THE GURU • FUND FOCUS

ความเสี่ยง : วิกฤติ หรือ โอกาส

บทความโดย: ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์

“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน” เป็นประโยคคุ้นหูจากคำโฆษณาในโทรทัศน์ วิทยุ และแหล่งข้อมูลออนไลน์ แต่นักลงทุนได้ฟังแล้วจะต่อยอดได้เพียงใด ก็อาจจะขึ้นอยู่กับมุมมองและความข้าใจเท่าทันประเด็น “ความเสี่ยง” ในการลงทุนแต่ละขณะ

 

ความเสี่ยง คือ...

            “โอกาส/เหตุการณ์ที่มีความไม่แน่นอน หรือสิ่งที่ทำให้แผนงานหรือการดำเนินการอยู่ ณ ปัจจุบันไม่บรรลุวัตถุประสงค์/เป้าหมายที่กำหนดไว้” (ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) ในทฤษฎีตลาดทุน หรือแนวคิดต่างๆ ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง อัตราผลตอบแทนและความเสี่ยง จะเห็นประโยคที่ว่า “High risk, High ‘expected’ return” ซึ่งแสดงถึง ความเสี่ยงมีความสัมพันธ์กับอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง แต่อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงนั้น อาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวังทั้งหมด เมื่อความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้น อัตราผลตอบแทนมีโอกาสเกิดได้ทั้งใน เชิงบวก (กำไร) และ เชิงลบ (ขาดทุน) ได้เช่นเดียวกัน

วิกฤติ หรือ โอกาส

            หากพิจารณาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ มีหลายปัจจัยที่เป็นสาเหตุของความผันผวนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยแวดล้อมต่างๆ กับอุตสาหกรรมหรือหลักทรัพย์ ย่อมมี “โอกาส” ใน “วิกฤติ” ที่สามารถสร้างผลตอบแทนแก่นักลงทุนในทางใดทางหนึ่งเสมอ

            - สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดการระบาดระลอกใหม่โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยกว่า 20,000 ราย/วัน ตลอดจนยอดผู้เสียชีวิตที่สูง ยังคงจับตามองทิศทางการดำเนินนโยบายภาครัฐในด้านการควบคุมการแพร่ระบาด ขณะที่การดำเนินงานภาคเอกชน แม้จะมีการฟื้นตัวมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังคงระมัดระวังในการตัดสินใจลงทุน

            ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน จะเป็นกลุ่มท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่ปรับตัวลดลงหรือพฤติกรรมผู้บริโภคที่ลดการเดินทางออกนอกที่พัก (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. ข้อมูล ณ วันที่ 1 มีนาคม 2565)

(รูปที่ 1 – ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ประเทศไทยและทั่วโลก ที่มา: ourworldindata.org ข้อมูล ณ 28 มีนาคม 2565)

            ในทางตรงกันข้าม กลุ่มยาและโรงพยาบาล ได้รับผลประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งความต้องการเครื่องมือแพทย์ หรือวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อตอบสนองและรองรับผู้ป่วย ทั้งกรณีผู้ป่วยเดิมและผู้ป่วยรายใหม่ที่มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

            - สถานการณ์ความขัดแย้ง รัสเซีย กับ ยูเครน ยังมีความตึงเครียดและสูญเสียของทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงความกังวลในกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งกดดันเศรษฐกิจทั่วโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ย่างเข้าปี 2565 เป็นต้นมา โดยจะเห็นได้จากดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ CRB ที่ปรับตัวเพิ่มจาก 250 จุดในช่วงต้นปี ขึ้นมาเป็น 325 จุด หรือเพิ่มขึ้นถึง 30% ในเวลาไม่ถึง 1 ไตรมาส



(รูปที่ 2CRB Index ที่มา: https://tradingeconomics.com ข้อมูล ณ 28 มีนาคม 2565)

            - สถานการณ์เงินเฟ้อและนโยบายการเงินของประเทศสำคัญ จากแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และกลุ่มพลังงาน รวมกับแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของอัตราเงินเฟ้อของประเทศสำคัญทั่วโลก ดัชนีราคาผู้บริโภค (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป) ของประเทศไทย ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 อยู่ที่ระดับ 104.10 หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ในปีก่อนหน้า 5.28% สูงสุดในรอบ 13 ปี


(รูปที่ 3Thailand Inflation Rate ที่มา : https://tradingeconomics.com ข้อมูล ณ 28 มีนาคม 2565)

            ณ วันที่ 17 มีนาคม 2565 มติที่ประชุมของ FOMC สหรัฐฯ ประกาศปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% พร้อมกับให้แนวทางเพิ่มเติมว่าน่าจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องไปในการประชุม FOMC สหรัฐฯ ตลอดทั้งปีนี้ รวมถึงยังมีมุมมองว่า การเติบโตของเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ยังเติบโตในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยตลาดรับรู้และคาดการณ์มาระยะหนึ่งแล้ว

ผลกระทบต่อการลงทุน

            ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้น แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงจากทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่บ้าง อาทิ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อ และการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กยังคงได้รับประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่นเดียวกันกับตลาดหลักทรัพย์และเศรษฐกิจในหลายประเทศที่เริ่มฟื้นตัวจากช่วงที่ผ่านมาบ้างแล้ว


(รูปที่ 4SET Index ที่มา: https://www.set.or.th ข้อมูล ณ 28 มีนาคม 2565)

            สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญให้ดัชนีราคาน้ำมันดิบและทองคำปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงต้นปี

            สำหรับผลกระทบต่อตลาดตราสารหนี้ พบว่าอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมในปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน




(รูปที่ 5 – อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกา ที่มา: tradingeconomics.com28 มีนาคม 2565)

            จากสถานการณ์ข้างต้น ความเสี่ยงในปัจจุบันยังคงมีทั้งปัจจัย เชิงบวก และ เชิงลบ ต่อหลักทรัพย์แต่ละประเภท ซึ่งในบางมุมมอง การพิจารณาลงทุนในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น อาจได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าได้ในบางโอกาส เช่น หลักทรัพย์กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ในขณะเดียวกัน การลงทุนในตราสารหนี้ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก แม้ว่าผลตอบแทนที่คาดหวังอาจไม่สูงเท่าหุ้นหรือสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ก็เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและสามารถได้รับผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอนได้ ดังนั้น การพิจารณาลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทใด ก็ควรคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมที่เป็น “ความเสี่ยง” ต่อทุกการตัดสินใจลงทุนเสมอ

แนะนำแนวทางการลงทุน

            สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง การพิจารณาลงทุนในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์อาจเป็นทางเลือกในช่วงที่ยังไม่มีความแน่นอนของสถานการณ์โดยรวม โดยปัจจุบัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น ส่วนนักลงทุนที่มุ่งเน้นการเติบโตของผลตอบแทนแต่อาจรับความเสี่ยงไม่ได้มากนัก อาจพิจารณาลงทุนในหุ้นกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) หรือกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งอาจรับประโยชน์จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูงได้ดีกว่า

            อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ อาจพิจารณาลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น พร้อมกับหลีกเลี่ยงตราสารกนี้ระยะกลางจนถึงยาว รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยีที่ได้รับผลกระทบจากอัตราคิดลด (Discount Rate) ที่เพิ่มขึ้น

            สำหรับนักลงทุนที่ต้องการความแน่นอนสูง แนะนำเพิ่มสัดส่วนการลงทุนกองทุนตราสารหนี้ที่มีอายุตราสารคงเหลือไม่เกิน 1 ปี และนักลงทุนที่ต้องการได้รับผลตอบแทนสูงจากหุ้น แนะนำกองทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ที่ธุรกิจยังเติบโตได้ดีและมูลค่าพื้นฐานอิงกับกระแสเงินสดปัจจุบันเป็นหลัก ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูงในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ แนะนำสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อรับผลตอบแทนตามแนวโน้มการปรับตัวของราคาทองคำในปัจจุบัน

กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่แนะนำ ได้แก่

            - ASP-DPLUS (กองทุนเปิด แอสเซทพลัส ตราสารหนี้ เดลี่ พลัส) เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือเฉลี่ย 3 เดือน ถึง 1 ปี ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 0.63% ย้อนหลัง 3 ปีเฉลี่ย 1.24% ต่อปี

            - LHDEBT-A (กองทุนเปิด แอล เอช ตราสารหนี้) เน้นกระจายการลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 0.72% ย้อนหลัง 3 ปีเฉลี่ย 2.26% ต่อปี

กองทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่ที่แนะนำ ได้แก่

            - ASP-SME (กองทุนเปิด แอสเซทพลัส สมอล แอนด์ มิด แคป อิควิตี้) เน้นลงทุนใน SET และ mai ในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีการเติบโตสูง ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 18.74% ย้อนหลัง 3 ปีเฉลี่ย 22.84% ต่อปี

            - KT-CLMVT-A (กองทุนเปิดกรุงไทย หุ้น ซีแอลเอ็มวีที ชนิดสะสมมูลค่า) เน้นลงทุนหุ้นกลุ่มประเทศกัมพูชา เมียนมา เวียดนาม ลาว และไทย (CLMVT) ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 27.81% ย้อนหลัง 3 ปีเฉลี่ย 15.39% ต่อปี

กองทุนสินค้าโภคภัณฑ์ที่แนะนำ ได้แก่

            - UOBSC (กองทุนเปิด ยูโอบี สมาร์ท คอมโมดิตี้) เน้นการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน DWS Invest Enhanced Commodity Strategy LC ผตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 61.88% ย้อนหลัง 3 ปีเฉลี่ย 16.80% ต่อปี


(กองทุนแนะนำโดยเทรเชอริสต์ ข้อมูล ณ 28 มีนาคม 2565)

เกี่ยวกับนักเขียน

ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์เทรเชอริสต์ ผู้ให้บริการ Treasurist.com ผู้ก่อตั้ง Thailand Investment Forum นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์และผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และ นักแปลอาสาของ TED.com

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน