความไม่ชอบความได้เปรียบนี้ว่า Advantageous-inequity Aversion หรือ A.I.

2 ประโยชน์ส่วนรวมที่มากกว่าต้นทุนรวม


เกี่ยวกับนักเขียน

นวพล วิริยะกุลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้ประกอบการ นักเขียน และนักเดินทาง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นวพล ได้ที่ Fan page: Family Business Asia

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน