THE GURU • FAMILY BUSINESS SOCIETY

พร้อมหรือยังที่จะเขียนธรรมนูญครอบครัว? เช็กความพร้อม 3 ประการก่อนเขียนธรรมนูญฯ

บทความโดย: นวพล วิริยะกุลกิจ

“ความสงบสุขของครอบครัวในปัจจุบันเป็นเพียงจุดเริ่มต้น คุณแค่ต้อง Make Sure ว่าคุณมีความมุ่งมั่น กล้าเปิดใจ และพร้อมที่จะเสียสละเพื่อผลักดันความสงบสุขที่มีนั้นให้ยั่งยืนต่อไป”


            ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่พร้อมสำหรับ “ธรรมนูญครอบครัว”

            แม้พวกเขาจะมีเงินมีทอง มีธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ ครอบครัวรักใคร่กันดี ไม่มีความขัดแย้ง ก็ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของ “ความพร้อม” ที่จะมีธรรมนูญครอบครัว และบางครอบครัวถึงขนาดมี “ร่างธรรมนูญฯ” แล้ว ก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาพร้อมอยู่ดี!

แล้วยังไงจึงจะเรียกว่าพร้อม?

            จากโอกาสที่ผมได้มีส่วนช่วยร่างธรรมนูญครอบครัวให้กับหลายตระกูล ทำให้สังเกตเห็นคุณลักษณะที่สำคัญ 3 ประการที่ครอบครัวจำเป็นจะต้องมี เพื่อความสำเร็จของการเขียนธรรมนูญครอบครัว โดยคุณลักษณะที่สำคัญ 3 ประการนี้ ได้แก่

มีความมุ่งมั่น

            “เสร็จก็เสร็จ ไม่เสร็จก็จะให้ทำยังไงได้ล่ะ?” เมื่อไหร่ที่คุณได้ยินคำพูดนี้ ก็รู้ได้ทันทีว่า สมาชิกไม่ได้มีสิ่งที่เรียกว่า ความมุ่งมั่น หรือ Commitment ซักเท่าไหร่กับการเขียนธรรมนูญครอบครัว คำพูดในลักษณะเช่นนี้สะท้อนมุมมองที่ว่า ธรรมนูญฯ ไม่ได้เป็นสิ่งที่สำคัญหรือจำเป็น มีก็ดี ไม่มีก็ได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะยังไม่เข้าใจว่าธรรมนูญครอบครัวคืออะไร และทำหน้าที่อะไรกันแน่ แต่ที่แน่ๆ คือ ไม่มีก็ไม่เป็นไร!

            หากคำพูดนี้ ออกจากปากหรืออยู่ในหัวของสมาชิกส่วนน้อย ครอบครัวก็ยังมีโอกาสเดินหน้าโครงการธรรมนูญครอบครัวต่อไปได้ แต่ถ้าหากสมาชิกส่วนใหญ่ก็คิดเช่นเดียวกัน คือมองไม่เห็นความสำคัญ หรือความจำเป็นของธรรมนูญครอบครัว การทำงานต่อไปของครอบครัวจะเป็นไปด้วยความลำบาก และสุดท้ายก็ยากที่จะสำเร็จได้ ส่วนมากก็จะล่มเลิกกลางคัน เพราะสุดท้ายแล้ว ก็ไม่มีใครเห็นความสำคัญของการ “อยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกันเป็นครอบครัว” แยกๆ กันไปน่าจะดีกว่า

            แล้วถ้าถามว่า เป็นหน้าที่ของใครที่จะทำให้สมาชิกเห็นว่าพวกเราควรอยู่ร่วมกันทำงานร่วมกัน?

            ผมคงตอบได้ว่า นี่คือสิ่งที่ผู้นำครอบครัวจะต้องชักนำโน้มน้าวความคิดของสมาชิกให้เป็นไปในทิศทางนี้ให้ได้ ไม่มี “คนนอก” ครอบครัวคนไหนสามารถตอบได้ว่าสิ่งไหนดีที่สุดสำหรับครอบครัว ก็คงมีแต่ “คนใน” ครอบครัวเท่านั้นที่จะตอบได้

พร้อมเปิดใจ

            ผู้ที่มีจิตใจกล้าหาญเท่านั้น จึงจะกล้าเปิดใจรับความเห็นที่แตกต่าง

            ถ้ายังคิดว่าความเห็นของตนคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ดีที่สุด และด้อยค่าความเห็นของคนอื่นอยู่ละก็ คุณก็ยังไม่พร้อมที่จะเริ่มต้นเขียนธรรมนูญฯ ร่วมกับสมาชิกคนอื่นๆ สมาชิกครอบครัวที่จะเข้าร่วมกระบวนการนี้ได้ จำเป็นจะต้องมีใจที่เปิดกว้าง พวกเขาต้อง “กล้าพอ” ที่จะยอมรับว่า ความเห็นของตนอาจจะมีข้อบกพร่อง อาจไม่ถูกต้อง หรืออาจจะผิดก็ได้ และถึงแม้ความเห็นของตนจะถูกต้อง แต่ความเห็นของคนอื่นๆ ก็ไม่ได้ถูกต้องน้อยกว่า (แค่มองต่างมุมกัน)

            ผู้ที่มีคุณลักษณะเช่นนี้ คือ ผู้กล้าในสมรภูมิแห่งการถกเถียงทางความคิด เราต้องการสมาชิกที่กล้าที่จะยอมรับความเห็นที่แตกต่าง โดยไม่มองว่าผู้อื่นที่เห็นต่างนั้นมีความรู้น้อยกว่า ประสบการณ์น้อยกว่า หรือปัญญาต่ำกว่าตน นี่คือเงื่อนไขเบื้องต้นของความพร้อมประการที่สองนี้

            ไม่มีใครบังคับใครให้เปิดใจได้ ผู้คนเปิดใจด้วยตัวของเขาเอง

            สิ่งที่ครอบครัวอาจจะทำได้เพื่อช่วยให้สมาชิกสามารถเปิดใจได้มากขึ้น คือการสร้างบรรยากาศที่ไม่ตัดสินความคิดเห็นของกันและกัน รับฟังไอเดียต่างๆ อย่างเปิดกว้าง เพื่อเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัว

            ไม่จำเป็นจะต้องมีความเห็นที่แย่ก่อนที่เราจะได้ความเห็นที่ดี...แต่คือการค้นหาความเห็นที่ดีที่สุดจากความเห็นที่มีทั้งหมด

พร้อมเสียสละ

            ถ้าสมาชิกเขียนธรรมนูญครอบครัวเพื่อหวังที่จะได้มากกว่าที่จะให้ คุณก็เตรียมล้มเหลวได้เลย เพราะไม่ได้มีใครโง่กว่าใคร เมื่อพูดถึงผลประโยชน์ แต่ถ้าคุณเข้าร่วมโครงการโดยคิดไว้ในหัวว่าพร้อมที่จะเสียสละ หากทำแล้วส่วนรวมจะไปได้ดี ก็เปรียบดังยื่นเท้าเข้าเส้นชัยไปแล้วข้างหนึ่ง

             การเริ่มต้นเขียนธรรมนูญครอบครัวด้วย Mindset ของการพร้อมที่เสียสละ ถือเป็นการบริหารความรู้สึกของตนเองด้วย เป็นการบริหารความคาดหวัง (Expectation) เมื่อคาดหวังน้อย โอกาสจะผิดหวังก็น้อย ถ้าคาดหวังมาก โอกาสผิดหวังก็จะมาก เมื่อผิดหวังมาก ก็เสียใจมาก น้อยใจมาก ไม่พอใจมาก และสุดท้ายก็นำไปสู่ความโกรธมาก ซึ่งเป็นอารมณ์ด้านลบที่ไม่ก่อให้เกิดผลดีใดๆ เลยทั้งต่อตัวคนๆ นั้น หรือครอบครัว

            ใครๆ ก็อยากได้สิ่งที่เราสมควรได้ ใครๆ ก็เรียกร้องหาความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน แต่คนเราต่างมีความเห็น มีมุมมองต่อสิ่งเหล่านี้แตกต่างกัน และไม่มีวันหาจุดที่ลงตัวได้ (เช่น ความยุติธรรมของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ฯลฯ) แต่การพร้อมที่จะสละสิ่งที่เราสมควรได้ การยอมใช้เกณฑ์ความยุติธรรมหรือความเท่าเทียมกันในมุมมองของคนอื่นได้ นี่แหละคือความเสียสละที่เป็นคุณลักษณะสำคัญของผู้ที่พร้อมจะเข้าร่วมการเขียนธรรมนูญครอบครัว และพร้อมที่จะอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวเดียวกัน

            การเขียนธรรมนูญครอบครัวอาจเป็นการลงทุนที่สำคัญที่สุดที่ครอบครัวจะทำได้เพื่อความผาสุกของสมาชิก การลงทุนครั้งนี้ ครอบครัวจะต้องลงทั้งแรงกาย แรงใจ เงินทอง และเวลาเพื่อให้เกิดขึ้น ดังนั้น เมื่อเป็นการลงทุนครั้งสำคัญ ผมก็อยากจะชวนให้พวกเราตรวจตราความพร้อมของครอบครัวกันให้ดี ระหว่างทางเราอาจประสบกับความยากลำบาก และปัญหาต่างๆ มากมาย ซึ่งหากมีความพร้อมทั้ง 3 เป็นทุนแล้วละก็ ปัญหาต่างๆ ก็คงจะทุเลา และผ่านพ้นไปได้

            ความสงบสุขของครอบครัวในปัจจุบันเป็นเพียงจุดเริ่มต้น คุณแค่ต้อง Make Sure ว่า คุณมีความมุ่งมั่น กล้าเปิดใจ และพร้อมที่จะเสียสละเพื่อผลักดันความสงบสุขที่มีนั้นให้ยั่งยืนต่อไป

เกี่ยวกับนักเขียน

นวพล วิริยะกุลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia) ผู้ประกอบการ นักเขียน และนักเดินทาง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ นวพล ได้ที่ Fan page: Family Business Asia

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน