THE GURU • EXECUTIVE COACHING

ภาวะผู้นำในการบริหารทีม

บทความโดย: พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล

เรื่องที่ต้องตระหนักและระมัดระวังคือ มุมมองของผู้นำทีมกับสมาชิกในทีมอาจจะแตกต่างกัน ฉะนั้น ควรจะจัดให้มีการสำรวจความคิดเห็นสะท้อนกลับจากสมาชิกเป็นครั้งคราว เพื่อประเมินว่า สิ่งใดที่ทำแล้วได้ผลดี และสิ่งใดที่ต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์

เมื่อผู้บริหารเติบโตและมีความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น บทบาทในการเป็นผู้นำทีมย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ความสำเร็จส่วนตัวและความสำเร็จของทีมต้องผูกไปด้วยกันตลอดเวลา ภาวะผู้นำในการบริหารทีมจึงเป็นทักษะที่ต้องฝึกให้ชำนาญ

การนำทีมมีความท้าทายกว่าการนำบุคคล ในฐานะผู้นำทีม เราจะต้องนำสมาชิกที่มีความคิดเห็นและมุมมองแตกต่างกันมาทำงานร่วมกัน ใช้พลังของทุกคนเพื่อความสำเร็จของเป้าหมายองค์กร สามารถสร้างกระบวนการทำงานที่เปิดกว้าง มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมความเชื่อมั่น เพิ่มคุณค่าให้กับความพยายามของทีม สนับสนุนการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และสร้างโอกาสให้กับองค์กร

ผู้นำทีมจะต้องใช้ทักษะแบบไหนจึงจะบรรลุภารกิจดังกล่าวได้ จากการวิจัยและสำรวจต่างๆ พบว่า ภาวะผู้นำ 6 มิติต่อไปนี้ จะช่วยให้ผู้นำทีมประสบความสำเร็จได้อย่างยอดเยี่ยม 

มิติที่ 1 จดจ่อที่เป้าหมาย 

ความรับผิดชอบอันดับแรกในฐานะผู้นำทีมคือ การทำให้ทีมมุ่งมั่นจดจ่ออยู่กับเป้าหมาย ซึ่งอาจจะเป็น วิสัยทัศน์ ภารกิจ กลยุทธ์ หรือวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เป้าหมายของทีมคือเหตุผลของการมีอยู่ของทีม จึงควรจะชัดเจนและสร้างแรงบันดาลใจให้กับสมาชิก 

ผู้นำทีมต้องช่วยให้ทีมเข้าใจทิศทางของเป้าหมายและเชื่อมั่นในทิศทางนั้น ไม่ว่าเป้าหมายนั้นจะเป็นสิ่งที่ทีมเลือกเองหรือได้รับการมอบหมายจากองค์กรก็ตาม โดยช่วยให้ทีมเห็นว่า เป้าหมายนั้นคุ้มค่าต่อความทุ่มเทและเวลาของพวกเขา ให้สมาชิกในทีมแต่ละคนปรับบทบาทและความรับผิดชอบให้เข้ากับเป้าหมายของทีม ชี้ให้เห็นความเกี่ยวข้องระหว่างกิจกรรมที่ทำกับเป้าหมาย คอยทำให้ทีมมีชีวิตชีวา กระตือรือร้น และมุ่งมั่นที่จะทำให้ความสำเร็จเกิดขึ้น ถ้าจำเป็นต้องปรับเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ ก็ต้องทำให้ทีมเข้าใจว่าด้วยเหตุผลอันใด

มิติที่ 2 ส่งเสริมบรรยากาศของความร่วมมือร่วมใจ

เมื่อเป้าหมายของทีมถูกกำหนดเรียบร้อยแล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้นำทีมต้องทำต่อมาคือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สำหรับสมาชิกในทีมที่จะแสดงความคิดเห็น ปรึกษาหารืออย่างเปิดเผย และสนับสนุนประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับความสำเร็จของทีม 

        ซึ่งบรรยากาศของการร่วมมือกัน จะเกิดขึ้นได้โดยการสื่อสารอย่างเปิดเผยและจริงใจ เพื่อให้สมาชิกมีความกล้าที่จะนำเสนอหัวข้อที่ต้องการพูดคุย ไม่ปล่อยให้มีปัญหาเรื้อรังในทีมที่แก้ไม่ได้ ผู้นำทีมควรส่งเสริมและให้แนวทางในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ให้รางวัลกับพฤติกรรมที่ร่วมมือกันทำงาน 

ขณะเดียวกัน ผู้นำทีมก็ต้องบริหารตนเองให้ดีอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ปล่อยให้อัตตาส่วนตัวเข้ามาแทรกแซง หรือต้องการควบคุมมากเกินไป ซึ่งอาจจะทำให้สมาชิกรู้สึกว่าไม่ได้รับความไว้วางใจ

มิติที่ 3 สร้างความมั่นใจ

ผู้นำทีมจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจว่า ทีมสามารถประสบความสำเร็จและบรรลุผลลัพธ์ที่ต้องการได้ แสดงให้เห็นความเชื่อมั่นต่อสมาชิกในทีม โดยการมอบอำนาจและความรับผิดชอบ ให้ความอิสระในการคิดและทำ ช่วยให้ทีมงานเข้าใจประเด็นและข้อเท็จจริงที่สำคัญ ผู้นำทีมต้องมีความยุติธรรมและไม่มีอคติต่อสมาชิกในทีมทั้งหมด เป็นคนมองโลกในแง่บวก ให้ความจดจ่อกับโอกาส พยายามมองหาและรับรู้ชื่นชมผลงานที่มีส่วนร่วมจากสมาชิก

มิติที่ 4 แสดงให้เห็นว่า มีความรู้ทางเทคนิคที่เพียงพอ

การมีความรู้ทางเทคนิค หมายถึงเข้าใจเนื้อหาทางวิชาการ ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการบรรลุเป้าหมาย บางครั้งอาจจะหมายถึงความรู้ที่เฉพาะเจาะจงในด้านใดด้านหนึ่ง ที่เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเป้าหมายใหญ่ นอกจากนี้ ยังรวมถึงทักษะและประสบการณ์ที่สั่งสมมา

        ผู้นำทีมต้องหาความรู้เกี่ยวกับประเด็นด้านเทคนิคที่เกี่ยวกับเป้าหมายเป็นอย่างดี และสามารถช่วยเหลือทีมในการวิเคราะห์ประเด็นที่ซับซ้อน ถ้าผู้นำทีมเองไม่มีประสบการณ์ความชำนาญที่เพียงพอ ก็ต้องขอความช่วยเหลือจากผู้ที่มีความชำนาญอย่างแท้จริง ผู้นำทีมต้องแสดงให้ผู้คนทั้งภายในและภายนอกทีมเห็นว่ามีความสามารถและเชื่อถือได้

มิติที่ 5 กำหนดลำดับความสำคัญ

สมาชิกในทีมมักจะได้รับผลกระทบในการทำงานประจำวันมาก ถ้าหากผู้นำทีมชอบมองทุกอย่างสำคัญไปหมด ผู้นำทีมจึงต้องมีความชัดเจนว่า อะไรจะต้องเกิดขึ้นก่อนหลัง โดยคอยดูแลจดจ่ออยู่กับสิ่งที่มีลำดับความสำคัญสูงที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย มีการสื่อสารและตกลงร่วมกันกับทีมงานเกี่ยวกับลำดับความสำคัญและกรอบเวลา หากมีความจำเป็นต้องเปลี่ยน ก็ต้องชี้แจงให้ทีมมีความเข้าใจว่าเพราะเหตุใด

มิติที่ 6 บริหารผลการปฏิบัติงาน

การบริหารผลการปฏิบัติงานเริ่มต้นด้วยการทำความคาดหวังให้ชัดเจน นั่นคือผลลัพธ์ที่ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันทั้งผู้นำทีมและสมาชิกในทีม สนับสนุนให้ทีมยอมรับในค่านิยมร่วมเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ประเมินทักษะในการร่วมมือกันของสมาชิกแต่ละคน และประเมินคุณภาพของผลงานที่พวกเขาบรรลุด้วยกัน ให้การสะท้อนกลับที่สร้างสรรค์ เต็มใจที่จะเผชิญและแก้ไขประเด็นด้านผลปฏิบัติงานที่ต้องปรับปรุง และขั้นตอนสุดท้ายคือ การรับรู้และให้รางวัลกับสมาชิกที่มีผลปฏิบัติงานที่ดี หรือผู้ที่สร้างผลงานได้ยอดเยี่ยม เพื่อสร้างแรงจูงใจ

เมื่อได้ทบทวนทั้ง 6 มิติแล้ว ให้ถามตัวเองว่า จุดแข็งในฐานะผู้นำทีมคืออะไร และอะไรคือสิ่งที่ควรจะปรับปรุง เพื่อทำให้ภาวะผู้นำทีมมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น เรื่องที่ต้องตระหนักและระมัดระวังคือ มุมมองของผู้นำทีมกับสมาชิกในทีมอาจจะแตกต่างกัน ฉะนั้น ควรจะจัดให้มีการสำรวจความคิดเห็นสะท้อนกลับจากสมาชิกเป็นครั้งคราว เพื่อประเมินว่า สิ่งใดที่ทำแล้วได้ผลดี และสิ่งใดที่ต้องปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ 


เกี่ยวกับนักเขียน

พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล CPA & Executive Coach / โค้ชผู้บริหาร เพื่อความสุขและความสำเร็จ อดีต CFO ผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารการเงินในองค์กรขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติมากกว่า 30ปี ในธุรกิจหลายประเภท ให้การปรึกษาและฝึกอบรมพัฒนาผู้บริหารมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี และเป็น “Licensee” ของ “LMI” - Leadership Management International Inc. ในการอำนวยการเรียนรู้หลักสูตรด้านพัฒนาผู้นำระดับสากล

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน