THE GURU • FUND FOCUS

ภาวะเงินเฟ้อ ผลกระทบและแนวทางการลงทุน

บทความโดย: ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์

สถานะล่าสุด

            นับตั้งแต่ย่างเข้าปี 2565 เป็นต้นมา หลายปัจจัยพากันรุมเร้าโลกการเงินการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งสถานการณ์ในยุโรปตะวันออก และทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางรายใหญ่ ๆ ของโลกที่กำลังจะเปลี่ยนไป รวมถึงภาวะที่อัตราเงินเฟ้อในเศรษฐกิจสำคัญของโลก รวมถึงของประเทศไทยเอง มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

รูปที่ 1 -- อัตราเงินเฟ้อสหรัฐอเมริกา ช่วง 5 ปีล่าสุด ข้อมูล ณ 27 กุมภาพันธ์ 2565

รูปที่ 2 -- อัตราเงินเฟ้อกลุ่มยุโรป ช่วง 5 ปีล่าสุด ข้อมูล ณ 27 กุมภาพันธ์ 2565

รูปที่ 3 -- อัตราเงินเฟ้อประเทศไทย ช่วง 5 ปีล่าสุด ข้อมูล ณ 27 กุมภาพันธ์ 2565

             ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ให้เหตุผลว่าเกิดจากการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องซึ่งพิจารณาจากภาคแรงงานที่มีอัตราการว่างงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกับเกิดภาวะอุปสงค์อุปทานที่ไม่สมดุลอันเกิดจากความเร็วในการเปิดเศรษฐกิจกลับคืนสู่ภาวะปกตินำหน้าความสามารถในการผลิตและนำส่งสินค้ามาถึงมือผู้บริโภค (ที่มา : federalreserve.com ณ 27 กุมภาพันธ์ 2565)

            ด้านการคาดการณ์ของตลาดและสำนักข้อมูลเศรษฐกิจรายใหญ่ของโลก Tradingeconomic.com คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ของสหรัฐอเมริกาและกลุ่มยุโรปจะอยู่ที่ระดับ 7.7% และ 5.3% ตามลำดับ ซึ่งหากเป็นไปตามนั้น ก็จะเป็นระดับสูงสุดใหม่ในรอบหลายสิบปี ทำลายสถิติเดิมในเดือนมกราคม 2565 ที่อยู่ในระดับ 7.5% และ 5.1% ตามลำดับ

            นอกจากนั้น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัว ร่วมกับสถานการณ์ในยุโรปตะวันออกที่เป็นปัจจัยในช่วงล่าสุด

ผลสืบเนื่องมายังทิศทางนโยบายการเงิน

            สถานการณ์ต่างๆ ดังกล่าวซึ่งส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ เป็นตัวเร่งให้ธนาคารกลางจำเป็นต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้นกว่าความตั้งใจเดิม โดยจะสังเกตได้จากมุมมองของกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FED’s FOMC) แต่ละท่าน ที่เห็นว่าควรปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (FED Funds Rate) เร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งในการประชุมรอบเดือนกันยายน 2564 สามารถคำนวณค่าเฉลี่ยของ FED Funds Rate ในปี 2565 ตามความเห็นของกรรมการ FED’s FOMC ได้ที่ระดับ 0.29% แต่ตัวเลขนี้ได้เพิ่มขึ้นเป็น 0.81% ในการประชุมรอบเดือนธันวาคม 2564

            ด้านการคาดการณ์ของตลาดการเงินที่สะท้อนผ่าน FED Funds Rate Futures แสดงให้เห็นว่า ในการประชุม FED’s FOMC ครั้งที่กำลังจะถึงในวันที่ 15-16 มีนาคม 2565 มีโอกาส 76% ที่จะปรับเพิ่มจากกรอบเดิม 0.00%-0.25% ขึ้นมาเป็น 0.25%-0.50% (ปรับขึ้นหนึ่งขั้น) และมีโอกาส 24% ที่จะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในกรอบ 0.50%-0.75% (ปรับขึ้นสองขั้น) โดยที่ไม่มีโอกาสเลยที่จะคง FED Fund Rates ไว้ตามเดิม

ผลกระทบต่อการลงทุนช่วงที่ผ่านมา

            อัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมาอยู่ในระดับสูงสูงสุดในรอบหลายสิบปี ประกอบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รุดหน้า จนทำให้คณะกรรมการ FED’s FOMC และตลาดการเงินมีความเห็นโน้มเอียงไปสู่การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่เร็วและมากขึ้น ร่วมกับกำหนดการการลดความเร็ว QE (Tapering) ที่เปิดเผยรายละเอียดออกมาแล้วในระยะก่อนหน้า ทำให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ปรับเพิ่มขึ้น จนราคาตราสารหนี้ระยะกลางถึงระยะยาวและราคาหุ้นกลุ่มที่มูลค่าขึ้นอยู่กับการคาดหวังความเติบโตระดับสูงในอนาคต เช่นหุ้นเทคโนโลยี ได้รับผลกระทบด้านลบอย่างชัดเจน

            ผลกระทบในส่วนของตราสารหนี้ มาจากความสัมพันธ์แบบผกผันของราคาตราสารและอัตราดอกเบี้ยในตลาด

รูปที่ 4 – อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกา

ที่มา: tradingeconomics.com ณ 25 กุมภาพันธ์ 2565 

            ผลกระทบในส่วนของหุ้นเทคโนโลยี นอกจากปัจจัยเชิงวิทยาแล้ว เหตุผลสำคัญก็ยังมาจากอัตราคิดลดที่เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้มูลค่ากิจการลดลง เนื่องจากกระแสเงินสดก้อนใหญ่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตตามประมาณการการเติบโตที่สูง ได้ถูกคิดลดในอัตราที่สูงขึ้น

แนะนำแนวทางการลงทุน

            ลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลางถึงระยะยาว ตลอดจนหุ้นเทคโนโลยีที่มูลค่าพื้นฐานอิงกับการคาดการณ์กระแสเงินสดก้อนใหญ่ในอนาคตระยะยาวเป็นหลัก (ซึ่งเมื่อถูกคิดลดด้วยอัตราคิดลดที่สูงขึ้นแล้วจะเหลือมูลค่าปัจจุบันที่ต่ำลงมาก)

            สำหรับนักลงทุนที่ต้องการความแน่นอนสูง แนะนำเพิ่มสัดส่วนการลงทุนกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น สำหรับนักลงทุนต้องการเปิดโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงจากหุ้น แนะนำกองทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ที่ธุรกิจยังเติบโตได้ดีและมูลค่าพื้นฐานอิงกับกระแสเงินสดระยะปัจจุบันและอนาคตในระยะกลางเป็นหลัก (ซึ่งการคิดลดในอัตราคิดลดที่สูงขึ้นจะส่งกระทบไม่รุนแรงนัก)

            โดยกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่แนะนำได้แก่

            ASP-DPLUS (กองทุนเปิด แอสเซทพลัส ตราสารหนี้ เดลี่ พลัส) เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือเฉลี่ย 3 เดือน ถึง 1 ปี ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 0.67% ย้อนหลัง 3 ปีเฉลี่ย 1.29% ต่อปี

            KKP PLUS (กองทุนเปิดเคเคพี ตราสารหนี้พลัส) เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือเฉลี่ย 3 เดือน ถึง 1 ปี ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 0.80% ย้อนหลัง 3 ปีเฉลี่ย 1.13% ต่อปี

            และกองทุนหุ้นตลาดเกิดใหม่ที่แนะนำได้แก่

            KT-CLMVT-A (กองทุนเปิดกรุงไทย หุ้น ซีแอลเอ็มวีที ชนิดสะสมมูลค่า) เน้นลงทุนหุ้นกลุ่มประเทศกัมพูชา เมียนมา เวียดนาม ลาว และไทย (CLMVT) ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 30.58% ย้อนหลัง 3 ปีเฉลี่ย 11.80% ต่อปี

            TLMSEQ (กองทุนเปิดทาลิส MID-SMALL CAP หุ้นทุน) เน้นลงทุนหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กในตลาดหุ้นไทย ทั้งใน SET และ/หรือ mai ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี 42.81% ย้อนหลัง 3 ปีเฉลี่ย 25.34% ต่อปี

(กองทุนแนะนำโดยเทรเชอริสต์ ข้อมูล ณ 25 กุมภาพันธ์ 2565)

 

 

เกี่ยวกับนักเขียน

ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์เทรเชอริสต์ ผู้ให้บริการ Treasurist.com ผู้ก่อตั้ง Thailand Investment Forum นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์และผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และ นักแปลอาสาของ TED.com

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน