THE GURU • FUND FOCUS

ลงทุนอย่างไรดี เมื่อย่างเข้าครึ่งปีหลัง?

บทความโดย: ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์

ภาวะการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงครึ่งปีหลัง ให้ความหวังได้น้อยลงว่าจะสดใส โดยหากไม่โน้มเอียงไปในขาลงต่อเนื่อง ก็อาจจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ทางด้านสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่าอย่างตราสารหนี้  ก็ยังคงเผชิญผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นต่อเนื่องไปตามแนวนโยบายของธนาคารกลาง

            ครึ่งแรกของปี 2565 ผ่านไปไวเหมือนโกหก และในครึ่งปีแรกก็มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายในวงการลงทุน อีกทั้งยังทิ้งเรื่องราวให้ต้องติดตามต่อไปในครึ่งปีหลังนี้

ทบทวนเหตุการณ์สำคัญครึ่งปีแรก

            • การสู้รบในยุโรปตะวันออกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งแรง ต่อเนื่องจากปลายปี 2564 ที่รัสเซียเริ่มเคลื่อนกำลังทหารเข้าใกล้พรมแดนยูเครน และคงความตึงเครียดอยู่หลายเดือน จนถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 รัสเซียก็ได้เคลื่อนพลเข้าสู่ดินแดนยูเครน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสู้รบในยุโรปตะวันออกอย่างเป็นทางการ และเนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ของโลก และยุโรปตะวันออกเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชอาหารสำคัญอย่างข้าวสาลี 

            ดังนั้น จึงทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภทมีราคาปรับขึ้นอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กัน ตามความกังวลของตลาดและความยากลำบากในการจัดการโลจิสติกในภูมิภาค โดยนับจากต้นปีจนถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้วประมาณ 50% ขณะที่ราคาข้าวสาลีปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 30% โดยระหว่างทางเคยขึ้นไปสูงสุดกว่า 70%

            • เงินเฟ้อสูงทำลายสถิติและการเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงิน การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักปรับเพิ่มขึ้นรวดเร็ว จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายสิบปี โดยมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเมื่อโควิด-19 คลี่คลายเป็นฐานนำมาก่อนแล้วตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นผลให้ประเทศสำคัญในเชิงเศรษฐกิจอย่างสหรัฐฯ ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวมกัน 150 Basis Points ในการประชุม 3 ครั้งล่าสุด และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ก็ได้เริ่มมาตรการลดการถือครองสินทรัพย์ (QT) ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา 

            ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ตระหนักถึงแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อเช่นกันโดยส่งสัญญาณชัดเจนในการประชุมเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ว่า ECB น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบเดือนกรกฎาคม 2565 และจะเริ่มใช้นโยบาย QT ด้วยการไม่ซื้อสุทธิเพิ่ม ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 เป็นต้นไปด้วยเช่นกัน

            ส่วนของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 แม้จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% แต่ก็ผ่านไปด้วยเสียง 4:3 โดยที่ 3 เสียงเห็นควรให้ปรับขึ้นทันที พร้อมกับส่งสัญญาณว่านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมีความจำเป็นลดลง

            • ราคาสินทรัพย์เสี่ยงดิ่งแรงทั่วโลกแต่ไทยยังแกร่ง จากเหตุต่างๆ ข้างต้น ทำให้ราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลดลงจากต้นปี 14.8% และดัชนี NASDAQ ปรับตัวลดลง 28.5% ส่วนตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ราคา Bitcoin ปรับลดลงถึง 56.1% ขณะที่ Ethereum ลดลงถึง 68.9% ซึ่งมีกรณีปัญหา UST-Luna เข้าซ้ำเติม 

            อย่างไรก็ดี SET Index บ้านเรา ถือว่าได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศในระดับต่ำ โดยปรับลดลงเพียง 4.2% และหากพิจารณาที่ SET Total Return Index ที่รวมเอาเงินปันผลและสิทธิต่างๆ เข้ามาด้วยแล้ว ก็ปรับลดลงเพียง 2.2% เท่านั้น

มุมมองเศรษฐกิจโลกและไทยครึ่งปีหลัง

            • ธนาคารโลก ได้เผยแพร่รายงาน Global Economic Prospects ฉบับเดือนมิถุนายน 2565 ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกตลอดปี 2565 จะเติบโต 2.9% แต่ที่น่ากังวลคือเป็นการปรับลดจากระดับ 4.1% ซึ่งคาดการณ์ไว้เมื่อมกราคม 2565 ซึ่งมีเหตุผลหลักจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงส่งผลต่อเศรษฐกิจอยู่พอสมควร ซ้ำเติมด้วยการสู้รบในยุโรปตะวันออกที่ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นและปัญหาห่วงโซ่อุปทานของโลกที่ติดขัด 

            ส่วนในระดับรายภูมิภาค ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และกลุ่มตลาดเกิดใหม่/กำลังพัฒนา จะมีเศรษฐกิจเติบโต 2.6% และ 3.4% ตามลำดับ แต่ก็ถูกปรับลดประมาณการจากเดิมที่ 3.8% และ 4.6% ตามลำดับ ในภาพรวมจึงจะเห็นได้ว่า แม้เศรษฐกิจโลกในปี 2565 ยังมีแนวโน้มขยายตัว แต่มุมมองล่าสุดของธนาคารโลกก็คาดว่าช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงจากเดิม

            • อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่รายงานนโยบายการเงินฉบับ 22 มิถุนายน 2565 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะเติบโต 3.3% ซึ่งได้รับการปรับเพิ่มจากระดับ 3.2% ซึ่งเคยประเมินไว้ ณ มีนาคม 2565 โดยมีสาเหตุด้านบวกจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเปิดประเทศที่เร็วขึ้น รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวชัดเจน

            • ระดับ Fed Funds Rate ที่เหมาะสมในปี 2565 ตามความเห็นของกรรมการ FOMC สหรัฐฯ จากการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.4% ขณะที่มุมมองในการประชุมรอบเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ระดับประมาณ 2.0% 

            เมื่อเทียบกับระดับปัจจุบันที่ 1.50-1.75% ก็แสดงให้เห็นว่ากรรมการ FOMC ประเมินว่าจะต้องมีการปรับเพิ่ม Fed Funds Rate อีกถึงประมาณ 200 Basis Points ในช่วงที่เหลือของปีนี้

คาดการณ์ผลกระทบการลงทุน

            จากแนวโน้มที่ชัดเจนทั่วถึงของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งจาก FOMC ECB และ กนง.ไทย รวมถึงความชัดเจนของมาตรการ QT ในภาวะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักและอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงเป็นการทั่วไป ซึ่งได้ส่งผลลบต่อตลาดหุ้นต่างประเทศมาแล้วอย่างต่อเนื่องในครึ่งปีแรก ร่วมกับการปรับลดตัวเลขการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก ภาวะการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงครึ่งปีหลัง จึงให้ความหวังได้น้อยลงว่าจะสดใส 

            โดยหากไม่โน้มเอียงไปในขาลงต่อเนื่อง ก็อาจจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ทางด้านสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่าอย่างตราสารหนี้ ก็ยังคงเผชิญผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นต่อเนื่องไปตามแนวนโยบายของธนาคารกลาง

            อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทย ตามการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย มีแนวโน้มที่สดใสขึ้นกว่าเดิม และตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีแรกก็แสดงให้เห็นความแข็งแกร่งเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นสำคัญอื่นๆ ของโลก

คำแนะนำการลงทุนครึ่งปีหลัง

            • นักลงทุนที่เน้นความมั่นคงของเงินลงทุน และที่อาจพร้อมเปิดรับโอกาสจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง แนะนำกองทุนตราสารหนี้ ดังนี้

            1. ASP-DPLUS (กองทุนเปิด แอสเซทพลัส ตราสารหนี้ เดลี่ พลัส) เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือเฉลี่ย 3 เดือน ถึง 1 ปี มีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 0.62% ย้อนหลัง 3 ปีเฉลี่ย 1.13% ต่อปี

            2. KTILF (กองทุนเปิดกรุงไทยอ้างอิงเงินเฟ้อ) เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีผลตอบแทนแปรผันตามเงินเฟ้อ มีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 8.00% ย้อนหลัง 3 ปีเฉลี่ย 3.25% ต่อปี 

            • นักลงทุนที่ต้องการเปิดโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยเน้นการลงทุนหลักทรัพย์ที่มีศักยภาพในประเทศไทย แนะนำกองทุนตราสารทุน ดังนี้ 

            1. TLMSEQ (กองทุนเปิดทาลิส MID-SMALL CAP หุ้นทุน) เน้นลงทุนในตราสารทุนของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กภายในประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและมีแนวโน้มการเจริญเติบโตทางธุรกิจ มีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 31.4% ย้อนหลัง 3 ปีเฉลี่ย 25.7% ต่อปี ความผันผวนย้อนหลัง 1 ปี 18.8%

            2. ASP-SME (กองทุนเปิด แอสเซทพลัส สมอล แอนด์ มิด แคป อิควิตี้) เน้นลงทุนในตราสารทุนของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กภายในประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและมีแนวโน้มการเจริญเติบโตทางธุรกิจ มีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 5.7 % ย้อนหลัง 3 ปีเฉลี่ย 17.2% ต่อปี ความผันผวนย้อนหลัง 1 ปี 13.5%


*กองทุนแนะนำโดยกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์เทรเชอริสต์ ข้อมูล ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2565

*รวบรวมข้อมูลโดย สสิน แซ่เตีย ผู้แนะนำการลงทุนรับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต.


เกี่ยวกับนักเขียน

ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์เทรเชอริสต์ ผู้ให้บริการ Treasurist.com ผู้ก่อตั้ง Thailand Investment Forum นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์และผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และ นักแปลอาสาของ TED.com

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน