THE GURU • FAMILY BUSINESS SOCIETY

ครอบครัวห่านย่าง Yung Kee กับ “สองเสือ” ที่ไม่อาจอยู่ถ้ำเดียวกัน

บทความโดย: นวพล วิริยะกุลกิจ

การสิ้นสุดลงของหนังสือบทหนึ่งก็คือ การเริ่มต้นของหนังสือบทต่อไป ลูกชายสองคนของ Kinsen คือ Kelvin Kam (G3) และ Hardy Kam (G3) ได้ก้าวข้ามความขัดแย้งนี้ไปแล้ว โดยพวกเขาได้เริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารใหม่ในปี 2014 และกิจการใหม่ของพวกเขาก็กำลังเติบโตไปได้ด้วยดี

 

            “คุณพ่อสัญญากับคุณปู่ว่าจะดูแล Yung Kee[1] ให้ดีที่สุด...

            ...และเรากำลังทำทุกๆ อย่างเพื่อที่จะรักษามันไว้” Yvonne Kam ทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัว Kam ตระกูลเจ้าของภัตตาคารห่านย่างระดับตำนานของเกาะฮ่องกงที่มีชื่อว่าภัตตาคาร Yung Kee ได้กล่าวไว้ก่อนเข้ารับฟังคำพิพากษาศาลสูงสุดของฮ่องกงที่มีคำสั่งให้ Yung Kee Holdings บริษัทแม่ของภัตตาคารห่านย่างที่เปิดมายาวนานกว่า 73 ปี เลิกกิจการ ทางออกเดียวที่จะรักษาธุรกิจ Yung Kee ไว้ได้คือพี่น้องตระกูล Kam จะต้องตกลงซื้อขายหุ้นระหว่างกันให้ได้ภายใน 28 วัน!

            พวกเขามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และอะไรคือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จาก Yung Kee ภัตตาคารที่เคยถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน 15 ร้านอาหารที่ดีที่สุดในโลก และเป็นอันดับหนึ่งของเอเชียในปี 1968[2]

“ความตาย” และผลกระทบต่อ โครงสร้างผู้ถือหุ้น

            หลังจาก Kam Shui-fai ผู้ก่อตั้งภัตตาคารห่านย่าง Yung Kee เสียชีวิตลงในปี 2004 เขาได้ทิ้งหุ้นของบริษัท Yung Kee Holdings Ltd. (YKHL) ไว้ให้เป็นมรดกของทายาทและภรรยา YKHL เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในภัตตาคาร Yung Kee สัดส่วนหุ้นที่ทายาทแต่ละคนได้รับเป็นดังนี้ ลูกชายคนโตสองคน คือ Kinsen Kam (ลูกชายคนโต) และ Ronald Kam (ลูกชายคนรอง) ได้หุ้นคนละ 35% เท่ากัน Kam Mei-ling ลูกสาวคนเล็กได้ 10% Kam Kwan-ki ลูกชายคนเล็กได้ 10% และ Mak Siu-chun ภรรยาของเขาได้หุ้น 10%

            การแบ่งหุ้นดังกล่าวได้สร้างสมดุลของโครงสร้างการถือหุ้นระหว่างพี่น้องทั้งสี่โดยมีหุ้นของ คุณแม่ เป็น ตัวกลางของสมการอำนาจ โครงสร้างการถือหุ้นดังกล่าวสะท้อนความเชื่อและความหวังของ Kam Shui-fai ผู้พ่อที่ต้องการให้ลูกชายคนโตทั้งสองสืบทอดธุรกิจของครอบครัวร่วมกัน แต่ความหวังของเขาก็มีอันต้องมลายหายไปไม่นานหลังจากเขาเสียชีวิต

 

            สมดุลโครงสร้างการถือหุ้นดังกล่าวพังทลายลงในปี 2007 เมื่อ Kam Kwan-ki ลูกชายคนเล็กได้มอบหุ้น 10% ของตนให้กับพี่ชายคนรอง (Ronald) ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตจากมะเร็งปอด ทำให้ Mak Siu-chun ผู้แม่จำต้องรีบสร้างสมดุลใหม่โดยการโอนหุ้น 10% ที่ตนถืออยู่ให้แก่ Kinsen ลูกชายคนโต ซึ่งเมื่อถึงตอนนี้ ลูกชายทั้งสองก็กลับมาถือหุ้นเท่ากันที่ 45% แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปก็คือ ตัวกลางที่สร้างสมดุลระหว่างทายาททั้งสองในตอนนี้กลับกลายเป็น Kam Mei-ling น้องสาวที่ถือหุ้น 10% ที่เหลือ

            ไม่นานหลังจากนั้น Kam Mei-ling น้องสาวก็ตัดสินใจโอนหุ้นทั้งหมดของเธอให้กับ Ronald พี่ชายคนรอง ทำให้ในตอนนี้ Ronald ถือหุ้น 55% มากกว่า Kinsen พี่ชายคนโตที่ถือหุ้นอยู่ 45% จะเห็นว่าโมเดลการสืบทอดธุรกิจครอบครัวที่พ่อได้วางไว้ด้วยการจัดสรรหุ้นให้ลูกชายทั้งสองคนเท่าๆ กัน และให้มากกว่าน้องๆ ทุกคนได้รับผลกระทบอย่างหนักเมื่อหุ้นส่วนน้อย (10%) ของ Kam Kwan-ki น้องชายคนเล็กถูกโอนให้กับ Ronald พี่ชายคนที่สอง จุดปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อเนื่องจนนำไปสู่ความไม่สมดุลของการถือหุ้น และความขัดแย้งอย่างรุนแรงในการบริหารธุรกิจในเวลาต่อมา 

โครงสร้างผู้ถือหุ้นที่เปลี่ยน กระทบอะไรบ้าง

            ในปี 2010 หลังจากที่ Ronald (G2) และลูกชายของเขา (Carrel Kam Lin-wang) (G3) สามารถคุมเสียงข้างมากในคณะกรรมการบริษัทที่มี 3 คนไว้ได้แล้ว Kinsen พี่ชายคนโตก็ตัดสินใจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้มีคำสั่งให้ Yung Kee Holdings เลิกกิจการ โดยขอให้ศาลสั่งให้ตัวเขาหรือ Ronald น้องชายต้องซื้อหุ้นจากอีกฝ่ายหนึ่งทั้งหมด Kinsen ให้เหตุผลของการยื่นคำร้องนี้ว่า เกิดจากการที่ตัวเขาถูกกีดกันออกจากการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางธุรกิจของบริษัท โดยเฉพาะประเด็นการแต่งตั้ง Carrel ลูกชายของ Ronald ให้เป็นกรรมการบริษัทและยังให้เงินเดือนสูงถึง 45,000 ดอลลาร์ฮ่องกง สำหรับงานที่ทำไม่กี่ชั่วโมง รวมถึงประเด็นการไม่แจ้งเรื่องการปันผลให้ผู้ถือหุ้นทราบด้วย

            การให้ปากคำต่อศาลเริ่มต้นในปี 2012 แต่แล้วก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาใดๆ ออกมา Kinsen ก็เสียชีวิตลงอย่างกะทันหันในเดือนตุลาคม 2012 ขณะมีอายุ 66 ปี คำให้การส่วนหนึ่งของ Kinsen ก่อนจะเสียชีวิตได้กล่าวถึง Carrel ลูกชายของ Ronald ที่เรียกเขาว่า “ไอ้สุนัข” ต่อหน้าพนักงานในร้าน ซึ่งคุณแม่ Mak Siu-chun ก็ยังให้สัมภาษณ์ว่า Ronald (ลูกชายของเธอ) และครอบครัวของเขาได้สร้างความอับอายให้กับครอบครัวของ Kinsen ในขณะที่ Ronald และ Kam Mei-ling (น้องสาวคนเล็ก) ได้ให้การต่อศาลในอีกแง่มุมว่า Kinsen นั้นเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการ ขาดเซ็นซ์ทางธุรกิจ แถมยังเป็นคนที่ชอบกดขี่ข่มเหงคนอื่นอีกด้วย

            คำตัดสินของศาลชั้นต้นในปี 2012 ระบุให้ยกฟ้องคำขอให้เลิกกิจการของ Kinsen ผู้ล่วงลับ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจาก YKHL เป็นบริษัทที่จดทะเบียนใน British Virgin Islands (BVI) ซึ่งอยู่นอกอำนาจศาลฮ่องกง แต่ศาลก็แจ้งให้คู่ความทราบว่า ถ้าหากจะต้องตัดสินกันจริงๆ ศาลก็จะพิพากษาให้ฝ่าย Ronald ต้องซื้อหุ้นของฝ่าย Kinsen ทั้งหมด เพราะพฤติกรรมของฝ่าย Ronald (ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นข้างมาก) นั้น มี “อคติ” ต่อฝ่าย Kinsen อย่างไม่มีข้อสงสัย

            เรื่องยังไม่จบแค่นี้เมื่อ Leung Sui-kwan ภรรยาของ Kinsen อุทธรณ์คดีต่อศาลสูงโดยอ้างเหตุผลที่ว่าแม้บริษัทโฮลดิ้งที่เป็นเจ้าของภัตตาคาร Yung Kee จะจดทะเบียนในต่างประเทศ แต่ทั้งตัวธุรกิจเอง รายได้ ทรัพย์สิน กรรมการบริษัท และผู้ถือหุ้นต่างอยู่ในฮ่องกงทั้งสิ้น ดังนั้น ศาลฮ่องกงจึงควรมีอำนาจในการตัดสินคดีนี้ 

บทสรุปและการเริ่มต้นใหม่ของทายาทรุ่นที่ 3

            ในปี 2015 ศาลสูงสุดมีคำพิพากษาให้ YKHL เลิกกิจการตามคำขอของครอบครัว Kinsen ยกเว้นทั้งสองฝ่ายจะสามารถตกลงซื้อขายหุ้นกันได้ ซึ่งประเด็นสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ก็คือ “ราคาหุ้น” ของ YKHL ซึ่ง YKHL เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในบริษัทลูกอื่นๆ อีกหลายแห่ง หนึ่งในนั้นก็คือหุ้นของภัตตาคาร Yung Kee ซึ่งตั้งอยู่บนทำเลทองในย่าน Central ของฮ่องกง

            โดยราคาที่ฝ่าย Ronald เสนอให้ที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกงนั้น ฝ่ายครอบครัว Kinsen ตอบปฏิเสธ และแจ้งว่าต้องการได้อย่างน้อย 1.3 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง จึงจะยอมขาย ซึ่งที่ราคานี้ Yvonne Kam (G3) ลูกสาวของ Ronald เห็นว่าเป็นราคาที่สูงเกินกว่าที่ครอบครัวของเธอจะสามารถหามาจ่ายได้ การเจรจาเป็นไปอย่างเข้มข้นหลายต่อหลายรอบแต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้

            เมื่อดูเหมือนจะมาถึงทางตัน ทั้งสองฝ่ายก็หันมาพิจารณาข้อเสนอในการเลิกกิจการ ข้อเสนอหนึ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเจรจาก็คือ การย้ายร้าน Yung Kee ไปตั้งยังสถานที่ใหม่ แต่ Yvonne Kam ลูกสาวของ Ronald เห็นว่า “Yung Kee จะไม่เป็น Yung Kee ถ้าไม่ได้ตั้งอยู่ที่ถนนเวลลิงตัน” ซึ่งเป็นความเห็นที่ตรงกันข้ามกับฝ่ายของ Kinsen ทั้งสองฝ่ายจึงไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ซึ่งผลดังกล่าวนำไปสู่การเข้ามาบริหารจัดการของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งถูกแต่งตั้งให้เข้ามาควบคุมกิจการ YKHL ในปัจจุบัน

            ถึงวันนี้ หากใครคิดจะแวะไปชิมห่านย่างในตำนานที่ภัตตาคาร Yung Kee ก็ยังคงไปกันได้ครับ เพราะร้าน Yung Kee นั้นเป็นบริษัทลูกของ YKHL จึงไม่ได้อยู่ในข่ายที่จะต้องเลิกกิจการตามคำสั่งของศาล เพียงแต่ธุรกิจภัตตาคารนี้อาจจะถูกขายเปลี่ยนมือออกไปในอนาคตเพื่อนำเงินมาแบ่งให้กับครอบครัวทั้งสองฝ่ายตามคำสั่งของศาล ซึ่งเจ้าของคนใหม่อาจเป็นคนในตระกูล Kam หรือคนนอกตระกูลก็เป็นไปได้ทั้งนั้น

            การสิ้นสุดลงของหนังสือบทหนึ่ง ก็คือการเริ่มต้นของหนังสือบทต่อไป ลูกชายสองคนของ Kinsen คือ Kelvin Kam (G3) และ Hardy Kam (G3) ได้ก้าวข้ามความขัดแย้งนี้ไปแล้ว โดยพวกเขาได้เริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารใหม่ในปี 2014 และกิจการใหม่ของพวกเขาก็กำลังเติบโตไปได้ด้วยดี

            โดยร้าน Kams Kitchen ในย่าน Tin Hau ของ Kelvin ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในระดับ แนะนำ (Recommended) จาก Michelin Guide ร้าน Kams Roast Goose ในย่าน Wan Chai ของ Hardy ได้รับ “มิชิลิน 1 ดาว” ในขณะที่ Yvonne Kam ลูกสาวของ Ronald ทายาทเจน 3 อีกคน ก็เพิ่งจะเปิดร้าน Yung’s Bistro ในปี 2020 จึงเป็นที่มั่นใจได้ว่า “ห่านย่าง” รสเลิศจะไม่หายไปจากเกาะฮ่องกง เพียงแต่อาจจะไม่ได้อยู่ที่ร้านเดิมเท่านั้นเอง

 

References

·       Julie Chu, Goose cooked here: Hong Kong restaurant has enough local ties to settle dispute in city, one family member tells another in court, SCMP.com, October 8, 2015

·       Julie Chu, Yung Kee family feud: Iconic roast goose restaurants future uncertain as struggles to reach deal continues,SCMP.com, December 16, 2015

·       Melanie Cox, “Yvonne Kam of Yung Kee Restaurant on continuing a family legacy,” hongkongliving.com, June 23, 2020

·       Shirley Zhao, End of a Hong Kong-style roast goose saga as court allows family restaurant to be wound up,SCMP.com, November 12, 2015



[1] ออกเสียงว่า หย่ง-เก

[2] จัดอันดับโดยนิตยสาร Fortune ในปี 1968

เกี่ยวกับนักเขียน

นวพล วิริยะกุลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้ประกอบการ นักเขียน และนักเดินทาง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นวพล ได้ที่ Fan page: Family Business Asia

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน