THE GURU • FAMILY BUSINESS SOCIETY

กุชชี่ : เรื่องจริง ที่ยิ่งกว่าหนังฮอลลีวู้ด (ตอบจบ) บทเรียนแบรนด์แฟชั่นชั้นนำที่ไม่เหลือแล้วซึ่งความเป็น “ครอบครัว”

บทความโดย: นวพล วิริยะกุลกิจ

เรื่องราวของครอบครัวกุชชี่ที่เป็นส่วนผสมของ ความเชื่อ การแย่งชิงผลประโยชน์ ฝันสลาย ความทะเยอทะยาน และการแก้แค้น อันนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่น่าเศร้า รวมไปถึงการสูญเสียธุรกิจครอบครัวที่ต้นตระกูลได้อุตส่าห์ก่อร่างสร้างไว้ “Gucci” ยังคงเติบโตและกลายเป็นแบรนด์แฟชั่นชั้นนำที่คนทั่วโลกให้การยอมรับในปัจจุบัน เพียงแค่ว่ามันไม่ได้เป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของครอบครัวกุชชี่อีกต่อไป

ตามสัญญากับภาคต่อ พร้อมตัวละครใหม่ เพื่อความเข้าใจใครที่ยังไม่ได้อ่านภาคแรก ย้อนอ่านได้ใน การเงินธนาคาร ฉบับเดือนมกราคม 2565 ฉบับเดือนที่แล้วนะครับ เมื่อพร้อมแล้ว มาต่อกับมหากาพย์ Gucci ตอนจบกันเลย

 

 “ความทะเยอทะยาน” ของ Maurizio กับภารกิจยึด “กุชชี่”

 Maurizio เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล (G3) และเป็นลูกชายคนเดียวของ Rodolfo (G2) กับ Alessandra Winkelhausen ภรรยาที่เขาพบรักในขณะที่ยังเป็นนักแสดงหนุ่ม และ Alessandra ที่เป็นนักแสดงสาวในขณะนั้น Alessandra คือผู้หญิงที่เปลี่ยน Rodolfo ให้กลายเป็นพ่อบ้านที่น่ารัก เธอคือหัวใจของเขา การเสียชีวิตของ Alessandra อย่างกะทันหันในปี 1954 ได้ส่งผลต่อ Rodolfo อย่างรุนแรง Rodolfo กลายเป็นคนปิดกั้นตัวเอง และเข้มงวดอย่างมากกับ Maurizio ลูกคนเดียวของเขากับ Alessandra

Rodolfo มักจะให้เงินที่แทบจะไม่พอใช้กับ Maurizio เพื่อสอนเรื่อง “ค่าของเงิน” ซึ่งสิ่งนี้ทำให้Maurizio เกลียดที่จะต้องขออะไรก็แล้วแต่จากพ่อของเขา และด้วยความที่ Maurizio คือสิ่งเดียวที่หลงเหลืออยู่ของเขากับภรรยาที่จากไป Rodolfo จึงมักแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของถึงขั้นคัดค้านการแต่งงานของ Maurizio กับ Patrizia Reggiani สาวคนรัก โดยขู่ที่จะตัดออกจากกองมรดกหากมีการแต่งงานเกิดขึ้น Rodolfo เชื่อว่า Patrizia นั้นรัก Maurizio ที่เงิน ทั้งสองแต่งงานกันในที่สุด (1972) โดยไม่สนใจคำทัดทานของ Rodolfo หลังจากนั้น Maurizio ก็เริ่มห่างจากพ่อของเขา ทิ้งให้ Rodolfo ต้องทนอยู่กับความรู้สึกที่ว่า “ถูกลูกทิ้ง”

Maurizio ย้ายไปทำงานกับ Aldo ผู้เป็นลุงที่นิวยอร์กที่ซึ่ง Maurizio ก้มหน้าก้มตาทำทุกอย่างที่ Aldo สั่งให้ทำ แต่จะมีใครล่วงรู้ถึงความทะเยอทะยานที่อยู่ลึกๆ ของเขาบ้างช่วงเวลาแห่งความยิ่งใหญ่กำลังใกล้เข้ามาทุกที

 

สงครามหุ้นภาค 1 : Maurizio ยืมมือ Paolo โค่น Aldo

Maurizio (G3) ได้รับความไว้วางใจจาก Aldo (G2) ลุงของเขาเป็นอย่างมาก ซึ่ง Aldo เองก็คงไม่เคยคิดว่าตนเองกำลังเลี้ยงอสรพิษไว้ข้างตัว หลังจาก Rodolfo ผู้เป็นพ่อของ Maurizio เสียชีวิตลงจากโรคมะเร็ง (1983) เขาได้ทิ้งหุ้น 50% ของ Gucci ไว้ให้กับ Maurizio และนั่นคือจุดเริ่มต้นของ “ปฏิบัติการยึด Gucci” ของ Maurizio

นอกจากนี้ คดีการยักยอกเงินไปยังต่างประเทศของ Aldo ที่ Paolo ลูกชายของเขาได้ฟ้องต่อศาลก็ทำให้ Aldo ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของ Gucci ถูกตรวจสอบอย่างหนัก ยิ่งไปกว่านั้น ความที่เป็นธุรกิจของครอบครัว ทำให้ไม่ได้มีการแบ่งแยก “เงินบริษัท” และ “เงินส่วนตัว” อย่างชัดเจน จนในบางครั้ง Aldo ถึงกับนำเช็คหลายแสนดอลลาร์สหรัฐ ที่สั่งจ่ายโดยบริษัทไปขึ้นเงินเพื่อนำมาใช้ส่วนตัว

“Aldo กำลังจะติดคุก” คือสิ่งที่ Maurizio เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่มีเวลาไหนจะดีเท่ากับเวลานี้อีกแล้วในการยึดอำนาจการบริหาร Gucci จาก Aldo ลุงของเขา

Maurizio ชวน Paolo ลูกขบถของ Aldo ซึ่งตอนนี้ถือหุ้นอยู่ 11% ให้เข้ามาเป็นพันธมิตรในบอร์ดของ Gucci ตอนนี้ฝ่ายของ Maurizio ถือหุ้น 61% (หุ้นของ Maurizio + Paolo) เขาเสนอให้มีการจัดตั้ง Gucci Licensing ขึ้นมาเพื่อบริหารการใช้แบรนด์ Gucci ทั้งหมด โดย Maurizio จะถือหุ้นในบริษัทใหม่นี้ในสัดส่วน 51% และ Paolo ถือ 49%

นอกจากนี้ Maurizio ยังเสนอที่จะซื้อหุ้นของ Paolo ด้วย แต่มีข้อแม้ว่า Paolo จะต้องถอนฟ้องทั้งหมดที่มีต่อ Gucci แผนขั้นแรกดำเนินไปได้ด้วยดี หลังจากนั้น ด้วยความช่วยเหลือจากทนายระดับเทพที่ทำหน้าที่เป็น “ตัวแทน” ของ Maurizio ในบอร์ดของ Gucci เขาได้เรียกประชุมบอร์ด ซึ่งมีมติที่ให้ยุบบอร์ดชุดปัจจุบันที่มี Aldo อยู่ทิ้งเสีย หลังจากนั้น Maurizio จึงขึ้นมามีอำนาจสูงสุดใน Gucci แทน Aldo ที่ต้องกระเด็นหลุดออกจากบริษัทที่ตนเองเป็นคนช่วยสร้างขึ้นมา

 

ยักยอก ปลอมลายเซ็น เลี่ยงภาษี และ “วิบากกรรม” จากธรรมาภิบาลที่ไม่ดี

ผลพวงของความขัดแย้งกับ Paolo ลูกชาย ทำให้ในปี 1986 ศาลนิวยอร์กมีคำพิพากษาให้ Aldo ต้องจ่ายภาษีย้อนหลังจำนวน 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ Aldo ก็ยังรับสารภาพว่าได้ยักยอกเงินบริษัทจำนวน 11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปใช้ส่วนตัว ทำให้เขาถูกพิพากษาจำคุก 1 ปี 1 วัน ในขณะที่อายุ 81 ปี ถือเป็นบทเรียนที่แสนเจ็บปวดของชายผู้ถูกลูกและหลานหักหลัง โดยมีความเลินเล่อที่ไม่ขีดเส้นแบ่งระหว่าง “เงินบริษัท” กับ “เงินส่วนตัว” ให้ชัดเจน เป็นเกลือหยอดแผล

“18” คือ จำนวนคดีความที่เกี่ยวข้องกับครอบครัว Gucci จนถึงปี 1987 หนึ่งในนั้นคือ คดีความที่ Aldo (G2) ฟ้อง Maurizio (G3) ว่าปลอมลายเซ็น Rodolfo (G2) พ่อของตนหลังจากที่เขาเสียชีวิตเพื่อเลี่ยงภาษีมรดก และคดีที่ Paolo (G3) ฟ้องศาลถึงพฤติกรรมเลี่ยงภาษีของ Maurizio ซึ่งทำให้เขาได้รับโทษจำคุกแต่ยังได้รับการผ่อนผันให้รอลงอาญา อย่างไรก็ดี เขายังต้องจ่ายภาษีและค่าปรับเป็นจำนวนเงินหลายล้านดอลลาร์สหรัฐอยู่ดี


สงครามหุ้นภาค 2 : Maurizio ขายหุ้นทั้งหมดของกุชชี่

ปัญหาทางการเงินของ Maurizio และธุรกิจของ Gucci นั้นรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เขาเข้ามาบริหารอย่างเต็มตัว Maurizio มองหาทางออกของปัญหานี้ว่า Gucci ต้องการ “ผู้ร่วมทุนใหม่” เขาดึง Investcorp กลุ่มนักลงทุนจากบาห์เรนเข้ามาเป็นพันธมิตร โดยนำเงินที่ได้รับมาจาก Investcorp ไปซื้อคืนหุ้นจากญาติๆ ในตระกูลที่ยังถือหุ้นอยู่ ได้แก่ Giorgio และ Roberto (G3) (ลูกคนโตและคนเล็กของ Aldo) และสุดท้ายก็คือ การซื้อหุ้น 17% ที่ยังถือโดย Aldo ซึ่ง Aldo นั้น ไม่มีทางเลือกมากนักในตอนนี้ จึงยอมขายหุ้นทั้งหมดให้กับ Maurizio ไม่นานหลังจากนั้น Aldo ก็เสียชีวิตในวัย 84 ในขณะที่ Paolo ลูกชายขบถของเขาก็ล้มละลาย และเสียชีวิตตามไปในอีก 5 ปีต่อมา (1995)

ถึงตอนนี้ Maurizio (G3) ก็ได้ขึ้นมากุมบังเหียน Gucci อย่างเต็มตัวพร้อมๆ กับ Investcorp ผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่ Maurizio ได้เปลี่ยนทิศทางการทำธุรกิจมาเน้นสินค้าระดับสูงเป็นหลัก ซึ่งทำให้ยอดขายของ Gucci ตกลง ในขณะที่รายจ่ายกลับถูกใช้ไปอย่างฟุ่มเฟือยไม่ระมัดระวัง กำไรของ Gucci นั้นตกลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้สุดท้าย Investcorp เสนอขอซื้อหุ้น 50% ที่ Maurizio ถืออยู่ (1993) ซึ่งสถานะทางการเงินที่ย่ำแย่ของเขา ทำให้ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกเสียจากยอมขายหุ้นทั้งหมดออกไป และถือเป็นการปิดฉากธุรกิจครอบครัว Gucci ที่ตอนนี้ ไม่เหลือหุ้นอยู่ในมือของคนในตระกูลเลยซักคนเดียว

 

อวสานของ Maurizio และ “House of Gucci”

จากชีวิตที่รุ่งเรืองอู่ฟู้สู่ความตกต่ำและการสูญเสียหุ้น Gucci ทั้งหมดที่มีให้กับ Investcorp ได้ดำเนินไปพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตส่วนตัวของ Maurizio ด้วย เงินและอำนาจได้ทำให้ Maurizio “เปลี่ยน” จากชายผู้อ่อนแอ เป็นชายที่แน่วแน่ จากคนที่รอคอยคำแนะนำจาก Patrizia ผู้เป็นภรรยา กลายเป็นคนที่อึดอัดทุกครั้งเมื่อต้องอยู่ใกล้กับภรรยาของตน ในปี 1985 Maurizio เก็บกระเป๋าออกจากบ้านไปและไม่เคยหวนกลับมาหาภรรยาและลูกอีกเลย ไม่แม้กระทั้งเมื่อ Patrizia ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อผ่าตัดเนื้องอกในสมอง

นอกจากนั้น เขายังได้ขายทรัพย์สินที่ควรจะตกเป็นของลูกเพื่อนำเงินมาใช้ชีวิตที่หรูหรากับผู้หญิงคนใหม่ Maurizio ยังร้องขอให้ Patrizia เซ็นใบหย่า สั่งให้เธอเลิกใช้นามสกุล Gucci และห้ามไม่ให้เธอเข้ามายังคฤหาสน์ของตระกูล Gucci อีกด้วย ถึงตอนนี้ Patrizia ก็ไม่ต้องการอะไรอีกแล้วนอกจาก…

ในวันที่ 27 มีนาคม 1995 Maurizio ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างเดินทางไปยังออฟฟิศของเขาในเมืองมิลาน Patrizia ภรรยาของ Maurizio ถูกตั้งข้อหาจ้างวานฆ่า และศาลมีคำพิพากษาว่าเธอมีความผิดจริงพร้อมสั่งจำคุก Patrizia เป็นเวลา 29 ปี Patrizia ถูกปล่อยตัวจากคุกในปี 2016 หลังจากใช้เวลา 18 ปีชดใช้ในสิ่งที่ได้ทำลงไป

เรื่องราวของครอบครัวกุชชี่ที่เป็นส่วนผสมของ ความเชื่อ การแย่งชิงผลประโยชน์ ฝันสลาย ความทะเยอทะยาน และการแก้แค้น อันนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่น่าเศร้า รวมไปถึงการสูญเสียธุรกิจครอบครัวที่ต้นตระกูลได้อุตส่าห์ก่อร่างสร้างไว้ “Gucci” ยังคงเติบโตและกลายเป็นแบรนด์แฟชั่นชั้นนำที่คนทั่วโลกให้การยอมรับในปัจจุบัน เพียงแค่ว่ามันไม่ได้เป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของครอบครัวกุชชี่อีกต่อไป

 

Guccio Gucci และอาณาจักรธุรกิจ Gucci

Guccio Gucci ผู้ก่อตั้งอาณาจักรธุรกิจกุชชี่เกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 1881 ถึงแม้ Guccio จะมีบิดาที่ประกอบอาชีพช่างทำเครื่องหนัง แต่เขาเลือกที่จะเริ่มต้นชีวิตการทำงานงานด้วยการเป็นพนักงานยกกระเป๋าของโรงแรม Savoy ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนที่จะเดินทางกลับอิตาลี และทำงานในร้านทำกระเป๋าเดินทางแห่งหนึ่งจนในที่สุด Guccio เปิดร้านขายเครื่องหนังเป็นของตัวเองร้านแรกที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ในปี 1921

สำหรับชีวิตส่วนตัว Guccio แต่งงานกับ Aida Calvelli ในปี 1901 มีบุตรธิดาด้วยกัน 5 คน (และยังมีบุตรอีก 1 คนซึ่งเป็นลูกติดของ Aida กับสามีเก่า) ลูกชายทั้ง 3 ของพวกเขา ได้แก่ Aldo, Vasco และ Rodolfo ได้เข้ามาช่วยทำธุรกิจครอบครัวในปี 1938 ความสำเร็จทางธุรกิจทำให้ Gucci กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของโลกในปัจจุบัน Guccio Gucci เสียชีวิตในปี 1953 เพียง 15 วัน หลังจากเปิดร้าน Gucci ในมหานครนิวยอร์ก Maurizio ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลขายหุ้น Gucci ที่เหลืออยู่ทั้งหมดให้กับ Investcorp จากบาห์เรนในปี 1993 สิ้นสุด “ความเป็นเจ้าของ” อาณาจักรธุรกิจ “Gucci” ของครอบครัว

เกี่ยวกับนักเขียน

นวพล วิริยะกุลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้ประกอบการ นักเขียน และนักเดินทาง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นวพล ได้ที่ Fan page: Family Business Asia

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน