THE GURU • EXECUTIVE COACHING

การบริหารทัศนคติ

บทความโดย: พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล

            เรามักจะได้ยินคนพูดบ่อยๆ ว่า คนนั้นคนนี้ทัศนคติไม่ดี และควรได้รับการปรับทัศนคติ จริงๆ แล้ว เราเห็นและวัดทัศนคติจากอะไร ทัศนคติมีผลกระทบต่อชีวิตเราอย่างไร และเราสามารถบริหารปรับเปลี่ยนทัศนคติได้ด้วยวิธีอะไรบ้าง

     เรื่องทัศนคติ ต้องอาศัยหลักจิตวิทยาในการทำความเข้าใจ ซึ่งสรุปได้ย่อๆ ว่า คนเราได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งที่เรามีประสบการณ์ในชีวิตตั้งแต่วัยเด็กจนถึงปัจจุบัน จนทำให้เป็นเงื่อนไขในการสร้างความเชื่อของเราเองขึ้นมาชุดหนึ่ง และความเชื่อนั้นก็กลายมาเป็นทัศนคติ หรืออุปนิสัยในการคิด ซึ่งจะมีผลต่อความรู้สึก และจากความรู้สึกก็นำไปสู่พฤติกรรมการกระทำ แล้วก็เกิดผลลัพธ์ต่างๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรือล้มเหลว

    ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ ได้รับอิทธิพลมาจากทัศนคติของเราไม่ทางตรงก็ทางอ้อม การเปลี่ยนทัศนคติของคนๆ หนึ่ง จึงสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนผู้นั้นเลยทีเดียว การมีทัศนคติที่ดี จึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จและความสุขในชีวิต

    ในชีวิตประจำวัน ทัศนคติเป็นตัวกรองต่อสิ่งต่างๆ ที่เราเห็น แสดงออกผ่านทางอารมณ์ จึงเป็นสิ่งที่คนอื่นเห็นเราผ่านทางบุคลิกภาพของเรา เป็นปัจจัยที่กำหนดทุกๆ การกระทำของเรา ตัวเราและทัศนคติของเราจึงเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก และทัศนคติที่เรามีต่อตนเอง จะกำหนดทัศนคติที่เรามีต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวเราด้วย 

    การเปลี่ยนทัศนคติสามารถทำได้ เพราะทัศนคติเกิดจากอุปนิสัยในการคิด เราจึงสามารถเปลี่ยนทัศนคติและอุปนิสัยที่ไม่ดีต่อตัวเราได้ โดยการค้นหาว่า อุปนิสัยและความคิดใหม่ๆ แบบใดที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จ แล้วจัดแจงใส่เข้าไปไว้ในตารางกิจกรรมประจำวันของเรา หาสิ่งช่วยเตือนความจำด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าเราได้ทำแล้วจริงๆ การทำซ้ำๆ จะทำให้การปฏิบัตินั้นกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ นั่นหมายความว่า ทัศนคติของเราก็จะถูกเปลี่ยนไปด้วย

    ก่อนจะเปลี่ยนทัศนคติ เราต้องยอมรับก่อนว่าเรามีทัศนคติเหล่านั้นมาตั้งแต่เด็ก หากเราเลือกที่จะแหกคอกจากชีวิตที่ถูกสร้างเงื่อนไข เราก็ต้องเห็นคุณค่าและเคารพความสำคัญของตนเอง เมื่อเรามีภาพลักษณ์ต่อตัวเองในเชิงบวก ก็จะปรับเปลี่ยนทัศนคติไปในทางบวกด้วย นั่นคือ มองหาวิถีทางที่จะทำสิ่งต่างๆ ให้ได้แทนที่จะหาเหตุว่าทำไมถึงทำไม่ได้ คำนึงถึงศักยภาพของตนเองแทนที่จะนึกถึงแต่ปัญหา และคำนึงถึงความแข็งแกร่งของตัวเองแทนที่จะนึกถึงข้อจำกัด

คนที่ต้องการประสบความสำเร็จและมีความสุข จึงต้องรู้จักสร้างทัศนคติของความคาดหวังในเชิงบวก ซึ่งมี 3 ขั้นตอนคือ

1. รู้ว่าปัจจุบันตัวเองยืนอยู่ที่จุดใด พิจารณาว่ามีความคิดและความเชื่ออะไรบ้างที่ไม่ได้ส่งผลลัพธ์ที่เราปรารถนา

2. เติมใจด้วยความคิดเชิงบวก อ่านและฟังข้อคิดในเชิงบวก เลือกคบคนคิดบวก

3. สร้างมโนภาพชีวิตใหม่ของตัวเองที่ดีที่สุด ขยับเอาอนาคตเข้ามาในปัจจุบัน ฝึกซ้อมในจินตนาการ จนพัฒนาเป็นความเชื่อในพลังของตัวเองในการทำสิ่งเหล่านั้น

            ผู้นำที่ต้องการเป็นแบบอย่างที่ดี น่าจดจำ น่าประทับใจ น่าเชื่อถือ เป็นตัวของตัวเอง น่าไว้วางใจ และน่ารัก ก็ต้องพยายามสร้างทัศนคติในทางบวก ซึ่งสามารถฝึกฝนตนเองได้โดย :

            1. ควบคุมความคิดในทางลบ

            2. พูดคุยกับตนเองในเชิงบวกอย่างสม่ำเสมอ

            3. รู้สึกว่าตนเองมีความพอเพียง 

    มีคนๆ เดียวเท่านั้นในโลกนี้ ที่สามารถให้ความเคารพในตนเองแก่เราได้ นั่นคือตัวเราเอง ความเห็นจากคนอื่นหรือสาธารณะไม่มีความสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับความเห็นส่วนตัวของเรา สิ่งที่กำหนดชะตาชีวิตของเราคือ เราคิดกับตัวเองอย่างไร เราบอกกับตัวเองว่าอย่างไร เรามีพลังอำนาจเหนือทัศนคติของเรา อย่าปล่อยให้สิ่งที่เราทำไม่ได้ มาแทรกแซงสิ่งที่เราทำได้

    การอนุมัติตนเอง ต้องเริ่มต้นที่พัฒนาความเห็นในเชิงบวกต่อตนเอง ปรากฏตัว และแสดงออกในทางบวก จากความคิดบวก จะนำมาซึ่งเป้าหมายในทางบวก ถ้าเรารู้สึกว่าเป็นคนมีปัญหา ก็อาจเป็นไปได้ว่า ปัญหาก่อร่างจากการบริหารทัศนคติที่แย่ และการพูดคุยกับตนเองในทางลบ ฉะนั้น หากเปลี่ยนแปลงความคิด เปลี่ยนแปลงวิธีพูดคุยกับตนเอง ก็สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้

     เทคนิคการพูดคุยกับตนเอง เป็นวิธีทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่พิสูจน์ว่าได้ผล เราต้องการให้ตนเองเป็นอย่างไร ก็เขียนออกมาอย่างนั้นด้วยภาษาในเชิงบวกที่สร้างแรงบันดาลใจ และอ่านให้ตัวเองฟังซ้ำๆ ซึ่งจะช่วยสร้างรูปแบบของพฤติกรรมที่ส่งเสริมเราให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา 

    เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะในฐานะผู้บริหาร คู่ครอง พ่อแม่ ลูก เราแค่จำเป็นต้องรู้สึกว่า “พอเพียง” แม้จะดูไม่สูงส่ง แต่หลังจากที่เราบรรลุความพอเพียงแล้ว เราก็จะสามารถไปต่อได้ไกล แต่ ณ วันนี้ ขอให้มีความสุขอย่างพอเพียง เพื่อการมีสุขภาพจิตที่ดี เราไม่ควรกล่าวโทษคนอื่นหรือสิ่งแวดล้อม และไม่ควรสนใจอดีต ไม่ว่าอดีตจะเป็นอย่างไรก็ตาม ตอนนี้เราเป็นผู้ใหญ่ที่คิดได้ เลือกได้ว่าจะมีชีวิตอยู่แบบไหน คิดและประพฤติในทางที่ตนเองต้องการได้

    โดยสรุปแล้ว การบริหารทัศนคติ จึงหมายถึง การทำใจให้ว่างจากความคิดที่มีข้อจำกัด ไม่สร้างสรรค์ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหาย ขัดแย้ง ไม่สงบ ไม่มีประสิทธิภาพ ให้โยนอารมณ์ที่หงุดหงิดหมกมุ่นต่างๆ ทิ้งไป ขณะเดียวกันก็เลือกมุมมองที่ก่อให้เกิดผลดี มีประสิทธิภาพ และสร้างสรรค์ พร้อมทั้งสร้างนิสัยใหม่ๆ ที่ดี ในที่สุดเราก็สามารถเปลี่ยนทัศนคติไปในทางบวกซึ่งส่งเสริมให้เราเติบโตอย่างมีความสุขได้

เกี่ยวกับนักเขียน

พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล CPA & Executive Coach / โค้ชผู้บริหาร เพื่อความสุขและความสำเร็จ อดีต CFO ผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารการเงินในองค์กรขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติมากกว่า 30ปี ในธุรกิจหลายประเภท ให้การปรึกษาและฝึกอบรมพัฒนาผู้บริหารมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี และเป็น “Licensee” ของ “LMI” - Leadership Management International Inc. ในการอำนวยการเรียนรู้หลักสูตรด้านพัฒนาผู้นำระดับสากล

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน