THE GURU • INVESTMENT

แหล่งเงินเกษียณ 4 ก้อนของมนุษย์เงินเดือนมาจากไหน มีเท่าไหร่จึงจะพอใช้หลังเกษียณ

บทความโดย: สุจารี จันทร์สว่าง

ยินดีต้อนรับสู่เดือนแรกของการเกษียณในเดือนตุลาคมนี้ ของผู้ที่ทำงานในระบบราชการ

            ช่วงเดือนตุลาคมเป็นช่วงของการเกษียณอายุของผู้ที่ทำงานในระบบราชการ ซึ่งเป็นความโชคดีของผู้เกษียณในกลุ่มนี้ที่ไม่ต้องมีความกังวลในเรื่องการใช้จ่ายดำรงชีวิตหลังเกษียณมากนัก เพราะในวันเกษียณยังมีเงินก้อนและเงินเกษียณในระดับประมาณ 70% ของเงินเดือนก่อนเกษียณมาใช้จ่ายทุกเดือน ซึ่งแตกต่างจากผู้ที่ทำงานบริษัทเอกชนที่แหล่งเงินเกษียณของผู้ที่ทำงานบริษัทเอกชนจะมาจากหลายช่องทาง แต่ทั้งหมดต้องเกิดจากวินัยและการสะสมมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานในช่วงทำงานมากกว่า 10 ปีขึ้นไป จึงจะเห็นยอดเงินที่มากพอที่จะสามารถนำมาใช้ดำรงชีวิตต่อได้หลังเกษียณ

            ในวันที่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณที่ต้องมีทั้งเงินและสุขภาพที่แข็งแรง เพื่อที่จะสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีคุณภาพ คำถามที่สำคัญสำหรับคนทำงานเอกชนที่ต้องมีวินัยในการเก็บเงินเกษียณด้วยตนเอง คือเมื่อปลายทางของการเกษียณแล้วจะได้เงินเท่าไหร่ จากแหล่งไหนบ้าง และมากพอที่จะใช้หลังเกษียณหรือไม่?

            สำหรับผู้ที่อยากจะเกษียณอย่างมีความสุขและมีเงินใช้จ่ายมากเพียงพอเรามาวางแผนกันล่วงหน้าสำหรับการเกษียณ โดยเรามาดูแหล่งเงินได้ ของผู้ที่จะเกษียณจากเอกชนว่าจะมาจากช่องทางไหนบ้าง และมีช่องทางไหนที่เราสามารถที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างเม็ดเงินที่เติบโตให้เพียงพอในวันเกษียณ

1. เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 

            เป็นเงินที่เราได้รับเงินจากรัฐบาลเดือนละ 600 – 1,000 บาท ตั้งแต่อายุ 60 ปีจนกระทั่งเสียชีวิต ขั้นตอนการขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเมื่ออายุ 60 ปีแล้ว ต้องไปลงทะเบียนที่สำนักงานเขต กทม. อบต. หรือเทศบาล ซึ่งกฎหมายกำหนดให้คนไทยทุกคนเมื่ออายุ 60 ปีมีสิทธิรับเบี้ยยังชีพอย่างเท่าเทียม ยกเว้นใครมีเงินเหลือเฟือสามารถที่จะบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืนกระทรวงการคลังเพื่อนำไปสมทบและจ่ายเพิ่มเติมให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย

            เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้เงินเท่าไหร่การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปัจจุบัน จะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นรายเดือนต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต โดยเป็นอัตราเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดตามช่วงอายุ ดังนี้อายุ 60-69 ปี ได้รับเงิน 600 บาท/เดือนอายุ 70-79 ปี ได้รับเงิน 700 บาท/เดือนอายุ 80-89 ปี ได้รับเงิน 800 บาท/เดือนอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเงิน 1,000 บาท/เดือน

2.เงินบําเหน็จบํานาญชราภาพ จากกองทุนประกันสังคม

            ซึ่งจะได้รับเงินเป็นก้อน (เงินบําเหน็จ) หรือทยอยรับเงินเป็นรายเดือน ตลอดชีวิต (เงินบํานาญ) ขึ้นอยู่กับระยะเวลานําส่งเงินเข้ากองทุน โดยสูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน

            *กรณีจ่ายเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 180 เดือนมีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย*กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนเงินบำนาญชราภาพเป็นรายเดือนในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย+1.5% ระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบทุก 12 เดือน

            ตัวอย่าง ประกันตนทำงานได้รับเงินค่าจ้างเดือนละ 1.5 หมื่นบาท และส่งเงินสมทบมาแล้ว 20 ปี อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์1.ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญ= 15 ปี (แรก) ได้อัตราเงินบำนาญ 20%= 5 ปี (หลัง) ได้อัตราเงินบำนาญ (1.5% (ปรับเพิ่ม) ×5 ปี) = 7.5%รวมอัตราเงินบำนาญ 20 ปี = 20%+7.5% = 27.5%ผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญรายเดือน = 27.5% ของ 1.5 หมื่นบาท = 4,125 บาท/เดือนจนตลอดชีวิต2.กรณีผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 5 ปี ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญรายเดือน= 4,125 บาท×10 เท่า = 41,250 บาท

3. เงินได้จากการเลิกจ้าง

            กรณีเราทํางานกับบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานที่อยู่ภายใต้กฎหมาย แรงงาน จํานวนเงินที่ได้รับในวันเกษียณขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทํางานและเงินเดือน คนที่ทราบเรื่องนี้แล้ว ก่อนเกษียณอย่าชิงลาออกก่อนจนพลาดเงินก้อนใหญ่ก้อนนี้

อัตราค่าชดเชยตามมาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

            * ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน

            * ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน

            * ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน

            * ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน  

            * ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน

            * ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป บได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน

            ตัวอย่าง ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี เงินเดือน 100,000 บาท นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยไม่น้อยค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 ร้อยวัน ดังนั้น ลูกจ้างจะได้ค่าชดเชย คือ ให้นำเงินเดือนอัตราสุดท้าย 100,000 บาท หารด้วย 30 (30 วัน) เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นค่าจ้างรายวันเท่ากับ 3,333.33 บาท และนำไปคูณด้วย 300 วัน ได้เท่ากับ 1 ล้านบาท โดยนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยทันทีในวันเลิกจ้าง

4. เงินกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ” (Provident Fund หรือ PVD)

            เป็นเงินที่จะได้รับจากเงินสะสมของตนเองและเงินสมทบที่นายจ้างนําส่งเข้ากองทุนพร้อมดอกผลจากการลงทุนในช่วงที่เป็นสมาชิกกองทุน และหากเกษียณอายุตามเงื่อนไขภาษีที่กรมสรรพากรกําหนด กล่าวคือ เกษียณตอนอายุครบ 55 ปีขึ้นไป และเป็นสมาชิกกองทุนมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินกองทุนทั้ง 4 ส่วน (เงินสะสม ผลประโยชน์ของเงิน สะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบ)

            ทั้งหมดคือแหล่งเงินเกษียณ 4 ก้อนของมนุษย์เงินเดือน ใครจะได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความสามารถและฐานเงินเดือนของแต่ละบุคคลว่าได้เท่าไหร่ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือความต่อเนื่องของการทำงานที่ยาวนานมากพอและการเก็บออมรวมถึงการลงทุน เพื่อปลายทางในวันเกษียณที่มีเงินเพียงพอและไม่เป็นภาระลูกหลาน

 

เกี่ยวกับนักเขียน

สุจารี จันทร์สว่าง ผู้ถือหุ้น/ผู้ก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ บลน. เวลท์ รีพับบลิค จำกัด ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในแวดวงการลงทุนธุรกิจจัดการกองทุน มากว่า 30 ปี

อ่านบทความทั้งหมดของนักเขียน