THE GURU • INVESTMENT

ถ้าต้องเจอตลาดหมี...เราหนีไปลงทุนที่ไหนดี

บทความโดย: ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

3 สิ่งที่สำคัญที่สุดในการลงทุนประสบความสำเร็จได้แก่ เงินต้น อัตราผลตอบแทน และระยะเวลา แม้เงินลงทุนจะน้อย แต่หากมีระยะเวลาลงทุนที่นานพอ อัตราผลตอบแทนที่ทบต้น จะสร้างผลตอบแทนให้คุณได้อย่างมหัศจรรย์ในอนาคต 

            ผ่านเข้าสู่กลางปี 2565 แล้ว บรรยากาศการลงทุนในตลาดสินทรัพย์ต่างๆ มีแต่ร่วงลงๆ เข้าสู่ ‘ภาวะตลาดหมีซึมเซา’ ไม่ว่าจะหันไปหาตลาดไหนก็มีแต่ความอึมครึมปกคลุม เพราะแนวโน้มเงินเฟ้อสูงท่วมโลกอาจเกิดขึ้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง ทำให้การแก้ปัญหายากขึ้นมีผลข้างเคียงที่คอยฉุดรั้ง ล้วนเป็นปัจจัยลบหลักที่กดดันการลงทุนในทุกสินทรัพย์ตกอยู่ในความผันผวนต่อไป 

            ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อในหลายๆ ประเทศ ยังคงปรับตัวพุ่งขึ้นไม่หยุด และยากจะประเมินได้ว่า ผ่านจุดสูงสุดหรือยัง ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ และดอกเบี้ยจะต้องปรับขึ้นไปอีกเท่าไหร่ จึงจะกดเงินเฟ้อลงได้ และเศรษฐกิจประเทศไหนที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยกันบ้าง หากข่าวร้อนเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ผ่านไปแล้ว จะมีเหตุการณ์ร้อนๆ อะไรเกิดขึ้นอีกหรือไม่

            ผมขอย้ำชัดๆ ว่า ไม่มีใครสามารถคาดการณ์เหตุการณ์ต่างๆ ได้ล่วงหน้าแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนชื่อดังในตำนานระดับโลกกี่ท่านๆ ก็ตอบแบบนี้กัน เพราะเมื่อมีข่าวร้ายมากระทบตลาดช่วงเวลาหนึ่ง แล้วมันก็ผ่านไป แต่ก็จะมีเรื่องใหม่ๆ เข้ามาต่อเนื่อง บางครั้งเกิดขึ้นทับซ้อนกันก็มีบ่อย และนี่คือกฎธรรมชาติในโลกแห่งการลงทุนครับ

ดาบ 2 คม ‘ขึ้นดอกเบี้ย’ เงินเฟ้อไม่ลง เศรษฐกิจถดถอย

            สถานการณ์โลกในเวลานี้ ถูกพุ่งเป้าจับจ้องประเด็นการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัว ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดึงเงินเฟ้อให้ลดลง และการดึงสภาพคล่องกลับของหลายๆ ประเทศที่เคยใช้มาตรการ QE สร้างความวิตกกังวลว่า ผลที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อมา คือ การก่อตัวของคลื่นเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในระยะปีสองปีนี้ จริงหรือไม่?

            แน่นอน ประเทศหลักที่ถูกจับจ้อง คือ สหรัฐอเมริกา ล่าสุด เงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤษภาคม กลับมาพุ่งแตะระดับ 8.6% สูงสุดรอบกว่า 40 ปี ทั้งๆ ที่ราคาพลังงานได้ผ่านจุดพีคไปเมื่อเดือนมีนาคมแล้ว และเดือนมิถุนายนนี้จะเป็นเดือนแรกที่เริ่มดึงสภาพคล่องกลับตามแผนลดขนาดงบดุล หรือทำมาตรการ QT นั่นเอง ซึ่งผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ FOMC ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ในรอบวันที่ 14-15 มิถุนายน 2565 ขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามคาด และสิ่งที่ทุกคนเฝ้าติดตามคือ การส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ผ่าน Fed Dot Plot ที่จะออกตามหลังมา ซึ่งหากส่งสัญญาณ Aggressive แน่นอนว่าจะกดดันบรรยากาศการลงทุนโดยเฉพาะตลาดหุ้นทรุดตัวมากขึ้น ขณะที่ปฏิกิริยาจากตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ US Bond yield อายุ 10 ปี พุ่งขึ้นเหนือระดับ 3.3% แล้ว และกลับมาเกิด Inverted Yield Curve อีกครั้ง หลังจากที่ US Bond yield อายุ 2 ปี พุ่งสูงกว่าอายุ 10 ปี ถือเป็นความผิดปกติที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก และในอดีตหากเกิดภาวะ Inverted Yield Curve มักเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตามมาราว 18 เดือนข้างหน้าโดยเฉลี่ย

             ฝั่งทวีปยุโรปก็เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อพุ่งแรงเช่นกัน หลังจากเกิดวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ล่าสุด ธนาคารกลางยุโรป (ECB) คงดอกเบี้ยนโยบาย 0%ในรอบการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ พร้อมกับยุติมาตรการ QE ตั้งแต่ 1 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป และได้ส่งสัญญาณจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนถัดไป และอาจจะปรับขึ้นมากกว่า 0.25% ในเดือนกันยายน หากอัตราเงินเฟ้อยังพุ่งสูงต่อเนื่อง ด้านธนาคารกลางอังกฤษ มีการประชุมพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในวันที่ 16 มิถุนายน 2565 เช่นกัน

             ส่วนประเทศพัฒนาแล้วฝั่งเอเชีย ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่เงินเยนอ่อนค่าสุดในรอบ 20 ปีครั้งใหม่ ขณะที่ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นออกมาระบุว่า การอ่อนค่าของเงินเยนจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น ตราบใดที่เงินเยนยังเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ

             กลับมาดูแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นของประเทศไทย หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ในระดับสูงสุดในรอบหลายสิบปีที่ 7.1% และมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ภาพสัญญาณจากคณะกรรมนโยบายการเงิน (MPC) ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีมติเสียงแตกการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.50% และมีโอกาสในระยะข้างหน้าที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หากเงินเฟ้อพุ่งสูงเช่นกัน

             ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกที่ยังคงเร่งตัว ทั้งที่ราคาพลังงานผ่านจุดพีคไปก่อนหน้านี้ สัญญาณบ่งชี้ว่า พวกเรายังต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่งหรืออาจจะระยะยาวก็ได้

พายุเฮอริเคนลูกใหญ่กำลังมา เตรียมพร้อมตั้งรับให้ดี 

            ในมุมมองของผม เมื่อโลกตกอยู่ภาวะเงินเฟ้อท่วมโลก โอกาสการลงทุนในตลาดหุ้น ใช่ว่าจะไม่มีเสียทีเดียวครับ เพียงแต่ต้องเลือกพื้นที่การลงทุนให้ดี ผมจะเลือกดูประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานด้านเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตดี และที่สำคัญ ตลาดหุ้นที่น่าลงทุน หรือราคา Super Sale เพราะจะทำให้มีโอกาสทำกำไรมากขึ้นในระยะยาว

             ผมขอนำข้อมูลความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นหลายแห่งในช่วงที่ผ่านมา เริ่มจากตลาดหลักของโลก นำโดย ‘สหรัฐฯ’ ที่พบว่า ความเคลื่อนไหวของทั้ง 3 ดัชนียังเป็นขาลง (ข้อมูลจาก S&P Capital IQ ณ 3 มิถุนายน 2565) ท่ามกลางความวิตกกังวลถึงความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

- ดัชนี S&P500 ในรอบ 1 สัปดาห์ ลดลง 1.20% ส่วนรอบ 1 เดือน (MTD) ลดลง 0.57% ขณะที่รอบ 3 เดือน ลดลง 5.84% และตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน หรือ YTD ลดลง 13.80%

- ดัชนี DJIA รอบ 1 สัปดาห์ ลดลง 0.94% ส่วน MTD ลดลง 0.27% ส่วนรอบ 3 เดือน ลดลง 2.65% และ YTD ลดลง 9.46% 

- ดัชนี NASDAQ ในรอบ 1 สัปดาห์ ลดลง 0.98% ส่วน MTD ลดลง 0.57% ในรอบ 3 เดือน ลดลง 11.27% และ YTD ลดลง 23.22% 

            ทั้ง 3 ดัชนีในตลาดหุ้นสหรัฐ จะพบว่า ดัชนี DJIA ปรับตัวลดลงน้อยกว่าดัชนี S&P500 และดัชนี NASDAQ สาเหตุที่ดัชนี NASDAQ ได้รับผลกระทบมากกว่าเพื่อน มาจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีโดยรวม ขณะที่มีคำเตือนทั้งจาก Goldman Sachs และ JPMorgan ก่อนหน้านี้ ว่า พายุเฮอริเคนลูกใหญ่กำลังมา นักลงทุนทุกคนควรเตรียมพร้อมตั้งรับให้ดี ระวังผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และการเผชิญกับช่วงที่ยากลำบากในอนาคต โดยในช่วงเวลานี้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงคาดเดาไม่ได้ว่าถึงจุดสูงสุดหรือยัง และยังเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นอยู่ ส่งผลให้ราคาหุ้นและดัชนีปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง

 หยอดเงินลงทุนตลาดไหนดี ลองส่องหุ้นฝั่งเอเชียดูกัน

            ข้ามมาดูความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นฝั่งเอเชียที่ยังมีบวกสลับลบให้เห็น ซึ่งตลาดหุ้นบางประเทศเริ่มกลับมาเขียวในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา จากการคลายล็อกดาวน์ในจีน ขณะที่ตลาดหุ้นอื่นๆ มีพื้นฐานจากเศรษฐกิจในประเทศ (ข้อมูลจาก S&P Capital IQ และ Investing ณ 6 มิถุนายน 2565)

            โดยดัชนี CSI300 ของจีน ในรอบ 1 สัปดาห์ ปรับขึ้น +4.13% รอบ 1 เดือน +1.83% ส่วน 3 เดือน ยังติดลบ 7.34% อยู่ และรอบปี YTD ยังลดลง 15.67% อย่างไรก็ตาม จีนยังมีความเสี่ยงจากมาตรการควบคุมโควิดเป็นศูนย์ แม้ว่ารัฐบาลจีนเพิ่งจะคลายล็อกดาวน์เซียงไฮ้ แต่ก็พร้อมจะล็อกดาวน์ได้ทุกเมื่อเช่นกัน 

            สำหรับผม มองว่า ทั้งสองตลาดใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะสหรัฐฯ และจีน ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนจากปัจจัยลบกดดันอยู่ในระยะข้างหน้า เวลานี้มีตลาดหุ้นหนึ่งที่สปอตไลท์สาดส่องมาก คือ ‘ตลาดหุ้นเวียดนาม’ ดาวเด่นของตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งพบว่า ดัชนี VNI รอบ 1 สัปดาห์ ปรับขึ้น 0.35% รอบ 1 เดือน -0.21% ส่วนรอบ 3 เดือน ยังติดลบ 14.30% และ YTD -13.90% ถือว่า ดัชนี VNI เพิ่งขยับขึ้นเมื่อต้นเดือนมิถุนายนนี้ หลังจากที่เดือนเมษายน ดัชนีดิ่งลงแรงมากจากข่าวลบทั่วโลก แต่เมื่อเดือนพฤษภาคม บริษัทจดทะเบียนประกาศผลประกอบการ กลายเป็นแรงส่งให้ตลาดหุ้นเวียดนามพลิกฟื้นขึ้นมาได้

             นักลงทุนทั่วโลกมองตลาดหุ้นเวียดนามเสน่ห์แรงมาก เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องและอยู่ในระดับสูง ที่สำคัญ ถูกจัดให้เป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่ในเอเซีย นักลงทุนทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามาลงทุนโดยตรง (FDI) การส่งออกยังคงเป็นเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเวียดนาม จากการเป็นฐานการผลิตให้บริษัทจากทั่วโลก หลังจากที่นักลงทุนต่างประเทศย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เพื่อหลีกหนีจากความไม่แน่นอนเชิงนโยบายของรัฐบาลจีนตลอดช่วงที่ผ่านมา

             นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์กันว่า มูลค่าการค้าของเวียดนาม มีโอกาสเติบโตแรง ตั้งเป้าแตะ 750,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจาก 5 เดือนแรกที่ผ่านมา มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ อยู่ที่ 305,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว +15.6% มูลค่าส่งออกในช่วงเดียวกันอยู่ที่ 152,810 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต +16.3% โดยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์มีมูลค่าส่งออกมากที่สุด มูลค่ารวม 36,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต +28.6% ในขณะที่มูลค่านำเข้าอยู่ที่ 152,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น +15% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติเวียดนาม)

            นักวิเคราะห์ทั่วโลก มองในทิศทางเดียวกัน ว่า การส่งออกสินค้าของเวียดนามยังมีการเติบโตสูง ยิ่งล่าสุด บริษัท Apple เตรียมตั้งฐานการผลิต iPad ใหม่นอกจีน และมีเป้าหมายอยู่ที่เวียดนามด้วย ที่สำคัญ รัฐบาลเวียดนามให้การสนับสนุนเต็มที่ หลังจากเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเวียดนามได้เข้าพบ Tim Cook ผู้บริหารของ Apple เพื่อหารือเพิ่มการลงทุนในเวียดนาม หาก Apple ตั้งโรงงานในเวียดนามเพิ่มมากขึ้น จะยิ่งส่งผลให้เศรษฐกิจเวียดนามแข็งแกร่งขึ้น และมีโอกาสได้รับการพิจารณาตั้งฐานผลิตสินค้าสำคัญอย่าง iPhone และสินค้าประเภทอื่นๆ ในอนาคตด้วย และแน่นอนว่า ภาพต่างๆ นี้ ย่อมเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้น

            ล่าสุด ชาวเวียดนามก็เข้ามาเปิดบัญชีลงทุนจำนวนมากจนทะลุ 5 ล้านบัญชีเรียบร้อยแล้ว คิดเป็นสัดส่วน 5.24% ของประชากรเวียดนาม ถือว่ายอดทะลุถึงเป้าหมาย 5% เร็วกว่าที่ตั้งเป้าปี 2568 สะท้อนความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นเวียดนาม ท่ามกลางตลาดหุ้นทั่วโลกหลายแห่งตกอยู่ในภาวะตลาดหมี

            ผมยังมีอีกตลาดที่มองว่าน่าสนใจลงทุน คือ ‘ตลาดหุ้นญี่ปุ่น’ ที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว หลังจากที่ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ‘ฟูมิโอะ คิชิดะ’ เข้ามารับตำแหน่งเหมือนวันที่ 4 ตุลาคม ปี 2564 พร้อมกับนโยบายที่พร้อมพลิกฟื้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้กลับมา หลังจากอดีต ตลาดหุ้นญี่ปุ่นถูกนักลงทุนมองข้ามเป็นเวลานาน เนื่องจากเศรษฐกิจเติบโตต่ำเฉลี่ยเพียง 1% มานานกว่า 5 ปี ทั้งจากปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ออกผลตามความคาดหวัง ฉุดรั้งตลาดหุ้นญี่ปุ่นซบเซาเป็นเวลานานตามไปด้วย

            ปีนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของญี่ปุ่นอยู่ที่ระดับ 3.3% ใกล้เคียงกับสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นคาดการณ์ GDP ขยายตัว 3.2% นับเป็นการขยายตัวสูงที่สุดนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 เนื่องจากรัฐบาลประกาศอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ซึ่งมีวงเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 107.59 ล้านล้านเยน

            ภาคการบริโภคของภาคเอกชนและประชาชน (สัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP) คาดว่าขยายตัว 4.0% หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายในทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้ภาคเอกชนและประชาชนจะกลับมาใช้จ่ายกันเพิ่มขึ้น

            การลงทุนของภาคเอกชนในการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ ถนน ทางเดินเท้า คาดว่าจะขยายตัวได้ 5.1% นอกจากนี้ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดกลับมาดีขึ้นอย่างชัดเจน รัฐบาลเตรียมใช้มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวอีกครั้ง

            ด้านการดำเนินนโยบายการเงิน มีการคาดการณ์ธนาคารกลางญี่ปุ่น จะคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ -0.1% เพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลดีต่อผลประกอบการบริษัทในประเทศญี่ปุ่นที่น่าจะได้เห็นกำไรกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

            ขณะที่ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นญี่ปุ่น พบว่า ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2565 ดัชนี NIKKIE 225 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องระดับ 25,000 จุด เรียกความสนใจจากนักลงทุนให้เริ่มหันกลับมามองตลาดหุ้นญี่ปุ่นอีกครั้ง และทางด้าน Sumitomo Mitsui DS Asset Management ได้ประเมินว่า ดัชนี NIKKIE 225 ปีนี้มีโอกาสปรับขึ้นไปที่ระดับ 32,000 จุด จากการเปิดประเทศและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว จะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศกลับมาสดใสอีกครั้ง

             โดยอุตสาหกรรมที่เติบโต คือ กลุ่มท่องเที่ยวและกลุ่มของเทคโนโลยี เนื่องจากปัจจุบันญี่ปุ่นได้ผ่อนคลายมาตรการให้ชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามาทำงานได้ กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี ทางรัฐบาลมีการปรับโครงสร้างการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อดำเนินนโยบายระดับชาติ เพื่อส่งเสริมการปฏิรูปการบริหารที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น ทำให้มีการใช้งบประมาณและพร้อมสนับสนุนเรื่องของเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น

            ด้านความเสี่ยงของตลาดหุ้นญี่ปุ่นในปีนี้ คือ การกลายพันธุ์ของโควิด ที่อาจกระทบต่อการเปิดประเทศในอนาคตได้ ปัญหาสังคมผู้สูงวัย ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยและการบริโภคอาจชะลอตัว และงบประมาณอาจถูกตัดมาใช้ดูแลสังคมผู้สูงวัย ขณะที่ตลาดแรงงานอาจขาดแคลนได้

            แต่อย่างไรก็ตาม ทิศทางเชิงบวกทางเศรษฐกิจและมาตรการต่างๆ ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่เคยอยู่นอกสายตานักลงทุน กลายเป็นอีกตลาดที่น่าสนใจไม่แพ้ตลาดหุ้นที่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ผมจึงมองว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นก็ติดเรดาห์นักลงทุนทั่วโลกในปีนี้

            สำหรับความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทย (ข้อมูล ณ 6 มิถุนายน 2565) ดัชนี SET ในรอบ 1 สัปดาห์ ปรับตัวลง 0.46% รับข่าวเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ส่วนรอบ 1 เดือน ติดลบ 1.05% และรอบ 3 เดือน -1.53% ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน หรือ YTD -0.44%

            หากมองเศรษฐกิจไทยในปี 2565 นี้ ดูสดใสในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบตั้งแต่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติพาเหรดกลับมาเที่ยวอีกครั้งแ ในช่วงเกือบ 5 เดือนปีนี้ (ณ 20 พ.ค.) จำนวนนักท่องเที่ยวรวมทะลุ 1 ล้านคนแล้ว ด้านแบงก์ชาติได้ปรับคาดการณ์ GDP ปีนี้ 3.3% และ 4.2%ในปีถัดไป

            แต่ในขณะเดียวกัน เศรษฐกิจไทยก็เผชิญกับความเสี่ยงเงินเฟ้อสูงหลุดกรอบเป้าหมายเช่นกัน สืบเนื่องจากราคาพลังงานโลกและการส่งผ่านต้นทุนภายในประเทศที่สูงขึ้นและกระจายตัว ซึ่งเป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อด้านอุปทานมากกว่า ขณะเดียวกันก็สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อด้านอุปสงค์(ความต้องการใช้จ่าย) เร่งตัวขึ้น ซึ่งทำให้ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากจะลงทุนในตลาดหุ้นไทย ผมแนะนำว่าต้องเลือกหุ้นเชิงมูลค่า (VI) ซึ่งในตลาดหุ้นไทยยังมีหุ้นดีๆ ธุรกิจยังเติบโตในระยะยาว ที่สำคัญ ราคาหุ้นได้ปรับตัวลงมาอยู่ระดับถูกน่าลงทุนเหมือนกัน หากสนใจลงทุนหุ้นไทยจริงๆ ผมแนะนำให้เข้าไปติดตามดูหุ้นรายตัวใน Jitta Ranking ได้ครับ

            อย่างไรก็ตาม แม้การลงทุนช่วงนี้อาจจะยากลำบากหน่อย หลายบริษัทสร้างกำไรได้สูงทำสถิติสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้ง แต่ราคาหุ้นก็ยังลงต่อไปอีก พวกเราได้แต่หวังว่า พายุเหล่านี้จะจบลงเร็วๆ ครับ จะได้อิ่มเอมกับบรรยากาศความสดชื่นของตลาดหุ้นขาขึ้นสีเขียวสดใสไปด้วยกัน

            ผมอยากฝากข้อคิดไว้ สำหรับ 3 สิ่งที่สำคัญที่สุดในการลงทุนประสบความสำเร็จได้แก่ เงินต้น อัตราผลตอบแทน และระยะเวลา แม้เงินลงทุนจะน้อย แต่หากมีระยะเวลาลงทุนที่นานพอ อัตราผลตอบแทนที่ทบต้น จะสร้างผลตอบแทนให้คุณได้อย่างมหัศจรรย์ในอนาคต 

            และนี่คือ เหตุผลที่ว่า คุณควรเริ่มต้นลงทุนให้เร็วที่สุด ในช่วงที่ตลาดหุ้นขาลง


เกี่ยวกับนักเขียน

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด นักลงทุนแนวเน้นคุณค่า และผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัป Wealth Tech สัญชาติไทย เป็นรายแรกที่ได้รับอนุญาตบริหารจัดการกองทุนส่วนบุคคล จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน