THE GURU • INVESTMENT

Say hello to my old friend Inflation : การปรับพอร์ตในยุคดิจิทัลและการกลับมาของเงินเฟ้อ

บทความโดย: ณัทสุดา พุกกะณะสุต

เรามักพูดติดตลกว่านักเศรษฐศาสตร์นั้นมีสองมือ มือหนึ่งบอกว่าเงินเฟ้อกำลังมา ส่วนอีกมือจะพูดว่าความเสี่ยงก็คือเขาอาจคาดการณ์ผิดทั้งหมด  ซึ่งเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยชั่วคราวหรือระยะปานกลางนั้น ยังไม่แน่ชัด แต่นักการธนาคารและนักเศรษฐศาสตร์เริ่มรำพึงรำพันถึงเงินเฟ้อเพื่อนเก่ามากขึ้นเรื่อย ๆ

เงินเฟ้อโลกที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อเงินเฟ้อของไทยหรือไม่

IMF ในเดือนตุลาคม 2021[1] ได้ประกาศลดการคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลง 0.1% สำหรับปี 2021 จากเดิม 6% เป็น 5.9% สืบเนื่องจาก Supply Chain Disruption ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และอุปสรรคในการจัดการ Covid-19 ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ส่งผลให้ IMF  ลดการคาดการณ์การขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วลง 0.4% จากเดิม 5.6% เป็น 5.2% ระหว่างที่ IMF ยังมีความเห็นว่าประเทศกำลังพัฒนาบางรายยังคงจะได้รับผลกระทบทางลบจากสถานการณ์ Covid-19 ต่อไป 

จากบทความของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 สรุปได้ว่า เงินเฟ้อโลกที่สูงขึ้นคาดว่าจะส่งผลต่อเงินเฟ้อของไทยไม่มากนัก เพราะนอกจากเงินเฟ้อโลกที่สูงขึ้นจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวแล้ว ยังมีเหตุผลอีก 2 ประการ ดังนี้ 1) ตะกร้าเงินเฟ้อไทยมีสัดส่วนสินค้านำเข้า (import content) ค่อนข้างต่ำประมาณร้อยละ 16 และ 2) ต้นทุนการผลิตอื่นที่เพิ่มขึ้นส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการได้น้อย”[2]

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่า “(1) กำลังซื้อในประเทศยังคงอ่อนแอ แม้จะทยอยปรับดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการแพร่ระบาด COVID-19 ที่จะคลี่คลายลง แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและตลาดแรงงานที่ยังเปราะบางจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งสำคัญที่ทำให้กำลังซื้อในระยะข้างหน้าปรับเพิ่มขึ้นไม่มาก (2) ราคาสินค้าจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นแรงและเร็ว โดยคาดว่าราคาพลังงานในตลาดโลกจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามราคาน้ำมันที่ได้กล่าวไปแล้ว และราคาอาหารสดคาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำตามความเสี่ยงภัยแล้งในปัจจุบันที่ลดลง และ (3) ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลง…”

สรุปคือ เงินเฟ้อในต่างประเทศเริ่มขึ้นแต่ประเทศไทยยังไม่เป็นที่น่าเป็นห่วงเพราะเราไม่ได้นำเข้าเงินเฟ้อ และปัจจัยในประเทศยังน่ากังวลกว่า รู้สึกสบายใจขึ้นมานิดนึง!

ดังนั้น ในสภาวะที่เงินเฟ้อกำลังมาในต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ยนโยบายโลกที่น่าจะสูงขึ้น และอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่จะหดหรือทรงตัว นักลงทุนควรเตรียมตัวปรับพอร์ตอย่างไรดี

อัตราเงินเฟ้อทำให้นักลงทุนสถาบันต้องพิจารณาปรับพอร์ตการลงทุน

การหดตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และการกลับมาของเงินเฟ้อที่มาจาก Pent Up Demand ของครัวเรือน (Demand Pull Inflation) ประจวบเหมาะกับราคาพลังงานที่สูงมากขึ้นและ Supply Chain Disruption  (Cost Push Inflation) ส่งผลให้นักลงทุนสถาบันต้องพิจารณาปรับพอร์ตการลงทุนกันใหม่ เพราะอัตราเงินเฟ้อที่กำลังมาส่งผลให้ธนาคารกลาง เช่น Federal Reserve และ Bank of England เริ่มส่งสัญญานว่าอาจมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น และลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาลภายใต้นโยบาย Quantitative Easing แล้วซึ่งเมื่อช้างใหญ่อย่างกองทุนต่าง ๆ ขยับก็จะส่งผลกระทบกับนักลงทุนรายย่อยเช่นกัน

นักลงทุนควรเตรียมตัวปรับพอร์ตอย่างไรดี

คำตอบตามตำราสำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อที่อยู่ในขาขึ้น นักลงทุนควรลงทุนในสินทรัพย์ที่ป้องกันพอร์ตจากเงินเฟ้อ เช่น การลงทุนใน Commodity (ทองคำ น้ำมัน real asset) และระวังการลงทุนในสินทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น เช่น หุ้นกู้ระยะยาว เพราะมูลค่าของหุ้นกู้ระยะยาวจะลดลงกรณีที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายและเงินเฟ้ออยู่ในขาขึ้นเสมอ  และสำหรับหุ้นเอง นักลงทุนอาจพิจารณาลดการลงทุนในหุ้น Growth Stock และหันไปมองหุ้นประเภท Value Stock เพราะมูลค่า Growth Stock  มีความเคลื่อนไหวคล้ายกับมูลค่าหุ้นกู้ระยะยาว นอกจากนี้ นักลงทุนอาจต้องพิจารณาการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นเพราะความสามารถขยายตัวเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ควบคุม Covid-19 ได้และประเทศที่ยังต่อสู้อยู่กับ Covid-19 จะมีความแตกต่างกันมากขึ้น

มองหาทางเลือกการลงทุนใหม่ที่หลากหลายและช่วยกระจายความเสี่ยง

หนึ่งในนั้นคือ หุ้นกู้ Crowdfunding เพราะการลงทุนในหุ้นกู้ Crowdfunding เป็นการลงทุนในหุ้นกู้ระยะสั้น และเป็นการลงทุนใน SMEs ที่สามารถรอดผ่านการปิดประเทศมาแล้วหลายรอบ และเป็น SME ที่ทำธุรกิจจริงในอุตสาหกรรมที่ต่างกัน โดยอายุหุ้นกู้ Crowdfunding  มีอายุตั้งแต่ 30 วัน 1 ปี  สามารถให้ผลตอบแทนได้ระหว่าง 6-20% ต่อปี ซึ่งผลตอบแทนที่สูงนั้นแลกด้วยความเสี่ยงที่สูงด้วยเช่นกัน อาทิ การผิดนัดชำระหนี้ หรือไม่สามารถชำระหนี้คืนทั้งหมด เนื่องจากผู้ขอออกหุ้นกู้ไม่ประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ ที่สำคัญ หุ้นกู้ Crowdfunding ไม่มีการประกันผลตอบแทน ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และไม่มีสภาพคล่องหรือตลาดรอง  นักลงทุนต้องรับความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินต้นจากการลงทุน ดังนั้น นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นกู้ Crowdfunding แต่ละตัวและวิธีการวิเคราะห์ความเสี่ยงของ Crowdfunding Portal แต่ละบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้ดีก่อนลงทุน

ท้ายสุดแล้วการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทและในหลายตลาดยังควรเป็นแกนหลักสำหรับนักลงทุนที่ต้องการออมเงินในระยะยาว


 [1] “Recovery during a pandemic: Health Concerns, Supply Disruptions, and Prices Pressures”

https://www.imf.org/en/Publications/WEO/Issues/2021/10/12/world-economic-outlook-october-2021

[2] บทความ เงินเฟ้อไทยจะสูงตามเงินเฟ้อโลกหรือไม่?” ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ธนาคารแห่งประเทศไทย https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_5Jul2021.aspx

 

เกี่ยวกับนักเขียน

ณัทสุดา พุกกะณะสุต Co-Founder & Chief Executive Officer มีประสบการณ์ทำงานด้านการเงิน มามากกว่า 18 ปี โดยดำรงตำแหน่ง Executive Director ที่ บริษัท โกลด์แมนแซคส์ อเชีย (สิงคโปร์) โดยก่อนหน้า นั้น คุณณัทสุดาทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเวลา 10 ปี

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน