THE GURU • EXECUTIVE COACHING

การโค้ชผู้ที่มีผลปฏิบัติงานไม่ดี

บทความโดย: พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล

ระหว่างการโค้ชให้รักษาความเยือกเย็นไว้ ใช้ท่าทีที่ค่อนข้างเป็นทางการ ควบคุมอารมณ์ของตนเอง และจำไว้ว่า มันเป็นผลการปฏิบัติงานที่แย่ ไม่ใช่ตัวบุคคล

 

            ผู้บริหารที่มีความใส่ใจในการพัฒนาบุคลากร นิยมใช้การโค้ชเป็นเครื่องมือในการบริหารประจำวัน เพราะให้ผลลัพธ์ที่ดีในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคน มากกว่าการบอก หรือการตำหนิกล่าวโทษ

            ในฐานะผู้บังคับบัญชา เมื่อต้องการสวมบทเป็นโค้ชที่ดีด้วย ต้องเรียนรู้หลักการและแสดงให้เห็นถึงทักษะในการโค้ช สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทีมงาน และมีชื่อเสียงว่าเป็นคนที่ให้ความสนใจต่อผู้อื่น พฤติกรรมที่สม่ำเสมอมีความสำคัญมากต่อความน่าเชื่อถือและไว้วางใจ

การโค้ชในสายงานบริหาร อาจจะเกิดขึ้นได้จากสถานการณ์สองอย่าง คือ

            - เมื่อถูกร้องขอความช่วยเหลือโดยตรงจากผู้ที่ต้องการได้รับการโค้ช

            - เมื่อผู้บริหารรับรู้ประเด็น และเชื่อว่าบุคคลนั้นจำเป็นต้องได้รับการโค้ช

            ในกรณีที่สองนั้น อย่าเริ่มต้นด้วยการบอกว่า เขาจำเป็นต้องได้รับการโค้ช ให้เริ่มต้นโดยการถามคำถาม เพื่อจะได้รู้ว่าเขามีความเห็นต่อสถานการณ์ที่เป็นประเด็นอย่างไร ถ้าเขารับรู้ว่าตนเองมีปัญหา ก็เป็นการง่ายที่จะแนะนำให้มีการโค้ชขึ้น ถ้าเขายังไม่รู้ตัวว่ามีปัญหา ก็ให้ถามด้วยคำถามที่เฉพาะเจาะจง และมีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องมากขึ้น ถ้าเขายังคงไม่รับรู้ว่ามีประเด็นอะไร ก็ถึงเวลาที่จำเป็นต้องสะท้อนกลับตรงๆ และบอกให้ทราบถึงความจำเป็นที่จะเขาต้องได้รับการโค้ช

ผู้ที่มีผลปฏิบัติงานไม่ดี ควรได้รับการโค้ชหรือไม่

            หากมีสมาชิกในทีมบางคนที่มีผลปฏิบัติงานต่ำกว่ามาตรฐานที่คาดหวัง ย่อมส่งผลกระทบต่อผลงานของทีมและองค์กร ผู้นำที่ดีย่อมต้องรับผิดชอบในการแก้ปัญหานี้ ซึ่งการให้โอกาสเบื้องตนที่ดีที่สุดก็คือการโค้ช เพื่อช่วยให้เขาได้ตระหนักรู้ และยินดีปรับปรุงผลการปฏิบัติงานด้วยตนเอง

            การโค้ชผู้ที่มีผลงานไม่ดี เป็นเรื่องที่ท้าทายและไม่ง่ายเลย และจะยากยิ่งขึ้นถ้าตัวโค้ชชี่เองไม่ได้ตระหนักรู้ว่าตนเองมีผลงานที่ต่ำกว่าปกติ ฉะนั้น ก่อนจะกำหนดแนวทางในการโค้ช ต้องประเมินสถานการณ์ให้ชัดเจนเสียก่อน

คำถามเบื้องต้นที่ต้องพิจารณา เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน มีดังนี้

            1.ผลงานที่แย่นั้น เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว

            2.ผลงานที่แย่นั้น เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นที่ใหญ่กว่านั้น

            3.โค้ชชี่ตระหนักถึงประเด็นนี้ และพยายามหาหนทางที่จะแก้ไข

            4.โค้ชชี่ไม่ได้ตระหนักถึงประเด็นนี้เลย

            5.ประเด็นเรื่องที่ผลงานแย่นั้น เกี่ยวข้องกับความสามารถ ทัศนคติ หรือแรงจูงใจ

            6.คุณเป็นหัวหน้าโดยตรงของโค้ชชี่หรือไม่

คำตอบของคำถามเหล่านี้ จะมีผลกระทบต่อแนวทางในการโค้ช กล่าวคือ

            - ถ้าคุณโค้ชใครบางคนที่มีผลงานตกต่ำลงทันที และเขารู้ว่าตนเองมีปัญหา คุณก็จะสามารถใช้แนวทางที่เปิดเผยได้ และสนับสนุนให้บุคคลนั้นอธิบายว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้น และทำงานร่วมกับเขาในการปรับปรุงสิ่งต่างๆ

            - ถ้าบุคคลนั้นมีผลงานที่แย่โดยนิสัย และไม่ได้ตระหนักรู้ตนเองเลย การโค้ชนั้นก็จะมีความท้าทายมากขึ้น

            - ในกรณีที่คุณเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรง คุณก็ต้องทำงานกับบุคคลนั้นก่อน เพื่อช่วยให้เขารับรู้และยอมรับว่ามีปัญหาเกิดขึ้น และช่วยเขาระบุให้ชัดเจนว่าปัญหาคืออะไร

แนวทางในการโค้ชผู้ที่มีผลปฏิบัติงานไม่ดี

            การโค้ชในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ที่เป็นโค้ชต้องใช้ทักษะและความสามารถในฐานะโค้ชอย่างมากทีเดียว อย่างไรก็ตาม มีแนวทางหลายข้อที่ควรจะทำตาม

            1.วางแผนการโค้ชอย่างระมัดระวัง ( หาข้อเท็จจริงว่า ผลปฏิบัติงานที่แย่เป็นอย่างไร พร้อมด้วยตัวอย่าง ประเด็นเหล่านั้นมีผลกระทบอย่างไรต่อโค้ชชี่ ต่อทีมงาน และต่อองค์กร)

            2.ให้มั่นใจว่ามีสถานที่ที่เป็นส่วนตัวในการประชุม และจัดสรรเวลาให้เพียงพอ (เพื่อป้องกันการรบกวน และการรับมือกับภาวะอารมณ์ที่ไม่ได้คาดคิดในการพูดคุยเรื่องที่อ่อนไหว)

            3.ให้ระบุอย่างเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับพฤติกรรมที่คุณได้สังเกตเห็น สิ่งที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมดังกล่าว และให้ตัวอย่าง (ให้ความสำคัญกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนได้ และบอกให้โค้ชชี่รู้ว่าส่งผลกระทบต่อทีมอย่างไร ให้โอกาสเขาในการตอบ)

            4.อย่าตั้งข้อสมมติฐาน (ผลงานที่แย่อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ทัศนคติที่เปลี่ยนไป ขาดทักษะ ปัญหาชีวิตส่วนตัว ให้โอกาสโค้ชชี่ได้อธิบายด้วยตัวเขาเอง)

            5.ใช้ท่าทีที่เป็นทางการและยุติธรรม (คอยระมัดระวังควบคุมอารมณ์ สุภาพและให้เกียรติ)

            6.เข้าร่วมกับโค้ชชี่ในการค้นหาทางออก (ให้ใช้เทคนิคการถามคำถามปลายเปิดอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งโค้ชชี่ได้ค้นพบรายละเอียดที่เพียงพอเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ปัญหา)

            7.ตกลงในแผนการที่จะลงมือปฏิบัติ โดยกำหนดเป้าประสงค์ ผลลัพธ์ที่ต้องการบรรลุ และขั้นตอนการสอบทาน (หัวใจสำคัญคือ การได้ทำความตกลงร่วมกันเกี่ยวกับแผนการลงมือทำเพื่อแก้ไขปรับปรุง ระหว่างทางต้องมีการสอบทานความคืบหน้า และการสะท้อนกลับ รวมทั้งการสนับสนุนด้านทรัพยากรหากมีความจำเป็น)

            8.ให้ความชัดเจนเกี่ยวกับผลที่จะตามมาหากไม่ทำการเปลี่ยนแปลง (โค้ชชี่ต้องรับทราบว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น หากเขาไม่เปลี่ยนพฤติกรรม)

            9.ขอให้โค้ชชี่สรุปสิ่งที่เขาวางแผนจะทำเป็นลายลักษณ์อักษร และให้สำเนาคุณชุดหนึ่ง (การเขียนจะช่วยให้โค้ชชี่มีความมุ่งมั่นรับผิดชอบมากขึ้น และเป็นการยืนยันว่ามีความเข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่าย)

 

ข้อแนะนำเพื่อความสำเร็จในการโค้ช

            ผู้บังคับบัญชาควรจะมีการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นผลการปฏิบัติงานที่ไม่น่าพึงพอใจเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก่อนที่จะสะสมจนกลายเป็นเรื่องที่จัดการยาก เริ่มต้นโดยการสอบถามอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับสถานการณ์ แทนที่จะตัดสินหรือกล่าวโทษ ระหว่างการโค้ชให้รักษาความเยือกเย็นไว้ ใช้ท่าทีที่ค่อนข้างเป็นทางการ ควบคุมอารมณ์ของตนเอง และจำไว้ว่า มันเป็นผลการปฏิบัติงานที่แย่ ไม่ใช่ตัวบุคคล

 

เกี่ยวกับนักเขียน

พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล CPA & Executive Coach / โค้ชผู้บริหาร เพื่อความสุขและความสำเร็จ อดีต CFO ผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารการเงินในองค์กรขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติมากกว่า 30ปี ในธุรกิจหลายประเภท ให้การปรึกษาและฝึกอบรมพัฒนาผู้บริหารมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี และเป็น “Licensee” ของ “LMI” - Leadership Management International Inc. ในการอำนวยการเรียนรู้หลักสูตรด้านพัฒนาผู้นำระดับสากล

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน