THE GURU • FAMILY BUSINESS SOCIETY

กงสีไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว (ตอนที่ 1) แยกให้ชัด การจัดการก็เปลี่ยนไป

บทความโดย: นวพล วิริยะกุลกิจ

ณ จุดเริ่มต้น “กงสี” กับ “ธุรกิจครอบครัว” มักรวมกันเป็นหนึ่งเดียว “กำไร” จากการทำธุรกิจถูกใช้หมุนเวียนกิจการในรูปของเงินสด สต๊อกสินค้า ที่ดิน โรงงาน เครื่องจักร ฯลฯ ครอบครัวยังไม่อาจดึง “กำไร” ที่ยังมีอยู่น้อยนิดเหล่านี้ออกมาใช้ได้

            “กงสี” กับ “ธุรกิจครอบครัว” มีความใกล้เคียงกันมาก จนหลายคนเข้าใจว่ามันคือสิ่งเดียวกัน

            วันนี้เราจะมาคุยกันถึงเรื่อง“กงสี” และ “ธุรกิจครอบครัว” ว่าสองสิ่งนี้แตกต่างจากกันอย่างไร เมื่อเข้าใจถึงความแตกต่างแล้ว ก็น่าจะทำให้เราบริหารจัดการ [กงสี] ได้ดีขึ้น บทความนี้มี 2 ตอน และฉบับนี้จะเป็นตอนที่ 1 ครับ

“กงสี” คือ เงินกองกลางของครอบครัว

            ก่อนอื่นผมขอให้ นิยามของ “กงสี” ในที่นี้ว่า คือ เงินกองกลางของครอบครัว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักมีที่มาจากผล “กำไร” ของการทำธุรกิจ เช่น เงินปันผลที่ได้จากธุรกิจครอบครัวที่กันไว้เป็นส่วนกลาง และเมื่อเอาเงินก้อนนี้ไปฝากธนาคาร ดอกเบี้ยที่ได้ก็ถือเป็นเงินกงสีด้วย หรือเมื่อเอาเงินส่วนกลางนี้ไปลงทุนซื้อที่ดิน ที่ดินนี้ก็ถือเป็นที่ดินกงสีเป็นต้น ทั้งนี้ เงินฝากธนาคาร หรือที่ดินนั้นๆ อาจอยู่ในชื่อของสมาชิกคนใดคนหนึ่งซึ่งเป็นที่รับรู้กันในครอบครัวว่าเงินก้อนนี้ หรือทรัพย์สินนี้เป็นของส่วนกลาง เพียงแค่ใช้ชื่อของสมาชิกนั้นๆ ถือครองเท่านั้น

            โดยทั่วไปครอบครัวจะดึง “กำไร” ออกมาจากธุรกิจเพื่อใช้สอยมากน้อยแตกต่างกันไป เรียกว่า “นโยบายปันผล” แตกต่างกัน บางครอบครัวเมื่อบริษัทมีกำไรก็ปันผลออกมามาก ในขณะที่บางครอบครัวก็แทบจะไม่ปันผลออกมาเลย คุณปริญญ์ จิราธิวัฒน์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของเครือเซ็นทรัลเล่าให้ฟังว่า ในช่วงก่อนปี 2540 นั้น ครอบครัวของเขามีการปันผลออกมาน้อย และยังให้เงินเดือนสมาชิกที่ทำงานในกิจการของครอบครัวน้อยด้วย เมื่อเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งขึ้นครอบครัวก็เกิดความคิดที่ว่ามันเสี่ยงเกินไปหรือเปล่าที่จะเก็บกำไรสะสมส่วนใหญ่ไว้ในธุรกิจโดยไม่ปันผลออกมา? “

            สมัยก่อน เงินเดือนของรุ่นผู้ใหญ่ในตระกูลจะไม่มากนัก เงินปันผลก็ไม่ค่อยได้ ทุกคนเลยต้องพึ่งบริษัทกันค่อนข้างมาก หลังจากที่เจอวิกฤต (ต้มยำกุ้ง) เข้าไปเลยเริ่มเป็นห่วงกันว่าถ้าบริษัทเป็นอะไรไป กว่าร้อยห้าสิบชีวิตก็อาจจะมีปัญหา หลังจากนั้นจึงมีการปรับฐานเงินเดือนให้เหมาะสมขึ้น มีการจ่ายเงินปันผลมากขึ้น” 

            เมื่อ “กำไร” คือที่มาของ “กงสี”ดังนั้นธุรกิจครอบครัวที่ไม่ปันผลกำไรออกมาจึงกลายเป็นธุรกิจที่ “อม”เงินกงสีหรือเงินกองกลางของครอบครัวเอาไว้ในตัวเอง จึงไม่น่าแปลกใจที่คนส่วนใหญ่จะมองว่ากงสีก็คือธุรกิจครอบครัวนั่นเอง

วิวัฒนาการ 3 ยุคของกงสี

            ณ จุดเริ่มต้น “กงสี” กับ “ธุรกิจครอบครัว” มักรวมกันเป็นหนึ่งเดียว “กำไร” จากการทำธุรกิจถูกใช้หมุนเวียนกิจการในรูปของเงินสด สต๊อกสินค้า ที่ดิน โรงงาน เครื่องจักร ฯลฯ ครอบครัวยังไม่อาจดึง “กำไร” ที่ยังมีอยู่น้อยนิดเหล่านี้ออกมาใช้ได้ ในยุคที่ 1 เราจึงไม่อาจแยก “กงสี” ออกจาก “ธุรกิจครอบครัว” ธุรกิจยังคงเก็บผลกำไรไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือเก็บไว้ลงทุนเพื่อขยายกิจการต่อ เป็นต้น

            กงสีจะเริ่มแยกออกจากธุรกิจครอบครัว ในยุคที่ 2 เมื่อกิจการมีกำไรสะสมมากพอที่จะดึงเงินบางส่วนออกมาใช้สอยได้ เงินกำไรที่ดึงออกมาส่วนมากก็จะเก็บไว้ในบัญชีของคุณพ่อคุณแม่เป็นหลัก มีการนำเงินบางส่วนมาซื้อที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ หรือลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินประเภทต่างๆ เป็นต้น ส่วนใหญ่ทรัพย์สินที่อาจเรียกว่าเป็นกงสีนี้ ยังอยู่ในชื่อของคุณพ่อคุณแม่ หรืออาจใช้ชื่อลูกเป็นกรณีๆ ไป ธุรกิจครอบครัวในยุคที่ 2 นี้ การแบ่งแยกระหว่าง “เงินกงสี” “เงินส่วนตัว” และ “เงินของบริษัท” ยังเบลอๆ อยู่ ไม่ชัดเจน

            ในยุคที่ 3 เป็นยุคที่ครอบครัวแยกเงินกงสีออกมาจากธุรกิจอย่างชัดเจนอาจ มีการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งขึ้นมาทำหน้าที่ถือ “เงินกงสี” อย่างเป็นเรื่องเป็นราว บริษัทโฮลดิ้ง มีหน้าที่หลักคือเป็นผู้ถือหุ้นในธุรกิจต่างๆ ของครอบครัว (ถึงตอนนี้ธุรกิจของครอบครัวมักจะมีมากกว่า 1 กิจการแล้ว) เป็นผู้ถือที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ส่วนกลางที่สมาชิกเป็นเจ้าของร่วมกัน รายได้ของโฮลดิ้งมาจากเงินปันผลของบริษัทลูก ดอกเบี้ยธนาคาร ค่าเช่า และผลตอบแทนจากการลงทุนต่างๆ ที่โฮลดิ้งเป็นเจ้าของ เป็นต้น 

            ดังนั้น จึงอาจมองได้ว่าบริษัทโฮลดิ้งทำหน้าที่เป็น “กองทุนของครอบครัว” หรือ Family Fund ลักษณะเด่นของกงสีในยุคที่ 3 นี้คือมีความชัดเจนว่าเงินส่วนไหนเป็น “เงินกงสี” ส่วนไหนคือ “เงินส่วนตัว” และส่วนไหนเป็น “เงินบริษัท”

            บางครอบครัวอาจเรียกเก็บเงินจำนวน 10-40% ของเงินปันผลที่สมาชิกได้รับ (ในฐานะผู้ถือหุ้นของธุรกิจครอบครัว) เข้าเป็นเงินกองกลางเพื่อนำมาใช้เป็นสวัสดิการของครอบครัวหรือเพื่อการลงทุนอื่นๆ ตามที่เห็นชอบร่วมกัน 

            “สมัยนั้นคุณปู่จะแบ่งเงินส่วนหนึ่งออกมาเก็บไว้เอง และปันส่วนที่เหลือให้กับลูกๆ เงินที่คุณปู่เก็บไว้ตรงนั้นก็คือเงินกองกลางของครอบครัว” วนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ทายาทรุ่นที่ 3 เครือธุรกิจเบทาโกร อธิบายถึงจุดกำเนิดของกงสี “ ในระยะต่อมาเมื่อทุกคนเข้าใจและเห็นด้วยก็ตกลงกันว่าจะกันส่วนนี้ออกมาเป็นกองกลาง ประมาณ 30-40% ของเงินปันผลในแต่ละปี” ข้อตกลงของสมาชิกในครั้งนั้นทำให้ “เงินกงสี” ของครอบครัวเพิ่มพูนได้จนถึงปัจจุบัน


กงสีเป็นของใคร?

แล้วเงินกองกลางของครอบครัวเป็นของใคร? มีแนวคิด 3 ประการ ที่จะช่วยตอบคำถามสำคัญนี้ 

            1. กงสีเป็นของทุกคน (แบ่งกงสีเป็นส่วนๆ ได้จัดการของใครของมัน)

            เพื่อให้เข้าใจแนวคิดนี้ ผมจะเล่าถึงเพื่อนคนหนึ่งที่ชื่อว่า “เล้ง” 

            หนึ่งในเป้าหมายสูงสุดของ “เล้ง” ลูกชายคนโตของบ้านคือการจัดการ “กงสี” หรือสมบัติที่เตี่ยทิ้งไว้ให้เรียบร้อย “ไม่มีกงสี ก็ไม่มีปัญหา!” ประสบการณ์ในรุ่นพ่อสอนเล้งเช่นนั้น เล้งไม่อยากมีปัญหาเหมือนกับพ่อที่เคยมีปัญหาเรื่องเงินๆ ทองๆ กับพี่น้องด้วยความที่เป็นลูกชายคนโตซึ่งน้องๆ ให้ความเคารพ คุณแม่จึงขอให้เขาเป็นผู้จัดการทรัพย์สินและธุรกิจของครอบครัว เล้งว่าไงให้ว่าตามกัน 

            เล้งบอกแม่ว่าคงไม่ทำธุรกิจครอบครัวต่อ ส่วนสมบัติและเงินกงสีที่เตี่ยทำมาถือเป็นสมบัติของลูกๆ ทุกคน ดังนั้น เขาจึงขอแบ่งให้กับตัวเอง และน้องๆ แยกๆ กันไป และบอกกับแม่ว่า“บ้านเราจะไม่มีกงสีอีกต่อไป”

            2. กงสีเป็นของตระกูล (กงสีแบ่งแยกไม่ได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ)

            คุณวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ แชร์แนวคิด ‘กงสีเป็นของตระกูล’ ว่า “เงินกองกลางของตระกูลผมมีลักษณะคล้ายๆ กับ ‘ของกลาง’ คือไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่ใช่เป็นเงินของแต่ละบ้านที่แค่เอามากองรวมกัน เป็นกองกลางจริงๆ ไม่สามารถถอนออกไปได้ เป็นกองกลางของตระกูล” กงสีของเบทาโกรไม่ได้เป็นสมบัติของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มันคือสมบัติของตระกูล เป็นส่วนกลางของครอบครัวที่ไม่อาจแบ่งแยกได้

            3. กงสีไฮบริด (กงสีบางส่วนเป็นของตระกูล บางส่วนเป็นของสมาชิก)

แนวคิดนี้จะแบ่งกงสีออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนที่ 1 ถือเป็นส่วนกลางของตระกูลไม่มีใครเป็นเจ้าของ ในขณะที่ส่วนที่ 2 ถือเป็นส่วนของสมาชิกแต่ละคนแบ่งกันไป เอาไปบริหารจัดการกันเอง“กงสีไฮบริด”เป็นการนำแนวคิดที่ 1 และ 2 มารวมกัน เพราะไม่ใช่ทุกคนจะคิดเหมือนกันในเรื่องของกงสี บางคนไม่อยากให้มีกงสี บางคนเห็นประโยชน์และอยากให้มีกงสี บางครอบครัวแม้จะเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว แบ่งหุ้นกันไปเรียบร้อยแล้ว แต่กลับอยากที่จะสร้างระบบกงสีขึ้นมาใหม่ หลายครั้ง “กงสีไฮบริด” จึงกลายเป็นทางออกของการจัดสรรเงินส่วนกลางนี้ให้ลงตัว

การเลือกที่จะยึดตามแนวคิดที่ 1, 2 หรือ 3 จะนำไปสู่การจัดการ “กงสี” ในรูปแบบที่แตกต่างกัน สิ่งสำคัญคือสมาชิกจำเป็นที่จะต้องพูดคุยกันว่าพวกเขาชอบแนวคิดใด และแนวคิดไหนที่เห็นว่าน่าจะเหมาะกับครอบครัวของพวกเขามากที่สุด 

            เราจะมาคุยกันต่อในเรื่องที่ว่า กงสีใช้ทำอะไรได้บ้าง และจะบริหารจัดการเงินกงสีอย่างไรกันดีในฉบับต่อไป (ตอนที่ 2) ครับ 


เกี่ยวกับนักเขียน

นวพล วิริยะกุลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้ประกอบการ นักเขียน และนักเดินทาง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นวพล ได้ที่ Fan page: Family Business Asia

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน