THE GURU • EXECUTIVE COACHING

ศิลปะในการยืดหยุ่นและปรับตัว

บทความโดย: พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล

การยืดหยุ่น เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับผู้นำ เพราะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ต้องจัดการทั้งในระดับบุคคล ระดับทีมงาน และระดับองค์กร ทำอย่างไรจึงจะบริหารความยืดหยุ่นได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ และนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม 

            การสรรหาผู้บริหารในปัจจุบัน คุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ความสามารถในการยืดหยุ่นและปรับตัว เพื่อนำพาองค์กรและธุรกิจให้อยู่รอด เติบโตและประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน เพราะภายใต้ปัจจัยแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และคาดการณ์ได้ยากอย่างเช่นทุกวันนี้ การมีความรู้และประสบการณ์ อาจจะไม่เพียงพอที่จะตอบสนองต่อเรื่องใหม่ๆ และเรื่องที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน

            การปรับตัว คือความเต็มใจที่จะแสดงความยืดหยุ่น เมื่อต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลง หลายคนไม่สามารถปรับตัวได้เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร หรือขาดความมั่นใจ การพัฒนาพื้นฐานด้านความสามารถในการยืดหยุ่นจึงจำเป็น ซึ่งไม่ใช่วิชาการที่ตรงไปตรงมา แต่เป็นเรื่องที่ต้องประยุกต์จากทักษะและทัศนคติหลายๆ ด้านประกอบกัน

คุณสมบัติที่จำเป็นต่อการยืดหยุ่น

            แนวทางในเชิงบวก ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงก็คือ การมองเป็นโอกาส โดยยอมรับที่จะเผชิญกับความท้าทายในการค้นหาทางออกใหม่ๆ ยินดีที่จะเปิดใจและสนองตอบต่อสภาพแวดล้อมใหม่ๆ จากการวิจัยทางจิตวิทยาพบว่ามีทักษะที่จำเป็นต่อการยืดหยุ่น 6 ด้านคือ

            1.ความยืดหยุ่นด้านปัญญา : เปิดใจให้กว้าง เพื่อจะได้ซึมซับข้อมูลใหม่ๆ และใช้ประโยชน์ได้ดี สามารถรักษาความสมดุลทั้งด้านรายละเอียดและภาพรวม

            2.ความสามารถในการรับสิ่งใหม่ๆ : เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ให้ยอมรับมันแทนที่จะต่อต้าน และเตรียมตัวที่จะเรียนรู้วิธีใหม่ๆในการบรรลุเป้าหมาย

            3.ความคิดสร้างสรรค์ : ความเต็มใจที่จะลองสิ่งต่างๆ ปรับไปตามสถานการณ์ และยินดีรับข้อผิดพลาดจากการตัดสินใจเสี่ยง เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ

            4.การปรับตัว : เปลี่ยนวิธีการหรือรูปแบบ เมื่อสถานการณ์เรียกร้อง

            5.เน้นที่ผลลัพธ์ : ถ้าแนวทางแก้ไขใช้ไม่ได้ ก็อย่าจมปลักอยู่กับมัน ให้ค้นหาทางอื่นที่สามารถใช้การได้

            6.การเสนอความคิดใหม่ๆ : พัฒนาวิธีการใหม่ๆ ที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงมีประสิทธิผลมากขึ้น

ภาวะผู้นำที่ยืดหยุ่น

            การยืดหยุ่น เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับผู้นำ เพราะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก ต้องจัดการทั้งในระดับบุคคล ระดับทีมงาน และระดับองค์กร ทำอย่างไรจึงจะบริหารความยืดหยุ่นได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ และนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิม 

            องค์ประกอบสำคัญของความสามารถในการนำด้วยความยืดหยุ่น และสามารถปรับตัวได้เมื่อจำเป็น เพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ที่ปรารถนา ก็คือ ความสามารถในการพิจารณาความเป็นจริงว่า สิ่งใดที่ “ต่อรองได้” และสิ่งใดที่ “ต่อรองไม่ได้” เพื่อก้าวข้ามความต้องการที่จะควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง แต่เน้นการใส่ใจ และจัดลำดับความสำคัญที่ชัดเจน

            การที่เห็นว่าทุกอย่างต่อรองไม่ได้ จะเพิ่มความกดดัน ทำให้คิดไม่ออกในเรื่องนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ขัดขวางการเติบโต บั่นทอนความเชื่อมั่นในตนเอง และจำกัดระดับของความสำเร็จที่อาจแสวงหาได้ ในทางตรงกันข้าม หากเห็นว่าทุกอย่างเป็นเรื่องที่ต่อรองได้ จะเพิ่มความกังวลใจ ขาดทิศทางและการจดจ่อ ลดการรับรู้เรื่องคุณค่าและความหมาย 


            ฉะนั้น การตัดสินใจว่าควรจะยืดหยุ่นอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ทั้งในเชิงกลยุทธ์และเชิงปฏิบัติการ รวมทั้งต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของบุคลากรด้วย โดยมีจุดยืนคือ ผลลัพธ์ไม่สามารถต่อรองได้ แต่กระบวนการที่นำไปสู่ผลลัพธ์นั้น ควรจะสามารถยืดหยุ่นได้หากจำเป็น เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการดำเนินการมากที่สุด

การปรับตัวในทางปฏิบัติ แยกแยะได้เป็น 4 ระดับ จากเรื่องที่ง่ายจนถึงเรื่องที่ซับซ้อน กล่าวคือ

            1.การเปิดใจต่อความคิดใหม่ๆ

            2.การปรับตัวต่อสถานการณ์ต่างๆ

            3.การรับมือกับสิ่งเรียกร้องที่ไม่ได้คาดคิด

            4.การปรับหรือเปลี่ยนกลยุทธ์

ควรฝึกการปรับตัวให้เป็นนิสัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำงานและใช้ชีวิตประจำวัน ด้วยแนวทางต่อไปนี้

            1.ปล่อยวางเพื่อให้มีที่ว่างสำหรับเรื่องใหม่ๆ : สิ่งที่เราคิดหรือทำเมื่อวานนี้ อาจจะไม่จำเป็นหรือไม่เหมาะสมสำหรับความท้าทายที่ต้องเผชิญในวันพรุ่งนี้ เราไม่มีทางเลือก นอกจากเปิดใจและถ่อมตัวลงมาเพียงพอที่จะโอบอุ้มสิ่งที่ไม่รู้ และมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ เข้าใจและรับเอาความคิดใหม่ๆ เข้ามา

            2.ใช้เวลาในการคิดเรื่องที่สมเหตุสมผล : ยอมรับว่าเหตุการณ์ ปัญหา และสถานการณ์ อาจจะไม่ง่ายที่จะทำความเข้าใจเหมือนในอดีต ฉะนั้น ให้พร้อมที่จะลงทุนเวลาในการสำรวจและระดมสมอง เพื่อช่วยให้ตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้อง มีความเข้าใจอย่างสมเหตุสมผลในเรื่องที่ต้องตัดสินใจ

            3.ยอมรับเมื่อรู้สึกไม่แน่ใจและหลงทาง : เราอาจจะกังวลไม่สบายใจที่ไม่มีคำตอบ และไม่แน่ใจในบางเรื่อง หรือไม่สามารถกำหนดทิศทางที่ชัดเจนได้ว่าควรจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร ก็ไม่เป็นไร ให้เรายอมรับความจริงนี้อย่างจริงใจ เพื่อว่าเราจะได้เริ่มต้นค้นหาคำตอบต่อไป

            4.มีความกล้าหาญที่จะเผชิญกับความท้าทายที่ไม่ได้คาดคิด : เมื่อมีเหตุการณ์ ข่าวสาร หรือปัญหาที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดคิด ให้รับมือด้วยอารมณ์และจิตใจในเชิงบวก เพื่อที่จะตอบสนองด้วยวิธีใดก็ตามที่ดีที่สุด เช่น สำรวจข้อมูลที่มีและพิจารณาว่าต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่ต่อสิ่งที่ต้องทำหรือไม่ มีสิ่งใดที่เร่งด่วน สิ่งใดที่รอได้ และเขียนแผนพร้อมทั้งกำหนดเวลาที่ชัดเจนออกมา แล้วเริ่มดำเนินการและสื่อสารสิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยนกับผู้ที่เกี่ยวข้อง จัดสรรเวลาและความใส่ใจอย่างเต็มที่ เพื่อให้มั่นใจว่า สิ่งต่างๆ จะกลับเข้าสู่กรอบความปกติอย่างรวดเร็ว

            โดยสรุปแล้ว ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability) เป็นการหลอมรวมของคุณสมบัติ 2 อย่างคือ ความยืดหยุ่น (Flexibility) และ ความสามารถรอบตัว (Versatility) ซึ่งเราจะสังเกตได้ว่า คนที่ปรับตัวเก่งนั้น จะใจกว้าง ยินดีร่วมมือร่วมใจกับผู้อื่น เข้าถึงได้ง่าย มีความพอใจในสิ่งที่มี และเผชิญกับสิ่งที่กำกวมคลุมเครือได้ ขณะเดียวกัน ก็เป็นคนมีจุดประสงค์ชัดเจน รอบคอบ คิดในเชิงสร้างสรรค์ มีความเห็นอกเห็นใจ มีความเมตตา และกล้ารับความเสี่ยงอย่างมีเหตุผล 


เกี่ยวกับนักเขียน

พรสรัญ รุ่งเจริญกิจกุล CPA & Executive Coach / โค้ชผู้บริหาร เพื่อความสุขและความสำเร็จ อดีต CFO ผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหารการเงินในองค์กรขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติมากกว่า 30ปี ในธุรกิจหลายประเภท ให้การปรึกษาและฝึกอบรมพัฒนาผู้บริหารมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี และเป็น “Licensee” ของ “LMI” - Leadership Management International Inc. ในการอำนวยการเรียนรู้หลักสูตรด้านพัฒนาผู้นำระดับสากล

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน