THE GURU • EXECUTIVE COACHING

พูดอย่างผู้นำได้ทุกที่ทุกเวลา

บทความโดย: พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล

ความสามารถในการพูดได้พูดดีทุกที่ทุกเวลา มีข้อได้เปรียบคือ ทำให้มีเสน่ห์และน่าประทับใจ ดูเป็นธรรมชาติ สร้างความคุ้นเคยเป็นกันเอง และก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกต่อผู้ฟังได้ง่าย จึงคุ้มค่าต่อการฝึกฝนให้เป็นคุณลักษณะประจำตัวสำหรับทุกคนที่ต้องการประสบความสำเร็จ

 

            ความชำนาญในทักษะการพูดแบบไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้นำในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน เพราะเขาต้องพร้อมที่จะฉวยโอกาสแสดงภาวะผู้นำได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาธุรกิจ การบริหารองค์กร การแสดงความเห็นต่างๆ หรือการสร้างแรงบันดาลใจต่อผู้อื่น

            สิ่งที่ท้าทายคือ การคาดหวังผลลัพธ์ในเชิงบวกและสร้างสรรค์ แม้ในสภาวะที่กะทันหัน ผู้พูดก็ต้องสามารถแสดงความเห็นที่คิดดีแล้ว เป็นเหตุเป็นผล และสร้างแรงจูงใจผู้คนได้ อีกทั้งมีดุลยพินิจที่เหมาะสมต่อการนำเสนอข้อมูลที่ละเอียดอ่อน

            การพูดในลักษณะนี้ เกี่ยวข้องกับการเลือกคำพูด การประมวลเนื้อความ และการดำรงตนในขณะนั้น ซึ่งต้องอาศัยการมีกรอบความคิดและทัศนคติที่ถูกต้องเป็นพื้นฐานเสียก่อน ดังนี้คือ

1.มีความตั้งใจที่จะนำผู้อื่น : โอกาสในการแสดงภาวะผู้นำ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ในสถานการณ์ใดๆ ในระดับไหนก็ได้ ต่อใครก็ได้ ทุกๆครั้งที่เราได้พบปะกับผู้คน นั่นคือโอกาสที่จะแสดงภาวะผู้นำ ณ ขณะนั้น เพื่อที่จะแผ่อิทธิพลด้านความคิดเห็น สร้างแรงบันดาลใจ หรือก่อให้เกิดการลงมือทำ หรือเพียงแค่ทำความรู้จัก และทำให้เขารู้สึกดีเกี่ยวกับสถานที่ทำงานหรือชีวิตของเขา แต่เราต้องมีความตั้งใจที่จะนำผู้อื่นเสียก่อน ผลลัพธ์จึงจะเกิดขึ้น เช่น

            - การเลือกจังหวะเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม ไม่แสดงความคิดเห็นเร็วเกินไป หรือรอนานเกินไป

            - การรวบรวมความคิดในเสี้ยววินาที ต้องคิดก่อนจึงพูด และพูดให้ชัดเจนทันทีไม่ลังเล

            - การรอจังหวะให้ได้รับความสนใจจากผู้ฟังเต็มที่ก่อนจึงพูด และหาทางให้คนฟังตั้งใจฟัง ด้วยการถามคำถามในบางครั้ง และพูดด้วยน้ำเสียงที่จริงจังและชัดเจน

            - การพูดบางสิ่งบางอย่างที่มีคุณค่าต่อคนฟัง และมีคุณค่าต่อบทบาทของตนเอง อย่าเสียเวลาของคนอื่น ต้องพูดให้ชัดเจน ตรงจุด และอย่างมีจุดยืน

            - การสร้างความสัมพันธ์ ใส่ใจในผู้อื่นด้วยความปรารถนาดี

            - การสนทนาต้องคำนึงถึงเหมาะสมกับสถานะของอีกฝ่ายหนึ่ง เช่น หัวหน้า ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หรือตัวแทนของหน่วยงานภายนอก รวมทั้งต้องคำนึงถึงผลกระทบในสายการบังคับบัญชาด้วย

            - การตระหนักว่าสิ่งที่พูดในที่ใด สามารถแพร่ออกไปภายนอกได้เสมอ จึงต้องระมัดระวังในการใช้คำพูดและสำรวมพฤติกรรมตลอดเวลา

2.เป็นผู้ฟังที่ดี : การฟังที่มากกว่าฟังด้วยหูเท่านั้น โดยอ่านภาษากายของอีกฝ่ายหนึ่งในระหว่างการสนทนา ตั้งใจฟังสิ่งที่เขาพูด พร้อมกับคิดตามไปด้วยโดยไม่ใจลอยไปเรื่องอื่น และฟังด้วยหัวใจ มีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้พูดออกมา

3.เป็นผู้นำที่จริงแท้ : ผู้คนในปัจจุบันต้องการผู้นำที่เป็นแบบอย่าง ไม่ใช่แค่ผู้ที่เป็นตัวของตัวเองทั่วๆ ไป กลยุทธ์ในการแสดงออกถึงคุณสมบัติของผู้นำที่จริงแท้ได้แก่

            - ดำรงตนอยู่กับผู้ฟังในปัจจุบันขณะอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่การปรากฏตัวทางกาย

            - กล้าที่จะแสดงความคิดและแบ่งปันกับผู้อื่นด้วยความเชื่อมั่น

            - แบ่งปันความเชื่อและค่านิยมของตน สอดคล้องกับสิ่งที่พูดออกไป

            - แสดงความรู้สึกอย่างจริงใจ มีความอ่อนไหวต่อผู้ฟัง

            - พร้อมที่จะยอมรับข้อบกพร่องและจุดอ่อนของตัวเอง

            - เล่าเรื่องราวที่สร้างบันดาลใจของตนเอง

4.มีสมาธิจดจ่อ : การพูดที่ไม่ได้เตรียมล่วงหน้าจำเป็นต้องมีความจดจ่อมากเป็นพิเศษ เพื่อรวบรวมความคิดในเวลาจำกัด ต้องควบคุมความรู้สึกกดดันและใช้สมาธิ เพื่อเลือกและคิดโครงสร้างเนื้อหาที่เหมาะสมกับผู้ฟัง จัดลำดับการพูด ไม่พลาดประเด็นที่สำคัญ และใช้ภาษาที่ชัดเจน เข้าใจง่าย

5.แสดงความเคารพให้เกียรติ : บางคนเมื่อถูกถามกะทันหัน ก็อาจจะตอบตามความรู้สึก ในลักษณะที่ไม่ให้ความเคารพต่อเพื่อนร่วมงานและองค์กร ซึ่งควรจะหลีกเลี่ยง มิฉะนั้น อาจจะทำให้เสียชื่อเสียงและอาชีพการงาน

            ก) เคารพองค์กร : ผู้นำที่แท้จริงจะให้ความเคารพต่อองค์กรที่เป็นนายจ้าง การมีความจงรักภักดีต่อองค์กรแสดงถึงความผูกพันกับบางสิ่งบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง เป็นการแสดงว่าเราให้คุณค่ากับชุมชนที่ประกอบด้วยตัวเราเอง ทีมงาน เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในฐานะผู้นำ ควรสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นเชื่อมั่นในองค์กร และไม่ควรพูดโจมตีองค์กรต่อบุคคลภายนอก

            ข) เคารพผู้บริหาร : หลีกเลี่ยงการให้ความเห็นที่แสดงความไม่เคารพต่อผู้บังคับบัญชา หรือผู้บริหารระดับสูง แต่ควรแสดงความคิดเห็นใหม่ๆ หรือให้การแนะนำที่สนับสนุนบริษัทและเป้าหมายของผู้บังคับบัญชาในเชิงสร้างสรรค์ รวมทั้งมีความเข้าใจว่า ความคิดเห็นของตนไม่จำเป็นต้องได้รับการนำไปปฏิบัติเสมอไป

            ค) เคารพเพื่อนร่วมงาน : การนำทีมหมายถึง การพูดและแสดงออกด้วยความนับถือต่อสมาชิกในทีมและเพื่อนร่วมงาน ไม่ว่าพวกเขาจะมีภูมิหลัง อย่างไรก็ตาม โดยการรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ขัดจังหวะในขณะที่อีกคนหนึ่งกำลังพูด ให้ความไว้วางใจในการรักษาความลับ มีความใจกว้างและมีมุมมองในเชิงบวกเมื่อแสดงความเห็นต่อผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นดูดีและรู้สึกดี นอกจากนี้ คนเป็นนายควรจะแสดงความนับถือให้เกียรติต่อลูกน้อง โดยไม่ใช้ภาษาที่ก้าวร้าว หรือแสดงออกว่าไม่ไว้วางใจ

            ง) เคารพตนเอง : ผู้นำที่ประสบความสำเร็จ จะรักษาภาพลักษณ์ตัวเองที่แสดงออกในเชิงบวกและน่าเชื่อถืออย่างสม่ำเสมอ เขาจะไม่บั่นทอนตัวเองแม้จะรู้สึกเหนื่อย อารมณ์เปราะบาง หรือโกรธ เพราะจะทำให้เสียภาพลักษณ์และชื่อเสียง ขณะเดียวกัน ก็แสดงความเคารพผู้อื่นในระหว่างการสนทนาเสมอ

            นอกจากพื้นฐานกรอบความคิดดังกล่าวแล้ว ก็ควรจะเตรียมพร้อมในเชิงเนื้อหาไว้ด้วย เช่น ความรู้เกี่ยวกับงานที่รับผิดชอบ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับพัฒนาการของโลกด้านต่างๆ ข่าวสารที่สำคัญ และความรู้จากประสบการณ์ของตนเองที่แบ่งปันได้ อาจจะคาดการณ์ประเด็นที่ผู้คนมีความสนใจในแต่ละช่วงเวลา และฝึกซ้อมการแสดงความคิดเห็นไว้ล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมไว้ระดับหนึ่ง


            ความสามารถในการพูดได้พูดดีทุกที่ทุกเวลา มีข้อได้เปรียบคือ ทำให้มีเสน่ห์และน่าประทับใจ ดูเป็นธรรมชาติ สร้างความคุ้นเคยเป็นกันเอง และก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกต่อผู้ฟังได้ง่าย จึงคุ้มค่าต่อการฝึกฝนให้เป็นคุณลักษณะประจำตัวสำหรับทุกคนที่ต้องการประสบความสำเร็จ 

เกี่ยวกับนักเขียน

พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล CPA & Executive Coach / โค้ชผู้บริหาร เพื่อความสุขและความสำเร็จ อดีต CFO ผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารการเงินในองค์กรขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติมากกว่า 30ปี ในธุรกิจหลายประเภท ให้การปรึกษาและฝึกอบรมพัฒนาผู้บริหารมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี และเป็น “Licensee” ของ “LMI” - Leadership Management International Inc. ในการอำนวยการเรียนรู้หลักสูตรด้านพัฒนาผู้นำระดับสากล

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน