THE GURU • FAMILY BUSINESS SOCIETY

กุชชี่ : เรื่องจริง ที่ยิ่งกว่าหนังฮอลลีวู้ด (ตอนที่ 1)

บทความโดย: นวพล วิริยะกุลกิจ

บทเรียนแบรนด์แฟชั่นชั้นนำที่ไม่เหลือแล้วซึ่งความเป็น“ครอบครัว”

            “กุชชี่” ยังคงโลดเล่นอยู่ในโลกแฟชั่น แต่สำหรับคนในตระกูลกุชชี่ ธุรกิจครอบครัวได้ตายจากไปนานแล้ว อะไรคือสาเหตุของจุดจบอันน่าเศร้าของ “กุชชี่” และเราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากกรณีศึกษาสุดคลาสสิกนี้

            แม้พี่น้องสามคนจะร่วมมือกันบริหารกิจการของครอบครัวจนเติบโต สามารถขยายสาขาไปทั่วโลก แต่ Guccio Gucci ผู้ล่วงลับก็คงไม่เคยคิดเลยว่า การเลี้ยงลูกด้วยแนวคิด “จับลูกมาแข่งกัน” เพื่อเค้นศักยภาพสูงสุดจะกลายเป็นการสร้าง “ปมในใจ” ของลูกๆ ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต

ความเชื่อ ผลประโยชน์ฝันสลาย และการแก้แค้น!

            “ปิดมันซะ!!” 

            Aldo Gucci ตะโกนสั่ง Paolo ลูกชายของเขาให้ปิดเครื่องบันทึกเสียงกลางที่ประชุมบอร์ดบริษัท Gucci ธุรกิจครอบครัวที่ Guccio Gucci (G1) พ่อของเขาก่อตั้งขึ้นในปี 1921 ที่เมืองฟรอเรนซ์ เมื่อ Paolo ปฏิเสธที่จะปิดเครื่องบันทึกเสียง Aldo จึงทะยานไปยัง Paolo และทุบเครื่องบันทึกเสียงนั้นจนแหลก การตะลุมบอนเกิดขึ้นตามมา ก่อนที่สุดท้าย Paolo จะออกจากห้องประชุมไปด้วยความรู้สึกว่าเขาถูกหักหลัง โดย Aldo พ่อของเขาเอง 

            หลังจากนั้น Paolo ก็ยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจาก Gucci เป็นจำนวนเงิน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 1982 ข้อมูลการยักยอกเงินของธุรกิจครอบครัวไปยังต่างประเทศโดย Aldo พ่อของเขาที่ Paolo แอบค้นหาและเก็บไว้อย่างเงียบๆ กำลังจะถูกนำมาใช้เป็นอาวุธในการประหัตประหารในสงครามระหว่างคนในตระกูลที่จะดำเนินต่อไปอีกหลายปี

 

“ความเชื่อ” ที่สร้างรอยร้าวให้กับครอบครัว

            - เพศ และสายเลือด

            Aldo เป็นผู้นำธุรกิจ Gucci ในรุ่นที่สอง (G2) ต่อจาก Guccio Gucci พ่อของเขา (G1) Aldo มีพี่ชาย 2 คนคือ Ugo และ Enzo และพี่สาวอีกหนึ่งคนที่ชื่อ Grimalda สำหรับ Ugo นั้นเป็นพี่ชายที่เป็นลูกติดมาจากสามีเก่าของแม่ จึงมีลักษณะคล้าย “คนนอก” ของบ้าน และ Ugo เองก็ไม่สนใจที่จะทำธุรกิจของครอบครัวด้วย เขาจึงไม่ได้มีบทบาทใดๆ ในธุรกิจของกุชชี่ ในขณะที่ Grimalda พี่สาวคนรองแม้จะช่วยงานธุรกิจครอบครัวมาตั้งแต่ต้น แต่เพราะความที่เป็นลูกผู้หญิง Guccio Gucci ผู้พ่อจึงไม่คิดที่จะให้หุ้นแก่ Grimalda เลย เมื่อ Grimalda รับรู้ถึงความอยุติธรรมนี้ เธอจึงยื่นฟ้องต่อศาล แต่ก็แพ้คดีในที่สุด Grimalda และสามีที่เคยช่วยงาน จึงออกไปจากธุรกิจครอบครัว ในขณะที่ Enzo พี่ชายคนรองนั้นเสียชีวิตไปตั้งแต่อายุเพียง 9 ขวบ ด้วยเหตุนี้ Aldo จึงกลายเป็นทายาทคนโตในธุรกิจครอบครัวกุชชี่

       - “จับลูกมาแข่งกัน” แรงกระตุ้นชั้นยอด หรือยาพิษชั้นเยี่ยม?

Guccio Gucci (G1) เสียชีวิตลงในปี 1953 ทิ้งอาณาจักร Gucci ไว้ให้กับ Aldo และน้องชายของเขาอีก 2 คนคือ Vasco และ Rodolfo ในสามคนพี่น้องที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจของ Gucci ในช่วงต้นนั้น Aldo คือทายาทที่มีความเป็นผู้ประกอบการและมีหัวการค้ามากที่สุด ในขณะที่ Vasco ชอบที่จะใช้ชีวิตอย่างผ่อนคลายในชนบทและรับผิดชอบการผลิตสินค้า ส่วน Rodolfo น้องชายคนเล็กชอบงานด้านการแสดง แต่เมื่อไม่ประสบความสำเร็จมากนัก Rodolfo จึงขอพ่อเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว โดยเริ่มจากงานบริหารร้าน Gucci ในเมืองมิลาน ก่อนจะกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการออกแบบกระเป๋าของ Gucci ในเวลาต่อมา

            และแม้พี่น้องสามคนจะร่วมมือกันบริหารกิจการของครอบครัวจนเติบโต สามารถขยายสาขาไปทั่วโลก แต่ Guccio Gucci ผู้ล่วงลับก็คงไม่เคยคิดเลยว่า การเลี้ยงลูกด้วยแนวคิด“จับลูกมาแข่งกัน” เพื่อเค้นศักยภาพสูงสุดจะกลายเป็นการสร้าง “ปมในใจ” ของลูกๆ ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคต

“ผลประโยชน์” แบ่งยังไงถึงเรียกว่ายุติธรรม?

    ในปี 1974 Vasco (G2) น้องชายของ Aldo เสียชีวิตลงจากโรคมะเร็ง ทิ้งหุ้น 1/3 ของธุรกิจครอบครัวไว้ให้กับ Maria ภรรยาม่าย Vasco และ Maria นั้นไม่มีทายาทร่วมกัน ทั้ง Aldo และ Rodolfo (G2) จึงเสนอขอซื้อคืนหุ้นทั้งหมดของ Vasco จาก Maria เพื่อรักษาหุ้นของ Gucci ให้ยังคงอยู่ในมือสมาชิกครอบครัว ซึ่ง Maria ก็ยอมขายให้ 

            ทำให้ ณ ขณะนั้นทั้ง Aldo และ Rodolfo สองพี่น้องถือหุ้นของธุรกิจครอบครัวเท่ากันอยู่ที่ 50% แต่Aldo กลับรู้สึกว่า Rodolfo ไม่สมควรที่จะได้ถือหุ้นถึง 50% เพราะมันไม่สะท้อนความจริงที่ว่าตัวเขาเองได้ “ให้” อะไรกับธุรกิจครอบครัวมากกว่า Rodolfo 

            การตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งแห่งที่มีการจัดสรรหุ้นที่ “ยุติธรรมกว่า” จึงเกิดขึ้นโดยในปี 1979 บริษัท Gucci Perfumes ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยที่ Rodolfo ถือหุ้น 20% ในขณะที่อีก 80% ที่เหลือถูกกระจายให้กับตัว Aldo และลูกๆ ของเขาทั้ง 3 คน (ถือหุ้นคนละเท่าๆ กันคือ 20%) อานิสงส์จากการออกไลน์สินค้าใหม่ซึ่งมีชื่อว่า Gucci Accessories Collection ที่จับกลุ่มตลาด Mass ช่วยผลักดันรายได้ของบริษัท Gucci Perfumes ให้พุ่งทะยานขึ้นเป็นอย่างมาก 

            เมื่อ Rodolfo สังเกตเห็นความสำเร็จของบริษัทใหม่ที่ตัวเองถือหุ้นอยู่เพียง 20% Rodolfo จึงยกประเด็นเรื่อง “ความยุติธรรม” ในการแบ่งหุ้นของ Gucci Perfumes ขึ้นหารือกับ Aldo ซึ่งแน่นอน Aldo ไม่สนใจที่จะเพิ่มหุ้นให้กับ Rodolfo น้องชายแต่อย่างใด และเพื่อหาพันธมิตรในบอร์ดที่มีอำนาจตัดสินใจในเรื่องการปรับโครงสร้างหุ้นของ Gucci Perfumes 

            Aldo ได้หันไปหาลูกชายทั้ง 3 ของเขา ได้แก่ Giorgio, Paolo และ Roberto ในการโหวตสู้กับ Rodolfo ในบอร์ด ซึ่งก็เป็นที่แน่นอนว่าไม่มีทางเลยที่เสียงของ Rodolfo จะมากกว่าของฝ่าย Aldo ได้ แต่สิ่งที่ทำให้ Aldo ประหลาดใจและโกรธมากที่สุดก็คือ การที่ Paolo ลูกชายคนกลางปฏิเสธที่จะโหวตให้กับเขา!


“ฝันสลาย” ของ Paolo และการล้างแค้น

    “ความขบถ” ของ Paolo (G3) ลูกชายคนกลางของ Aldo นั้นมาจากสันดานเนื้อแท้ของเขาที่เป็นตัวของตัวเอง Paolo มีความคิดสร้างสรรค์สูง ซึ่งในบ้างครั้งก็ถูกมองว่าหลุดโลกน่าเสียดายที่ความคิดสร้างสรรค์และบุคลิกอันโดดเด่นของเขาไม่เป็นที่โปรดปรานของRodolfo (G2) น้องชายของพ่อที่เขาต้องทำงานด้วยที่อิตาลี Paolo งัดข้อกับ Rodolfo และเขามักจะใช้การประชุมบอร์ดเป็นที่นำเสนอไอเดียใหม่ๆ ของในเรื่องดีไซน์ การผลิตและการตลาด Paolo มักจะตั้งคำถามเกี่ยวกับสถานะการเงินของบริษัทด้วยซึ่งทำให้ Rodolfo ไม่พอใจ และไล่ให้ Paolo ไปทำงานกับ Aldo พ่อของเขาที่Gucci นิวยอร์ก 

    Paolo เก็บกระเป๋าและเดินทางไปนิวยอร์คเพื่อทำงานกับ Aldo ผู้เป็นพ่อ แต่เหมือนหนีเสือปะจระเข้ เขาพบว่า อารมณ์ร้อนของ Aldo นั้น ยากที่จะทน ตอนนี้ Paolo จึงกลายสภาพเป็น “แกะดำ” ของครอบครัวอย่างเต็มตัว เมื่อไฟในตัวยังคงคุโชน แต่ไม่สามารถฝ่าด่านการอนุมัติของพ่อและบอร์ดได้ Paoloจึงตัดสินใจที่จะออกไลน์สินค้าใหม่ของตัวเองโดยไม่บอกใครในชื่อ Paolo Gucci Collection 

            ซึ่งในเวลาไม่นานข่าวนี้ก็ไปถึงหูของทั้ง Aldo และ Rodolfo ซึ่ง Aldo เองก็ไม่สามารถยอมให้ลูกของตนมาขายสินค้าแข่งกับธุรกิจของครอบครัวได้ในขณะที่ Paolo เองก็ยังเป็นลูกจ้างของบริษัทครอบครัวอยู่ Aldo จึงตัดสินใจไล่ Paolo ลูกชายของตนออกจากGucci ในปี 1980 หลังจากที่ Paolo ทำงานให้กับGucci มานานถึง 28 ปี Paolo Gucci Collection ของเขาจึงแท้งตั้งแต่อยู่ในท้อง และนี่คือเรื่องคาใจตลอดมาของ Paolo

    ในฐานะพ่อ Aldo พยายามจัดสรรหุ้น Gucci ที่เขามีอยู่ 50% ให้กับลูกทั้ง 3 คน อย่างเท่าเทียมโดยในช่วงแรก Aldo เจียดหุ้น 10% แบ่งให้ลูก 3 คนๆ ละ 3.3% เท่าๆ กัน โดยเหลือหุ้นที่ Aldo ยังถืออยู่ 40%

            สองปีหลังจากที่ Paolo ถูกไล่ออกจากธุรกิจครอบครัว Aldo เสนอที่จะแบ่งหุ้นให้ลูกๆ ทั้งสามคนเพิ่มอีกคนละ 7.7% ซึ่งเมื่อรวมกับหุ้น 3.3% ที่ลูกแต่ละคนถืออยู่แล้ว ตอนนี้ลูกทั้ง 3 จะถือหุ้นกันคนละ 11% (รวม 33%) โดย Aldo ยังคงถือหุ้นส่วนที่เหลืออีก 17% (หุ้นอีก 50% ของ Gucci ยังถือโดย Rodolfo)นอกจากนี้ Aldo ยังเสนอที่จะตั้ง Paolo ให้เป็น Vice Chairman ของ Gucciและจะให้เขาคุมแผนกใหม่ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อขายสินค้าที่เคยอยู่ใน PaoloGucci Collection นี่คือสิ่งที่ Paoloเฝ้าฝันถึงมาตลอด แต่เขาจะเชื่อใจ Aldo พ่อเขาเองได้แค่ไหนเมื่อพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมา?

    ไม่นานหลังจากนั้น ความสงสัยของ Paolo ก็ถูกคอนเฟิร์มเมื่อบอร์ดของบริษัทตีตกข้อเสนอในการออกไลน์ Paolo Gucci Collection ด้วยเหตุผลที่ว่า Paolo Gucci Collectionเป็นไลน์สินค้าราคาถูกที่จะทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ Gucci เสียหายในการประชุมบอร์ดครั้งต่อมา Paolo มาพร้อมกับเครื่องอัดเสียง เขายืนยันที่จะให้แถลงการณ์ของเขาในครั้งนี้อยู่ในบันทึกการประชุม Aldo โมโหเป็นอย่างมากกับพฤติกรรมของ Paolo และทุบทำลายเครื่องอัดเสียงนั้น 

            Paolo ออกจากห้องประชุมพร้อมกับคราบเลือดบนใบหน้าที่เกิดจากการตะลุมบอน ตอนนี้เขาพร้อมแล้วที่จะงัดอาวุธเด็ดที่จะทำให้ Paolo Gucci Collection ของเขาได้ออกสู่ตลาดเสียที นั่นก็คือข้อมูลการยักยอกเงินของบริษัทไปยังต่างประเทศของ Aldo ซึ่งอาจทำให้Aldo พ่อของเขาต้องเข้าไปนอนในตะราง แต่สำหรับ Paolo นี่มันก็เหมาะสมแล้วไม่ใช่หรือ?

            เรื่องยังไม่จบแค่นี้ แต่ผมคงต้องขอยกเรื่องไปต่อฉบับหน้า ติดตามภาคต่อ พร้อมตัวละครใหม่ที่จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งกับการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ของ Gucci 

    อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกท่านคงจะเห็นด้วยกับผม เรื่องจริงบางครั้งก็ยิ่งกว่าหนังฮอลลีวู้ด!


References

Grant Gordon & Nigel Nicholson,“Family Wars,” 2008

Stephanie Kaloi, “The Untold Truth Of The Gucci Family,” TheList.com, November 30, 2021 

Tribune News Service, “House of Gucci vs the true story of the wealthy Gucci family – what really happened to Maurizio, Paolo, Aldo and Rodolfo Gucci in the Lady Gaga film?”,

South China Morning Post on December 4, 2021

Michael Edelmann, “The 10 Iconic Bags Fashion Girls Would Kill to Own,” popsugar.com, May 27, 2015 

Tony Sekulich, “The Violent Family Feud That Nearly Destroyed the Gucci Empire,” tharawat-magazine.com, October 27, 2018


เกี่ยวกับนักเขียน

นวพล วิริยะกุลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้ประกอบการ นักเขียน และนักเดินทาง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นวพล ได้ที่ Fan page: Family Business Asia

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน