THE GURU • INVESTMENT

ลงทุนอย่างไรหากเงินเฟ้ออยู่กับเราในระยะยาว

บทความโดย: ณพวีร์ พุกกะมาน (เปโดร)

            เงินเฟ้อระดับสูงหรือ Hyper Inflation ยังคงเป็นปัญหาที่ธนาคารกลางทั่วโลกต้องกุมขมับในขณะนี้ โดยตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯเดือนมีนาคมพุ่งแตะ 8.5% ขณะที่ประเทศไทยเองพุ่งทะลุ 5% สูงกว่าค่าเฉลี่ยหลายปีย้อนหลังที่ 3%

            โจทย์สำคัญของนักลงทุนคือจะหาสินทรัพย์อะไรที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ความมั่งคั่งที่มีอยู่ด้อยค่าลงไปตามเงินเฟ้อ ในมุมมองของผมพอจะลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้เพื่อป้องกันกับเงินเฟ้อที่น่าจะอยู่กับเราไปอีกนาน

อสังหาริมทรัพย์

            การที่ทั่วโลกกำลังผ่อนคลายมาตราการป้องกันไวรัสโควิดลงทำให้อสังหาริมทรัพย์กำลังเป็นสินทรัพย์ที่น่าสนใจขึ้นมาจากการที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวอสังหาริมทรัพย์บางประเภทที่มูลค่าลดลงไปค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า โรงแรม รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมกำลังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่พอจะสามารสร้างผลตอบแทนได้ตั้งแต่ 5-7%

            อาจจะมีโครงการประเภทออฟฟิศให้เช่าที่อาจจะมีปัญหาในระยะยาวจากการที่องค์กรธุรกิจบางส่วนอาจหันไปลดต้นทุนทางด้านสำนักงานลงซึ่งจะมีผลต่อรายได้ของโครงการในระยะยาวได้ จึงอาจจะต้องหลีกเลี่ยงโครงการประเภทนี้

สินค้าโภคภัณฑ์

            ส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงก็คือสินค้าโภคภัณฑ์ทำให้ Commodity กลายเป็นสินทรัพย์ที่พอจะสร้างผลตอบแทนเอาชนะเงินเฟ้อได้ไม่ว่าจะเป็น Soft Commodity อย่างเช่นกลุ่มอาหารและสินค้าเกษตร รวมถึงกลุ่มพลังงานอย่างเช่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นต้นทุนหลักที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ

            อย่างไรก็ตามกลุ่มโลหะมีค่าอย่างเช่นทองคำ แร่เงิน ฯลฯ มักจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์จึงอาจจะมีความผันผวนสูง ต่างจากสินค้าโภคภัณฑ์ในกลุ่มอื่นที่มีแนวโน้มเป็นขาขึ้นชัดเจน

หุ้นแวลู

            จากสถิติย้อนหลังจากการเกิดเงินเฟ้อในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นมักจะได้รับผลกระทบไปด้วย แต่ก็จะมีหุ้นบางกลุ่มที่พอจะสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้อย่างเช่นหุ้นที่ปันผลสูงหรือหุ้นกลุ่มแวลูซึ่งปกติแทบไม่มีการเติบโตมากนัก แต่มีธุรกิจที่แข็งแกร่ง กลุ่มนี้ราคาหุ้นจะไม่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อมากนัก

            แต่หุ้นแวลูมักจะมีการจ่ายปันผลที่สม่ำเสมอและอยู่ในระดับสูงตั้งแต่ 5% ขึ้นไปเนื่องจากธุรกิจไ่มีการขยายตัวอีกแล้วจึงสามารถนำผลกำไรมาจ่ายปันผลได้ ต่างจากหุ้นเติบโตที่สถิติย้อนหลังมักจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

สินทรัพย์ดิจิทัล

            สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง สินทรัพย์ดิจิทัลอาจจะเป็นทางเลือกในการที่จะเอาชนะเงินเฟ้อได้ แม้ในระยะสั้นราคาบิทคอยน์จะได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินเคร่งครัดของ FED แต่ในระยะยาวบิทคอยน์จะมีการทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่องและมีการยกจุดต่ำสุดใหม่ขึ้นเสมอ

            จากสถิติย้อยหลัง ราคาบิทคอยน์มักจะเป็นขาขึ้นในช่วงที่หลังจากการเกิด Bitcoin Halving ทุกๆสี่ปี ซึ่งครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในปี 2024 ช่วงเวลานี้ที่ราคาบิทคอยน์พักฐานอยู่จึงเป็นโอกาสที่จะลงทุนในระยะยาว

            เห็นได้ว่าสินทรัพย์ที่พอจะสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้มีตั้งแต่สินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่างเช่นอสังหาริมทรัพย์และหุ้นแวลูรวมถึงสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างสินค้าโภคภัณฑ์และสินทรัพย์ดิจิทัล นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ตามความเสี่ยงที่รับได้นะครับ

เกี่ยวกับนักเขียน

ณพวีร์ พุกกะมาน (เปโดร) นักลงทุนหนุ่มรุ่นใหม่ ที่เติบโตใช้ชีวิตในต่างแดนจากพื้นฐานครอบครัวนักการทูต ทำให้หลงไหลการลงทุนในสินค้าต่างประเทศ ปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้ง creative investment space พื้นที่แชร์ประสบการณ์ และข้อมูล นวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ ที่มีความหลากหลาย

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน