THE GURU • INVESTMENT

ขึ้นปีใหม่ แต่ปัจจัยผลักดันตลาดยังคงเดิม

บทความโดย: สงวน จุงสกุล

Markets Overview

ปิดฉากลงแล้วสำหรับ 2021 อันพอจะแบ่งได้เป็น 3 ช่วง

  • ช่วงที่ 1 ต้นปี การปรับขึ้นของ US Treasury yield ชนิดเร็ว แรง และ one-way ได้พาเอา government curve ขึ้นทั่วโลก ก่อนจะค่อยๆ สงบลงในเดือนเมษายน
  • เข้าสู่ช่วงที่ 2 ราวกลางปี ซึ่งประเทศไทยต้องต่อสู้กับการจัดการเรื่องวัคซีนที่ช้าน่าผิดหวัง จำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งทะลุวันละสองหมื่นคน และไปจบลงที่ผลโหวต 4/2 ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนสิงหาคม
  • เข้าสู่ช่วงที่ 3 เมื่อจุดเปลี่ยนอยู่ที่ยอดผู้ติดเชื้อค่อยๆ ลดลง ประเทศไทยเข้าสู่โหมด risk-on หุ้นปรับตัวขึ้น และ 2y yield ปรับขึ้น เตรียมพร้อมรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

ในปีเสือนี้ เป็นไปได้ว่า ถัดจาก Omicron อาจจะมีสายพันธุ์อื่นๆ อีกตามมา แต่ด้วยการฉีดวัคซีนที่ทำให้อัตราการตายต่ำ ระบบสาธารณสุขที่กลับมาแข็งแรงและตั้งรับสถานการณ์ได้ดีขึ้นแล้ว จึงทำให้การระบาด COVID-19 ไม่ได้ส่งผลให้รัฐบาลทั่วโลกกลับมาใช้มาตรการ lockdown เข้มข้นอีก เรื่อง reopening จึงถือว่าต่อเนื่องไปได้


Macro

ขณะที่การขาดดุลงบประมาณ (Fiscal Deficit) ในหลายประเทศเริ่มลดลงแล้ว แต่ในบ้านเรา รัฐบาลอาจจะยังต้องกู้เงินเพิ่ม ไม่นับเรื่องที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ต้นปี 2023 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุน fiscal stimulus เพิ่มอีก ดังนั้น bond supply ในต่างประเทศอาจจะลดลงแล้ว แต่ในบ้านเรา เรื่องนี้จะยังคงกดดันตลาดบอนด์ไปได้อีกนาน

สำหรับเงินเฟ้อ ตัวเลข CPI ช่วงต้นปี น่าจะเป็นด้านสูง จากราคาน้ำมัน ราคาอาหารไปจนถึงบุฟเฟต์หมูกระทะล้วนทยอยขึ้นกันหมด และที่สำคัญคือผลจาก low base บางเดือนใน Q1/2022 อาจจะเห็น headline CPI ทะลุ 3% ก่อนจะค่อยๆ normalize กลับมาในครึ่งหลัง แม้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันว่า Growth สำคัญกว่า Inflation แต่ Inflation ที่อาจอยู่ใกล้ๆ ขอบบนของ Inflation target ranges จะเป็นปัจจัยลบในเชิง sentiment ได้แน่

 

Credit

ตลาด corporate bond ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าสงบนิ่งดีมาก Credit spread เคลื่อนไหวน้อยแสดงให้เห็นความสมดุลทั้งด้าน demand และ supply สำหรับ front-end spread จะให้แคบไปกว่านี้คงยาก เพราะต้องเผื่อ buffer รองรับการขึ้นดอกเบี้ย

สำหรับสภาพคล่อง ปี 2022 ภาพน่าจะไม่ต่างไปจากปีที่ผ่านมา คือสภาพคล่องในระบบน่าจะทรงหรือทยอยลดลง และเม็ดเงินส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มาที่ตราสารหนี้ ครึ่งหลังของปี กระแสการขึ้นดอกเบี้ยอาจจะเป็นเป็นตัวเร่งให้บริษัทแย่งกันรีบออกหุ้นกู้ จนมีผลให้ supply มากขึ้นกว่าปกติได้


ค่าเงินบาท

ธปท. ประเมินแล้วว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ จะกลับมาสมดุลในปี 2022 ก่อนจะเกินดุล 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีถัดไป จึงมีโอกาสที่เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าได้ ส่วน Portfolio flow ก็มีแนวโน้มสมดุลหรือเป็นบวกได้ทั้งหุ้นและบอนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข่าวที่ประเทศไทยรอคอย คือ ประเทศจีนจะเริ่มเปิดให้ชาวจีนออกท่องเที่ยวต่างประเทศอีกครั้ง แต่ก็ต้องติดตามพวก Cross-border M&A ซึ่งที่ผ่านมาเกือบทั้งหมดเป็นข้างเงินไหลออก แต่ละดีลก็มีขนาดใหญ่ทั้งสิ้น จะกดดันเงินบาทได้เป็นระยะๆ

 

Rates

น่าจะได้เห็นบอนด์ไทย 2y ค่อยๆ ขยับขึ้นในครึ่งหลังของปี ตามแรงกดดันของการขึ้นดอกเบี้ยทั่วโลก และอาจจะมีการส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเบาๆ ในบ้านเราได้บ้าง

สำหรับคำถามที่ว่า บอนด์ไทย 10y ควรจะอยู่บริเวณไหน? ถ้าเราคิดว่า policy rate ระยะยาวน่าจะไม่ไปไกลเกินกว่า 1%-1.5% สักเท่าไหร่ และถ้าพิจารณาจาก spread ระหว่าง 10y กับ policy rate ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ที่ค่อนข้างเหนียวแน่นไม่เกินไปกว่า 150bp ก็เป็นไปได้ว่า 10y yield ว่ากันระยะยาวๆ ก็อาจจะไปได้ไม่ไกลเกิน 2.50% ทั้งนี้ อาจต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดเรื่อง bond supply ด้วยครับ

เกี่ยวกับนักเขียน

สงวน จุงสกุล Head of Investment & Markets Reserch Krungthai Bank Head of Investment & Markets Reserch Krungthai Bank

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน