THE GURU • FAMILY BUSINESS SOCIETY

ทำไมพ่อ-แม่ถึงไม่ต้อง แบ่งสมบัติอย่างยุติธรรม?

บทความโดย: นวพล วิริยะกุลกิจ

3 เหตุผลที่จะปลดปล่อยพ่อ-แม่จาก “ยุติธรรม” สู่ “สิ่งที่ควรทำ”

            ผมเคยได้ยินลูกบางคนพูดว่า “ใครทำมากก็ควรจะได้มาก ใครทำน้อยก็ควรจะได้น้อย พ่อแม่ต้องให้ความยุติธรรมกับลูกๆ” ลูกอีกคนแชร์ความเห็นว่า “ทุกคนก็ลูกเหมือนกัน พ่อ-แม่ก็ควรจะแบ่ง (สมบัติ) ให้เท่าๆ กันซิถึงจะยุติธรรม” 

            และผมก็เคยได้ยินลูกบางคนพูดว่า “สมบัติเงินทองพ่อ-แม่ก็หามาเอง เค้าจะแบ่งยังไง จะให้ใคร ก็เป็นสิทธิของเขา” ลูกทุกคนมีสิทธิที่จะคิดต่างกันได้ พ่อ-แม่ก็มีสิทธิ (ที่จะคิดต่าง) เช่นกัน

    วันนี้ ผมจะมานำเสนอแนวคิดอัลเทอร์เนทีฟในการแบ่งสมบัติที่จะปลดปล่อยคุณพ่อ-คุณแม่จากพันธนาการทางความคิดที่ว่าพ่อ-แม่จะต้อง “ยุติธรรม” กับลูก ทำไมจึงต้องเป็นเช่นนั้น? และการแบ่งสมบัติโดยยึดความยุติธรรมคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้วหรือ? 

            เหตุผล 3 ประการดังต่อไปนี้จะช่วยตอบคำถามข้างต้น และประกาศให้โลกรู้ว่า พ่อ-แม่ไม่จำเป็นต้องยุติธรรมจึงจะเป็นพ่อ-แม่ที่ดี เพราะพ่อ-แม่ที่ดีคือพ่อแม่ที่ “ทำในสิ่งที่ควรทำ” ต่างหาก!


เหตุผลที่ 1 : พ่อ-แม่ไม่ได้ติดหนี้บุญคุณอะไรลูก

    มีพ่อ-แม่คนไหนที่ติดหนี้บุญคุณลูกบ้าง?

            พ่อ-แม่เป็นผู้สร้างลูกๆ ขึ้นมา ให้การศึกษา เลี้ยงดู จนเป็นผู้เป็นคนได้ทุกวันนี้ แน่นอนว่า ในบางช่วงเวลาคุณอาจไม่ได้ทำหน้าที่พ่อ-แม่ได้ดีที่สุด บางครั้งอาจเหมือนคุณทอดทิ้งพวกเขา มีความผิดพลาดบางอย่างที่ทำให้คุณเสียใจจนวันนี้ แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า คุณเป็นพ่อ-แม่ที่แย่ (และยังมีพ่อ-แม่ที่แย่กว่าคุณอีกมากมาย) คุณแค่เป็นพ่อ-แม่ธรรมดาที่ย่อมทำผิดได้ คุณอาจจะอยากชดเชยกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต ก็ไม่ได้ทำให้คุณติดหนี้บุญคุณลูกซักหน่อย 

    นอกจากนี้ พ่อ-แม่ยังเป็นผู้สร้างธุรกิจขึ้นมาด้วย หรือถึงแม้พ่อ-แม่จะไม่ได้ก่อตั้งกิจการครอบครัวขึ้นมาเอง แต่ก็เป็นผู้สืบทอดจนยังอยู่ได้จนถึงวันนี้ ดังนั้น คุณจึงมีสิทธิทุกอย่างในธุรกิจครอบครัว เราเห็นพ่อ-แม่บางคนในต่างประเทศขายธุรกิจครอบครัวให้กับลูกๆ ด้วยซ้ำ เขาไม่ได้ให้ฟรีนะ ลูกอยากได้ต้องกำเงินมาซื้อเอา

    ก็เมื่อไม่ได้ติดหนี้บุญคุณ แล้วทำไมจะแบ่งสมบัติตามใจตัวเองไม่ได้ล่ะ? 


เหตุผลที่ 2 : เมื่อตัดเรื่องยุติธรรมทิ้ง เหตุผลอื่นก็ผุดขึ้นมาแทน 

    มีใครพูดได้อย่างเต็มปากไหมว่า ถ้าพ่อ-แม่ไม่แบ่งสมบัติให้ลูกอย่างยุติธรรมแล้ว พวกเขาจะเป็นพ่อ-แม่ที่ไม่ดี? มีใครเคยกำหนดไว้หรือว่า คุณธรรมที่เรียกว่า “ยุติธรรม” คือที่สุดของคุณธรรมทั้งมวล?

            พ่อแม่มักจะกลัวว่าลูกจะรู้สึกไม่ดี กลัวลูกเสียใจ กลัวคำพูดที่ว่า “รักลูกไม่เท่ากัน” ทำให้การแบ่งสมบัติของครอบครัวถูกบิดไปตามเกณฑ์ที่เรียกว่า “ยุติธรรม” แต่ถ้าตัดคำว่ายุติธรรมออกไปจากสมการการแบ่งสมบัติได้แล้ว พ่อแม่จะเริ่มมองเห็นถึงเหตุผลด้านอื่นๆ ที่น่าจะนำมาใช้เป็นเกณฑ์หรือเหตุผลในการแบ่งสมบัติ เช่น เหตุผลด้านความอยู่รอดของธุรกิจ (เช่น ต้องให้หุ้นมากหน่อยกับลูกที่จะสืบทอดกิจการได้ดีที่สุด) หรือเหตุผลด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว (เช่น เห็นแววแล้วว่าลูกสองคนมีความคิดต่างกันสุดขั้ว เลยแยกให้ทำคนละธุรกิจ) เป็นต้น

            ก็เมื่อไม่ต้องยุติธรรม พ่อ-แม่ก็สามารถใช้เหตุผลอื่นๆ ในการแบ่งสมบัติได้ตามเหมาะสม เช่น แบ่งสมบัติตามความห่วงได้ แบ่งตามความดีของลูกก็ได้ หรือจะแบ่งตามความเชื่อใดๆ ของพ่อ-แม่ก็ได้ ซึ่งลูกๆ ก็ควรจะเชื่อในวิจารณญาณของพ่อ-แม่ ถ้าไม่เชื่อก็ขอให้กลับไปอ่านเหตุผลข้อที่หนึ่ง


เหตุผลที่ 3 : เมื่อไม่ตั้งเป้ายุติธรรม จึงไม่มีใครผิดหวังที่ไม่ยุติธรรม

    และถึงแม้พ่อ-แม่อาจจะอยากจะแบ่งสมบัติให้ลูกๆ อย่างยุติธรรม คุณก็มีแนวโน้มที่จะทำให้ลูกคนใดคนหนึ่งผิดหวังอยู่ดี ทำไมล่ะ?

เพราะคนเราต่างมองความยุติธรรมแตกต่างกันไป พ่อแม่มองว่า อย่างนี้ยุติธรรมแล้ว แต่ลูกๆ อาจมองว่าไม่ยุติธรรม ความยุติธรรมไม่ได้วัดได้ด้วยไม้บรรทัด หรือเครื่องชั่งตวงวัดใดๆ แต่วัดจาก “ใจ” ของแต่ละคน “มาตรวัด” จึงแตกต่างกัน ปัญหาอีกประการของความยุติธรรมก็คือ ความยุติธรรมจะเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา วันนี้ว่าแบบนี้ยุติธรรม พรุ่งนี้อาจไม่ยุติธรรมแล้วก็ได้ จึงไม่มีความยุติธรรมที่เป็นหนึ่งเดียวถาวรตลอดไป

    ดังนั้น การประกาศว่าจะไม่ยึดยุติธรรม แต่จะใช้ความเหมาะสมในสายตาของพ่อ-แม่เป็นเกณฑ์ จึงเป็นการเซ็ตความคาดหวังของลูกๆ เสียใหม่ คนที่หวังว่าจะได้หุ้นมากเพราะทำงานมานานกว่า ทำงานมากกว่าพี่น้องคนอื่นๆ ก็จะต้องลบความคิดนั้นออกไป คนที่ไม่ได้ทำงานในธุรกิจครอบครัว แต่ก็คิดว่าลูกพ่อแม่เหมือนกันก็ควรจะได้หุ้นเท่ากันก็ต้องกลับไปคิดใหม่ ฯลฯ คนกำหนดเกณฑ์การแบ่งคือพ่อ-แม่ แล้วพ่อ-แม่ก็ไม่จำเป็นจะต้องบอกหลักเกณฑ์การแบ่งนั้นกับลูกๆ ด้วย (ถ้าลูกคนไหนมีปัญหาก็ให้กลับไปอ่านข้อหนึ่งอีกครั้ง) 

    เมื่อลูกไม่หวังว่าจะได้รับความยุติธรรม พวกเขาก็จะไม่ผิดหวัง! 


            “ยุติธรรม” ไม่ใช่ไม่ดี แค่อย่าใช้คำนี้มากดดันพ่อ-แม่

             จริงๆ แล้วคำว่า “ยุติธรรม” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้ให้ความหมายไว้ว่า คือ (คำนาม) ความเที่ยงธรรม, ความชอบธรรม, ความชอบด้วยเหตุผล (คำวิเศษณ์) เที่ยงธรรม, ไม่เอนเอียงเข้าทางใดทางหนึ่ง, ชอบด้วยเหตุผล 

ในขณะที่ พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลคำว่า “ยุติธรรม” เป็นอังกฤษว่า Justice, Fairness, Impartiality ดังนั้น คำว่า “ยุติธรรม” จึงอาจถูกใช้สลับไปมากับคำว่า “แฟร์” (Fair) เท่าเทียม หรือเสมอภาค ได้โดยไม่ผิดแปลกอะไร แต่ไม่เคยถูกแปลว่า “เท่ากัน” หรือ Equal ดังคำพูดที่ว่า “Fair doesn’t mean equal” หรือ “แฟร์” ไม่ได้แปลว่าเท่ากัน 

            ดังนั้น พ่อ-แม่ที่มีความยุติธรรมจึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องแบ่งสมบัติให้ลูกเท่ากัน (Equal Distribution) พวกเขาแค่ต้องทำการแบ่งสมบัตินั้นๆ อย่างเที่ยงธรรม (สอดคล้องตามธรรมชาติ) อย่างชอบธรรม (เป็นไปตามธรรมชาติ) อย่างมีเหตุมีผล เพราะด้วยวิธีการนี้เท่านั้นจึงจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และนั่นก็อาจเรียกได้ว่าพ่อ-แม่ได้ทำในสิ่งที่พวกเขาควรที่จะทำแล้ว 

            ผมเคยเจอคุณพ่อ-คุณแม่ที่ถูกกดดันจากลูกๆ เรื่องความยุติธรรม และพ่อแม่ก็ยังกดดันตัวเอง เพราะอยากจะเป็นพ่อแม่ที่ยุติธรรมอีก ซึ่งในมุมมองของผมการตั้งเป้ายุติธรรมไม่ได้ทำให้ผลลัพธ์ของการแบ่งสมบัตินั้นยุติธรรมขึ้นเลย แต่คือการที่ลูกทุกคนยอมให้พ่อ-แม่แบ่งสมบัติด้วยเหตุด้วยผลของพวกท่าน โดยลูกๆ ยอมรับเหตุผลของพ่อ-แม่แม้จะไม่ถูกใจก็ตาม 

            ซึ่งพ่อ-แม่ก็อาจขอความเห็นจากลูกๆ ได้ ลองมองหาเหตุผลอื่นๆ ประกอบด้วย อย่าตกอยู่ใต้ความกดดันจากลูก และต้องไม่กดดันตัวเองด้วยว่าต้องยุติธรรม เพราะถ้าพ่อ-แม่ใช้เหตุและผลอย่างรอบด้านแล้ว ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ผมว่า นั่นแหละคือ “ยุติธรรม” 


เกี่ยวกับนักเขียน

นวพล วิริยะกุลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้ประกอบการ นักเขียน และนักเดินทาง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นวพล ได้ที่ Fan page: Family Business Asia

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน